ThaiPublica > คอลัมน์ > ทบทวนทิศทางงานสถานสงเคราะห์เด็กในไทย

ทบทวนทิศทางงานสถานสงเคราะห์เด็กในไทย

13 มกราคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ทาง Labour Protection Network ชวนผมไปเสวนาไอเดียในการคุ้มครองเด็ก ซึ่งคงตั้งต้นมาจากเหตุมูลนิธิคุกคามเด็กที่เป็นข่าว ทำให้ได้กลับไปขุดคุ้ยข้อมูลที่ตัวเองเคยทำไว้ จึงถือโอกาสอัปเดตเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคุณผู้อ่านผ่านบทความนี้

ราว 3 ปีก่อน ผมได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวเด็กที่เคยอาศัยอยู่ในมูลนิธิดูแลคุ้มครองเด็กชื่อดังแห่งหนึ่ง ต่อไปนี้คือ ข้อความบางส่วนจากการสัมภาษณ์

เขาถูกโรงเรียนรับไปเลี้ยงตั้งแต่ 3-4 ขวบ ด้วยพ่อแม่ติดยา ตอนนี้เขาทำงานในร้านอาหารเพื่อหาเงินด้วยตัวเอง เขาเล่าว่าโรงเรียนมีเนื้อที่กว้างใหญ่ ล้อมด้วยภูเขา มีแม่น้ำให้ลงไปเล่น มีเด็กๆ เพื่อน ครู มีกิจวัตรให้ทำทุกวัน ทำให้ตอนเด็กเขาเข้าใจว่าที่นี่คือโลกทั้งใบ “คิดว่าในนั้นคือโลกหนึ่งโลก ไม่มีข้างนอก คิดว่าทั้งโลกมีแค่นี้ แล้วใครไม่รู้มาจากไหนก็เข้ามาในโรงเรียน”

เมื่อถามถึงเรื่องโทรศัพท์ที่เป็นเรื่องใหญ่ของเด็กสมัยนี้ เขาเล่าว่าที่นั่นมีกฎห้ามมีโทรศัพท์ ถ้ายังไม่ได้เป็นพี่เด็กโต หรือเด็กที่โตแล้ว ถ้าใครมีก็จะถูกยึด ให้ศิษย์เก่ามาทุบโชว์ ซึ่งโทรศัพท์ของเด็กในโรงเรียนเป็นเงินค่าขนมที่เด็กยอมอดข้าวเพื่อเก็บตังค์มาซื้อ หรือคนรู้จักให้ ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพย์สินของเด็กเองทั้งสิ้น เขายังเสริมอีกว่า เด็กหลายคนหลุดออกมาจากโรงเรียน เพราะไม่มีโทรศัพท์แล้วตกรถ เลยต้องหนีออกมา

“เวลามีเทศกาล เค้า(แขก)จะมายืนจ้องเรา เค้า(ครู)ให้เด็กอยู่ตรงกลางแล้วมายืนอยู่รอบๆ มันดูเป็นเหมือนนักโทษ เค้าจะบอกว่า ห้ามเด็กไปไหนนะ ให้นั่งอยู่ตรงกลาง” นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีเทศกาลในโรงเรียน เด็กนั่งอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบไปด้วยครูและแขกที่มาเยี่ยมชม

แต่การนั่งให้คนจ้อง หรือการเต้นแร้งเต้นกาโชว์แขก ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่สุดสำหรับเขา แต่เป็นการที่ต้องบอกคนอื่นว่ามาจากโรงเรียนแห่งนี้ เขาบอกว่า เมื่อบอกว่ามาจากที่นี่ก็จะถูกแสดงความสงสาร ถ้าไม่ด้วยสีหน้าก็ด้วยคำพูด เหมือนเขาไม่ใช่คนปกติ

“ไม่อยากจะพูดออกมาว่าอยู่ในโรงเรียน นี่คือเรื่องที่อายที่สุด ไม่อยากพูด พอพูดแล้วหน้าเปลี่ยน ถูกสงสาร เราก็คนปกติ แค่ไปอยู่ในนั้น เหมือนเริ่มต้นชีวิตที่บ้านไม่ได้ เลยไปเริ่มที่นั่น คนไม่เข้าใจ เวลามีคนถามก็จะเปรียบที่นั่นเป็นบ้าน บอกว่ามาจากบ้าน”

