ThaiPublica > สัมมนาเด่น > 15 ปี ที่ผลักดันองค์การอิสระ เมื่อไม่มีกฎหมาย ผู้บริโภคควรทำอะไร

15 ปี ที่ผลักดันองค์การอิสระ เมื่อไม่มีกฎหมาย ผู้บริโภคควรทำอะไร

1 ธันวาคม 2012


ข่าวแจก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดตัวคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน  ผ่านเวทีสาธารณะ "15 ปี ที่ผลักดันองค์การอิสระ เมื่อไม่มีกฎหมาย ผู้บริโภคควรทำอะไร" เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พ.ย. 2555
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดตัวคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ผ่านเวทีสาธารณะ “15 ปี ที่ผลักดันองค์การอิสระ เมื่อไม่มีกฎหมาย ผู้บริโภคควรทำอะไร” เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พ.ย. 2555

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดตัวคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ผ่านเวทีสาธารณะ “15 ปี ที่ผลักดันองค์การอิสระ เมื่อไม่มีกฎหมาย ผู้บริโภคควรทำอะไร” เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พ.ย. 2555 โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน ประกอบด้วยตัวแทนองค์กรผู้บริโภค 72 จังหวัด (ภาคีเครือข่าย) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กรรมการองค์การอิสระฯ ในฐานะผู้แทนเขต กล่าวว่า จากการที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้ร่วมกันรณรงค์ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาเป็นเวลากว่า 15 ปี ตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 ถึงฉบับปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ยังไม่คลอดออกมา และมีท่าทีจะทำให้เป็นกฎหมายที่พิกลพิการทำงานไม่ได้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงได้ร่วมกันจัดให้มีคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จากการคัดเลือกกันเอง ขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 เพราะปัจจุบันผู้บริโภคยังประสบปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคซ้ำซากที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าความไม่ปลอดภัยจากการโดยสารรถสาธารณะต่างๆ การเอาเปรียบผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ความเหลื่อมล้ำของบริการสุขภาพหลายมาตรฐาน ความไม่รับผิดชอบของผู้ให้บริการฟิตเนสจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ กรรมการองค์การผู้บริโภคฯ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร กล่าวว่า จากการพิจารณาเรื่องร้องเรียนในรอบปีที่ผ่านมา พบว่าเรื่องที่ร้องเรียนกว่าร้อยละ 80 กระจุกตัวที่ 3 เรื่อง

เรื่องแรก เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการใช้บริการการเงิน ว่ามีอัตราค่าบริการที่สูงเกินควร หรือมีการเก็บค่าบริการในอัตราที่ไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า เช่น ในกรณีของการเก็บค่าธรรมเนียมในการถอนเงินจากตู้ ATM หรือค่าธรรมเนียมในการติดตามหนี้ซึ่งบางรายแจ้งว่าสูงถึง 2,000 บาท ในประเด็นนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการใช้บริการทุกครั้งก่อนที่จะมีการใช้บริการ เช่น ในกรณีของการถอนเงิน ตรวจสอบยอดเงินในบัญชี หรือโอนเงินผ่านตู้ ATM เป็นต้น มิฉะนั้นแล้ว ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะปฏิเสธที่จะจ่าย

นอกจากนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยควรส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์แข่งขันกันในการกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับบริการทางการเงินต่างๆ ที่แตกต่างกัน โดยการยกเลิกอัตราเพดานของค่าธรรมเนียมซึ่งกลายเป็นเครื่องมือที่ผู้ประกอบการใช้ในการกำหนดค่าธรรมเนียมร่วมกันโดยไม่ผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า

