ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เมืองนิคมอุตสาหกรรมเวียดนามเร่งดึง FDI

ASEAN Roundup เมืองนิคมอุตสาหกรรมเวียดนามเร่งดึง FDI

11 กุมภาพันธ์ 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2567

  • เมืองนิคมอุตสาหกรรมเวียดนามเร่งดึง FDI
  • เวียดนามเตรียมใช้ FTA หนุนส่งออกรับมือกีดกันทางการค้า
  • ลาวเปิดใช้สนามบินนานาชาติบ่อแก้วรองรับการลงทุน-ท่องเที่ยว
  • ลาวทำรายได้ส่งออกสินค้าเกษตร 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทะลุเป้า
  • ไทย-กัมพูชา ลงนาม MoU 5 ฉบับ ยกระดับความสัมพันธ์สู่“หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์”
  • อาเซียนเห็นพ้องเร่งโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะดิจิทัล

    เมืองนิคมอุตสาหกรรมเวียดนามเร่งดึง FDI

  • ไฮฟองวางแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอีก 15 แห่ง
    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/hai-phong-to-build-second-coastal-economic-zone/268147.vnp
    ไฮฟอง เมืองท่าทางตอนเหนือของเวียดนาม ออกมาตรการเพื่อผลักดันความก้าวหน้าในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment:FDI) มากขึ้น

    โดยวางแผนที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 15 แห่ง มีพื้นที่รวมกว่า 6,200 เฮกตาร์ ปัจจุบันการก่อสร้าง 2 แห่งได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 1,200 เฮกตาร์

    นอกจากนี้ เนื่องจากเมืองมีเป้าหมายที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้ปรับเปลี่ยนนิคมอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ คือที่ นิคมอุตสาหกรรม DEEP C และนิคมอุตสาหกรรม Nam Cau Kien เป็นการมุ่งสู่โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งช่วยประหยัดทรัพยากร ลดต้นทุน และปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

    ไฮฟองยังได้จัดทำโครงการเพื่อปรับการวางแผนทั่วไปของเขตเศรษฐกิจพิเศษดิ่ญหวู – กั๊ตหาย (Dinh Vu – Cat Hai จนถึงปี 2583 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 และยังมีเป้าหมายที่จะสร้างเข EZ ทางตอนใต้ของเมือง ซึ่งคาดว่าจะเป็นรูปเป็นร่างใน พ.ศ. 2568 ด้วยพื้นที่ 20,000 เฮกตาร์

    ปัจจุบัน ไฮฟองมีนิคมอุตสาหกรรม 14 แห่ง โดยมีอัตราการครอบครองเฉลี่ย 63.25%

    นายเล จุง เกียน(Le Trung Kien) ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตเศรษฐกิจไฮฟองกล่าวว่า ปีที่แล้วไฮฟองดึงดูด FDI ได้ 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ยอดรวม FDI ของเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 26.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ใช้เทคโนโลยีสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  • ดานังมุ่งดึงเทคโนโลยีขั้นสูงในปี 2567
    ที่มาภาพ: https://en.vneconomy.vn/da-nang-approves-135mln-high-tech-device-manufacturing-project.htm
    ดานังเมืองชายฝั่งตอนกลางของเวียดนาม วางแผนแผนที่จะดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเน้นไปที่การออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ big data และเทคโนโลยีดิจิทัล

    นายเหงียน ทิ แทงห์ ฮวง(Nguyen Thi Thanh Huong) รองผู้อำนวยการกรมการวางแผนและการลงทุนประจำจังหวัดกล่าวว่า เมืองดานังต้องการใช้ประโยชน์จากการโยกย้ายของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามาสู่เวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดบริษัทชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

    ในภาคเซมิคอนดักเตอร์ ดานังกำลังมองหาบริษัทรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นเพื่อลงทุนในขั้นตอนการออกแบบ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจจากประเทศในเอเชีย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะได้รับการส่งเสริมให้ลงทุนในการประกอบ การทดสอบ บรรจุภัณฑ์ และขั้นตอนอื่น ๆ ของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์

    ดานังมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนที่ครอบคลุม รวมถึงข้อมูล การจัดการคำขอและประเด็นต่างๆ และความช่วยเหลือในการดำเนินโครงการ

    ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของเมือง พบว่า ในปี 2566 ดานังอนุมัติโครงการที่ต่างชาติลงทุนใหม่ 104 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวม 151.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ดานังมีเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ไว้ที่ 8% ถึง 8.5%

  • บ่าเสียะ-หวุงเต่า เล็งดึง 110 โครงการลงทุน
    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/ba-ria–vung-tau-to-become-national-marine-economic-hub/255911.vnp
    จังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า ทางตอนใต้ของเวียดนามได้เชิญชวนให้เข้าลงทุนในโครงการ 110 โครงการ จากการเปิดเผยของนายเหงียน กง วินห์(Nguyen Cong Vinh)รองประธานคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด

    นอกจากนี้ จังหวัดยังได้วางแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่ 7 แห่ง และกลุ่มอุตสาหกรรม(cluster) 5 กลุ่ม ทำให้จำนวนนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดในจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็น 24 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 16,000 เฮกตาร์ และ 16 คลัสเตอร์ รวมพื้นที่ 547 เฮกตาร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น รองประธานคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัดกล่าว

    ท้องถิ่นได้ให้ความสนใจในการดึงดูดโครงการคุณภาพสูงที่สร้างความก้าวหน้าให้กับอุตสาหกรรมในท้องถิ่นซึ่งกำลังพัฒนาไปสู่ความทันสมัยและความยั่งยืน

    แผนกและภาคส่วนที่มีความสามารถได้ให้การสนับสนุนแก่นักลงทุนในสาขาที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม และช่วยให้องค์กรอื่นๆ ขจัดปัญหาคอขวดทางการเงิน เพื่อให้สามารถขยายธุรกิจและการผลิตได้

    เมื่อปีที่แล้ว การลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในจังหวัดมีมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 92% เมื่อเทียบเป็นรายปี หรือสูงกว่าเป้าหมายรายปี54% จากการเปิดเผยของสำนักงานวางแผนและการลงทุนประจำจังหวัด

    ในจำนวนนี้ 893 ล้านเหรียญสหรัฐมาจากโครงการที่ได้รับใบอนุญาตใหม่ 21 โครงการ เพิ่มขึ้น 221% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่ส่วนที่เหลือ 508 ล้านเหรียญสหรัฐมาจาก 29 โครงการที่เพิ่มทุน ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% ต่อปี

    ปัจจุบันจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า เป็นที่ตั้งของโครงการที่ต่างชาติลงทุน 458 โครงการ โดยมีทุนจดทะเบียนรวมกว่า 31.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    จังหวัดได้ดึงดูดโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่มีเงินลงทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เช่น โครงการ Long Son Petrochemicals Company Limited มูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์ที่ลงทุนโดยกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยของประเทศไทย และโรงงานโพลีโพรพีลีนและโพรงกักเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ) มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐที่ลงทุนโดย Hyosung Vina จากเกาหลีใต้

    สำนักงานวางแผนและการลงทุนประจำจังหวัดยังเปิดเผยว่า จังหวัดยังมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินในประเทศจำนวน 710 โครงการ โดยมีเงินทุนรวมกว่า 384 ล้านล้านด่อง (15.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยที่ 287 โครงการ มูลค่ากว่า 160 ล้านล้านด่องได้เข้าลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม

    คณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัดระบุว่า ในเร็วๆนี้จังหวัดจะมุ่งเน้นไปที่การเชิญชวนโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก แต่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

    นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้นักลงทุนปรับปรุงสายการผลิตและเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์ไปพร้อมๆ กับการประหยัดพลังงาน

    จากการที่จังหวัดมุ่งมั่นที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่าอย่างน้อย 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 จึงได้ลงทุนในระบบการขนส่งที่ทันสมัย ​​นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม

    โดยได้ระบุ 4 ภาคส่วนที่เป็นภาคส่วนที่จัดว่ามีความสำคัญในอันดับต้นๆที่จะดึงดูดการลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรม ธุรกิจพาณิชยนาวี บริการโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวและบริการคุณภาพสูงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบเมืองสมัยใหม่

    ในอนาคต จังหวัดจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรือขนถ่ายระหว่างประเทศก๋ายแม็ป( Cai Mep–Thi Vai ) ในขณะเดียวกัน จะสร้างศูนย์บริการอุตสาหกรรมและเขตเมืองขนาดใหญ่ในเขตฟู่หมี

    เวียดนามเตรียมใช้ FTA หนุนส่งออกรับมือกีดกันทางการค้า

    เขตโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมปลอดภาษีแหล็กเฮวี่ยน ในไฮฟองเวียดนาม ที่มาภาพ:https://tuoitrenews.vn/news/business/20230513/nontariff-zone-gets-off-the-ground-in-vietnams-hai-phong/73105.html
    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ได้ลงนามแล้ว เพื่อกระจายตลาด ยกระดับการส่งเสริมการค้า และหันไปสู่การส่งออกผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการส่งออกในปีนี้ 377 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    การเตรียมการดังกล่าวเกิดขึ้น ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มซบเซา และอาจจะมีการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศเพื่อปกป้องการผลิตในประเทศ

    ผู้ส่งออกของเวียดนามจะประสบกับการเจาะเข้าสู่ตลาดต่างประเทศที่มีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค การพัฒนาที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดการนำมาตรฐานและกฎระเบียบใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน วัสดุ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม มาใช้กับผลิตภัณฑ์นำเข้า สถานการณ์ความตึงเครียดล่าสุดที่ทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเวลาขนส่งเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อบริษัทของเวียดนามด้วย

    สถิติจากกรมศุลกากรเวียดนาม ณ วันที่ 15 มกราคม เวียดนามส่งสินค้าไปต่างประเทศมูลค่าประมาณ 15.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.5% จากครึ่งหลังของเดือนธันวาคม 2566

    นายเจิ่น แท็งห์ ไห่(Tran Thanh Hai) รองผู้อำนวยการสำนักงานการค้าต่างประเทศของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่า กระทรวงจะยังคงสนับสนุนองค์กรต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อสนับสนุนการส่งออก ขณะเดียวกันก็ยกระดับงานด้านการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดจนโอกาสและความท้าทายจากข้อตกลงทางการค้า

    อีกทั้งจะมีการให้ความช่วยเหลือแก่ท้องถิ่น สมาคม และองค์กรต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าขนาดใหญ่ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแกร่งของภูมิภาคเป็นที่นิยมในตลาดเป้าหมาย

    นอกเหนือจากการยกระดับการเจรจาและการลงนามข้อตกลงทางการค้าและข้อผูกพันใหม่แล้ว กระทรวงฯจะดำเนินการเพื่อพัฒนาบริการโลจิสติกส์และสนับสนุนธุรกิจเพื่อเอาชนะอุปสรรคทางการค้าในตลาดนำเข้า

    บริษัทเวียดนามควรระมัดระวังและติดตามสถานการณ์อุปสงค์และอุปทานทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะรับมือได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

    นาย หวู บา ฟู (Vu Ba Phu) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าเวียดนาม (Vietrade) ของ MoIT กล่าวว่า กระทรวงฯจะเปิดตัวโครงการสนับสนุนทางเทคนิคมากมายสำหรับภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ต้องปฏิบัติตามกลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน(CBAM) ของสหภาพยุโรป ของสหภาพยุโรป

    นอกจากนี้ จะร่วมมือกับสำนักงานการค้าของเวียดนามและหน่วยงานตัวแทนในต่างประเทศ เพื่อให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับแนวทางข้อตกลงสีเขียว ธุรกิจในสาขาที่มีเงื่อนไข และเศรษฐกิจหมุนเวียนแก่บริษัทท้องถิ่น

    ลาวเปิดใช้สนามบินนานาชาติบ่อแก้วรองรับการลงทุน-ท่องเที่ยว

    จากซ้ายจ้าว เหว่ย นักธุรกิจจีน เจ้าของเขตเศรษฐกิจพิเศษคิงส์โรมัน นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ที่มาภาพ:https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_026_y24/freefreenews/freecontent_26_International_y24.php