หากคุณได้ติดตามการเมืองในช่วงที่ผ่านมา คุณอาจเห็นเด็กๆ จากโรงเรียนแห่งนี้บนจอทีวียืนเปิดหมวกที่เวที เขาเองในตอนเด็กจำได้ว่า ถูกเปิดทีวีให้ดูแล้วให้เรียกคนในทีวีว่าพันธมิตร บอกว่าคนนั้นคนนี้จากโรงเรียนเราขึ้นเวทีด้วยนะ “เมื่อก่อนใครไปเปิดหมวก ไปร้องเพลงบนทีวีก็คือคนดัง เหมือนเป็นดาวโรงเรียน” เขาเล่า “เคยไปฝึกงานแล้วไปพูดว่าพันธมิตร เค้าบอกไม่ให้พูด เลยไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แต่รู้แค่ว่าอย่าไปพูดอีก”

“เค้าบอกว่าอยู่หน้าแขกต้องอย่างงั้นอย่างงี้ จากที่เคยเป็นปกติ ต้องกลายเป็นพนักงานต้อนรับ มีการใช้ให้ไปรับแขก ทำนู่นทำนี่ให้หน่อย” “เขาเคยพูดว่าจะทำโรงเรียนให้เหมาะกับเด็ก ไม่ใช่ทำเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน” แต่กลายเป็นว่าทำเด็กให้เหมาะกับแขกที่มาเยี่ยมชม ต้องกินอาหารที่แขกเอามาให้ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มีกฎการปฏิบัติตัวกับแขก บอกเด็กว่าห้ามขอเงินแต่ให้ขอเป็นสิ่งของ ถูกบังคับให้แสดงละคร “เหมือนทำโรงเรียนให้แขกดูมากกว่า” เขาพูดปิด

“มันคือคุกเด็ก” เขาพูดสั้นๆ เพื่ออธิบายทั้งหมดของโรงเรียน

จากบทความข้างต้น เราเห็นปัญหาในแวดวงคนทำงานดูแลเด็กอยู่ 3 ประการ

1. ปัญหาเชิงทัศนคติองค์กรที่ทำงานด้านเด็กเยาวชน ไม่ค่อยยืนข้างเด็ก และมองเด็กเป็นปัญหามากกว่ามองปัญหาที่เด็กเผชิญอยู่

คนทำงานด้านเด็กจำนวนไม่น้อยจึงไม่เคยถามเด็ก ไม่มีระบบสำรวจความต้องการเด็กในฐานะผู้ใช้บริการ เป็นเหตุให้คนทำงานด้านเด็กในไทยเรียกเขาว่ากลุ่มเปราะบาง ทั้งที่ก็รู้ว่า self-esteem หรือความภาคภูมิใจในตนเองนั้นสำคัญมาก แต่ก็ไม่เคยถามอะไรพวกเขาเลย นอกจากโตขึ้นอยากเป็นอะไร (ส่วนจะเรียกว่าอะไรนั้น คงต้องถามเด็ก ในกรณีฮ่องกง วัยรุ่นที่ไม่มีงานทำและไม่ได้รับอบรม ถูกนิยามว่าเป็น กลุ่ม ‘non-engaged’)

2. ปัญหาเชิงเครือข่ายองค์กร

องค์กรด้านเด็กจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นใกล้ๆ กัน คือช่วงปี 2525 ที่เริ่มรณรงค์อนุสัญญาสิทธิเด็ก มีทุนต่างประเทศมากมายหลั่งไหลเข้ามา พอเกิดองค์กรเหล่านี้ขึ้น ก็เริ่มแตกย่อยเป็นภาคีเครือข่าย ในมุมหนึ่งก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อีกมุมหนึ่งก็ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์กัน และกีดกันคนนอกเครือข่ายออกไป พอกีดกันองค์ความรู้ใหม่ๆ พลังงานใหม่ๆ ก็เหมือนมือถือที่ไม่ได้อัปเดตเวอร์ชัน ใช้ไปสักพักเครื่องก็แฮงก์

เด็กที่เกิดปี 2525 ปัจจุบัน 40 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนองค์กรเหล่านี้ยังมีไอเดียหลักในการเลี้ยงเด็กปัจจุบัน เหมือนเมื่อ 40 ปีก่อน ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมองเด็กหรือผู้ใช้บริการเป็นภาระมากกว่าความหวัง

แหล่งข่าวที่ยินยอมให้ผมตีพิมพ์บทความข้างต้น ในภายหลังกลับถูกคุกคาม ดังนั้น หากจะมีใครสักคนเปราะบาง ก็ไม่ใช่เด็กอย่างแน่นอน มิหนำซ้ำยังไม่มีการตรวจสอบ การร้องเรียน หรือขอความช่วยเหลือที่เป็นระบบ หน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองเด็กทั้งรัฐและเอกชนควรถูกตรวจสอบจากกรรมการภายนอกที่ไม่มีความขัดกันซึ่งผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ

3. ปัญหาเชิงโครงสร้างกฎหมาย นโยบาย

เราทราบกันดีว่า กฎหมายที่บังคับใช้กับเด็กเยาวชนจำนวนมากเป็นในลักษณะของการควบคุมมากกว่าส่งเสริม ยืนอยู่บนความกลัวและอดีต ไม่ใช่ความหวังและอนาคต โดยรวมๆ คือ สิ่งเหล่านี้วางอยู่บนความเชื่อว่า ปัญหาเกิดจากความล้มเหลวทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่การพัฒนาประชากรวัยรุ่นอย่างเป็นเหตุเป็นผล

6 ข้อเสนอเพื่อทบทวนทิศทางสถานสงเคราะห์เด็กในไทย

1. ผมคิดว่า คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของครูคีตติงใน DEAD POET SOCIETY หรือแม้แต่ครูเฟลตเชอร์ใน Whiplash คือความเชื่อมั่นในตัวเด็ก มองเด็กเป็นความหวัง ไม่ได้เป็นภาระ

2. องค์กรด้านเด็ก ทั้งรัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่คุ้มครองเด็ก ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากสถานสงเคราะห์เป็นพื้นที่ปลอดภัย เด็กต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แขกต้องไม่ใช่พระเจ้า

3. มีระบบขอความช่วยเหลือ ระบบประเมินโดยเด็กและโดยผู้เชี่ยวชาญ ประเมินครู ประเมินหน่วยงาน ระบบตรวจสอบที่ชัดเจน มากกว่านั้นคือมีระบบคืนความยุติธรรมย้อนหลัง เอากรณีละเมิดสิทธิที่เคยเกิดขึ้นมาพิจารณาใหม่กระบวนการยุติธรรม สิ่งนี้อาจเริ่มจากคำถามง่ายๆ ที่คนทำงานเด็กต้องตรวจสอบกันเองด้วย เช่น เวลาทำงานคุ้มครองเด็กให้คุณค่ากับอะไรระหว่าง ต้องถูกเคารพหรือเป็นอิสระ ระหว่างเชื่อฟังคำสั่งหรือพึ่งพาตนเอง ระหว่างมีมารยาทงามหรือช่างสงสัย

4. ในทางโครงสร้างต้องมีการรับรองสิทธิ อิสรภาพ และความรับผิดชอบของเด็กเยาวชนด้วยกฎหมาย ให้ความสำคัญกับการลดแรงกดดันในการใช้ชีวิต ช่วยกันทำลายโครงสร้างความรุนแรงทั้งหมด สร้างนิเวศที่เอื้อให้เด็กเยาวชนพัฒนาศักยภาพที่ตนเองสนใจได้อย่างเต็มที่ และเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการออกแบบชีวิตตนเองและสังคม

5. ในพื้นที่ที่สามัญขึ้นมาหน่อยอย่างโรงเรียน เราทราบกันดีว่า มีการละเมิดเด็กเยอะมากผ่านการทำโทษ แต่ข้อมูลปี 2559 พบว่า ทั่วประเทศไทยมีครูถูกลงโทษเพราะประพฤติผิดจรรยาบรรณเพียง 21 ราย จากครู 6.6 แสนคนทั่วประเทศ ยิ่งในพื้นที่ที่ยากแก่การตรวจสอบขึ้นไปอีก เช่น ครอบครัว วัด หรือแม้แต่ห้องตรวจ จะเป็นอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เราต้องมีฐานข้อมูลเด็กรอบด้านที่เป็นระบบ

6. ประเทศเรามีงบประมาณทำงานด้านเด็กไม่น้อย แต่บริหารแบบกระจายตัว ตามกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ เลยแก้ปัญหาเด็กเยาวชนแบบแยกขาดตามประเด็นขององค์กรนั้นๆ งบตรงนี้รวมๆ แล้วราวปีละ 5,324.7 ล้านบาท เยอะกว่า สสส. และไทยพีบีเอสเสียอีก ยังไม่รวมงบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา งบอาสารักษาดินแดน และยังไม่รวมภาษีที่อาจจัดเก็บได้มากขึ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากโรงเรียนกวดวิชา ในขณะที่ประชากรกลุ่มนี้ต้องแบกรับความไม่แน่นอนและแรงกดดันมหาศาลในปัจจุบันและอนาคต ถ้าเราสามารถบริหารงบตรงนี้ด้วยวิธีการใหม่และทัศนคติใหม่ เราอาจจะได้องค์กรที่พัฒนาเด็กเยาวชนแบบเป็นองค์รวม ครอบคลุมมิติต่างๆ ในชีวิต ที่ไม่มองเด็กเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของปัญหาแบบแยกขาด แต่มองเด็กเป็นมนุษย์