ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามทำแผนโครงสร้างพื้นฐาน ICT ปูทางสู่ผู้นำระดับโลกที่นำดิจิทัลมาใช้

ASEAN Roundup เวียดนามทำแผนโครงสร้างพื้นฐาน ICT ปูทางสู่ผู้นำระดับโลกที่นำดิจิทัลมาใช้

28 มกราคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 22-27 มกราคม 2567

  • เวียดนามอนุมัติแผนโครงสร้างพื้นฐาน ICT ปูทางสู่ผู้นำระดับโลกที่นำดิจิทัลมาใช้
  • เวียดนามออกกฎให้แบงก์เปิดชื่อผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 1% ขึ้นไปเริ่ม 1 ก.ค.
  • กัมพูชาส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้าปี 2566 เพิ่มขึ้น 50%
  • อินโดนีเซียรับ FDI มูลค่า 47 พันล้านดอลล์ในปี 2566
  • สิงคโปร์-จีนวีซ่าฟรี 30 วันเริ่ม 9 ก.พ.
  • อาเซียนบวกสามดึงนักท่องเที่ยวกว่า 147 ล้านคนปี 2566
  • EUชี้การฟื้นฟูข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคกับอาเซียนเป็นเป้าหมายระยะยาว

    เวียดนามอนุมัติแผนโครงสร้างพื้นฐาน ICT ปูทางสู่ผู้นำระดับโลกที่นำดิจิทัลมาใช้

    ที่มาภาพ: https://vietnam.travel/places-to-go/southern-vietnam/ho-chi-minh-city

    รองนายกรัฐมนตรี เจิ่น หลัวกวาง (Tran Luu Quang) ได้ลงนามในคำสั่ง 36/QD-TTg อนุมัติแผนโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) ปี 2021-30 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2050

    ภายใต้แผนนี้ เครือข่ายโทรคมนาคมบรอดแบนด์ที่มีขนาดความจุสูง ความเร็วสูง เทคโนโลยีที่ทันสมัย ​​และโครงสร้างพื้นฐาน Internet of Things (IoT) ที่บูรณาการในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นหลักการพัฒนาที่สอดคล้องกันและรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รัฐบาล เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนความปลอดภัยและการป้องกันประเทศ ภายในปี 2568 นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศแบบเข้มข้น และศูนย์วิจัยพัฒนา และนวัตกรรมจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วขั้นต่ำ 1 กิกะไบต์ต่อวินาที และปรับใช้และลงทุนในสายเคเบิลโทรคมนาคมระหว่างประเทศเพิ่มเติม 2-4 เส้น

    ภายในปี 2568 เวียดนามจะเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศชั้นนำของโลกในการแปลงอินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยี IPv6

    สำหรับศูนย์ข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลแบบคลาวด์ จะมีการสร้างศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นตามมาตรฐานสีเขียวและแผนโซนนิ่งพลังงาน

    ศูนย์ข้อมูลจะทำให้มีการเชื่อมต่อแบบซิงโครนัส รองรับข้อมูลที่เชื่อมต่อระหว่างกัน และความสามารถด้านการทำงานพร้อมๆกัน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ และปรับปรุงการดำเนินการ และใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูลที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

    โดยมีข้อกำหนด คือ ภายในปี 2568 จะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลระดับชาติและใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับฐานข้อมูลระดับชาติและฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกันอื่นๆ ตามบทบัญญัติของกฎหมาย จะมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอเนกประสงค์ระดับชาติอย่างน้อยสามแห่ง และศูนย์ข้อมูลอเนกประสงค์ในระดับภูมิภาค

    หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจะใช้ระบบนิเวศการประมวลผลแบบคลาวด์เพื่อให้บริการรัฐบาลดิจิทัล และ 70% ของธุรกิจเวียดนามจะใช้บริการที่ธุรกิจในประเทศจัดหาให้

    โครงสร้างพื้นฐานแอปพลิเคชันเทคโนโลยีสารสนเทศให้ความสำคัญไปที่การมุ่งเน้นทรัพยากรการพัฒนาในทิศทาง ทำก่อน ทำได้ดี และมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานระดับชาติที่สนับสนุนแพลตฟอร์มดิจิทัล สำหรับเศรษฐกิจและสังคมหลายสาขา และให้บริการกิจกรรมทางสังคมที่สำคัญในสภาพแวดล้อมดิจิทัล

    การพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศจะขึ้นอยู่กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า บล็อกเชน คลาวด์คอมพิวติ้ง และ IoT โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกด้านทางเศรษฐกิจและชีวิตทางสังคม

    อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต้องพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับจากการประกอบและการประมวลผลไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์และบริการอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศในเวียดนาม เพื่อสร้างพื้นที่การพัฒนาใหม่สำหรับประเทศ

    เป้าหมาย คือ ภายในปี 2593 โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและการสื่อสาร จะเป็นหลักในการเชื่อมต่ออัจฉริยะโดยอาศัยข้อมูลและเทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีสีเขียว เชื่อมโยงโลกทางกายภาพกับโลกดิจิทัลเพื่อปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนและเร่งด่วนทั้งหมด และเป็นหลักในการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และการป้องกันประเทศ

    แผนนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเครือข่ายไปรษณีย์ที่ทันสมัยและเชื่อมโยงโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศและเศรษฐกิจดิจิทัล

    เครือข่ายไปรษณีย์จะมีการพัฒนาด้วยขีดความสามารถที่รองรับที่เพียงพอ เพื่อให้แน่ใจว่าห่วงโซ่อุปทานจะสมบูรณ์และต่อเนื่อง ไมว่าในกรณีฉุกเฉินใดๆ และจะสร้างศูนย์ไปรษณีย์ระดับภูมิภาค 3-5 แห่งขึ้นทั่วประเทศภายในปี 2573 ซึ่งศูนย์ไปรษณีย์จะมีความสามารถในการใช้ประโยชน์การส่งไปรษณีย์โดยเฉลี่ยกว่า 15,750 ตันต่อวัน และศูนย์ไปรษณีย์ภูมิภาค 5,000 ตัน

    เวียดนามออกกฎให้แบงก์เปิดชื่อผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 1% ขึ้นไปเริ่ม 1 ก.ค.

    ที่มาภาพ:https://en.vietnamplus.vn/major-commercial-banks-agree-to-further-reduce-interest-rates/252164.vnp
    ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ธนาคารพาณิชย์จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้น 1% ของทุนจดทะเบียนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันสินเชื่อ(Law on Credit Institutions)

    กฎหมายฉบับแก้ไขซึ่งผ่านสมัชชาแห่งชาติในสมัยวิสามัญที่กรุงฮานอยเมื่อวันที่ 18 มกราคม ได้กำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการถือหุ้นและการเปิดเผยข้อมูล กฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคมปีนี้ ยกเว้นบทเฉพาะกาลบางประการที่ต้องแก้ไข

    การแก้ไขล่าสุดในกฎหมาย มีเป้าหมายที่จะกระชับกฎระเบียบเกี่ยวกับการถือครองหุ้นของธนาคาร ปัจจุบันธนาคารต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้ถือหุ้นที่มีสัดส่วนการถือหุ้นขั้นต่ำ 5% เท่านั้น

    ภายใต้กฎหมายฉบับแก้ไข รายละเอียดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ถือครองทุนจดทะเบียน 1% และบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องแสดงไว้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของธนาคาร

    คำจำกัดความของบุคคลที่เกี่ยวโยงกันได้ขยายให้ครอบคลุมถึงพ่อแม่อุปถัมภ์ พ่อแม่เลี้ยง พ่อแม่สามีพ่อตาแม่ยาย ลูกบุญธรรม ลูกเขย พี่น้องของเขยหรือสะใภ้ พี่น้องต่างมารดาบิดา และเขยสะใภ้ของพี่น้องต่างมารดาบิดา

    ปัจจุบันปู่ย่าตายาย หลาน ลุงอา ป้าน้า หลานชาย และหลานสาว ถือเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกันตามกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งบุคคลหรือองค์กรใดๆ ที่มีความสัมพันธ์กับธนาคารที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการดำเนินงานจะถือว่าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

    เพดานการเป็นเจ้าของสำหรับผู้ถือหุ้นประเภทสถาบันจะลดลงจาก 15% เป็น 10% ในขณะที่ผู้ถือหุ้นและบุคคลที่เกี่ยวข้องจะมีเพดานการถือหุ้นลดลงจาก 20% เป็น 15% ในทางตรงกันข้าม เพดานการเป็นเจ้าของสำหรับผู้ถือหุ้นรายบุคคลจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5% ของทุนก่อตั้ง

    หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม ผู้ถือหุ้นและบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งมีหุ้นเกินขีดเพดานที่กำหนดจะได้รับอนุญาตให้คงความเป็นเจ้าของเดิมไว้ได้ แต่จะไม่ได้รับอนุญาตให้เพิ่มจำนวนหุ้น ยกเว้นการรับหุ้นปันผล

    กัมพูชาส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้าปี 2566 เพิ่มขึ้น 50%

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501335905/cambodias-electrical-exports-rise-to-1-4-billion-in-1h/#google_vignette
    กัมพูชาส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมูลค่ากว่า 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯไปยังตลาดต่างประเทศในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 50%เมื่อเทียบกับปี 2565 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้คิดเป็นเกือบ 14% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ตามข้อมูล จากกรมศุลกากรและสรรพสามิตทั่วไป

    การส่งออกภายใต้พิกัดศุลกากรในระบบฮาร์โมไนซ์(Harmonized System Code) 85 ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีมูลค่ารวม 3.13 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2566 เพิ่มขึ้น 56.6% จาก 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯที่เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งนี้คิดเป็น 13.8% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ที่มีมูลค่า 22.64 พันล้านเหรียญศหรัฐฯ ในปี 2565 สินค้าประเภทเดียวกันคิดเป็น 9% ของการส่งออกทั้งหมด มูลค่า 22.25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    สำหรับเดือนธันวาคม 2566 เพียงเดือนเดียว การส่งออกผลิตภัณฑ์ภายใต้พิกัด 85 มีมูลค่า 186.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 37.6% จาก 298.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯในเดือนธันวาคม 2565

    นายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชา (CCC) กล่าวว่า การเติบโตของการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ยืนยันความก้าวหน้าของห่วงโซ่การผลิตของประเทศ และกำลังตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศมากขึ้น ในบริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ในปัจจุบัน พร้อมเน้นย้ำว่าผู้ผลิตอุปกรณ์เป็นที่ต้องการทั่วโลก เนื่องจากสามารถช่วยดึงดูดการลงทุนจากธุรกิจขนาดใหญ่ไปยังประเทศของตนได้

    นอกจากนี้ยังได้อธิบายว่า ความสามารถของประเทศในการผลิตสินค้าในพิกัด 85 ได้มากขึ้นทำให้ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องจักรรายใหญ่สามารถตั้งโรงงานในประเทศได้ง่ายขึ้น เนื่องจากได้รับประโยชน์ด้านการขนส่งและภาษี

    “เนื่องจากกัมพูชามีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้มากขึ้น ก็จะช่วยดึงดูดบริษัทหรือโรงงานให้ผลิตหรือประกอบเครื่องจักรขนาดใหญ่โดยตรงในกัมพูชา” นายลิม เฮงกล่าวและว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ทั้งหมดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2567 จากจำนวนโรงงานในประเทศที่ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น

    นายฮง วานาค ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของ Royal Academy of Cambodia กล่าวว่า การมีโรงงานหรืออุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นจะเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น และมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เหล่านี้บ่งชี้ว่ากำลังการผลิตของประเทศดีขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว

    “นี่เป็นการกระจายความหลากหลายเชิงบวกของการส่งออกของกัมพูชา โดยถอยห่างจากสิ่งทอที่มีบทบาทมากในอดีต และการที่สินค้าดังกล่าวมากขึ้น โรงงานต่างๆ จะสามารถประกอบและผลิตเครื่องจักรในกัมพูชาได้มากขึ้น”นายฮง วานาคกล่าว

    ตามข้อมูลของนายฮง วานาค ข้อตกลงทางการค้าและอัตราภาษีพิเศษจากตลาดหลักๆ กำลังดึงดูดนักลงทุนมายังกัมพูชา โดยกล่าวว่าสถานการณ์ภายในของประเทศก็อยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน เมื่อพิจารณาถึงสภาพแวดล้อม การเมือง ความปลอดภัย กฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และแรงงาน ตลอดจนที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เชิงยุทธศาสตร์

    รายงานงบประมาณของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังสำหรับปี 2567 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะฟื้นตัวในปี 2567 โดยมีอัตราการเติบโตที่คาดหวังอยู่ที่ประมาณ 6.6% และภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะเติบโต 8.5%

    “ภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะยังปรับขึ้นต่อเนื่องที่ประมาณ 8.5% ในปี 2567 จากประมาณ 5.0% ในปี 2566 ทั้งนี้เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคส่วนย่อยด้านเครื่องนุ่งห่ม ในขณะที่ภาคส่วนย่อยที่ไม่ใช่การผลิตเครื่องนุ่งห่มยังคงเติบโตแข็งแกร่ง และภาคส่วนย่อยการก่อสร้างยังคงขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป” รายงานระบุ

    อินโดนีเซียรับ FDI มูลค่า 47 พันล้านดอลล์ในปี 2566

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2024/01/24/indonesia-sees-fdi-worth-us47bil-in-2023
    อินโดนีเซียได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment:FDI)มูลค่ารวม 744 ล้านล้านรูปียะฮ์ (47.34 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 13.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี กระทรวงการลงทุน ระบุเมื่อวันพุธ(24 ม.ค.)

    อย่างไรก็ตาม การเติบโตในไตรมาสที่สี่ชะลอตัวลงอย่างมากเป็น 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อเทียบกับการเติบโตของไตรมาสที่สามที่ 16.2% ยอด FDI ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมอยู่ที่ 184.4 ล้านล้านรูปียะฮ์

    ข้อมูลของกระทรวงไม่รวมการลงทุนในภาคการเงินและน้ำมันและก๊าซ และรายงานเป็นสกุลเงินรูปียะฮ์

    อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตของ FDI อย่างแข็งแกร่งหลังการระบาดใหญ่ โดยเฉพาะในขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปนิกเกิลกำลังเฟื่องฟู

    อุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานได้รับ FDI มากที่สุดในปีที่แล้วที่ 11.8 พันล้านเหรียญสหรฐฯ ขณะที่ภาคเหมืองแร่อยู่ในอันดับที่ 4 ด้วยมูลค่า 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภาคส่วนอื่นๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ได้แก่ คลังสินค้าและโทรคมนาคม และเภสัชกรรม และเยื่อและกระดาษ

    สิงคโปร์ จีน และฮ่องกงเป็นแหล่ง FDI ที่ใหญ่ที่สุดในปี 2566

    สิงคโปร์-จีนวีซ่าฟรี 30 วันเริ่ม 9 ก.พ.

    ที่มาภาพ: https://mothership.sg/2024/01/chinese-tourists-spending/
    สิงคโปร์และจีนบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะให้พลเมืองของตนเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าเป็นเวลา 30 วัน โดยจะเริ่มมีผลในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้

    ผู้แทนรัฐบาลทั้งสองฝ่ายลงนามข้อตกลงเมื่อวันพฤหัสบดี (25 ม.ค.) ข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันตรุษจีน

    ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ชาวสิงคโปร์และพลเมืองจีนที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดาสามารถเข้าประเทศจีนหรือสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเป็นเวลาไม่เกิน 30 วัน หากเดินทางเพื่อธุรกิจ ท่องเที่ยว เยี่ยมเพื่อนและครอบครัว หรือเหตุผลส่วนตัวอื่น ๆ

    ผู้ที่วางแผนจะทำกิจกรรมที่ต้องได้รับการอนุมัติล่วงหน้า เช่น การทำงาน หรือรายงานข่าว จะต้องได้รับวีซ่าที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าประเทศ

    ชาวจีนที่เข้าสิงคโปร์โดยไม่มีวีซ่าและวางแผนที่จะอยู่นานกว่า 30 วัน จะต้องยื่นขอขยายเวลาทางออนไลน์กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและจุดตรวจของสิงคโปร์(ICA)

    จากการสอบถามของ CNA เมื่อวันศุกร์ สถานทูตจีนในสิงคโปร์กล่าวว่า พลเมืองสิงคโปร์ที่วางแผนจะอยู่ในประเทศจีนนานกว่า 30 วันสามารถยื่นขอต่ออายุวีซ่าได้ที่หน่วยงานความมั่นคงสาธารณะในท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการอนุมัติโดยอัตโนมัติ

    ปัจจุบันชาวสิงคโปร์ที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดาสามารถเข้าประเทศจีนได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเป็นเวลา 15 วัน เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว เยี่ยมครอบครัว และทำธุรกิจ จีนรื้อฟื้นข้อตกลงนี้อีกครั้งในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หลังจากถูกระงับเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นานกว่าสามปี

    ปัจจุบันพลเมืองจีนต้องมีวีซ่าเพื่อเข้าประเทศสิงคโปร์

    สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและจุดตรวจของสิงคโปร์ กล่าวว่าจะไม่มีการคืนเงินค่าธรรมเนียมการดำเนินการวีซ่าสำหรับนักเดินทางที่ยื่นขอวีซ่าก่อนหน้านี้

    “ภายใต้ข้อตกลงที่มีมานาน ผู้ถือหนังสือเดินทางทูต กิจการสาธารณะ และหนังสือเดินทางราชการที่ออกโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดวีซ่าสำหรับการพำนักในสิงคโปร์ได้สูงสุด 30 วัน” ICA กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี

    นอกจากนี้ ผู้ถือเอกสารการเดินทางอื่นๆ ทั้งหมดที่ออกโดยจีนจะต้องยื่นขอวีซ่าเข้าเมือง ก่อนที่จะเดินทางไปสิงคโปร์

    ข้อตกลงยกเว้นวีซ่า 30 วันร่วมกันจะช่วยเพิ่ม “ความสะดวกยิ่งขึ้นให้กับพลเมืองของสิงคโปร์และจีนที่เดินทางระหว่างกัน เพื่อทำธุรกิจและพักผ่อน” สถานทูตสิงคโปร์ในกรุงปักกิ่งโพสต์ใน Facebook เมื่อวันพฤหัสบดี

    “และยังจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน และนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นสำหรับสิงคโปร์และชาวสิงคโปร์” สถานทูตเสริมว่า หวังว่าจะมีการเดินทางเพื่อธุรกิจ การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระหว่างทั้งสองประเทศมากขึ้น

    แผนข้อตกลงยกเว้นวีซ่าร่วม 30 วันได้ประกาศเมื่อเกือบสองเดือนที่แล้ว ในระหว่างการประชุมทวิภาคีประจำปีระดับสูงสุดระหว่างสิงคโปร์และจีน

    การประชุมสภาร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีครั้งที่ 19 มีรองนายกรัฐมนตรีลอเรนซ์ หว่องของสิงคโปร์ และรองนายกรัฐมนตรีจีน ติง เสวี่ยเซียง ร่วมเป็นประธานเป็นครั้งแรก ซึ่งในตอนนั้น นายติงกล่าวว่า ข้อตกลงปลอดวีซ่าจะ “อำนวยความสะดวกมากขึ้นในการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล”

    ข้อตกลงนี้ได้รับการยืนยันในภายหลังผ่านการแลกเปลี่ยนบันทึกทางการทูตระหว่างสิงคโปร์และจีน ICA ระบุ

    อาเซียนบวกสามดึงนักท่องเที่ยวกว่า 147 ล้านคนปี 2566

    ที่มาภาพ: https://kpl.gov.la/En/detail.aspx?id=80018

    เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ได้มีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวสมาคมประชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ASEAN) บวกสาม ครั้งที่ 23 หรือ 23 rd M-ATM Plus Three ) ขึ้นที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมีนางสวนสะหวัน วิกนาเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป. ลาว เป็นประธานการประชุม และมีนายหวัง ชาง อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำ สปป. ลาว เป็นประธานร่วม ซึ่งก่อนหน้าการประชุม M-ATM Plus Three ครั้งที่ 23 ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three National Tourism Organisation: ASEAN Plus Three NTOs) ครั้งที่ 44 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567

