ThaiPublica > คอลัมน์ > การประชุมโลกร้อน COP27: สำเร็จหรือล้มเหลว ?

การประชุมโลกร้อน COP27: สำเร็จหรือล้มเหลว ?

6 ธันวาคม 2022


ประสาท มีแต้ม

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 27 หรือที่เรียกกันทั่วไป COP27 (Conference of the Parties) ซึ่งใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 35,000 คน จากกว่า 190 ประเทศทั่วโลกได้จบไปอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 แต่ผลการประชุมเป็นอย่างไร สำเร็จหรือล้มเหลว เราตามมาดูกันครับ

แต่เพื่อเป็นหลักฐานและป้องกันการสับสนในประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ ผมจึงได้นำเอาคำพูดของเลขาธิการสหประชาชาติซึ่งปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ของสหประชาชาติเองมาลงให้ดูด้วย นั่นคือ จำเป็นต้องมีพันธะสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2030 เพื่อให้เราสามารถบรรลุการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้ เรื่องนี้เป็นหลัก เรื่องอื่น ๆมีความสำคัญในระดับรอง

ขอเริ่มที่เรื่องความสำเร็จก่อนซึ่งสื่อบางสำนักได้พาดหัวข่าวถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของการประชุมในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา คือมีข้อตกลงที่จะจัดตั้ง “กองทุนการสูญหายและสูญเสีย (Loss and damage fund)” เพื่อเก็บเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้ว(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก) มาชดเชยความเสียหายให้กับผู้ที่สูญหายและสูญเสียจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เราเรียกกันสั้นว่า “โลกร้อน” ซึ่งส่วนมากก็เป็นประเทศกำลังพัฒนาและปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ยังไม่มีความชัดเจนแต่ประการใด เช่น ต้องใช้เงินจำนวนเท่าใด ประเทศใดบ้างที่ควรจะต้องจ่ายและประเทศใดบ้างควรจะได้รับ รายละเอียดจะยกไปประชุมกันในการประชุม COP28 ซึ่งจะจัดที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แนวความคิดในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ COP19 ปี 2013 ที่เมื่อวอซอร์ ประเทศโปแลนด์ นั่นคือได้ใช้เวลานานถึงเกือบ 10 ปี โดยที่ผมเองก็ยังไม่มั่นใจว่าจะสำเร็จจริงหรือไม่ เพราะมีการประเมินกันว่าในแต่ละปีความเสียดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าถึง 290,000 ถึง 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อนึ่ง เมื่อ 13 ปีมาแล้ว ในการประชุม COP15 ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศร่ำรวยเคยให้คำมั่นสัญญาที่มีนัยสำคัญว่า “จะจ่ายเงินปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับประเทศยากจนในการปรับตัวและลดผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น” แต่ในความเป็นจริงก็ไม่เคยได้ครบตามจำนวนที่ได้ประกาศไว้ เรียกว่าเบี้ยวกันดื้อ ๆนั่นเอง

คราวนี้มาถึงประเด็นที่ท่านเลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวดังในแผ่นภาพข้างต้น ประเด็นนี้มีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน ดังภาพข้างล่างนี้

ขอย้อนไปถึงปี 2015 หรือ COP21 ซึ่งเป็นที่มาของ “ข้อตกลงปารีส” ได้ข้อสรุปให้แต่ละประเทศแสดงความจำนงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงตามความสมัครใจ เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2100 เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (ปี 1850) โดยจะมีการประเมินผลทุก 5 ปี

ในปี 2021 หรือ COP26 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติได้มีผลประเมินว่า ถ้าจะให้บรรลุเป้าหมาย 1.5 องศา C ในปี 2100 ชาวโลกจะต้องรีบดำเนินลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่เนินๆ จะค่อยไปลดเอาปีท้ายๆจะไม่ทันกาล ดังนั้นจึงขอให้แต่ละประเทศลดปริมาณการปล่อยลง 45% ของระดับที่เคยปล่อยในปี 2010 ภายในปี 2030 หลังจากนั้นจะต้องปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในกลางศตวรรษนี้

หากทำได้จริงตามนี้ ก็จะบรรลุเป้าหมายอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศา C

แต่ในความเป็นจริง เท่าที่แต่ละประเทศได้แสดงเจตจำนงค์ไว้ จะมีการปล่อยในปี 2030 รวมกันแล้วแทนที่จะลดลง 45% ตามผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ แต่กลับปล่อยมากกว่าเดิม(ระดับของปี 2010) ถึง 10% ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ อุณหภูมิโลกจะสูงถึง 2.7 องศา C
ปัจจุบันนี้อุณหภูมิของโลกได้สูงถึง 1.26 องศา C แล้ว ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้เกิดขึ้นทั่วโลก เกิดคลื่นความร้อนแล้วตามด้วยน้ำท่วมหนักในปากีสถานและอินเดีย ความแห้งแล้งในยุโรป ไฟป่าในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แม้กระทั่งน้ำท่วมอย่างรุนแรงในกว่า 36 จังหวัดในประเทศไทยเราเอง ลองจินตนาการดูซิครับว่าหากมันถึง 2.7 องศา C ความรุนแรงก็จะถึงขั้นวิกฤตสักขนาดไหน

หลายคนอาจจะคิดแย้งอยู่ในใจว่า วิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ต้องการความสะดวกสบาย ต้องการการเดินทางเป็นเรื่องปกติ มันก็ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่แล้ว จะให้ลดการปล่อยก๊าซฯมันจะเป็นไปได้หรือ ผมมีข้อมูลที่เป็นหลักฐานว่า ถ้าต้องการจะลดก็สามารถลดได้ ดังภาพ

วิธีการลดเหรอครับ ก็หันหัวออกจากการใช้พลังงานฟอสซิลเพราะเผาแล้วได้ก๊าซเรือนกระจก แล้วไปใช้พลังงานหมุนเวียน ที่ง่ายที่สุดก็คือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันมีราคาถูกกว่าพลังงานฟอสซิลทุกชนิดแล้ว

จากการศึกษาของธนาคารโลก (Solargis, World Bank, BP Statistical of World Energy 2022) พบว่า ศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์(ตามธรรมชาติ)ของประเทศจีนไม่ติด 30 อันดับสูงสุดของโลก หรือมีแสงแดดน้อยนั่นเอง ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) อยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก แต่การผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ของประเทศจีนสูงที่สุดในโลก ผลิตไฟฟ้าได้ปีละละกว่า 325,000 ล้านหน่วย ในขณะที่ UAE อยู่ในอันดับที่ 26

การจะลดหรือไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีและต้นทุนการผลิต แต่อยู่ที่ความมุ่งมั่นทางการเมืองของแต่ละประเทศ ว่าจะช่วยกันปกป้องโลกของเราหรือจะปกป้องผลประโยชน์ของพ่อค้าฟอสซิลเท่านั้น

ผมขออนุญาตนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมอีกสักนิด ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนเกิดความเข้าใจหรือหายสงสัยว่า ทำไมการประชุม “โลกร้อน” จึงไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้า โดยใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่งประกอบกัน ดังภาพ พบว่ามีนักลอบบี้ของบริษัทพลังงานฟอสซิลเข้าร่วมประชุมใน COP27 มากกว่าผู้แทนจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน 10 ประเทศรวมกัน นี่ยังไม่นับผู้แทนของประเทศที่เป็นประเทศผู้ค้าน้ำมันดิบ

Greta Thunberg สาวน้อยนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน แต่ไม่ขอเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ได้เปรียบเทียบไว้อย่างน่าฟังว่า “เรามาประชุมกันเพื่อจะปราบไข้มาเลเรีย แต่เราเชิญให้ยุงเข้าร่วมประชุมด้วย” แล้วก็เป็นความจริงสอดคล้องตามการเปิดเผยของผู้มีชื่อเสียงหลายคน รวมทั้ง Alok Sharma ประธานที่ประชุม COP26 ด้วย

ในที่สุดที่ประชุมก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การประชุมครั้งต่อไป COP28 จะเกิดขึ้นที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับอมิเรตส์ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 6 ของโลก จบข่าว