ThaiPublica > คอลัมน์ > สำรวจข้อดีข้อเสีย เปลี่ยนบังคับเรียนวิชาพละ สู่วิชาเลือก เพื่อผู้เรียนทุกคน

สำรวจข้อดีข้อเสีย เปลี่ยนบังคับเรียนวิชาพละ สู่วิชาเลือก เพื่อผู้เรียนทุกคน

28 สิงหาคม 2022


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ซีรี่ย์การ์ตูน Gumball เมื่อไม่นานมานี้ ตั้งคำถามเรื่อง ทำไมนักเรียนถึงอยากโดดเรียนวิชาพละ?

เป็นหนึ่งในตอนที่สนุกมาก เพราะชวนให้กลับมาคิดต่อว่า การศึกษาควรมีหน้าที่มายุ่มย่ามกับเนื้อตัวร่างกายของผู้เรียนจริง ๆ หรือ แถมการมีวิชาที่ผลักไสคนจำนวนไม่น้อยออกจากสังคมเป็นวิชาบังคับ เป็นเรื่องจำเป็นจริงหรือเปล่า

นำไปสู่คำถามที่ว่า เราต้องบังคับเรียนวิชาพละจริง ๆ หรือไม่?

เมื่อค้นหาเสียงผู้เรียนก็พบโพสต์สำรวจความเห็นจาก Eduzones ว่าวิชาใดควรถูกยกเลิกมากที่สุด โดย 1 ใน 5 นั้นคือ วิชาพลศึกษา ด้วยเหตุผลว่า “เป็นวิชาที่วัดศักยภาพทางร่างกาย ซึ่งผู้เรียนทุกคนมีศักยภาพที่ไม่เท่ากัน และมีความถนัดในกีฬาที่แตกต่างกันออกไป เช่น ฟุตบอล มีทั้งคนที่ชอบเตะบอล และไม่ถนัดเตะบอลแต่อาจจะถนัดในกีฬาอื่น หากจะวัดด้วยเกณฑ์ที่เท่ากันก็จะทำให้คนที่ไม่ถนัดนั้นเสียเปรียบ”

วิชาพละ ก็เช่นเดียวกับการเข้าแถว สวดมนต์ ลูกเสือ และอื่น ๆ คือ ควรยกเลิก ให้เป็นวิชาเลือก หรือ ชมรมก็พอ ไม่ควรต้องมายุ่งอะไรกับร่างกายผู้เรียน ไม่ควรนำมาใช้วัดผลตัดเกรด

เนื่องจากเป็นวิชาที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทุกคน และนอกจากกีดกันผู้ไม่ได้ฝักใฝ่ด้านกีฬาแล้ว ยังสร้างความแปลกแยก แรงกดดัน และความอับอายให้กับนักเรียนที่สภาพร่างกายหรือจิตใจไม่พร้อมอีกด้วย

ไอเดียของภาพรวมการศึกษาไทยในปัจจุบันนั้นยังตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า การศึกษาควรเน้นความรู้พื้นฐานวิชาการ และเสริมสร้างวินัย ซึ่งสวนทางกับหลายประเทศพัฒนาแล้วที่การศึกษามุ่งเน้นไปยังความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเอง จะเห็นได้จากประเด็นเรื่องเครื่องแบบ ที่ฝ่ายหนึ่งมองว่า เป็นการสร้างเสริมให้เด็กมีระเบียบวินัย ส่วนอีกฝ่ายมองเป็นการลิดรอนสิทธิเด็ก เด็กควรมีสิทธิเลือกว่า เขาควรแต่งตัวในแบบที่รู้สึกสบายใจแทน

วิชาพลศึกษา (PE หรือ PT) มีให้เห็นในเกือบทุกโรงเรียน เป็นหนึ่งในวิชาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล สำหรับนักเรียนหลายคน โมงยามแห่งการออกกำลังกาย เล่นกีฬาในสถานศึกษากับเพื่อน ๆ เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกสนาน แต่ในหลายโรงเรียน วิชาพละกลายเป็นหลักสูตรที่เข้มงวด บีบบังคับให้ผู้เรียนซึ่งแตกต่างหลากหลายต้องแสดงสมรรถนะ ซึ่งมักถูกกำหนดด้วยกรอบแห่งเพศที่ปราศจากความยืดหยุ่น เช่น ผู้ชายต้องดึงข้อ 5 ครั้ง ผู้หญิง 3 ครั้ง เป็นการสร้างมาตรฐานทางเพศที่ไม่เป็นความจริง

แม้กีฬาและการออกกำลังจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่มีความจำเป็นขนาดไหนที่ต้องดำรงอยู่ในฐานะวิชาบังคับ บทความในเว็บไซต์ CareerRide ดอทคอม รวบรวมเหตุผลน่าสนใจว่าทำไม วิชาพละถึงควรและไม่ควรเป็นวิชาบังคับในโรงเรียน

เหตุผลของฝั่งคนที่เห็นด้วยว่า ควรบังคับเรียน

1. นักเรียนส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ดังนั้นการบังคับเรียนวิชาพละจะทำให้บรรดาเด็ก ๆ มีสมรรถนะขั้นพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของตนเอง

2. การออกกำลังกายเป็นประจำสัมพันธ์กับการมีสุขภาพดี อายุยืนยาว และลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยและโรคร้ายแรง

3. จากการศึกษาพบว่า พลศึกษานำไปสู่การมีผลการเรียนและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

4. โรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นกำลังเป็นอีกปัญหาสำคัญ

5. การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยปลูกฝังวินัยในการใช้ชีวิต

6. ท่ามกลางกระแสการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้นในปัจจุบัน วิชาพละช่วยให้ผู้เรียนไม่นอนเล่นมือถือไปวัน ๆ

7. “ถ้าไม่ใช่เพราะว่าทีวีกับตู้เย็นอยู่ห่างกัน พวกเราบางคนก็ไม่ออกกำลังกายเลย” – โจอี้ อดัมส์

เหตุผลของฝั่งคนที่เห็นว่า ไม่ควรบังคับเรียน

1. มีหลายประเทศเลือกที่จะไม่บังคับเรียนวิชาพละ หลังจากผ่านช่วงอายุหรือมาตรฐานที่โรงเรียนกำหนดแล้ว

2. หลักสูตรพลศึกษาประกอบด้วยการฝึกออกกำลังกาย กีฬา และเกมที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย

3. นักเรียนที่ไม่มีความสามารถด้านกีฬาอาจไม่มีทักษะที่จำเป็นในการแข่งขันหรือป้องกันตัวเองจากนักกีฬาที่เก่งกว่าหรือมีการแข่งขันสูง สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความรู้สึกไม่ดีต่อตนเองและอาจเป็นปมด้อย

4. การแบ่งกลุ่มในวิชาพละ เช่น ทีมบอล ทีมบาส อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้ง และมีคนที่ถูกเลือกเข้ากลุ่มเป็นคนท้าย ๆ

5. สำหรับนักเรียนที่มีความสนใจด้านวิชาการเท่านั้น ไม่ควรต้องเสียเวลาและพลังงานกับชั่วโมงพลศึกษา ในเว็บไซต์ระบุว่า หลายครั้งนักเรียนเหล่านี้ก็ตกเป็นเป้าของกลุ่มนักเรียนอันธพาล

6. หลายครั้ง หลักสูตรพละไม่เหมาะกับผู้พิการทางร่างกาย แต่พวกเขายังต้องเข้าเรียน ทำให้คนเหล่านี้ต้องทำแบบฝึกหัดเดี่ยวที่สร้างความแปลกแยก หรือต้องอยู่เฉย ๆ และอาจส่งผลเสียต่อความมั่นใจในตนเอง

7. การบังคับเรียนวิชาพละกำลังจำกัดเสรีภาพของนักเรียนในการเลือกว่า ตัวเราต้องการใช้เวลาในการเรียนรู้สิ่งที่นอกเหนือจากวิชาการอย่างไร

แน่นอนว่า แล้วเราควรต้องบังคับเรียนทักษะพื้นฐาน เช่น การเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ การระวังอุบัติเหตุพลัดตกหกล้ม รวมถึงความรู้ทางสุขศึกษา ยังคงต้องถกเถียงกันต่อไป

แต่การบังคับเรียนวิชาพละนั้นเมื่อพินิจพิจารณาเหตุผลต่าง ๆ ดูแล้ว อาจต้องย้อนกลับไปถามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักกลุ่มใหญ่ที่สุดในกระบวนการการศึกษา คอื ตัวผู้เรียนเองว่า ทุกคนควรมีสิทธิเลือกวิชาด้วยตัวเองไหม