    เมื่อวันจันทร์(5 กุมภาพันธ์ 2567)ที่ผ่านมา ได้มีพิธีเปิด สนามบินนานาชาติแห่งใหม่อย่างเป็นทางการในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับแขวงอื่นในทางภาคเหนือ ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค เพื่อรองรับการลงทุนและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในลาว

    นายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.บัวคง นามมะวง เจ้าแขวงบ่อแก้ว นายจ้าว เหว่ย ประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และประธานกลุ่มบริษัทดอกงิ้วดำ และเจ้าแขวงอื่น เจ้าหน้าที่ และแขก

    นายลัน แสงอาพอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง กล่าวในพิธีกล่าวว่า สนามบินนานาชาติบ่อแก้วเป็นการลงทุนของแบบ BOT(เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและดําเนินโครงการรับความเสี่ยงจากผลประกอบการและส่งมอบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของโครงการให้แก่ภาครัฐสิ้นสุดระยะเวลาสัญญา) เต็ม 100% โดย Greater Bay Area Investments and Development Limited

    สนามบินแห่งนี้เป็นสนามบิน CODE 4C(รันเวย์สามารถรองรับเครื่องบินขนาด A-321 และโบอิ้ง 737-900 ได้) และมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 225 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทได้รับสัมปทานระยะเวลา 50 ปี ซึ่งสามารถต่ออายุได้หากได้รับอนุมัติจากรัฐบาล

    การก่อสร้างเริ่มเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 บนพื้นที่ 314 เฮกตาร์ 5,478 ตารางเมตร ใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ทางวิ่งมีความยาว 2,500 เมตร และสามารถขยายได้สูงสุด 3,000 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินแอร์บัส A320 และโบอิ้ง 737 ส่วนอาคารผู้โดยสารสามารถรองรับคนได้ 600 คนในคราวเดียว

    เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทาน สนามบินและที่ดินโดยรอบจะกลายเป็นทรัพย์สินของรัฐบาล ดังที่ระบุไว้ในสัญญาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2557

    สนามบินแห่งใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น และจะให้การเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกับประเทศอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางภายในพื้นที่ได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาภาคเหนือของลาวและจะเปิดโอกาสทางการค้าและการขยายตัวโดยรวมมากขึ้น

    โดยเริ่มแรกสนามบินจะเปิดให้บริการเฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศเท่านั้น โดยใช้เครื่องบิน ATR 72 หรือเครื่องบินขนาดเทียบเท่า ตามที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานโครงการท่าอากาศยานนานาชาติ

    ดร.บัวคง นามมะวง กล่าวว่า แขวงบ่อแก้วได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ระเบียบสังคม และความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไป การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้สามารถพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบขนส่งเพื่อปรับปรุงการเชื่อมโยงไปยังแขวงในภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค พัฒนาการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและทางตอนเหนือของลาว และส่งเสริมการเกษตรที่สะอาดและยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและการส่งออก

    แขวงบ่อแก้วยังมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายภายในประเทศลาวและเพื่อการส่งออก ฝึกอบรมแรงงาน และส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของแขวง

    สนามบินแห่งใหม่นี้เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงของจังหวัดกับเมืองต่างๆ ในประเทศลาวและประเทศเพื่อนบ้าน และจะสนับสนุนการลงทุนและการท่องเที่ยว สนามบินถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากล

    นายจ้าว เหว่ย กล่าวว่า สนามบินแห่งนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการเชื่อมโยงการคมนาคมของแขวง เพื่อให้กลายเป็นส่วนสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ

  • สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว สปป.ลาวเปิด มี.ค.นี้ เมื่อมังกรน้อยติดปีก กับผลกระทบต่อประเทศไทย
  • ลาวทำรายได้ส่งออกสินค้าเกษตร 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทะลุเป้า

