ThaiPublica > คอลัมน์ > โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง : รู้เขา-รู้เราแล้วจริงหรือ

โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง : รู้เขา-รู้เราแล้วจริงหรือ

22 มกราคม 2024


ประสาท มีแต้ม

โครงการแลนด์บริดจ์ “ชุมพร-ระนอง”

โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง เป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนถึง 1 ล้านล้านบาท น่าจะเป็นโครงการเดี่ยวโครงการเดียวที่ใช้เงินลงทุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทยเราก็ว่าได้ หากกล่าวอย่างสั้นๆ โครงการนี้ได้ริเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในปลายสมัยของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ทั้งๆ ที่ผลการศึกษาด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่แล้วเสร็จ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็ได้นำออกไปเร่ขายและชักชวนนักลงทุนจากต่างประเทศไปแล้วเกือบทั่วโลก ทั้ง จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป

เมื่อเป็นโครงการใหญ่ระดับ “เมกะโปรเจกต์” และมีความรีบเร่งอย่างผิดปกติ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจและช่วยกันตรวจสอบ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมขอนำเสนอภาพเส้นทางการเดินเรือทั้งเส้นทางเดิมที่เรือส่วนใหญ่ของโลกผ่านทางท่าเรือสิงคโปร์ในช่องแคบมะละกา และเส้นทางใหม่ที่รัฐบาลไทยชุดนี้กำลังเร่ขายซึ่งเรียกว่า “แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง”

นอกจากนี้ ผมได้สรุปเปรียบเทียบสาระที่สำคัญ เช่น จำนวนเงินลงทุน จำนวนสินค้าที่สามารถให้บริการได้ รวมทั้งระยะเวลาแล้วเสร็จของโครงการทั้งของไทยและของสิงคโปร์ ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างท่าเรือขนาดยักษ์ซึ่งเรียกว่า Tuas Mega Port จนเปิดใช้งานไปแล้วบางส่วน ดังภาพครับ

ตามที่ผมได้เกริ่นนำไว้ว่า หากกล่าวอย่างสั้นๆ ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ได้ริเริ่มในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ แต่ในความจริงแล้วแนวความคิดที่จะขนส่งสินค้าจากอ่าวไทยไปสู่อันดามันโดยการขุดคอคอดกระได้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์เมื่อปี พ.ศ. 2220 หรือ 347 ปีมาแล้ว มาในระยะใกล้ๆ นี้ เมือปี 2515 (52 ปีมาแล้ว) ผมเองก็ได้ร่วมฟังการสัมมนาโดยใช้ชื่อว่า “โครงการขุดคอคอดกระ” แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เรื่อยมาจนถึง “โครงการคลองไทย” ฯลฯ จนถึงโครงการปัจจุบันนี้

รู้เขา-รู้เราแล้วจริงหรือ

ในวงสนทนาและคนชอบดูหนัง เรามักจะได้ยินวลีว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” (หมายเหตุ คนทั่วไปเข้าใจกันว่าเป็นคำพูดของซุนวู นักปราชญ์และนักการทหารชาวจีนผู้ชาญฉลาดเมื่อหลายพันปีก่อน แต่เว็บไซต์หลายแห่งบอกว่าซุนวูไม่ได้กล่าวอย่างนี้ แต่กล่าวว่า “หากรู้เขารู้เรา แม้รบกันร้อยครั้งก็ไม่มีอันตราย หากไม่รู้เขา แต่รู้เพียงตัวเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ตัวเขาและตัวเราเลย ก็ต้องปราชัยต่อการศึกทุกครั้งไป”) ผมจึงขอใช้หลักคิดของซุนวูมาวิเคราะห์โครงการแลนด์บริดจ์ของทั้งฝ่ายเขาและฝ่ายเรา

