ThaiPublica > คอลัมน์ > สำรวจเสื้อผ้าวัยรุ่น

สำรวจเสื้อผ้าวัยรุ่น

8 เมษายน 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ตลอดหลายปีนี้ แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติอเมริกันล้มหายตายจากห้างร้านไปเกือบหมด และถูกแทนที่ด้วยแบรนด์ญี่ปุ่นและแบรนด์ตามไอจี ท่ามกลางการผุดขึ้นอย่างมากมายของคาเฟ่วัยรุ่นในสไตล์มินิมัล สิ่งเหล่านี้กำลังทำให้วัฒนธรรมการแต่งตัวของวัยรุ่นไทยเปลี่ยนไปตลอดกาล

หากเรามีนัดกับฝูงเพื่อนในวันหยุด สถานที่และช่วงเวลากลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะกำหนดการตัดสินใจในการเลือกเสื้อผ้าของเรา หลายคนอาจใช้วิธีเซิร์ชบนอินเทอร์เน็ตถึงไอเดียการแต่งตัว ซึ่งในปี 2022 นี้ ก็มีเทรนด์แฟชั่นอันเป็นที่นิยมให้เลือกมากมาย ตั้งแต่การย้อนกลับมาของแฟชั่นยุค 2000 อย่าง Y2K, เทรนด์ฮิปปี้ผสมสีเอิร์ทโทนอย่าง Fairy Style, เทรนด์แบบ Blazer Look ตลอดจน E-girl ซึ่งหลายเทรนด์ที่กล่าวมานี้ เริ่มมีสถานที่ที่เอื้อต่อการแต่งตัวดังกล่าวจำกัดลง เมื่อเทียบกับการแต่งตัวในแนวมินิมัล ด้วยเสื้อผ้าสีอ่อน เน้นความเรียบง่ายและเข้าถึงได้ในราคาไม่แพง ที่กลายมาเป็นเทรนด์ยอดฮิตของแฟชั่นวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน ทั้งยังสอดคล้องกับธีมในการออกแบบร้านคาเฟ่จำนวนมาก 

สถาปัตยกรรมสถานที่ซึ่งคือร้านคาเฟ่ในสไตล์มินิมัล โทนสีไม่ฉูดฉาดและเสื้อผ้าในทางที่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว กำลังส่งผลให้เกิดไลฟ์สไตล์ที่ไปควบคู่กันอย่าง Cafe Hopping ซึ่งแพร่หลายอย่างมากในสังคมไทย อาจด้วยเพราะวัยรุ่นไทยไม่ได้มีพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์สาธารณะมากนัก จึงจำเป็นต้องอาศัยการจับจ่ายใช้สอยในร้านคาเฟ่ที่ราคาเข้าถึงได้เป็นหลัก

การแต่งตัวในลักษณะนี้จึงเน้นไปที่การใช้โทนสีสว่าง ไม่ฉีกแนว แล้วแบ่งแยกย่อยตามประเภทคาเฟ่ที่ไป เช่น คาเฟ่แนวธรรมชาติ คาเฟ่แนวเกาหลี คาเฟ่แนวญี่ปุ่น คาเฟ่แนวทุ่งนา คาเฟ่แนวธรรมชาติ คาเฟ่โทนสีเขียว และไม่ว่าจะคาเฟ่สไตล์ไหนอินเทอร์เน็ตก็มีคู่มือแนะนำการแต่งตัวในแต่ละคาเฟ่ไว้เพียบพร้อม

การต้องรู้ก่อนว่า จะนัดไปร้านไหนจึงมีความสำคัญกับการแต่งตัวของวัยรุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งนี้เองทำให้กิจการร้านค้าเสื้อผ้าออนไลน์เติบโตขึ้นมาก พร้อมๆ กับดีไซเนอร์ไทยที่อาศัยไอจีเป็นช่องทางรายได้ ในขณะที่นิตยสารไทยส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่เสื้อผ้าแบรนด์เนม 

