ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดแผนลงทุน โครงการแลนด์บริดจ์ “ชุมพร-ระนอง” ประตูการค้าภาคใต้

เปิดแผนลงทุน โครงการแลนด์บริดจ์ “ชุมพร-ระนอง” ประตูการค้าภาคใต้

16 พฤศจิกายน 2023


เปิดแผนลงทุน โครงการแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้านบาท เปิดประตูการค้าภาคใต้ สร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร-ระนอง พร้อมถนนมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ร่นระยะเวลาขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาได้ 4 วัน เริ่มประมูลรูปแบบ international bidding ปี 2568 เปิดใช้บริการได้เดือน ต.ค. 2573

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.

ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2023 วันที่ 12-19 พ.ย. 2566 นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้นำโครงการแลนด์บริดจ์หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ไปโรดโชว์ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศให้มาร่วมลงทุน

ที่ผ่านมา รัฐบาลเศรษฐาได้มีมติให้ศึกษาความเป็นไปได้โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อเดินหน้าโครงการ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่จะเปิดประตูการค้าภาคใต้ของไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าและแผนการลงทุนของโครงการ “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้สัมภาษณ์ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ซึ่งเป็นหน่วยงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียดของโครงการ หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่า โครงการแลนด์บริดจ์เกี่ยวข้องกับโครงการคลองไทย หรือการขุดคอคอดกระหรือไม่

ในเรื่องนี้นายปัญญาบอกว่า โครงการนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคลองไทยเลย เพราะ สนข. ได้รับมอบหมายมาให้ศึกษา เนื่องจากมองเห็นปัญหาจำนวนเรือต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งปัจจุบันเรือสินค้าจำนวนมากที่จะเดินทางไปสู่ทะเลแปซิฟิกเพื่อไปมหาสมุทรอินเดียต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้เกิดความแออัดในบริเวณดังกล่าว

ปริมาณเรือสินค้าที่มีจำนวนมากแต่มีท่าเรือหลักๆ ในการให้บริการเพียง 2 ท่าเรือ คือ ท่าเรือของสิงคโปร์ และท่าเรือของประเทศมาเลเซีย โดยขณะนี้ปริมาณเรือสินค้ามีมากเกินกว่าที่ท่าเรือทั้งสองแห่งจะรองรับได้ จนทำให้เกิดความล่าช้า และแออัดในการเดินเรือ

โครงการแลนด์บริดจ์ลงทุน 1 ล้านล้านบาท

ด้วยปัญหาดังกล่าว จึงได้สั่งให้กระทรวงคมนาคมโดย สนข. เข้าไปศึกษาว่าประเทศไทยสามารถทำอะไรได้บ้าง เราพบว่ามีจุดที่เราสามารถทำเป็นแลนด์บริดจ์เชื่อมระหว่างทะเลฝั่งตะวันตกได้ก็คือมหาสมุทรอินเดีย กับทะเลฝั่งตะวันออกก็คือมหาสมุทรแปซิฟิก เราก็เลยเลือกตำแหน่งที่จังหวัดระนองกับชุมพรเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ

“แต่ก่อนในอดีตก็มีการศึกษามีแนวคิดอยู่หลายอย่าง คลองไทยบ้าง คอคอดกระบ้าง แต่ว่าสิ่งที่กระทรวงคมนาคมโดย สนข. ได้รับการมอบหมายให้ศึกษาคือ ถ้าเป็นโครงการแลนด์บริดจ์โดยที่ไม่ต้องขุดมีความเป็นไปได้ไหม ให้เป็นประตูเข้าออกสินค้าของภาคใต้ อันนี้คือสิ่งที่ สนข. ศึกษา”

หลังดำเนินการ สนข. พบว่าพื้นที่เหมาะสมและเห็นถึงศักยภาพโครงการแลนด์บริดจ์ โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงชุมพร-ระนอง ซึ่งในระยะแรกจะประกอบไปด้วย 4 เนื้องาน วงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท ดังนี้

  1. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร
  2. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร
  3. เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองฝั่งมีระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม.

ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (standard gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (double stack), ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (meter gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ

และ 4. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า โดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ

แผนลงทุนก่อสร้างท่าเรือ 2 ฝั่ง “ชุมพร-ระนอง”

ขณะที่แผนการลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 พัฒนาท่าเรือให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573
  • ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น รวม 8 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577
  • ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า รวม14 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579 ระยะที่ 4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2583
  • ส่วนการลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ แบ่งเป็น

  • ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573
  • ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 12 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577
  • ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579
  • นายปัญญาบอกว่า การลงทุนในแต่ระยะ จะดำเนินการไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของปริมาณเรือ เช่น หากระยะที่ 1 เรือสินค้าเพิ่มมากขึ้นจึงจะขยายการลงทุนในระยะที่ 2 โดยคาดว่ากลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพที่จะเข้ามาใช้บริการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

    กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เป็นสินค้านำเข้าและส่งออกจากประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ไทยมีสินค้าหลายตัวที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังทางตะวันตก โดยเรือสินค้าเหล่านี้ต้องออกจากแหลมฉบัง ชลบุรี อ้อมช่องแคบมะละกาที่สิงคโปร์

    “ถ้าเรามีท่าเรือของเราเองที่ชุมพรและระนอง สินค้าเราก็จะสามารถใส่ตู้รถไฟแล้วลากลงมา ถ้าต้องการส่งออกไปทางตะวันตกไปฝั่งยุโรปหรืออินเดียก็สามารถไปได้เลย ขณะเดียวกัน สินค้าของภาคใต้ที่ปัจจุบันต้องขนไปที่ท่าเรือปีนัง ก็ไม่จำเป็นต้องไปที่ท่าเรือปีนัง สามารถใช้ท่าเรือระนองได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีท่าเรือของเราเองก็สามารถเป็นประตูการค้าให้กับประเทศไทยได้ ลดการพึ่งพาท่าเรือจากประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้เรื่องของต้นทุนในการขนส่งถูกลง แทนที่จะขนส่งด้วยระยะทางไกล ”

    สินค้ากลุ่มที่สองคือ เรือสินค้าที่มาจากเพื่อนบ้านเรา เช่น ประเทศจีนตอนใต้ ขณะนี้จีนตอนใต้ขนส่งผ่านรถไฟฟ้าของลาว ซึ่งประเทศไทยกำลังจะสร้างรถไฟเชื่อมต่อรถไฟจีนบริเวณจังหวัดหนองคาย เมื่อไทยมีรถไฟเชื่อมต่อระหว่าง ลาว ไทย ไปถึงระนองและสงขลาได้ ทำให้สามารถรองรับสินค้าจากจีน ลาวหรือเมียนมา สามารถขนสินค้ามาที่ท่าเรือฝั่งระนองหรือฝั่งชุมพรได้

    สินค้ากลุ่มที่สาม คือกลุ่มสินค้าที่เดิมต้องเคลื่อนย้ายจากมหาสมุทรอินเดียไปมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ต้องขนสินค้าข้ามช่องแคบมะละกา ซึ่งขณะนี้แออัด เราจะระบายเรือสินค้าดังกล่าวมาใช้บริการท่าเรือของไทยเพื่อลดปริมาณและความแออัดลง โดยคาดว่าจะมีเรือสินค้าเข้ามาใช้บริการจากท่าเรือสิงคโปร์และมาเลเซียประมาณ 15%

    “สิ่งที่เราออกแบบโครงการ เราไม่ได้ต้องการแย่งเรือสินค้าจากท่าเรือของเพื่อนบ้าน แต่เรารู้ว่าเรือมันแน่น เรือมันต้องรอในทะเลนาน การศึกษาพบว่าตอนนี้มีตู้สินค้าที่รอนานเกินศักยภาพที่ท่าเรือสิงคโปร์กับท่าเรือมาเลย์จะรับได้ เรารองรับในส่วนนั้น เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปส่งต่อที่สิงคโปร์หรือมาเลเซีย ก็มาส่งต่อที่แลนด์บริดจ์บ้านเรา ก็ทำให้เขาประหยัดเวลาไม่ต้องไปรอ เรือสินค้าหรือตู้สินค้าไม่ต้องลอยอยู่ในทะเลเป็นวันหรือสองสามวัน ซึ่งการรอแต่ละวันมันก็เป็นค่าใช้จ่าย”

    นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.

    ลดเวลาส่งสินค้า “ช่องแคบมะละกา” เหลือ 5 วัน

    นายปัญญายืนยันว่า “การออกแบบไม่ได้คิดที่จะไปแย่งหรือไปแข่งกับประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์หรือมาเลเซีย ที่มีท่าเรืออยู่ที่ช่องแคบมะละกา แต่ออกแบบโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องสภาพที่แออัดอยู่ในช่องแคบมะละกา โดยขอแบ่งส่วนเกินที่ช่องแคบมะละกาไม่สามารถรองรับได้มาใช้ที่เมืองไทย รูปแบบที่เราออกแบบโครงการ ยืนยันว่าเราไม่ได้ไปแข่งใคร ไม่ได้ไปแย่งใคร ทำเพื่อเป็นประตูการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นประตูการค้าของประเทศเพื่อนบ้าน ลดความแออัดที่ช่องแคบมะละกาลงไป’