ปัญหาของฝ่ายเรา

หนึ่ง ฝ่ายเรารู้จักเขาอย่างผิดพลาด

คุณปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้กล่าวในรายการ คมชัดลึก (23 ตุลาคม 2566) ว่า “ท่าเรือของสิงคโปร์ค่อนข้างแออัด เราไม่ได้ตั้งธงที่จะไปแย่งลูกค้าจากสิงคโปร์ แต่เราจะขอเอาส่วนเกินสัก 10% เพื่อลดความแออัดของสิงคโปร์ ณ วันนี้สิงคโปร์มีศักยภาพให้บริการประมาณ 20 ล้านตู้ต่อปี”

ผมได้ตรวจสอบจากเอกสารหลายชิ้น รวมทั้งได้ฟังคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี LEE Hsien Loong ที่กล่าวกับประชาชนเนื่องในวันชาติ National Day Rally 2022 พบว่า ที่ว่าศักยภาพของสิงคโปร์มีประมาณ 20 ล้านตู้ต่อปีนั้นไม่เป็นความจริง ในปี 2565 ท่าเรือสิงคโปร์สามารถให้บริการสินค้าได้ 37.5 ล้านตู้ (เกือบ 2 เท่าของที่ ผอ.สนข.อ้าง) และจะเพิ่มขึ้นเป็น 65 ล้านตู้ต่อปีในอีก 20 ปีข้างหน้า

เฉพาะท่าเรือใหม่ (TUAS) มีศักยภาพให้บริการได้แล้ว 41 ล้านตู้ (TEU) ต่อปี นี่ยังไม่รวมของท่าเรือเดิมที่ยังให้บริการอยู่ แต่จะทยอยปิดในปี 2567 และ 2583 เมื่อท่าเรือใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

นั่นคือ ท่าเรือใหม่ของสิงคโปร์จะเสร็จสมบูรณ์หลังจากโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยเสร็จสมบูรณ์เพียงปีเดียวเท่านั้น ณ วันนี้สิงค์โปร์มีศักยภาพมากกว่าความต้องการเดินเรือเสียด้วยซ้ำ

ผมเชื่อว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ เพราะเรากำลังทำเมกะโปรเจกต์ระดับ 1 ล้านล้านบาท แต่กลับใช้ข้อมูลของ “เขา” อย่างผิดพลาดมากอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ การมองว่าเราไม่ได้แข่งขันกับสิงคโปร์ แต่จะไปช่วยลดความแออัดของการขนส่งสินค้าของโลกเท่านั้น

เอ๊ะ มันใช่หรือครับ หรือว่าเราจะทำเมกะโปรเจกต์เพียงเพื่อการกุศลเท่านั้น มันง่ายอย่างนั้นหรือ

สอง เรื่องจำนวนลงทุน

เรื่องนี้มีการพูดถึงเงินลงทุนของฝ่ายเราเพียงฝ่ายเดียว แต่ผมค้นพบว่า ท่าเรือใหม่ของสิงคโปร์ลงทุนรวม 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจาก The Straits Times, 21 ส.ค. 2565) แต่สามารถให้บริการสินค้าได้ 65 ล้านตู้ต่อปี และได้เปิดให้บริการไปแล้วเกินครึ่ง แต่แลนด์บริดจ์ของไทยลงทุนรวม 1 ล้านล้านบาท (บางสื่อบอกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่สามารถให้บริการสินค้าได้เพียง 20 ล้านตู้ต่อปี ทั้งนี้ เพราะขีดจำกัดทางภูมิศาสตร์ คือเราต้องสร้างท่าเรือทั้งสองฝั่งทะเล และสร้างถนน ทางรถไฟ 2 ราง อีกเกือบ 100 กิโลเมตร และรถไฟต้องลอดอุโมงค์ถึง 4 แห่งอีกต่างหาก

โดยสรุป ไทยลงทุนมากกว่าสิงค์โปร์ 40% แต่สามารถบริการลูกค้าได้แค่ 1 ใน 3 ของสิงคโปร์เท่านั้น แล้วเราจะแข่งกับเขาอย่างไรกัน