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/laos-agricultural-exports-expected-to-exceed-2-billion-usd-in-2023/259446.vnp
    ในปีที่ผ่านมา ลาวมีรายได้ประมาณ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐจากการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ 20.18%

    นายทองพัด วงมะนี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ เปิดเผยว่า มูลค่าการผลิตในภาคเกษตรและป่าไม้ในลาวขยายตัว 3.4% ในปี 2566 โดยเก็บเกี่ยวพืชผลได้รวม 9.74 ล้านตัน โดยผลผลิตจากมันฝรั่ง กาแฟ และกล้วยเพิ่มขึ้น 28.6%,7.5% และ 16.7% ตามลำดับ

    เกษตรกรรมถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของลาว ซึ่งคิดเป็น 21.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศในปี 2566

    รัฐบาลยังได้เจรจาข้อตกลงการค้าสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน สามารถส่งออกสินค้าได้ 64 ประเภท เพิ่มขึ้นจาก 48 ประเภทในปี 2565 โดยในจำนวนนี้ 33 ประเภทของผลิตภัณฑ์ 30 ประเภทเป็นพืชและพืชผล ได้แก่ ผักและผลไม้ดิบ มันสำปะหลังผง และประเภทอื่นๆ และ 3 รายการเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์

    ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของลาว โดยมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเกิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนธันวาคม 2566 ส่วนเวียดนามและไทยก็มีมูลค่ารองลงมา โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 118.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 88.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

    แม้มูลค่าการค้าโดยรวมจะเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนธันวาคม 2566 แต่ลาวกลับมีการขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน เมื่อเดือนที่แล้ว จากมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 703 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกมีมูลค่าเพียง 531 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่านั้น

    ไทย-กัมพูชา ลงนาม MoU 5 ฉบับ ยกระดับความสัมพันธ์สู่“หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์”

    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/78561
    ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทุกมิติ

    วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 11.10 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต (Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับ ดังนี้

    1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างไทยกับกัมพูชา (MoU between the Ministry of Interior of the Kingdom of Thailand and the National Committee for Disaster Management of the Kingdom of Cambodia on Cooperation in the Area of Disaster Risk Reduction and Emergency Response) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทยคือ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. General Kun Kim รัฐมนตรีอาวุโส และรองประธานคณะกรรมการบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติกัมพูชา (Senior Minister and First Vice-President of National Committee for Disaster Management of Cambodia)

    2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา (MoU Between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Cambodia on Academic, Scientific and Technological Cooperation) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทยคือ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. Hem Vanndy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา (Minister of Industry Science, Technology and Innovation)

    3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (MoU on the Transit of Goods between the Customs Department of the Kingdom of Thailand and the General Department of Customs and Excise of Cambodia) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร และฝ่ายกัมพูชา คือ H.E. Dr. Kun Nhem รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (Minister Attached to Prime Minister and Director General of the General Department of Customs and Excise of Cambodia)

    4) บันทึกความเข้าใจระหว่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา (MoU between Export-Import Bank of Thailand and the Cambodia Chamber of Commerce to promote trade and investment between Thailand and Cambodia) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM Bank และฝ่ายกัมพูชา คือ Neak Okhnha Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชา

    5) บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา (MoU between Board of Trade of Thailand and Cambodia Chamber of Commerce) ซึ่งผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย และฝ่ายกัมพูชา คือ Neak Okhnha Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชา

    หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชาร่วมกันแถลงข่าว โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการแถลงข่าว ดังนี้

    ด้านความสัมพันธ์ ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และส่งเสริมศักยภาพของทั้งสองประเทศที่มีร่วมกัน และไทยจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในเมืองเสียมราฐ ในขณะที่กัมพูชาจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในสงขลาภายในปีนี้

    ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งไทยจะไม่ยอมให้ใครใช้ไทยเป็นพื้นที่ในการแทรกแซงกิจการภายใน หรือดำเนินกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อประเทศเพื่อนบ้าน และผู้นำทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันกระชับความร่วมมือต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์