    ข้อดีของการขนส่งสินค้าผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ คือใช้เวลาน้อยกว่าขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาที่ใช้เวลา 9 วัน แต่ถ้าผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ใช้เวลาเพียง 5 วัน สามารถประหยัดเวลาได้ 5 วัน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงไปจำนวนมาก

    ส่วนการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสำหรับโครงการตามแนวทางการวิเคราะห์โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งพิจารณาทั้งผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม สรุปได้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์

    ขณะที่ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมพบดังนี้

    1. มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท

    2. อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35

    3. อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 17.43

    4. ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง ร้อยละ 9.52

    5. อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ร้อยละ 8.62

    6. ระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24

    7. การพัฒนาโครงการจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนองจำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง และรวมทั้งเป็นส่วนช่วย

    นอกจากนี้ ทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ประมาณการโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี

    ลงทุนแบบ PPP ระหว่างภาครัฐและเอกชน

    สำหรับรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (public private partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยรัฐจะลงทุนในเรื่องของการจัดการเวนคืนที่ดิน ส่วนที่เหลือภาคเอกชนลงทุนทั้งหมด

    “กระทรวงคมนาคมกับบีโอไอเตรียมนำโครงการนี้ ไปทโรดโชว์ พบปะกับผู้ประกอบการด้านการขนส่งทางเรือ ผู้ประกอบการของท่าเรือ เพื่อมาพูดคุย รวมทั้งเรื่องของสิทธิพิเศษ ซึ่ง สนข. กำลังศึกษาอยู่ เพื่อให้มั่นใจว่าข้อสรุปจะตอบโจทย์ สามารถจูงใจนักลงทุนได้”

    เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงมองหาผู้ประกอบการที่มีเรือ เรือขนส่งสินค้าของตัวเอง และมีประสบการณ์ในการบริหารท่าเรือ โดยจะเปิดเป็น international bidding หรือการประมูลนานาชาติ เนื่องจากโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้ประกอบการท่าเรือ เดินเรือ สายเรือกับท่าเรือมาด้วย แต่ไม่ได้กีดกันคนไทย คนไทยก็สามารถร่วมลงทุนได้

    “รูปแบบประมูลจะเป็นแบบ one package คือ ประมูลทั้งท่าเรือ มอเตอร์เวย์ และรถไฟ เพราะว่าเรามีบทเรียนแล้ว ถ้าไม่ทำเป็นแพ็ก ทำแต่ถนนไม่มีท่าเรือมาก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นแพ็ก อย่างเช่นถ้าตู้มาขึ้นบนท่าเรือบนฝั่งระนองแล้วเกิดรถไฟไม่ยอมวิ่งก็แย่เลย เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ประกอบการรายเดียว เจ้าของเดียว ก็จะช่วยลดระยะเวลา”

    อย่างไรก็ตาม นายปัญญามองว่าผู้ที่เข้ามาประมูลต้องเคยบริหารท่าเรือมาก่อน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะตัดผู้ประกอบการไทยทิ้งไป โดยผู้ประกอบการไทยเข้าไปร่วมในส่วนของความเชี่ยวชาญในเรื่องการเดินรถไฟก็ได้ เพราะฉะนั้นเลยทำ international bidding แต่ไม่ได้หมายความว่ามีแค่ต่างชาติมาเป็นผู้บริหารโครงการ เขาสามารถไปดึงนักลงทุนไทยมาร่วมได้

    “รัฐจะลงทุนเฉพาะค่าเวนคืนเท่านั้น เพราะฉะนั้น เกือบ 100% เอกชนจะเป็นผู้ลงทุน โดยรัฐจะจัดหาที่ดินและดำเนินการเรื่องค่าเวนคืนที่ดิน โดยที่ดินยังเป็นของรัฐอยู่ แต่ทำในรูปแบบการเช่าพื้นที่ดำเนินการ”

    สำหรับงบประมาณประมาณการลงทุนโครงการ

    แบ่งเป็นระยะที่ 1/1 ประกอบด้วย

    1. งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 118,519.50 ล้านบาท
    2. งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 141,716.02 ล้านบาท
    3. งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 195,504.00 ล้านบาท
    4. งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท
    5. ค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212.00 ล้านบาท

    รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 522,844.08 ล้านบาท

    งบประมาณการลงทุนโครงการระยะที่ 1/2

      1. งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 45,644.75 ล้านบาท

      2. งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 73,164.78 ล้านบาท

      3. งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 21,910.00 ล้านบาท

      4. งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 23,952.30 ล้านบาท

    รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 164,671.83 ล้านบาท

    งบประมาณลงทุนโครงการระยะที่ 1/3

      1. งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 73,221.99 ล้านบาท

      2. งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 115,929.76 ล้านบาท

      3. งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 39,361.04 ล้านบาท

    รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 228,512.79 ล้านบาท

    งบประมาณในการดำเนินการโครงการระยะที่ 1/4

      1. งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 68,280.20 ล้านบาท
      2. งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท

    รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 85,177.77 ล้านบาท

    “โรดโชว์” นักลงทุนจีน-ญี่ปุ่นสนใจโครงการแลนด์ลบริดจ์

    หลังจากการโรดโชว์ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจขอข้อมูลโครงการ โดยนายปัญญาบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีประสบการณ์เดินเรือ เช่น จีน ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย ดูไบ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา โดยเอกอัครราชทูตของอเมริกาเข้ามาพูดคุย เนื่องจากสนใจที่อยากทำท่าเรือ

    อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการดำเนินการของโครงการ ต้องทำคู่ขนานกันไปทั้งหมด ทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ พร้อมกับการผลักดัน พ.ร.บ.เอสอีซี หรือกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจ เพื่อเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ โดยต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้

    “กำลังเร่งทุกอย่างคู่ขนานกันไปทั้งศึกษาความเป็นไปได้ และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งคาดว่าจะเข้าพื้นที่ศึกษาได้ในเมษายน ปี 2567 ส่วน พ.ร.บ.เอสอีซีก็อยู่ระหว่างการร่าง คาดว่าจะเสร็จภายในปีหน้า แล้วเข้าสู่กระบวนการของ การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร”

    นายปัญญากล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้อาจจะได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสภาผู้แทนราษฏรตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้แล้ว คู่ไปกับการทำร่างฯ พ.ร.บ. ของ สนข. หลังผ่าน ครม. สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้เลย

    อย่างไรก็ตาม หากสรุปไทม์ไลน์ในการผลักดันโครงการ คาดว่าโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2573 โดยกำหนดแผนการดำเนินการดังนี้

    ในช่วงเดือน พ.ย. 2566 ถึง ม.ค. 2567 กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศหรือโรดโชว์ จากนั้นทั้งปี 2567 จะดำเนินการจัดทำกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

    ประมาณเดือน เม.ย. ถึง มิ.ย. 2568 จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ก่อนที่จะดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเดือน ม.ค. 2568 ถึง ธ.ค. 2569 และเสนอ ครม. อนุมัติลงนามในสัญญาได้ในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2568 ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ในเดือน ก.ย. 2568 ถึง ก.ย. 2573 เปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2573″

    เน้นทำความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมชุมชน

    ส่วนการคัดค้านของชุมชนในพื้นที่ นายปัญญายอมรับว่าโครงการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่มีผลกระทบอยู่แล้ว ดังนั้น เราจะพยายามสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วม โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ สนข. ลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยเกือบทุกหมู่บ้าน

    “การศึกษาโครงการเราต้องมีผู้ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องไปทำให้ชัดเจนว่าผู้ได้รับผลกระทบคือใครบ้างและได้รับผลกระทบอะไร ยกตัวอย่างเช่น คนที่เคยทำประมงพื้นบ้านในทะเลระนอง-ชุมพร เขาได้รับผลกระทบอย่างไร เราต้องรีบทำเช็กลิสต์ว่ามีใครบ้าง หลังจากที่โครงการเกิดขึ้น คนกลุ่มนี้จะต้องถูกจ้างเข้าสู่ท่าเรือ เขาต้องได้ประโยชน์จากโครงการ ได้รับการจ้างงาน และชาวบ้านในพื้นที่ต้องได้ประโยชน์มากที่สุด”

    สำหรับความห่วงใยเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นายปัญญากล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกังวลว่า การก่อสร้างอาจไปกระทบกับแผนการเสนอให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่ป่าที่จังหวัดระนองเป็นมรดกโลก โดยอาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งในเรื่องนี้เรากำลังพิจารณาว่าต้องปรับกันพื้นที่บางส่วนเพื่อให้ยังคงเป็นมรดกโลกได้ ต้องแบ่งจัดสรรพื้นที่ให้ดีว่าตรงไหนเหมาะที่จะทำเรื่องการท่องเที่ยว ตรงไหนที่จะพัฒนามาเป็นท่าเรือ โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษา

    อย่างไรก็ตาม นายปัญญาเชื่อว่าหากโครงการแลนด์บริดจ์ดำเนินการแล้วเสร็จ จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยให้เป็นประตูการค้าสู่นานาชาติ ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นจำนวนมาก