สาม ของใครประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่ากัน

เรื่องนี้สังคมไทยรับรู้จากภาครัฐว่า ถ้ามีแลนด์บริดจ์แล้วจะประหยัดเวลาในการเดินเรือได้ 5 วัน ฟังแล้วก็มีเหตุผลน่าเชื่อ แต่ลืมนึกไปว่า เมื่อเรือขนาดใหญ่ซึ่งมีสินค้าประมาณ 1 หมื่นตู้ จะต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายเท่าใดในการขนสินค้าลงจากเรือ เพื่อไปขึ้นรถไฟ แล้วยกตู้สินค้าลงรถไฟเพื่อไปลงเรืออีกฝั่งหนึ่ง (ดูภาพประกอบ)

ผลการศึกษาที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ว่าจ้างให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า ประมาณ 80-90% ของตู้สินค้าจะถูกขนต่อไปส่งที่ไกลๆ เช่น ยุโรปและจีน มีเพียง 10-20% เท่านั้นที่จะใช้ในกลุ่มประเทศอาเซียนเอง ดังนั้น หากเรือลำที่เคยผ่านช่องแคบมะละกาหันไปใช้แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง สินค้าที่เคยไม่จำเป็นต้องขนลง ก็ต้องขนลง-ขนขึ้น ดังที่กล่าวแล้ว

ค่าใช้จ่ายในการขนขึ้น-ขนลงตู้ละ 5 พันบาท เรือที่มีสินค้า 1 หมื่นตู้ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจ่ายถึง 40-45 ล้านบาท รวมทั้งต้องเสียเวลาในการเทียบท่าอีก 7-10 วัน ถ้าเราเป็นเจ้าของเรือ เราจะเลือกเส้นไหนครับ

โครงการแลนด์บริดจ์ “ชุมพร-ระนอง”

สี่ ในอนาคตปริมาณสินค้าทางเรือจะหายไป 40%

ประเด็นนี้ยังไม่เคยมีใครพูดถึงในสังคมไทย ในฐานะที่ผมสนใจเรื่องพลังงานและโลกร้อน ผมพบข้อมูลจาก UNCTAD (องค์การค้าและการพัฒนาของสหประชาชาติ) พบว่า กว่า 40% โดยน้ำหนักของสินค้าที่มีการขนส่งในมหาสมุทรทั่วโลก คือ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ สินค้า 3 ตัวนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงกว่า 70% ของทั้งหมด สหประชาชาติเองก็กำลังรณรงค์ให้ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon net zero) ภายในปี 2593 หรือเพียง 10 ปีหลังจากแลนด์บริดจ์ไทยเสร็จสมบูรณ์

บางคนอาจจะไม่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวขององค์การสหประชาชาติจะเป็นจริง แต่ทราบไหมครับว่า ในปี 2565 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 62% ในนอร์เวย์เกิน 82% และไฟฟ้าที่ชาวญี่ปุ่นผลิตจากแสงแดดมีจำนวนครึ่งหนึ่งของไฟฟ้าที่คนไทยใช้ เวียดนามก็กำลังพุ่งขึ้นพรวดๆ นอกจากนี้ จีนได้สร้างท่อน้ำมันจากรัฐยะไข่ของเมียนมาไปสู่จีนเสร็จเรียบร้อยแล้ว

สถานการณ์โลกร้อนกำลังรุนแรงมาก มีคนสรุปว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยของโลกเย็นที่สุดสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่ของแต่ละคน โลกร้อนจึงเป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับมนุษย์ทั้งมวลว่า “Do or Die” จะยอมทำตามหรือจะยอมตาย ดังนั้น ในอนาคตปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือขนาดใหญ่ของโลกจะลดลงอย่างแน่นอน ถ้าไม่อยากตาย

ห้า มิติทางการเมืองของเรากับของเขา

ความจริงปัญหาทั้ง 4 ข้อที่ได้กล่าวมาแล้วมันเป็นแค่ตัวอย่างของมิติทางการเมืองเท่านั้นเอง ถ้าระบบการเมืองดีปัญหาดังกล่าวก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น

