ThaiPublica > Sustainability > Contributor > โลกร้อนกับคนเมา : สาเหตุและอาการ

โลกร้อนกับคนเมา : สาเหตุและอาการ

3 มีนาคม 2023


ประสาท มีแต้ม

แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ของผม เกิดจากข่าวชาวไฮโซขับรถยนต์หรูจนเกิดการเฉี่ยวชนแล้วไม่ยอมเข้าตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งกฎหมายไทยกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (mg%) บางกรณีเหตุเกิดเวลาประมาณตีสองแต่พยายามหน่วงเหนี่ยวไปตรวจเอาตอนเกือบจะตีห้า เพื่อให้ปริมาณแอลกอฮอล์ค่อยๆสลายไปตามธรรมชาติ เช่น ขับออกทางผิวหนังหรือทางปัสสาวะ เป็นต้น

จุดสนใจของผมอยู่ที่จำนวน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์(mg%) เพราะเมื่อแปลงมาเป็นหน่วยอื่นที่เราคุ้นเคย ก็จะเท่ากับ 500 ส่วนในล้านส่วน (หรือพีพีเอ็ม, Parts per million, ppm) ซึ่งเป็นหน่วยวัดความเข็มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) หรือที่เราเรียกันสั้นๆว่า “โลกร้อน”

สมัยที่เราเป็นนักเรียน ตำราเรียนจะบอกเราว่าในอากาศประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจน(N2)มากที่สุดประมาณ 78.084% รองลงมาคือก๊าซออกซิเจน(O2) ที่เราใช้หายใจ 20.948% ที่มีมากเป็นอันดับที่สี่คือก๊าซบอนไดออกไซด์(CO2 ที่เราหายใจออกมา) ประมาณ 0.031% โปรดสังเกตจำนวนทศนิยมนะครับว่า เขาระบุละเอียดถึงทศนิยมตำแหน่งที่สาม เพราะหากไม่ละเอียดถึงทศนิยมตำแหน่งที่สาม (หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่ามีจำนวนเลขนัยสำคัญเท่ากับ 3) ข้อมูลที่เก็บมาจะไม่ละเอียดพอที่จะสามารถสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เป็นสาระจริงๆของเรื่องนี้ได้

ผมไม่ทราบว่าร้อยละของปริมาณก๊าซในบรรยากาศโลกดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อมูลในปีใด แต่ข้อมูลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ข้างล่างนี้เป็นของเดือนเมษายน 2565 ดังภาพประกอบ

โปรดสังเกตว่า ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจาก 310 มาเป็น 417 พีพีเอ็มแล้วในปี 2565 (ดูตารางซ้ายมือ) หากเราไม่วัดให้ละเอียดจนถึงทศนิยมตำแหน่งที่สาม จำนวนเลขนัยสำคัญก็จะหายไป เราจะบอกได้แต่เพียงคร่าวๆหรือหยาบๆว่า ความเข้มข้นเป็น “สามร้อยหรือสี่ร้อย” พีพีเอ็มเท่านั้นซึ่งไม่มีความละเอียดพอที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์จับตาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ทันกับสถานการณ์ได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ แต่ละ 1 พีพีเอ็มมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

กลับมาพูดเรื่องคนเมาบ้าง ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่กฎหมายไทยกำหนดว่าต้องไม่เกิน 50 mg% หรือ 500 พีพีเอ็ม เพราะระดับดังกล่าวเป็นระดับที่ทำให้คนขาดสติ ควบคุมตัวเองได้ยากหรือไม่ได้ ทั้งการตัดสินใจ การเคลื่อนไหวก็มีปัญหา เดินก็เซไปไปเซมา ย่างก้าวก็ไม่ได้ดังที่เคยทำได้ในยามปกติ กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้ขับรถยนต์เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

สำหรับระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2019 ได้แสดงไว้ในรูปข้างล่างนี้ พร้อมภาพการ์ตูนเพื่ออธิบายว่าโลกร้อนขึ้นได้อย่างไร

ในอนาคต จากการคาดหมายของหน่วยงาน IPCC ของสหประชาชาติ (อ้างถึงโดยผู้เขียนดังปรากฎในภาพข้างล่าง) พบว่าหากชาวโลกร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อเสนอของ COP27 จริงๆ ความเข้มข้นก็จะถึง 480 ppm (ผมประมาณอย่างคร่าวๆจากกราฟ)

เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติที่เรารับรู้กันก็คือต้องทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่เราไม่ทราบว่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องไม่เกินเท่าใด

