ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกมั่นใจเศรษฐกิจไทยยืดหยุ่น พร้อมรับแรงกระแทก แนะเร่งสะสมทุนมนุษย์เพื่อ “พัฒนาเศรษฐกิจ-ลดความเหลื่อมล้ำ”

ธนาคารโลกมั่นใจเศรษฐกิจไทยยืดหยุ่น พร้อมรับแรงกระแทก แนะเร่งสะสมทุนมนุษย์เพื่อ “พัฒนาเศรษฐกิจ-ลดความเหลื่อมล้ำ”

16 มกราคม 2019


ดร.เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 ธนาคารโลกเปิด “รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย: ความเหลื่อมล้ำ โอกาส และทุนมนุษย์” รายงานหลักของธนาคารโลกซึ่งวิเคราะห์ผลการดำเนินการและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2562 และในรายงานฉบับนี้ยังมีบทความพิเศษเรื่อง ความพยายามของประเทศไทยในการลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งนำเสนอโครงการใหม่ของธนาคารโลกเรื่อง ดัชนีทุนมนุษย์ และเหตุใดประเทศไทยถึงจำเป็นจะต้องลงทุนพัฒนาประชาชนจึงจะสามารถเดินหน้าเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและลดช่องว่างเรื่องความเหลื่อมล้ำได้

ดร.เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจไทยว่า ในปี 2561 ถือว่าเติบโตได้ดีมาก และเป็นการเติบโตที่แข็งแรงหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พัฒนาการที่ดีขึ้นในโครงสร้างของการเติบโตที่การเติบมาจากอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น ทั้งการบริโภคของเอกชน การลงทุนของเอกชน และการลงทุนภาครัฐ

“โครงสร้างแบบนี้เป็นภาพที่ดี หากเราดูสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกที่กำลังมีแรงต้านค่อนข้างแรงสำหรับประเทศเกิดใหม่ทั้งหมด เราเห็นการส่งออกของประเทศเหล่านี้ลดลง เพราะการค้าโลกที่ชะลอตัวลงและน่าจะกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่พอมองมาที่ประเทศไทยก็เรียกว่าค่อนข้างประทับใจสำหรับไทย และไม่ใช่แค่ปี 2561 ที่ผ่านมาแต่จะเป็นในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย เพราะดูเหมือนเศรษฐกิจไทยที่ถูกสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของการเติบโตได้ และทำให้ไทยสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงและแรงต้านของเศรษฐกิจโลกที่จะมาในอีก 2 ปีข้างหน้าได้ดีหากเทียบกับประเทศอื่นๆ” ดร.เบอร์กิทกล่าว

สำหรับคำแนะนำต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ดร.เบอร์กิทกล่าวว่า ประการแรก คือ ความต่อเนื่องและการดำเนินนโยบายในเชิงปฏิบัติ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินนโยบายพื้นฐานหลายประการที่ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป แต่หลายประการเพิ่งผ่านบังคับใช้เป็นกฎหมาย และคำถามในขั้นต่อไปคือว่าไทยจะสามารถดำเนินการได้เร็วและมีประสิทธิภาพเพียงใด แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง ตัวอย่างเช่นพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างในปี 2560 ที่กว่าจะเริ่มเห็นผลก็ต้องผ่านไปถึงครึ่งหลังของปี 2561 อย่างไรก็ตาม โดยสรุปแล้วเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ขณะที่คำแนะนำอีกประการคือ ประเทศควรลงทุนในมนุษย์มากขึ้น ซึ่งสะท้อนมาจากดัชนีใหม่ของธนาคารโลกคือ “ดัชนีทุนมนุษย์” หรือ Human Capital Index ที่ต้องการสร้างความเข้าใจแก่ประเทศต่างๆ ถึงความเชื่อมโยงระหว่างการลงทุนในการศึกษาหรือทุนมนุษย์และการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว และเป็นที่มาของการแปลความดัชนีที่วัดว่า หากเด็กได้เข้าถึงการศึกษาหรือการบริการสุขภาพที่ดี ฯลฯ จะกระทบต่อผลิตภาพของประเทศในระยะยาวอย่างไร ดังนั้นดัชนีนี้ไม่ใช่เพียงแต่การบอกถึงการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันหรือเพื่อให้แต่ละคนมีความเป็นอยู่ดีที่ขึ้น แต่เชื่อมโยงไปยังเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำของประเทศด้วย

