ThaiPublica > คอลัมน์ > วัฒนธรรม Cafe Hopping ของวัยรุ่นกำลังสะท้อนอะไร

วัฒนธรรม Cafe Hopping ของวัยรุ่นกำลังสะท้อนอะไร

10 พฤศจิกายน 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

การถ่ายรูปในคาเฟ่ ไปจนถึงการกินขนมเครื่องดื่ม ดูผิวเผินอาจเป็นเพียงกระแสหรือการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่ลึก ๆ แล้วพฤติกรรมเหล่านี้อาจกำลังสะท้อนแนวคิดในการใช้ชีวิตของวัยรุ่น และมากกว่านั้นคือ ได้กลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว สิ่งเหล่านี้กำลังบอกอะไรเรา

เมื่อพูดถึง Cafe Hopping เราคงมีภาพของคนหนุ่มสาวที่ถ่ายรูปตามร้านกาแฟ ร้านคาเฟ่ต่าง ๆ แล้วนำรูปมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเพื่ออวดคนอื่น ๆ หลายคนอาจมองเป็นความฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ และอีกมากมายที่ตามมาด้วยภาพลักษณ์แง่ลบต่อเหล่า Cafe hopper แต่เหล่าฮอปเปอร์ก็ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ และมีแนวโน้มจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเรื่องน่าสนใจว่า อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

อธิบาย Cafe Hopping แบบคร่าว ๆ คือการที่เราเดินทางไปยังร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือคาเฟ่ต่าง ๆ แล้วถ่ายรูปกับร้าน เมื่อได้รูปที่ต้องการ ก็ย้ายไปร้านอื่นแล้วทำแบบเดิมซ้ำจนกว่าจะหมดวันหรือครบตามกำหนดการที่ตั้งไว้ ในกลุ่มที่จริงจังมีถึงขนาดเตรียมชุดไปเปลี่ยนที่ร้านเพื่อให้รูปที่ออกมาชุดไม่ซ้ำกันด้วย และแน่นอนว่า บางครั้งก็มีดราม่าเรื่องการไม่ซื้อเครื่องดื่ม หรือซื้อเครื่องดื่มหนึ่งแก้วแต่ไปกันหลายคน ทำให้บางร้านตัดสินใจเก็บค่าเข้าซึ่งก็ตามมาด้วยดราม่าในอีกมุมหนึ่ง

พฤติกรรมที่กลายเป็นวัฒนธรรมนี้ยังสร้างปรากฏการณ์ตามมาอีกมากมาย จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไม Cafe Hopping มักเป็นทั้งกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่บรรดารวงร้านคาเฟ่ต่างพยายามออกแบบบริการและสินค้าบริโภคให้ถูกตาถูกใจ ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมของเหล่าฮอปเปอร์จำนวนหนึ่งก็กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาให้สังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมที่เกิดขึ้น

ถ้าได้มีโอกาสพูดคุยกับเหล่าฮอปเปอร์จะพบว่า มีแค่ไม่กี่คนที่พอตอบได้ว่า เราทำสิ่งเหล่านั้นไปทำไม ในขณะที่ส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่า การไปคาเฟ่แล้วถ่ายรูปมันเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน เหตุเพราะสำหรับพวกเราแล้ว “Visual culture” ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

Visual culture คือวัฒนธรรมซึ่งยึดถือการที่ตาเห็นเป็นหลัก หรือก็คือเรามักจะคุ้นชินกับอะไรที่มองได้และยึดถือเป็นแนวคิดว่าเป็นความจริง มากกว่าสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเทพปกรณัมในสมัยโบราณ ที่คนไม่เคยเห็นว่าเทพซุสหน้าตาเป็นยังไง แต่ทุกคนก็เชื่อว่าเทพซุสมีจริง ในขณะที่ปัจจุบันเราจะเริ่มรู้สึกว่า เทพซุสอาจจะมีจริง ก็ต่อเมื่อเราได้เห็นภาพชายหนวดยาวร่างกำยำในงานศิลปะต่าง ๆ ให้คนโบราณมาบอกเราว่า เทพซุสมีจริงนะ คำถามของคนที่เกิดมาใน Visual culture ที่จะถามกลับไปก็คงเป็นประโยคว่า “แล้วเทพซุสหน้าตายังไงล่ะ”

นอกจาก Visual culture แล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่ออนไลน์ที่เปิดกว้างทำให้เราสามารถแสดงถึงการมีตัวตนได้อิสระขึ้นด้วย และอิสระ หรือ ความไม่มีข้อจำกัดนี้เอง ทำให้เรารู้สึกปกติมากขึ้นที่จะถ่ายรูปและโพสต์ภาพเพื่อแสดงการมีตัวตนให้คนอื่น ๆ ได้เห็น การมีตัวตนผ่านพฤติกรรมในทำนองนี้ยังนำมาซึ่งความมั่นใจในตัวเอง เพราะในด้านกลับของพื้นที่ออนไลน์ที่เปิดกว้าง คือการมีคู่แข่งที่มากขึ้นด้วย

เราอาจจะเคยเป็นหัวหน้าห้องเพราะในห้องมีกันอยู่ไม่กี่สิบคน เป็นประธานนักเรียนเพราะในโรงเรียนแม้จะมีอาจมีนักเรียนหลักพัน แต่มีไม่กี่สิบคนที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและตามสภาพแวดล้อมที่สามารถลงสมัครได้ แถมในจำนวนน้อยนี้ก็เหลืออยู่เพียงหยิบมือที่ตัดสินใจใช้สิทธิลงสมัคร แต่ในโลกออนไลน์ เรามีผู้ท้าชิงตำแหน่งมากมายนับไม่ถ้วน จึงไม่แปลกที่ใครบางคนจะถูกกลืนหายไปในกระแสคนจำนวนมากจนเหมือนกับว่าไม่ได้มีตัวตนอยู่ และไม่แปลกที่การได้รับการยอมรับจากจำนวนไลค์จะทำให้คนมีความมั่นใจมากขึ้น ปริมาณยอดไลค์และการปฏิสัมพันธ์บนพื้นที่ออนไลน์ของเรานั้นนำมาซึ่งอภิสิทธิ์บางอย่างจากสังคม พูดในอีกแง่หนึ่ง ปริมาณที่ว่ากำลังเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางตัวตนในโลกออนไลน์

จึงเป็นปกติที่ผู้คนมากมายสามารถสร้างเรื่องเล่าของตัวเอง และผู้เสพสามารถเลือกเสพได้อย่างหลากหลาย การจะขายดีกว่าคนอื่น จึงนำมาสู่คอนเทนต์ที่ต้องน่าสนใจ ใครอยากขายความแปลกใหม่ เป็นตัวเอง เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มก็เลือกอีกทาง เพราะ Cafe hopper เป็นกลุ่มคนที่มองไปยังตลาดที่กว้างกว่า แมสกว่า เข้าใจง่ายกว่า และมีผู้ขายมากกว่า ส่วนปัจจัยที่ทำให้เราหยิบกล้องมาถ่ายหรือเลือกร้านที่จะไปล้วนแล้วคล้ายกัน คือ สถานที่และข้าวของภายในสถานที่นั้น ๆ สอดคล้องและนำมาซึ่งการเสริมสร้างตัวตนออนไลน์หรือไม่

ในขณะเดียวกัน เราคงเลี่ยงจะพูดถึงการขยายตัวของคาเฟ่ไม่ได้ ปัจจุบันเรามีคาเฟ่เกิดขึ้นจำนวนมาก และเหตุผลก็เป็นเพราะว่า มีตลาดหรือความต้องการรองรับ ปัจจุบันหลาย ๆ ร้านจึงตั้งใจตกแต่งร้านเพื่อขายให้กับเหล่าฮอปเปอร์โดยตรง สร้างมุมถ่ายรูปที่เข้ากับร้านบ้างไม่เข้ากับร้านบ้าง มีพร็อพวางเอาไว้ มองไปมุมไหนก็เหมาะกับการเอาคนไปใส่แล้วถ่ายรูปลงโซเชียล ซึ่งนอกจากร้านจะได้ลูกค้าแล้วยังได้รับการโปรโมทฟรี ๆ จากเหล่าฮอปเปอร์อีกด้วย สิ่งนี้ยิ่งช่วยสร้างความปกติใหม่ให้วัฒนธรรม Cafe Hopping แข็งแรง

เหตุใดคนเราถึงไม่เลือกไปวันละคาเฟ่แทนการอัดกันไปวันเดียวสี่ซ้าห้าที่ เมื่อมองย้อนกลับไป เราก็จะพบว่า ชีวิตคนไทยมีเวลาพักน้อยมาก เราเรียนกันตั้งแต่เช้าวันจันทร์ถึงเย็นวันศุกร์ รวมเวลาในการเดินทางแล้วแทบจะเหลือเวลาว่างต่อหนึ่งวันน้อยเหลือเกิน ยังไม่รวมการบ้าน งานกลุ่ม หรือภาระหน้าที่ต่าง ๆ ที่จะกินเวลาว่างให้น้อยลงไปอีก เวลาพักที่มากที่สุดและจัดการง่ายที่สุดก็หนีไม่พ้นวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดต่าง ๆ ในขณะที่จันทร์ถึงศุกร์เราใช้เวลาไปกับการสะสมลิสต์คาเฟ่ที่น่าสนใจมาเป็นสิบ ๆ ที่แต่กลับมีเวลาแค่สองวันในการไปเที่ยว ยังไม่นับสภาพการเดินทางที่ติดขัดและไม่ได้เอื้อให้ใช้เวลาวันหยุดได้อย่างเต็มที่แล้วด้วยนั้น เหล่าฮอปเปอร์จำนวนไม่น้อยจึงต้องวางแผนการเดินทางอย่างรัดกุม เพื่อให้สามารถตระเวนเก็บคาเฟ่ในแถบนั้นให้ได้มากที่สุด เพราะไม่แน่ใจว่า จะมีโอกาสได้มาอีกทีเมื่อไร เราจึงต้อง Hopping ไปเรื่อย ๆ เพราะเราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า เวลามันมีแค่นี้จริง ๆ วัฒนธรรม Cafe Hopping จึงกลายเป็นความสมเหตุสมผลเมื่อคิดถึงบริบทปัจจุบัน

ถ้าเราลองคำนวณต้นทุนคร่าว ๆ ว่า เราต้องไปให้ได้สามคาเฟ่ในหนึ่งวัน และประเมินมันออกมาเป็นค่าใช้จ่ายที่สละให้กับคาเฟ่หนึ่ง ๆ ตกสักที่ละ 100 บาท ค่าเดินทางระหว่างแต่ละจุดราว 30-50 บาท แค่ Cafe Hopping อย่างเดียวก็มีค่าใช้จ่ายตกวันละเกือบ 500 บาทแล้ว รวมของกินของใช้อื่น ๆ อาจถึง 1,000 บาทต่อวัน ซึ่งเทียบกับเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาทแล้ว การเสีย 1,000 บาท ทุกเสาร์อาทิตย์ถือว่า ไม่น้อยเลยเช่นกัน

นำมาซึ่งคำถามที่ใหญ่ขึ้นไปอีกหน่อยคือ เราต้องแลกอะไรบ้างเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติบนวัฒนธรรมนี้กันแน่