ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สปป.ลาวออกกฎนักลงทุนต่างชาติต้องเปิดบัญชีธนาคารในลาว

ASEAN Roundup สปป.ลาวออกกฎนักลงทุนต่างชาติต้องเปิดบัญชีธนาคารในลาว

14 มกราคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-13 มกราคม 2567

  • สปป.ลาวออกกฎนักลงทุนต่างชาติต้องเปิดบัญชีธนาคารในลาว
  • มาเลเซีย-สิงคโปร์ลงนาม MoU ร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์
  • มาเลเซีย-สิงคโปร์เตรียมใช้การเดินทางแบบไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง
  • บริษัทเวียดนามเกือบ 3,000 แห่งได้รับรหัสส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน
  • กัมพูชาส่งออกข้าวสาร 60,000 ตันไป UAE เป็นครั้งแรก
  • อินโดนีเซีย-เวียดนามตั้งเป้าการค้าทวิภาคี 1.5 หมื่นล้านดอลล์ภายในปี 2571
  • เกาหลีเตรียมใช้เงินวอนในทำธุรกรรมทางการค้ากับอาเซียน
  • HKSAR ลงนามข้อตกลงแก้ไข FTA เพื่อส่งเสริมการค้าอาเซียน

    สปป.ลาวออกกฎนักลงทุนต่างชาติต้องเปิดบัญชีธนาคารในลาว

    ที่มาภาพ: https://www.ui.se/landguiden/lander-och-omraden/asien/laos/
    ธนาคารแห่ง สปป. ลาว (BOL) ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมเงินตราต่างประเทศ โดยกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติต้องเปิดบัญชีธนาคารตามที่กำหนดในประเทศลาว ก่อนที่จะทำธุรกรรมทางการเงินของตน

    การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลพบว่ากระแสการลงทุนจากต่างประเทศที่บันทึกไว้ในระบบธนาคารนั้นต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนที่ตกลงกันไว้มาก จากการรายงานของหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์รายงาน

    การดำเนินการของธนาคารกลางเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาล เพื่อดูแลให้สกุลเงินต่างประเทศเข้าสู่ระบบธนาคารมากขึ้น และเพื่อแก้ไขดุลการชำระเงินโดยรวมที่ขาดดุล โดยเชื่อว่าการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบจะช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินของประเทศ

    ดังนั้นนักลงทุนต่างประเทศจะต้องเปิดบัญชีธนาคารในสกุลเงินกีบลาวและสกุลเงินต่างประเทศ กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศลาวภายใน 15 วันทำการหลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหรือข้อเสนอลงทุนได้รับอนุมัติ

    เอกสารระบุว่า ธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดที่ดำเนินการโดยนักลงทุนจะต้องดำเนินการผ่านบัญชีธนาคารที่ได้เปิดไว้ รวมถึงการโอนเงินลงทุนไปยังประเทศลาว การโอนกำไร และการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของบริษัทที่ได้รับอนุมัติไปยังต่างประเทศ

    นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการชำระค่าสินค้าและบริการ หนี้ เงินปันผล และเงินเดือน/ค่าจ้าง จะต้องแปลงสกุลเงินต่างประเทศของตนเป็นสกุลเงินของลาวผ่านธนาคารพาณิชย์ และเก็บเอกสารการแลกเงินไว้เพื่อการตรวจสอบ

    นอกจากนี้ ผู้ลงทุนต่างประเทศจะต้องโอนเงินลงทุนทั้งหมดเข้าประเทศลาวตามจำนวนที่กำหนดไว้ในการลงทุนที่ได้รับอนุมัติ/ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หากการโอนเงินลงทุนเข้าประเทศลาวอยู่ในรูปอุปกรณ์หรือสินค้า ก็จะต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้อง

    อีกทั้งห้ามนักลงทุนต่างชาติทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัญชีธนาคารอื่นนอกเหนือจากที่เปิดไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศลาว และไม่อนุญาตให้แลกเงินผ่านบุคคล/นิติบุคคล ยกเว้นธนาคารพาณิชย์

    มาเลเซีย-สิงคโปร์ลงนาม MoU ร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์

    ที่มาภาพ: https://www.pmo.gov.my/2024/01/malaysia-singapore-sign-mou-on-johor-singapore-special-economic-zone/

    เขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (JS-SEZ) ที่มีการเสนอกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ในวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา โดยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย นายราฟิซี รามลี และนายกัน คิม หยง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ และมีนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายลี เซียน ลุง ร่วมเป็นสักขีพยาน

    นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และคณะยังได้เข้าร่วมชมการปิดงานก่อสร้างโครงการรถไฟ Rapid Transit System Link(RTS Link) ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์

    เขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์คาดว่าจะส่งเสริมการค้าระหว่างยะโฮร์และสิงคโปร์ และอาจรุ่งเรืองเช่นเดียวกับเมืองเสิ่นเจิ้นของจีน ซึ่งเป็นเรื่องราวความสำเร็จของเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    ทั้งสองประเทศร่วมมือกันสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษติดกับชายแดนสิงคโปร์ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และยกระดับการเชื่อมต่อระหว่างสองประเทศ ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

    เขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ มีการเสนอโดยนายราฟิซีหลังการประชุมกับรัฐบาลรัฐยะโฮร์ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และทั้งสองประเทศตกลงที่จะก้าวไปอีกขั้นด้วยการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อศึกษาการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหลังจากนั้นสองเดือน

    นอกจากนี้ ยังคาดว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์จะช่วยยกระดับระบบนิเวศทางธุรกิจของทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ Iskandar Malaysia และสิงคโปร์

    ในบรรดาภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ บริการทางการเงิน บริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการดูแลสุขภาพ

    เมื่อปีที่แล้ว รัฐยะโฮร์ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 70.6 พันล้านริงกิตในภาคส่วนต่างๆ

    สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับสองของรัฐ โดยมีส่วนประมาณ 70% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคการผลิตของรัฐยะโฮร์

    มาเลเซีย-สิงคโปร์เตรียมใช้การเดินทางแบบไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง

    ที่มาภาพ: https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2024/01/11/malaysia-singapore-looking-to-roll-out-passport-free-travel/
    มาเลเซียและสิงคโปร์กำลังหาแนวทางใช้การเดินทางแบบปลอดหนังสือเดินทางที่จุดตรวจภาคพื้นดินโดยใช้ระบบ QR Code ซึ่งเป็นหนึ่งในความคิดริเริ่มที่วางแผนไว้เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์

    ในแถลงการณ์ร่วมระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซียและกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ รัฐบาลทั้งสองประเทศระบุว่า การเดินทางโดยไม่ใช้หนังสือเดินทางเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มที่มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (SEZ)

    “การนำระบบ QR Code และไม่ใช้หนังสือเดินทางมาใช้ทั้งสองฝ่าย จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลียร์คนที่จุดตรวจภาคพื้นดินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น” ทั้งสองกระทรวงระบุ

    เมื่อเดือนที่แล้วมุขมนตรีแห่งรัฐยะโฮร์ นายออน ฮาฟีซ กาซี (Onn Hafiz Ghazi) เสนอให้รัฐบาลกลางใช้ระบบ QR Code ซึ่งคล้ายกับระบบของสิงคโปร์กับด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง และกักกัน (CIQ) ที่อาคารสุลต่านอิสกันดาร์ในยะโฮร์บาห์รู

    บริษัทเวียดนามเกือบ 3,000 แห่งได้รับรหัสส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/nearly-3000-vietnamese-firms-receive-codes-to-export-agricultural-products-to-china/276004.vnp

    บริษัทเวียดนามเกือบ 3,000 แห่งได้รับรหัสส่งออกจากจีน ทำให้สามารถส่งออกผลิตผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารไปยังตลาดจีนได้

    จากข้อมูลของหน่วยงานแจ้งเตือนสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของเวียดนาม (Vietnam Sanitary and Phytosanitary Notification Authority- SPS Vietnam) ภายใต้กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทของเวียดนามได้รับรหัสส่งออก 3,013 รหัส ซึ่งสอดคล้องกับกฎระเบียบเกี่ยวกับการกำกับดูแลพื้นที่เกษตรกรรม และการติดตามแหล่งกำเนิดสินค้าเกษตรภายใต้คำสั่ง 248 และ 249 ของจีน

    ในการประชุมเพื่อทบทวนผลการดำเนินงานของ SPS Vietnam ในปี 2566 และเปิดตัวแผนสำหรับปี 2567 รองผู้อำนวยการสำนักงาน นายโหง ซวน นัม( Ngo Xuan Nam) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทต่างๆ ของเวียดนามกำลังให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนเพื่อส่งออกไปยังตลาดจีนมากขึ้น

    นายเล ทัญ ฮวา(Le Thanh Hoa) ผู้อำนวยการ SPS Vietnam กล่าวว่าในปี 2567 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงปรับปรุงร่างประกาศเกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัยของอาหารและความปลอดภัยด้านโรคสัตว์และพืชต่อไป รวมทั้งคำเตือนจากคู่ค้าและสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    สำนักงานจะประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศมาตรการ SPS ของเวียดนามที่แจ้งต่อ WTO

    โดยจะประสานงานกับหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าและกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทในการเจรจาบท SPS ของข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (FTA) และเขตการค้าเสรีเวียดนาม – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเพื่อ ยกระดับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เขตการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา และข้อตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน

    ในปี 2566 สำนักงานได้รับและจัดการประกาศ 1,164 ฉบับเกี่ยวกับร่างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ SPS และการเปลี่ยนแปลงที่เสนอโดยสมาชิก WTO โดยระบุว่าจำนวนประกาศที่สูงขึ้นแสดงให้เห็นว่าตลาดโลกให้ความสำคัญกับคุณภาพ สุขอนามัย และความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น และเรียกร้องมากขึ้นในประเด็นเหล่านี้ รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตสีเขียว

    กัมพูชาส่งออกข้าวสาร 60,000 ตันไป UAE เป็นครั้งแรก

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/567471/rice-tariffs-in-european-market-almost-certain/
    เมื่อวันศุกร์(12 ม.ค.2567) ที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกข้าวสารล็อตแรกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) จากการเปิดเผยของ นางจอม นิมล(Cham Nimul) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

    นางนิมลกล่าวว่า Oneroad Group บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศเป็นผู้ส่งออกข้าวไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังบริษัทได้รับคำสั่งซื้อปริมาณ 60,000 ตัน มูลค่า 54 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

    “ในการขนส่งครั้งแรก มีการส่งออกข้าว 500 ตันไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” นางนิมลกล่าวในงานที่จัดขึ้นเพื่อเปิดตัวการส่งออกข้าวกัมพูชาไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

    การส่งออกเกิดขึ้นหลังจากที่กัมพูชาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลงนามข้อตกลงการค้าทวิภาคีในเดือนมิถุนายน 2566

    กัมพูชาส่งออกข้าวสารรวม 656,323 ตันไปยัง 61 ประเทศและภูมิภาคในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากข้อมูลของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Federation -CRF) โดยกัมพูชามีรายได้รวม 466 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีจีนและยุโรปเป็นตลาดหลักสำหรับข้าวของกัมพูชา

    อินโดนีเซีย-เวียดนามตั้งเป้าการค้าทวิภาคี 1.5 หมื่นล้านดอลล์ภายในปี 2571

    ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/302967/indonesia-vietnam-agree-to-set-new-bilateral-trade-targets

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด และนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ได้ตกลงที่จะเพิ่มการค้าทวิภาคีให้ได้ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2571

    ในระหว่างการพบปะกันที่กรุงฮานอยเมื่อวันศุกร์(12 ม.ค.) ประธานาธิบดีวิโดโด และนายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ ยังได้ตกลงที่จะการขยายการเข้าถึงตลาดและลดอุปสรรคทางการค้าให้มากขึ้น หลังจากที่ทั้งสองประเทศบรรลุเป้าทางการค้าที่ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2566

    “ในด้านการลงทุน ประธานาธิบดีขอให้นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ สนับสนุนในการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวย ด้วยการให้ความสำคัญด้านการคุ้มครองนักลงทุน รวมถึงนักลงทุนชาวอินโดนีเซียในเวียดนาม” นางเร็ตโน มาร์ซูดิ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์ เกี่ยวกับการเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีวิโดโด

    จากข้อมูลอย่างเป็นทางการ บริษัทอินโดนีเซียมากกว่า 32 แห่งได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในเวียดนาม รัฐมนตรีให้ความเห็นว่า คำขอของประธานาธิบดีวิโดโดต่อนายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ สะท้อนถึงการสนับสนุนของรัฐบาลต่อนักลงทุนชาวอินโดนีเซียที่ดำเนินกิจกรรมในต่างประเทศ

    ในระหว่างการพบปะ ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรผ่านความร่วมมือในด้านสินค้าอาหารเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงการวิจัย การควบคุมคุณภาพ และ การเกษตรแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี(smart farming)

    ขณะเดียวกัน ในภาคการประมง ประธานาธิบดีวิโดโดชื่นชมที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงของอินโดนีเซียไปยังเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในปี 2565

    “ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ ยังเห็นพ้องถึงความสำคัญของการดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการลงทุนต่อไป รวมถึงเพื่อความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมประมง และการดำเนินการในการกำจัดการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(illegal, unreported and unregulated fishing : IUU Fishing) รัฐมนตรีกล่าว

    นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านพลังงานทดแทนอีกด้วย

    “ประธานาธิบดีโจโกวีและนายกรัฐมนตรีจิ๋งห์เห็นพ้องกันว่าความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุการพึ่งตนเองในภาคส่วนนี้” นางมาร์ซูดิกล่าวเสริม

    ประธานาธิบดีวิโดโด และนายกรัฐมนตรี จิ๋งห์ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อทำ”การบ้าน” ของอาเซียนให้เสร็จ รวมถึงความพยายามในการแก้ไขวิกฤติการณ์ในเมียนมา