“แต่เราเข้าใจว่าการลงทุนในการศึกษาของเด็กต้องใช้เวลา คำถามคือ แล้วเราจะทำอะไรเพื่อให้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันดีขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงกับว่าแล้วอะไรคือผลประโยชน์จากการใช้งบประมาณเหล่านี้ในปัจจุบัน คิดว่ามีผลกระทบ 2 รอบจากการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐไปกับโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อันแรกคือการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทางรถไฟ สะพาน ถนน รวมไปถึงการจ้างงานสำหรับแรงงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การก่อสร้าง การบริการต่างๆ และก็ไปช่วยเพิ่มรายได้สำหรับคนเหล่านี้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นี่เป็นผลกระทบแรกที่เรามักจะเห็นชัดเจน แต่เมื่อโครงการเหล่านี้เสร็จสิ้นไป ผลกระทบรอบที่สองจะเกิดขึ้น เช่น เมื่อบริษัทเห็นว่ามีรางรถไฟแล้ว ก็น่าจะง่ายขึ้นที่จะขนส่งสินค้าหรือคนที่จะจ้างงานในโรงงาน นั่นคือภาคเอกชนจะลงทุนและจะไปสร้างงานในอีกหลายๆ ภาคเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่การก่อสร้าง แต่เป็นสินค้าบริการอื่นๆ และนั่นเป็นสาเหตุที่สำคัญมากกว่าสำหรับการลงทุนของรัฐ เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์สนใจมากกว่า เพราะการลงทุนของรัฐขนาดใหญ่ส่งสัญญาณไปยังเอกชนว่าการทำธุรกิจจะง่ายขึ้น ถูกลง ฯลฯ และนั่นจะไปสร้างงานและรายได้แก่กลุ่มคนต่างๆ เพราะเมื่อมีการลงทุน ผลิตภาพก็จะเพิ่มขึ้น ตำแหน่งงานที่มีผลิตภาพจะเพิ่มขึ้น และนั่นทำให้ประเทศเคลื่อนจากประเทศที่รายได้ต่ำเป็นรายได้สูง ย้ายจากภาคเกษตรไปยังภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่าและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศลง” ดร.เบอร์กิทกล่าว

เศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามโลก

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงรายละเอียดเศรษฐกิจไทยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงไม่สดใสท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้า การค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนมีการปรับตัวลดลง นอกจากนี้ สภาวะการเงินเริ่มตึงตัว ประเทศเศรษฐกิจหลักดำเนินนโยบายการเงินอย่างเคร่งครัด เศรษฐกิจโลกจึงมีแนวโน้มจะขยายตัวลดลงจากลงร้อยละ 3 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 2.9 ในปี 2562 และเติบโตร้อยละ 2.8 ในปี 2563-2564

ถึงแม้จะมีผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการค้าและการท่องเที่ยว ธนาคารโลกยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ในปี 2561 โดยเศรษฐกิจไทยสามารถยืนหยัดได้แม้ว่าจะต้องฝ่าแรงปะทะจากเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสภาพแวดล้อมในประเทศเข้มแข็งขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 นับว่าเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 22 ไตรมาสที่ผ่านมา ในสภาวะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานต่ำ นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ในไตรมาสที่ 3 เป็นผลมาจากการใช้จ่ายในการก่อสร้าง เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยถือว่าปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก เช่น ข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยเฉพาะอื่นๆ เช่น โศกนาฏกรรมเรือนักท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ต และผลกระทบฐานสูงในการส่งออกทองคำ แต่ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีความยืดหยุ่นเนื่องจากมีพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคที่มีความเข้มแข็งและมั่นคง

สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปคาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในปี พ.ศ. 2562 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะชะลอการเติบโตร้อยละ 3.8 ในปี 2562 และฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 3.9 ในปี 2563 โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องพึ่งพาการบริโภคจากภายในประเทศ เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของตลาดโลกลดลง และจากปัจจัยแวดล้อมนี้ การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการปฏิรูปเศรษฐกิจตามที่วางแผนไว้อย่างต่อเนื่องจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในปีหน้าและช่วยส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจในระยะกลาง

คาดสงครามการค้าไม่กระทบไทยแรง

ด้านความเสี่ยงของเศรษฐกิจในอนาคตอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนอาจชะลอตัวลงอีกเนื่องจากความตึงเครียดทางการค้า ดังนั้น อุปสงค์จากภายนอกยังเสี่ยงที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว นักลงทุนอาจชะลอการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมส่งออกรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และในประเทศพัฒนาแล้วทั้งปัจจุบันและในอนาคตอาจส่งผลให้ตลาดเงินผันผวน และการลดการนำเข้าเงินทุนจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในส่วนของประเทศไทยนั้น การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่ต่ำกว่าเป้าอยู่เสมอ การคลังที่ไม่บูรณาการ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ยังคงเป็นความเสี่ยงสำหรับการดำเนินงานตามกำหนดของโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีการวางแผนไว้แล้ว

“เรื่องความเสี่ยงทางการค้า จากที่ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างไทยและห่วงโซ่การผลิตและการค้าโลก ในความเป็นจริงพบว่าไม่ได้มีความเชื่อมโยงมากนักหากเทียบกับหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ที่เชื่อมโยงกับการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างชิปคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ในรายภาคอุตสาหกรรมเรายังไม่เห็นชัดเจน ส่วนการโยกย้ายฐานการผลิตก็ยังไม่ได้เห็นภาพชัดนัก อีกด้านหนึ่งประเทศไทยเองก็หันไปกระจายการค้าขายกับภูมิภาคอื่น เช่น ในอาเซียนด้วยกันมากขึ้น พอประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโตมาชดเชยได้ ทำให้ผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจไทยอาจจะลดลง แต่ที่น่ากังวลคือหากสงครามการค้าไปถึงขั้นกระทบให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอลง ก็อาจจะดึงให้เศรษฐกิจไทยลดลงตามไปด้วย ซึ่งจากรายงาน Global Prospect เราก็ประมาณการณ์ว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอลง 1% อาจจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาลดลง 1% หรือ 1 ต่อ 1 ไปด้วย” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำเทศไทย

มั่นใจเศรษฐกิจไทยยืดหยุ่น พร้อมรับแรงกระแทก

แนวโน้มนโยบายการเงินและการคลังยังยืดหยุ่นและรักษาเศรษฐกิจมหภาคให้มั่นคงอยู่ได้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 1-4 ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กันชนทางด้านการเงินการคลังคาดว่าจะยังทำงานได้ดีและยังสามารถขยายตัวเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้หากมีความจำเป็น อัตราหนี้สาธารณะของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 42 ของจีดีพี เงินบาทมีความผันผวนน้อยลงในช่วงที่เกิดวิกฤติสกุลเงินตุรกีเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เนื่องจากประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เข้มแข็ง (ร้อยละ 8.1 ของจีดีพี) และทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (ร้อยละ 74 ของจีดีพี)

สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ความก้าวหน้าในการลดความยากจนนั้นขึ้นอยู่กับผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น หากวัดประเทศไทยจากเส้นความยากจนระหว่างประเทศ (international poverty line – 1.9 ดอลลาร์สหรัฐวัน 2011 PPP) ซึ่งเป็นตัววัดอัตราความยากจนขั้นรุนแรง ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จัดว่ามีอัตราความยากจนขั้นรุนแรงในระดับต่ำ

แต่หากวัดประเทศไทยจากเส้นความยากจนที่ใช้วัดความยากจนในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน 2011 PPP) ซึ่งมีจำนวนเงินที่สูงขึ้นนั้น พบว่า อัตราความยากจนของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 7.1 ในปี 2558 ซึ่งถือว่ามีอัตราความยากจนสูง เมื่อเทียบกับกับมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราความยากจนในระดับใกล้เคียงกันแต่มีรายได้สูงกว่า