เราทราบกันดีแล้วว่า คนเมาหรือคนที่มีระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 500 พีพีเอ็มจะมีอาการอย่างไร ทำไมกฎหมายจึงต้องห้ามขับรถยนต์ แต่สำหรับโลกที่มีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ระดับ 500 พีพีเอ็ม เรายังไม่เคยเห็นว่าจะเป็นอย่างไร แต่เราก็เห็นๆกันอยู่แล้วว่าแค่ระดับ 417 พีพีเอ็มเมื่อปีที่แล้ว(2565) เป็นอย่างไรกันบ้าง เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยมาก (ซึ่งความจริงก็เกิดจากน้ำมือมนุษย์จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) เช่น คลื่นความร้อน แล้วตามด้วยพายุรุนแรง แล้วก็ตามน้ำท่วมใหญ่ ดินถล่ม ตามลำดับ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่า ตอนที่โลกยังไม่ร้อนก็เคยมีปรากฎการณ์คลื่นความร้อน แต่นานๆจึงจะเกิดสักครั้ง เมื่อมีปรากฎการณ์โลกร้อนก็จะทำให้เกิด “ถี่ขึ้น นานขึ้นและรุนแรงขึ้น” บางกรณีกินพื้นที่บริเวณกว้างถึง 1 ใน 3 ของประเทศ เช่น ปากีสถานและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ปรากฎการณ์โลกร้อนทำให้โลกเสียสมดุลอย่างไร

เรื่องนี้คงไม่ยากที่จะตอบ หากเราค่อยๆลำดับความคิด เช่น เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น น้ำก็ระเหยมากขึ้น ประกอบกับโลกเอียงและกลม ส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิในแต่ละส่วนของโลก อุณหภูมิที่แตกต่างทำให้เกิดกระแสลมแรงขึ้น พายุจึงรุนแรงขึ้นมาก
ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เคยมีการสลับไปมาระหว่าง แอลนีโญ (เด็กผู้ชาย-ทำให้ร้อน) และลานีญา (เด็กผู้หญิง-ทำให้เย็น) มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปเพราะอิทธิพลโลกร้อน ฝนที่เคยตกชายฝั่งทวีปเอเชียก็ถูกกระแสลมต้านไปตกในมหาสมุทร ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งในที่ที่ฝนเคยอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น

ในชั้นบรรยากาศโลก นอกจากจะมีอากาศแล้ว ยังมีเมฆหรือไอน้ำที่รวมตัวกันคล้ายๆกับ แม่น้ำในบรรยากาศ (Atmospheric River) ที่ลอยอยู่ในอากาศต้องเปลี่ยนทิศทางการไหล ว่ากันว่าแม่น้ำในอากาศนี้บางสายมีน้ำมากพอๆกับน้ำในแม่น้ำแอมะซอนเลยทีเดียว โลกที่เคยเคลื่อนไหวอย่างปกติเมื่อในอดีตจึงต้องรวนไปหมดเพราะเหตุที่เราขอเรียกอย่างง่ายๆว่า “เสียสมดุล” คล้ายกับอาการเมาของคนที่ระดับแอลกอฮอล์สูงนั่นเอง

นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้ว ยังมีก๊าซมีเทน (Methane – CH4) ซึ่งเกิดจากการหมักหมมของพืชที่เน่าเปื่อย ของเสียจากการปศุสัตว์ ก๊าซมีเทนพวกนี้มีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จริง แต่มีความสามารถในการกักเก็บความร้อนได้สูง ทำให้โลกร้อนได้

อ้อ! ยังมีก๊าซมีเทนที่ถูกทับถมอยู่ใต้ผิวดินหรือที่หิมะปกคลุมไว้ที่เรียกว่า Permafrost (ชั้นดินเยือกแข็งตลอดปี) มีจำนวนมหาศาล หากเจ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งทำให้โลกร้อนจนหิมะละลาย แล้วก๊าซมีเทนใน Permafrost จะหลุดลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ มันจะรุนแรงกว่าที่คนเมาขับรถยนต์ชนคลังน้ำมันหลายเท่าพันทวีคูณ

ยิ่งคิดแล้วยิ่งหวาดเสียวนะครับ แต่ทางออกที่ไม่ต้องหวาดเสียวอย่างถาวรก็มี นั่นคือการเลิกใช้พลังงานฟอสซิลแล้วหันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งนอกจากจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกเสียสมดุลแล้ว ยังมีราคาถูกกว่าและทุกคนสามารถผลิตได้เองด้วย เอาไหมๆ