    ที่ประชุมรับทราบตัวเลขเบื้องต้นว่า ในปี 2566 ประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสามสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 147 ล้านคน และยังมีมุมมองทางบวกว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง จากความต้องการการเดินทางที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลความคืบหน้าของภาคการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา โดยรับทราบว่าได้ดำเนินการไปแล้ว 24 กิจกรรมหรือ 61.5% ของแผนงานความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม (APT) 2564-2568 ( ASEAN Plus Three (APT) Tourism Cooperation Work Plan 2021-2025) และที่ประชุมได้ขอบคุณผู้ประสานงานระดับประเทศที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผนงานอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้ APT NTO ยกระดับกิจกรรมด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การตลาด และการพลิกโฉมภาคการท่องเที่ยวโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ประชุมรับทราบว่า จะมีการจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียนบวกสามฉบับใหม่หลังปี 2568 เพื่อนำเข้าสู่การรับรองในงาน M-ATM Plus Three ครั้งที่ 25 ในปี 2569 และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวอาเซียนบวกสามทบทวนการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนบวกสามปี 2564-2568 และระบุสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆหลังปี 2568 ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ASEAN Tourism Strategic Plan (ATSP) หลังปี 2568

    ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับทักษะและเสริมทักษะให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และติดอาวุธให้พร้อม รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับแนวทางใหม่ในการทำธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว ที่ประชุมได้ขอบคุณประเทศบวกสามที่มุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะและความรู้ของผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอาเซียนผ่านการฝึกอบรในโปรแกรมและกิจกรรมต่างๆ ที่ประชุมยังได้แสดงความยินดีกับการดำเนินการของเวทีเครือข่ายการฝึกอบรมและการศึกษาการท่องเที่ยวอาเซียนบวกสามประจำปี 2566(ASEAN Plus Three Tourism Training and Education Network (APTTTEN) Forum 2023 ร่วมกับการประชุมนานาชาติว่าด้วยข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรวิชาชีพการท่องเที่ยวของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals: MRA-TP) ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2566 ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย

    ที่ประชุมขอบคุณจีนที่สนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน-จีน ที่ประชุมรับทราบว่าในปี 2566 จีนได้จัดกิจกรรม 3 กิจกรรม ได้แก่China-ASEAN Expo Tourism Exhibition, China International Travel Mart และโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้านการท่องเที่ยวจีน-อาเซียน( China-ASEAN Tourism Personnel Training Programmes) ที่ประชุมมีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบถึงการเปิดตัวเว็บไซต์การท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับตลาดจีน ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงของอาเซียน 2568 (Master Plan on ASEAN Connectivity (MPAC) 2025) ดูได้ที่ https://www.visitoutheastasia.cn เว็บไซต์นี้เป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีศักยภาพ โดยการให้ข้อมูลที่ครอบคลุมและทันสมัยเกี่ยวกับตัวเลือกการท่องเที่ยวที่หลากหลายในประเทศอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์สูงสุดคือ เพื่อเพิ่มกระแสการท่องเที่ยว ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเชื่อมโยงระดับประชาชน และส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันระหว่างอาเซียนและจีนผ่านพลังของการท่องเที่ยว ที่ประชุมหวังที่จะเห็นความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างอาเซียนและจีน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์การท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่สำหรับตลาดจีน

    ที่ประชุมได้ขอบคุณญี่ปุ่นที่จัดการเจรจาพิเศษรัฐมนตรีการท่องเที่ยวอาเซียน-ญี่ปุ่น(SEAN-Japan Tourism Ministers’ Special Dialogue )ในเดือนตุลาคม 2566 และสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่น ที่ประชุมยังสนับสนุนให้อาเซียนและญี่ปุ่นกระชับความร่วมมือในภาคการท่องเที่ยวและดำเนินโครงการริเริ่มต่างๆ ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รวมถึงการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และผลักดันการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยยึดตามแถลงการณ์ร่วมในการเจรจาพิเศษ

    ที่ประชุมขอบคุณสาธารณรัฐเกาหลี (ROK) ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน-เกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ Korea Partnership Initiative for Sustainable Tourism (KOPIST) รวมถึงการประชุมเวทีหารือระดับสูง(High-Level Policy Forum) และการประชุมระดับปฏิบัติการ(Working Level Workshop) ที่จัดขึ้นในเดือนเมษายน 2566 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ขอบคุณสาธารณรัฐเกาหลีที่เสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคผ่านโครงการฝึกอบรมผู้บริหารด้านนโยบายและยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ UNWTO ครั้งที่ 17(17th UNWTO Asia-Pacific Executive Training Programme on Tourism Policy and Strategy) ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมสนับสนุนให้อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีหารือถึงแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือกับ มุ่งเน้นกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