ผมเองก็ไม่ได้ชังชาติของตัวเองและไม่ได้หลงใหลหรือเห่อต่างชาติ แต่เรามาดูอดีตดังต่อไปนี้ว่ามันเป็นผลมาจากกระบบการเมือง ระบบการตัดสินของประเทศเราหรือไม่

ในปี 2536 คณะรัฐมนตรีเคยมีมติให้ก่อสร้าง “แลนด์บริดจ์ ขนอม-กระบี่” (แต่เรียกชื่อว่าสะพานเศรษฐกิจ) ความคิดเดียวกับโครงการชุมพร-ระนอง เกือบจะทุกประการ ได้ลงทุนก่อสร้างถนนไปแล้ว 3,500 ล้านบาท แต่ไม่การก่อสร้างท่าเรือ เมื่อพิธีกรถาม ผอ.สนข. (ให้สัมภาษณ์รายการคมชัดลึก) ตอบอย่างสั้นๆ ว่า “เป็นโครงการที่ไม่มีการบูรณาการ”

นี่ไม่ใช่โครงการเดียวที่ล้มเหลวของ “เรา” แต่ยังมีอีกหลายโครงการ คือ

ท่าเรือคลองใหญ่ จังหวัดตราด ลงทุนก่อสร้าง 1,295 ล้านบาท กรมเจ้าท่าตรวจรับงานปี 2559 แต่ถูกปล่อยร้างตั้งแต่วันที่ตรวจรับ ไม่มีรายได้กลับมาแม้แต่บาทเดียว (ประชาชาติธุรกิจ 12 ก.ค. 2566)

ท่าเรือระนอง ที่อ้างว่าจะเป็นประตูสู่แอฟริกาและยุโรป สร้างเสร็จปี 2543 ต่อมาปี 2549 สร้างระยะที่ 2 ปัจจุบันได้หยุดให้บริการดังกล่าวแล้ว เนื่องจากไม่มีสินค้าขาเข้ากลับมายังประเทศไทย (https://rnp.port.co.th/cs/internet/rnp/index.html)

เรามาดูการเมืองของสิงคโปร์กันบ้าง นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ได้กล่าวในโอกาส National Day Rally 2022 ผมขอนำบทสรุปในตอนท้ายมานำเสนอ ความว่า “ในการวางแผนและการสร้างประเทศสิงคโปร์ในระยะยาวท่ามกลางความท้าทายทั้งหลายเหล่านี้ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับเราซึ่งต้องมีกุญแจพื้นฐาน 3 ดอกที่ถูกต้อง คือ (1) ความสามัคคีของประชาชน (2) ทีมผู้นำที่มีคุณภาพสูง และ (3) มีความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับสูงระหว่างประชาชนด้วยกันเองและระหว่างประชาชนกับผู้นำของเขา”

กล่าวเฉพาะกุญแจดอกที่สอง เรามีทีมผู้นำที่มีคุณภาพสูงแล้วหรือยังครับ การกระทำที่ไม่ตรงกับคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชนถือเป็นการกระทำที่มีคุณภาพหรือไม่ และขออภัยนะครับ ทั้งๆ ที่ผมไม่อยากจะย้อนความหลัง แต่การจำนำสินค้าที่ได้ราคาสูงกว่าราคาจริงในท้องตลาดนั้นมันใช้หลักการอะไร ผมเชื่อว่ามันได้ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อผู้นำไปมาก และเป็นบทเรียนที่ต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าให้สูญเปล่า

ขงจื๊อ ปราชญ์ชาวจีนอีกคนหนึ่งได้เตือนนักการเมืองว่า “ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อผู้ปกครองนั้นสำคัญที่สุด สำคัญกว่าความอยู่ดีกินดีของประชาชนและสำคัญกว่าการมีกองทัพที่เข้มแข็งด้วย”