เรื่องที่สอง กรณีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือเงินผ่อนของ non-bank ที่สูงเกินควร ในประเด็นนี้ ควรมีการพิจารณาว่าจำเป็นต้องมีการกำหนดอัตราเพดานของเงินผ่อนเหล่านี้หรือไม่ แต่อย่างน้อย ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกำหนดให้มีการโฆษณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เนื่องจากธุรกิจที่ให้บริการผ่อนชำระค่าสินค้าหลายแห่งมีการคำนวณดอกเบี้ยจากวงเงินต้นตลอดระยะเวลาการผ่อน แม้ในทางปฏิบัติได้มีการจ่ายเงินต้นไปบางส่วนแล้วจากงวดการชำระ ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงกว่าที่โฆษณาและที่แจ้งให้ลูกค้าทราบอย่างมาก จึงถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค

เรื่องที่สาม การทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ผู้ร้องเรียนหลายรายแจ้งว่าถูกข่มขู่ หรือถูกประจานโดยผู้ที่ทวงหนี้โทรไปที่ทำงาน ในประเด็นนี้ รัฐบาลควรผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. …. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 เพื่อแก้ไขปัญหา อนึ่ง ปัญหาดังกล่าวส่วนมากเกิดจากการที่ผู้ร้องเรียนผิดนัดในการชำระหนี้บัตรเครดิต ซึ่งสะท้อนว่าสังคมไทยมีปัญหาในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเกินความสามารถในการจ่าย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรพิจารณาแนวทางในการกำกับวงเงินบัตรเครดิตเพื่อให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการจ่ายของผู้ถือบัตรมากขึ้น

ผศ.ประสาท มีแต้ม ในฐานะกรรมการองค์การอิสระฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านบริการสาธารณะ กล่าวถึงปัญหาด้านพลังงานในมิติของการที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ผู้บริโภคต้องรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม จากข้อเท็จจริงเราพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของคนไทยนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ คือ ในปี 2554 ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงถึง 19% ของจีดีพี ในขณะที่เมื่อ 25 ปีก่อนอยู่แค่ร้อยละ 7 เท่านั้น ดังนั้น แนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคตอาจจะสูงมากกว่านี้อีก

ขณะเดียวกัน เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้กำหนดไว้ว่า ให้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งก็คือพลังงานที่ได้จากดวงอาทิตย์ เช่น แสงแดด ลม ชีวมวล ซึ่งใช้แล้วไม่มีวันหมด ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้ตอบสนองเจตนารมณ์ตามนั้น แต่กลับสนับสนุนให้กลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิล ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งสามารถผูกขาดและรวมศูนย์ได้ง่าย พลังงานฟอสซิลไม่เพียงแต่มีน้อยและราคาแพงขึ้นทุกขณะเท่านั้น แต่ยังได้สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ และมีการจ้างงานจำนวนน้อย ฯลฯ

ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักและมีความเข้าใจมากขึ้น คือ ให้รัฐทำตามนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน และแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับกิจการไฟฟ้า ซึ่งมีสาระสำคัญเพียง 3 ข้อ คือ

1) ประชานชนทั่วไปที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถขายไฟฟ้าได้ก่อนผู้อื่น

2) ไม่มีระบบมีโควตาและไม่จำกัดจำนวน เป็นสัญญาระยะยาว 20-25 ปี

และ 3) ค่าใช้จ่ายที่อาจสูงขึ้นบ้าง ต้องถือว่าภาระของผู้บริโภคทุกคน

นอกจากนี้ ผศ.ประสาทยังเสริมว่า ต้องมีการแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียม 2518 ซึ่งล้าสมัย ไม่มีธรรมาภิบาล และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทรับสัมปทานมากเกินไป กล่าวคือ ผลประโยชน์ที่รัฐไทยได้รับอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ด้านนางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการองค์กรผู้บริโภคฯ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพของสังคมไทยยังมีปัญหาในเรื่องมาตรฐานและความเท่าเทียมกันในสังคม เช่น ผู้ประกันตนในประกันสังคมต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์การบริการสุขภาพที่ด้อยกว่าคนกลุ่มอื่นที่ไม่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นความไม่เป็นธรรม และไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติฯ ไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน” จึงมีข้อเสนอประเด็น ดังนี้

1. ให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการการเงินการคลังเพื่อหลักประกันสุขภาพ สำหรับประชาชนทุกคน

2. ให้รัฐบาลดำเนินการให้สำนักงานประกันสังคมยกเลิกการเก็บเงินจากผู้ประกันตนในส่วนค่ารักษาพยาบาล โดยนำเงินสมทบแต่ละเดือนจากผู้ประกันตนและนายจ้าง ไปสมทบในกองทุนบำนาญชราภาพและการชดเชยการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะพลเมืองที่อาศัย ทำงาน จ่ายภาษี ในสังคมไทย ให้มีหลักประกันสุขภาพที่เป็นธรรม ครอบคลุม มีมาตรฐาน และคุณภาพเดียวกัน

นางรัศมี วิศทเวทย์ ในฐานะกรรมการองค์การอิสระฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการทั่วไป กล่าวถึงกรณีปัญหาผู้บริโภคจากสินค้าและบริการทั่วไปว่า กรณีรูปธรรมสองเรื่อง คือ ปัญหาการยกเลิกการนำเข้าและการผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหินตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ 12 เมษายน 2554 ยังไม่สามารถดำเนินการได้จริง และหน่วยงานหลักที่มีอำนาจกำหนดการห้ามนำเข้าแร่ใยหิน และการห้ามหรือควบคุมการผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กลับย้อนไปจ้างมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยในเรื่องดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่แร่ใยหินถูกห้ามใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งมีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่า เป็นสาเหตุของมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องสร้างทางเลือกให้ตัวเองโดยไม่สนับสนุนสินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เพื่อไม่เพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพของตน แต่ที่สำคัญ ต้องช่วยผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินโดยพลังของผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นกลไกในการทำสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค

ขณะที่ปัญหาการใช้บริการสถานออกกำลังกายบริษัท แคลิฟอร์เนียฟิตเนส ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ ที่ปิดกิจการหลายสาขา และละเมิดสิทธิผู้บริโภคนั้น คณะกรรมการฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้เสียหาย และหวังว่าดีเอสไอจะรับเรื่องนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ และผู้บริโภคต้องเท่าทันว่า การทำสัญญาออกกำลังกายควรทำระยะสั้น และบริษัทจะทำสัญญาเกินหนึ่งปีไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย และจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ธุรกิจบริการฟิตเนสมีมาตรการทางกฎหมายควบคุมการเอารัดเอาเปรียบ และดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนั้น คณะกรรมการฯ กำลังจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ในฐานะกรรมการองค์การอิสระฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ และประธาน คอป. ได้กล่าวว่า จากสารพันปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค คณะกรรมการฯ จึงจัดให้มีการ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับองค์กรผู้บริโภคขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือของการทำงานของเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ ดังนั้น กระบวนการจัดทำและการได้มาซึ่งยุทธศาสตร์ตามหลักวิชาการ และการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของเครือข่ายผู้บริโภคจึงมีความสำคัญ ดร.เดือนเด่นจากทีดีอาร์ไอจึงเป็นแม่งานที่สำคัญของงานนี้ และเวทีวันนี้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้วิพากษ์ (ร่าง) แผนนี้

วิสัยทัศน์ของงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คือ การให้ “ผู้บริโภคไทยรู้สิทธิที่ตนพึงมีพึงได้ และได้รับการคุ้มครองสิทธินั้นๆ” โดยมีพันธกิจสำคัญ คือ 1) สร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิที่ตนพึงมีพึงได้ 2) ผลักดันให้รัฐมีนโยบาย กฎหมาย หรือมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค 3) แก้ไขหรือเยียวยาปัญหาของผู้บริโภคโดยองค์กรภาคประชาชน สามารถเติมเต็มงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ ในแต่ละภารกิจได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์, กลยุทธ์/วิธีการ แยกตามสาขา, ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงาน แยกเป็นดัชนี ผลผลิต (output) และผลลัพธ์ (outcome)