    ด้านเศรษฐกิจ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ ครั้งที่ 7 ในต้นเดือนมีนาคม พร้อมทั้งมีนโยบาย quick win ในการนำ MOU ว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าที่ได้ลงนามไปใช้ทันที เพื่อเพิ่มปริมาณการค้า โดยเฉพาะการค้าชายแดน รวมถึงยินดีกับการลงนาม MOU ระหว่าง EXIM Bank กับหอการค้ากัมพูชา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากทั้งไทยและกัมพูชา

    ด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน มีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนในพื้นที่เรียกร้องที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นในการเก็บทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่นำร่อง เพื่อเป้าหมายในการทำให้พื้นที่ชายแดนปลอดภัย พร้อมทั้งดำเนินการยกระดับการเปิดจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชาที่ยังคั่งค้าง รวมทั้งยินดีที่ได้ลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็นการวางกรอบความร่วมมือเพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินในบริเวณชายแดน

    ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการรวมจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค พร้อมปรับปรุงข้อตกลงว่าด้วยการข้ามชายแดน และจะกลับมาเจรจาความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนทางถนน เพื่อให้ข้ามพรมแดนด้วยรถยนต์ส่วนตัวได้

    ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน โดยตกลงจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในการจัดตั้งสายด่วนแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเตือนจุดที่มีการเผา ความร่วมมือในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน และสร้างขีดความสามารถและแบ่งปันแนวปฏิบัติในการจัดการกับการเผาในเกษตรกรรม รวมถึงไทยได้เชิญกัมพูชาเข้าร่วมแผนปฏิบัติการ CLEAR Sky Strategy เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหานี้ในระดับภูมิภาค

    ด้านแรงงาน นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญดูแลแรงงานทุกประเทศ รวมถึงชาวกัมพูชาในประเทศไทย ให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและการรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม

    สถานการณ์ในเมียนมา ไทยและกัมพูชาต่างต้องการที่จะเห็นเมียนมามีสันติสุข มั่นคง และเป็นเอกภาพ ซึ่งรัฐบาลจะแสดงบทบาทเชิงรุกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในเมียนมา และส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยดำเนินความร่วมมือพร้อมกับอาเซียน

    ในช่วงท้าย ผู้นำไทยและกัมพูชาเน้นย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยจะร่วมกันจัดกิจกรรมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 ซึ่งเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชน พร้อมทั้งยืนยันที่จะพบปะและหารือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดต่อไป

    อาเซียนเห็นพ้องเร่งโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะดิจิทัล

    ที่มาภาพ: https://www.mdes.go.th/news/detail/7792
    สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้บรรลุข้อตกลงที่สำคัญโดยมีจุดประสงค์เพื่อเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะดิจิทัล (Digital Public Infrastructure:DPI) ที่ครอบคลุม เชื่อถือได้ และทำงานร่วมกันได้ เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจและสังคมภายในภูมิภาค

    การตกลงร่วมกันมีขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGMIN) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “การสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้” (Building an Inclusive and Trusted Digital Ecosystem) โดยมีรัฐมนตรีดิจิทัล จากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศเข้าร่วม

    ในแถลงการณ์ กลุ่มอาเซียนระบุว่า เห็นพ้องที่จะ “พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะดิจิทัลที่มีคุณภาพ เปิดกว้าง ปลอดภัย ยืดหยุ่น และทำงานร่วมกันรวมถึงบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเชื่อมโยงผู้คนและธุรกิจในอาเซียน เพื่อพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล ที่จากความพยายามอันแข็งแกร่งในการยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์”

    แม้สมาชิกได้ตกลงที่จะเสริมสร้างความไว้วางใจในระบบนิเวศดิจิทัลของตนด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และส่งเสริมการใช้และการส่งข้อมูลอย่างมีความรับผิดชอบ แต่ชี้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “การนำแนวทางระดับภูมิภาค หลักการและกรอบการทำงานทั่วไปมาใช้”

    เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กลุ่มประเทศจึงตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในการกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ เช่น Generative AI รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานอาเซียนด้านการกำกับดูแล AI ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบคู่มืออาเซียนว่าด้วยธรรมาภิบาลและจริยธรรมด้าน AI(ASEAN Guide on AI Governance and Ethics ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคมีความตั้งใจที่จะรับมือและใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ลดอันตรายให้เหลือน้อยที่สุด

    การสร้างพลังการทำงานร่วมกันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สำหรับการขยายการเชื่อมต่อและความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ที่ดีขึ้น เป็นอีกสองประเด็นที่ได้รับการรับรองในระหว่างการประชุมที่สิงคโปร์

    เพื่อดำเนินการตามแผนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเหล่านี้ ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันเองและกับพันธมิตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องผ่าน ความช่วยเหลือด้านเทคนิค การแบ่งปันความรู้ และการสร้างขีดความสามารถ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เสริมสร้างความรู้ด้านดิจิทัล พัฒนา บุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัล ยกระดับการเชื่อมต่อและเสริมสร้างความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อวิสัยทัศน์และอัตลักษณ์ร่วมกันของอาเซียน

    ความมุ่งมั่นใหม่จากอาเซียนนี้สอดคล้องกับกรอบความตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Framework Agreement :DEFA) ของกลุ่ม ซึ่งอยู่ในการเจรจาในปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าการเจรจาจะขยายไปจนถึงปี 2568

    DEFA ของอาเซียนพยายามที่จะประสานการดำเนินการ ที่มุ่งเป้าไปที่การบูรณาการและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศในกลุ่มภูมิภาค

    ที่ประชุมสิงคโปร์รับทราบการทำงานที่เสร็จสิ้นในรายงานขั้นสุดท้ายของการศึกษาเกี่ยวกับ DEFA ของอาเซียนและความคืบหน้าในการเจรจา

    สำหรับประเทศไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้เเทนประเทศไทย พร้อมด้วยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม ได้เข้าร่วมการประชุม

    นายประเสริฐกล่าวว่า ดีอี ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยได้หยิบยกนโยบายสำคัญ “The Growth Engine of Thailand” ในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย โดยแบ่งเป็น 3 ด้านของการพัฒนา อันได้แก่
    1) การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อการเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ยกระดับการให้บริการด้านดิจิทัลของภาครัฐกับประชาชน รวมถึงการโปรโมทการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ในภาครัฐที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงกว่าระบบที่เป็นอยู่
    2) การเพิ่มระดับความปลอดภัยและมั่นคงทางดิจิทัล โดยเร่งสร้างเครื่องมือในการจัดการกับภัยทางไซเบอร์ หรืออาชญกรรมออนไลน์ รวมทั้งการป้องกันภัยที่อาจจะเกิดขึ้นผ่านการให้ความรู้แก่ประชาชน
    3) การสร้างบุคลากรด้านดิจิทัล โดยเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถด้านดิจิทัลให้กับประชาชนผ่านคอนเซป “Digital for All”
    นอกจากนี้ ยังตระหนักถึงความร่วมมือในแนวทางของการควบคุมและจรรยาบรรณของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance and Ethics) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ในปัจจุบัน เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีปัญญาประเดิษฐ์ที่เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในขณะนี้ โดยนายประเสริฐได้กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยได้เห็นถึงความสำคัญและได้มีการจัดทำ Thailand AI Ethics Guideline เพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในประเทศไทย

    นายประเสริฐยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการภัยออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งด้านความมั่นคงระดับประเทศและเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะในการจัดตั้งคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (The ASEAN Working Group on Anti – Online Scam: WG – AS) ซึ่งเป็นข้อเสนอของประเทศไทย เพื่อร่วมกันยกระดับความร่วมมือด้านการป้องกันและรับมือกับปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ของอาเซียน ซึ่งเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติระดับโลก เพื่อร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และได้กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ AOC 1441 เพื่อปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ประชาชน

    นายประเสริฐ ได้เน้นย้ำว่า “อาเซียนต้องร่วมกันบูรณาการ เพื่อไขปัญหาเรื่องนี้ให้ได้อย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ประชาชนในภูมิภาคอาเซียน”