ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯลุยแก้หนี้นอกระบบลงทะเบียน 1 ธ.ค.นี้ – ออมสินขานรับปล่อยกู้ 50,000 บาท/ราย ดบ.1%

นายกฯลุยแก้หนี้นอกระบบลงทะเบียน 1 ธ.ค.นี้ – ออมสินขานรับปล่อยกู้ 50,000 บาท/ราย ดบ.1%

28 พฤศจิกายน 2023


เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในงานแถลงนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

‘เศรษฐา’ ปักธง หนี้นอกระบบ เป็น’วาระแห่งชาติ’เปรียบปัญหาเป็นการค้ายุคใหม่ พรากอิสรภาพจากผู้คน ย้ำภาครัฐ คือตัวกลางไกล่เกลี่ย-ต้องไม่สร้าง moral hazard เปิดลงทะเบียนทั่วประเทศ 1 ธ.ค.นี้ ออมสินขานรับปล่อยกู้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย คิด ดอกเบี้ยคงที่ 1% ต่อเดือน ผ่อนนาน 5 ปี ด้านคลังเปิดรับเจ้าหนี้นอกระบบ ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ‘สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์’

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในงานแถลงนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเชิงรุกเพื่อที่จะต่อสู้กับปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชนในทุกมิติอย่างครบวงจรและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามเจ้าหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง เป็นตัวกลางในการช่วยไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ และจัดให้มีแหล่งสินเชื่อในระบบ สำหรับในส่วนของกระทรวงการคลังจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือดูแลลูกหนี้นอกระบบให้เข้ามาเป็นลูกหนี้ในระบบเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว

“รัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหากัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายๆ ประการ วันนี้รัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทยทุกคน”

นายเศรษฐากล่าวว่ารัฐบาลได้รับความร่วมมือกับหลายฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และฝ่ายตำรวจที่ดูแลบังคับใช้กฎหมาย และมีเรื่องความสัมพันธ์กับชุมชนในระดับที่ละเอียดอ่อน

“นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือน ขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ไม่กลับไปเป็นภาระหนี้ล้นพ้นตัวอีก”

นายเศรษฐากล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ประเมินจำนวนหนี้ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบไว้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริงๆ น่าจะมีมากกว่านั้น

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจสงสัยว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางของหนี้สิน ที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด พวกเขาไม่สามารถแม้แต่ฝัน หรือทำตาม passion ได้ เป็นการปิดโอกาสการต่อยอดไปอีกหลายอย่าง ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กต์ไปทุกภาคส่วน (domino effect)

“สำหรับผมหนี้นอกระบบเป็นการค้าทาสในยุคใหม่ (Modern World Slavery) ที่ได้พรากอิสรภาพความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้”

นายเศรษฐา ย้ำว่า ปัญหานี้เรื้อรังและใหญ่เกินกว่าจะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง ในวันนี้รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามา ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบอีก ภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงปิดหนี้ การทำสัญญาที่หลายครั้งไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย มีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ มีตัวเลขตรวจสอบ (Tracking ID) ที่ประชาชนนำไปใช้ติดตามผลได้ มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ และสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าอย่างตรงไปตรงมา

“พูดง่ายๆ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อทำให้ลูกหนี้มีโอกาสหายใจ มีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตหาเงินมาปิดหนี้ให้ได้ และความตั้งใจนี้ผมได้สั่งการในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยไปทำการบ้านมา ให้ทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่แยกกันทำ”

“พูดให้ชัดการแก้ไขหนี้นอกระบบต้องทำด้วยกันแบบ end to end มีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าสู่วงจรอีก และทั้งสองหน่วยงานต้องเข้าใจกระบวนการของกันและกัน ต้องทำให้กระบวนการไม่ซับซ้อน มีขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบร่วมกันที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ”

“ผมฝากให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานกันอย่างมีเป้าหมาย มีเป้าประสงค์ หรือ KPI ร่วมกัน และกรอบเวลาที่ชัดเจน และจะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด”

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า หลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องท้อถอย

“แน่นอนว่ารัฐบาลจะระมัดระวัง ไม่สร้างภาวะ moral hazard ในมาตรการช่วยเหลือทั้งหมด การแก้ไขหนี้ในวันนี้คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก”

“แต่ผมมั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้พี่น้องประชาชนที่มีรายได้ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็กรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้มากขึ้น”

นายเศรษฐาเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 จะมีการแถลงภาพรวมของหนี้แบบครบวงจร จะครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบอีกครั้งหนึ่ง

“ผมจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลังใจ มีแรงใจที่จะทำตามความฝันนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยขอเชิญชวนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเป็นหนี้นอกระบบ หรือ ถูกเจ้าหนี้ข่มขู่คุกคาม ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้มาลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำอำเภอและจังหวัด , ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ ส่วนในกรุงเทพมหานคร สามารถมาลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไปโดยกระทรวงมหาดไทยจะนำข้อมูลทั้งหมดมาใช้ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นรายกรณีไป

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินการในส่วนของกระทรวงการคลังว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐโดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดให้มีแหล่งเงินทุนในระบบผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบโดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปีสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยเพื่อเป็นเงินทุนหรือเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพโดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 8 ปี หรือ 96 งวด และสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนโดย ธ.ก.ส. เพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนองขายฝาก หรือ ใช้ที่ดินเป็นประกัน วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี

สำหรับเจ้าหนี้นอกระบบ หากต้องการจะประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลังได้ โดยใบอนุญาตประเภทพิโกไฟแนนซ์มีเงื่อนไขสำคัญเบื้องต้น คือ ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายละไม่เกิน 50,000 บาท และเรียกเก็บดอกเบี้ยแบบมีหลักประกันได้ไม่เกินร้อยละ 33 ต่อปี และแบบไม่มีหลักประกันได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 36 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก สำหรับใบอนุญาตประเภทพิโกพลัสต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยสินเชื่อในส่วนที่เกิน 50,000 บาทขึ้นไป เก็บอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไม่สามารถรับฝากเงินจากประชาชนได้ และสามารถเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อได้เฉพาะภายในจังหวัดที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น

ทั้งนี้ ณ เดือนตุลาคม 2566 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 1,132 ราย ใน 75 จังหวัด (ยกเว้นอ่างทองและสิงห์บุรี) และ ณ เดือนกันยายน 2566 มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วสะสมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,797,385 ล้านบัญชี รวมเป็นวงเงิน 36,431.83 ล้านบาท โดยนิติบุคคลที่สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถดูข้อมูลรายการยื่นคำขออนุญาตได้ที่ www.1359.go.th และสำหรับประชาชนที่สนใจขอกู้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ได้ที่ www.1359.go.th เช่นกัน