เมื่อวัฒนธรรมการแต่งตัวแบบ Cafe Hopping กลายเป็นกระแสหลักการแต่งตัวบนความหลากหลายอื่น เช่น แฟชั่นแบบฮิปฮอปถูกเบียดไปอยู่ในวัฒนธรรมที่ย่อยลงไปอีก อีกนัยหนึ่งคือไม่เพียงแต่การขยายตัวของคาเฟ่แนวมินิมัลกลายเป็นวัฒนธรรมหลักของการใช้เวลาในชีวิตหลังเลิกเรียนของวัยรุ่นเท่านั้น การไม่มีพื้นในรูปแบบอื่นๆ ที่เพียงพอก็สร้างข้อจำกัดในความหลากหลายของการแต่งตัว

ทั้งสองกระแสทางวัฒนธรรม คือ คาเฟ่แบบเกาหลีญี่ปุ่น และการแต่งตัวแนว Cafe Hopping จึงส่งเสริมกันทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และการเชิงวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ตัวตนเนื่องจากร้านคาเฟ่หรือร้านกาแฟในสไตล์นี้ ได้เปลี่ยนกิจกรรมหลักอย่างการดื่มกาแฟไปสู่การดื่มบรรยากาศภายในร้านผ่านการถ่ายรูปภาพ โพสต์ แชร์ และได้รับผลลัพธ์ทางโซเชียลมีเดียบางประการ ร้านจึงจำเป็นต้องตกแต่งโดยคำนึงถึงวัฒนธรรมสมัยนิยมดังกล่าว

เราจึงเห็นเมนูอาหารร่วมกันระหว่างบรรดาร้านคาเฟ่ เช่น หลายร้านเลือกที่จะเสิร์ฟบิงซูชานมไข่มุก และเน้นการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ให้เข้ากับสไตล์แฟชั่นของกลุ่มลูกค้า

กิจกรรมการไปคาเฟ่ของวัยรุ่นที่นอกจากการไปหาอะไรดื่มแล้ว ยังเป็นการลงทุนทางภาพลักษณ์ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ร่วมที่ตนมีในสังคมผ่านการโพสต์ภาพชุดที่เข้าคู่กับร้านในอินสตาแกรม หรือโซเซียลมีเดียยอดนิยม การดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ร่วมที่อยู่บนพื้นฐานของการบริโภคนี้ยังช่วยวัยรุ่นจัดจำแนกตนเองออกจากช่วงวัยอื่นๆ ด้วย

อัตลักษณ์ดังกล่าวจึงเป็นมากกว่าการแสดงออกผ่านการแต่งกายเท่านั้นแต่เป็นเรื่องราวที่สลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกับสำนึกลึกๆ แห่งช่วงวัยที่พยายามค้นหาว่า เราคือใคร

การแต่งกายแบบมินิมัลและวัฒนธรรม Cafe Hopping นี้เป็นได้รับอนุญาตให้ปรากฏบนพื้นที่สังคมเมืองและพื้นที่สื่อได้อย่างเปิดเผยเมื่อเทียบกับแฟชั่นแบบ E-Girl หรือแฟชั่นในทำนองเดียวกัน เพราะอย่างหลังอาจถูกสังคมมองด้วยภาพจำในคุณค่าที่ต่างออกไป

การปรากฏตัวอย่างเปิดเผยบนพื้นที่เมืองและพื้นที่สื่อนี้เอง ที่ช่วยสร้างความมั่นคั่งให้กิจการร้านคาเฟ่ในสไตล์นี้ ได้รับการอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเปิดร้าน ณ จังหวัดใด และเปิดพื้นที่ให้ดีไซเนอร์หน้าใหม่จำนวนมากขึ้นมาแบ่งผลประโยชน์ในวงการเสื้อผ้าไปจากบริษัทเดิมๆ

ฐานลูกค้าเสื้อผ้าและผู้บริโภค Cafe Hopping จึงไม่ใช่กลุ่มวัฒนธรรมย่อยเหมือนสไตล์การแต่งตัวอื่นๆ แต่ได้กลายเป็นมาตราฐานทางวัฒนธรรม ที่วัยรุ่นจำนวนมากต้องมีเสื้อผ้าสไตล์ดังกล่าวติดห้องไว้ในฐานะเครื่องมือการเข้าสังคมออนไลน์และสังคมปัจจุบัน