    เกาหลีเตรียมใช้เงินวอนในทำธุรกรรมทางการค้ากับอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://amro-asia.org/what-makes-the-korean-won-move-key-drivers-to-watch/
    แหล่งข่าวจากแวดวงทางการเงิน เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 มกราคมว่า ธุรกิจของสาธารณรัฐเกาหลี (RoK) จะสามารถชำระเงินด้วยสกุลเงินของประเทศตนเองหรือเงินวอน (KRW) ให้กับคู่ค้าจากสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เริ่มตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้อย่างเร็วที่สุด

    วิธีการชำระเงินแบบใหม่ที่จะเริ่มใช้ เพื่อลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจำนวนมากที่เรียกเก็บจากการแปลงเงินวอนเป็นสกุลเงินอื่น โดยปกติจะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐหรือแลกเงินดอลลาร์กลับมาเป็นเงินวอน และยังลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

    แผนนี้ชัดเจนขึ้นหลังจากที่มีการกล่าวถึงในทิศทางนโยบายเศรษฐกิจปี 2567 ที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเศรษฐกิจและการเงินเร่งผลักดันปรับปรุงกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินตราภายในครึ่งปีแรกเพื่อดำเนินการตามแผน

    ในกรณีพิเศษ สาธารณรัฐเกาหลีอนุญาตให้ใช้เงินวอน ในการชำระเงินกับอิหร่านในปี 2553 หลังจากซื้อน้ำมันดิบของอิหร่านมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่ห้ามทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการค้ากับอิหร่าน

    แหล่งข่าวเปิดเผยว่า โดยข้อเท็จจริงธุรกรรมการค้าที่ใช้เงินวอนมีน้อยมาก แต่การชำระเงินแบบใหม่บ่งชี้ว่าสกุลเงินนี้ถือว่ามีความน่าเชื่อถือและมีเสถียรภาพนอกเหนือจากสกุลเงินหลัก แหล่งข่าวชี้ให้เห็นว่า ความต้องการเงินวอนเพิ่มขึ้นในประเทศอาเซียน ท่ามกลางการค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วกับสาธารณรัฐเกาหลี

    ในบรรดา 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน อินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่น่าจะเป็นประเทศแรกที่ยอมรับธุรกรรมการค้าโดยใช้สกุลเงินวอนเกาหลี ฟิลิปปินส์และเวียดนามก็มีแนวโน้มที่จะตามมาในไม่ช้า เมื่อการชำระเงินแบบใหม่เริ่มใช้ บริษัทเกาหลีสามารถส่งมอบหรือรัเงินจากธุรกรรมในสกุลเงินวอนเกาหลีผ่านสาขาธนาคารประเทศอาเซียนในกรุงโซล

    ในขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังในระยะยาวพยายามที่จะขยายการใช้สกุลเงินของเกาหลี ในการค้ากับประเทศจากภูมิภาคอื่นๆ เช่นกัน

    HKSAR ลงนามข้อตกลงแก้ไข FTA เพื่อส่งเสริมการค้าอาเซียน


    เมื่อวันอังคาร เขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong Special Administrative Region-HKSAR) ได้ลงนามในพิธีสารฉบับแรกเพื่อแก้ไขข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า

    ข้อตกลงนี้ เป็นการปรับปรุงกฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules-PSR) ของแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี เพื่อเพิ่มความครอบคลุมของ PSR จากสินค้ามากกว่า 200 หมวดหมู่เป็นเกือบ 600 รายการ

    ผลิตภัณฑ์ที่ระบุซึ่งรวมอยู่ใน FTA ผ่านพิธีสารประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่เป็นที่สนใจของผู้ค้าและผู้ผลิตในฮ่องกง เช่น เครื่องประดับ ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

    ธุรกิจในฮ่องกงจะได้รับอนุญาตให้ได้รับสถานะต้นกำเนิดของฮ่องกงได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ระบุที่เพิ่มขึ้น และด้วยเหตุนี้จึงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีเมื่อขยายเข้าสู่ตลาดอาเซียนที่กำลังเติบโต

    “ผมมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าการดำเนินการตามพิธีสารจะช่วยผลักดันการเติบโตในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของเรากับประเทศสมาชิกอาเซียน” นายอัลเจอร์นอน เหยา หนึ่งในคณะผู้บริหารด้านการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลฮ่องกงกล่าว

    นายเหยากล่าวว่า ในฐานะผู้สนับสนุนการค้าเสรีอย่างแข็งขัน ฮ่องกงซึ่งร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้า จะยังคงมุ่งมั่นเพื่อเปิดเสรีการค้าในภูมิภาคต่อไป

    อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของฮ่องกงในด้านการค้าสินค้า โดยมูลค่าการค้ารวมประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 165.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2565 คิดเป็นการเติบโตมากกว่า 38% นับตั้งแต่การลงนามเขตการค้าเสรีในปี 2560