    ที่ประชุมยังได้ขอบคุณศูนย์อาเซียน-จีน (ASEAN-China Centre:ACC) ศูนย์อาเซียนญี่ปุ่น (ASEANJapan Centre:AJC) และศูนย์อาเซียน-เกาหลี (ASEAN-Korea Centre:AKC) ที่ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับประชาชนและความเข้าใจทางวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่ประชุมสนับสนุนให้ศูนย์ต่างๆ สนับสนุนเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวอาเซียนบวกสามต่อไป โดยมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนบวกสาม การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ และการดำเนินการทางการตลาด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของภาคการท่องเที่ยว ที่ประชุมแสดงความคาดหวังต่อศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJC) สำหรับการดำเนินโครงการติดตามผลการเจรจาพิเศษของรัฐมนตรีการท่องเที่ยวอาเซียน-ญี่ปุ่น

    EUชี้การฟื้นฟูข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคกับอาเซียนเป็นเป้าหมายระยะยาว

    ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่มาภาพ:https://jakartaglobe.id/business/euasean-trade-deal-remains-longterm-objective-envoy-

    เมื่อเร็วๆ นี้สหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า การฟื้นฟูข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคกับอาเซียนยังคงเป็นเป้าหมายระยะยาว เนื่องจากกลุ่มพยายามที่จะเจรจาข้อตกลงที่ใกล้เคียงกันกับสมาชิกแต่ละรายของกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    อาเซียนและสหภาพยุโรปเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระดับภูมิภาคเมื่อปี 2550 แต่มีการระงับการเจรจาในอีกสองปีต่อมาหลังจากการเจรจา 7 รอบ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สหภาพยุโรปได้ดำเนินการทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับแต่ละประเทศในอาเซียน รวมถึงอินโดนีเซียด้วย แมาการเจรจาจะสิ้นสุดลงหลายปีแล้ว แต่ FTA ระดับภูมิภาคยังคงเป็นวาระ จากการให้ข้อมูลของ นายสุจิโร ซีม(Sujiro Seam) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำอาเซียน

    “คำตอบอยู่ในคำแถลงของผู้นำร่วม เป็นที่ยอมรับกันว่าเขตการค้าเสรีสหภาพยุโรป-อาเซียนยังคงเป็นเป้าหมายระยะยาว” นายซีมกล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงจาการ์ตาเมื่อเย็นวันพฤหัสบดี(25 ม.ค.) เมื่อถูกถามว่ามีแผนที่จะเริ่มการเจรจาอีกครั้งหรือไม่

    ซีมอ้างถึงแถลงการณ์ของผู้นำร่วมที่ออกมาจากการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-อาเซียนในปี 2565 แถลงการณ์แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายยืนยันอีกครั้งว่าเขตการค้าเสรีในอนาคตเป็นวัตถุประสงค์ระยะยาวร่วมกัน ในเวลาเดียวกัน ก็ได้ตกลงที่จะแสวงหาความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน

    “จึงมีข้อตกลงที่จะมุ่งเน้นไปที่การเจรจาในประเด็นเฉพาะทั้งสามด้านนั้น … ขณะเดียวกันก็ดำเนินการเจรจา FTA ทวิภาคีต่อไป” นายซีม กล่าว

    อินโดนีเซียกำลังพยายามที่จะเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมกับสหภาพยุโรปให้เสร็จสิ้นภายในปลายปีนี้ เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยตกลงที่จะเริ่มการเจรจาอีกครั้งในข้อตกลงที่คล้ายกันกับสหภาพยุโรป ขณะที่ FTA ของสิงคโปร์และเวียดนามมีผลบังคับใช้แล้ว ส่วนการเจรจากับฟิลิปปินส์และมาเลเซียถูกระงับ

    “เรากำลังประเมินโอกาสในการเปิดการเจรจากับฟิลิปปินส์และมาเลเซียอีกครั้ง” นายซีมกล่าวกับสื่อมวลชน

    “ประเด็นก็คือ เรากำลังใช้เขตการค้าเสรีทวิภาคีเหล่านี้เป็นฐานในการทำข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน” นายซีมกล่าว

    ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าอาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามนอกยุโรปของสหภาพยุโรป(รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา) ด้วยมูลค่าการค้าสินค้ามากกว่า 271.8 พันล้านยูโร (294 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในปี 2565