ในระยะปานกลางคาดว่าอัตราความยากจนจะลดลงอย่างช้าๆ ในพื้นที่ชนบท เนื่องจากการคาดการณ์ว่าราคาสินค้าเกษตรจะมีราคาไม่สูงเหมือนในระยะที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรสินค้าโภคภัณฑ์โลก การมีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำ โดยคนยากจนในชนบทจะได้รับผลกระทบด้านลบนอกเสียจากจะสามารถเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร นอกจากนี้ ครัวเรือนในชนบทยังประสบปัญหาเรื่องผู้สูงวัยมากขึ้นเนื่องจากคนรุ่นใหม่ย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในเมือง

ที่มาภาพ: http://pubdocs.worldbank.org/en/111811547607637081/TEM-Executive-Summary-Jan.pdf

การรักษาระดับและคุณภาพของการปฏิรูปด้านโครงสร้างของประเทศให้ยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยในการลดความยากจนและช่วยยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาวให้สูงกว่าร้อยละ 4.0 ในสภาวการณ์ที่ต้องเผชิญกับสังคมสูงวัยที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลเพื่อการเติบโตในระยะยาวจะช่วยให้มีเกิดความต่อเนื่องในการบริหาร และประสานงานระหว่างหน่วยงานในประเทศ รวมถึงมีความต่อเนื่องด้านนโยบายของแต่ละรัฐบาล การปฏิรูปอย่างต่อเนื่องในเรื่องหลัก เช่น การบริหารจัดการการลงทุนภาครัฐ การศึกษา ขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเปิดเสรีภาคบริการ ล้วนมีความสำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพในทุกๆ ภาคส่วนของสังคม และช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

“หากให้สรุปเศรษฐกิจไทยในประโยคเดียวคือ ยืดหยุ่นและพร้อมจะรองรับแรงกระแทกจากเศรษฐกิจภายนอก โดยมีเศรษฐกิจภายในที่ยังเติบโตได้ดีอยู่ สอดคล้องกับกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปต่างจากช่วงปี 2555 ที่ยังเห็นสัดส่วนของภาคส่งออกที่สูง แต่ปัจจุบันได้ทยอยลดลงแล้ว เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เริ่มเดิมหน้า และที่สำคัญคือเสถียรภาพของไทยที่ถือว่าแข็งแกร่งอยู่ในระดับเอบวก ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่ต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง  อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในครั้งนี้เรียกว่าเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก โดยโน้มเอียงไปด้านต่ำมากขึ้นจากทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ขณะที่ภายในประเทศต้องเฝ้าติดตามความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนของเอกชนที่อาจจะชะลอเฝ้าดูผลการเลือกตั้งที่ยังไม่มีความแน่นอนอยู่” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

แนะไทยเร่งเสริม “การศึกษา-สุขภาพ” พัฒนาทุนมนุษย์

ดร.เกียรติพงศ์กล่าวว่า ส่วนที่สองของรายงานนี้มุ่งเน้นเรื่องโอกาสและความท้าท้ายของประเทศไทยในการเพิ่มทุนมนุษย์และลดความเหลื่อมล้ำ ถึงแม้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยยังไม่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ทว่าความเหลื่อมล้ำยังคงจัดเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลเสียที่สำคัญต่อประเทศ 2 ประการ คือ ความไม่เสมอภาคในโอกาสทางเศรษฐกิจทำให้สูญเสียศักยภาพในการผลิต และมักทำให้การพัฒนาสถาบันถดถอยลง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อการลงทุน นวัตกรรม และการจัดการความเสี่ยง

รัฐบาลไทยเพิ่งจัดตั้งหน่วยงานภายใต้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยคิดค้นและดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อติดตามความแตกแยกทางสังคมและความเหลื่อมล้ำ

ส่วนที่สองของรายงานนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเน้นให้เห็นความสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทยเพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง การสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพและทักษะให้แก่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ นอกจากนี้ รายงานล่าสุดของธนาคารโลกได้วิเคราะห์ประสบการณ์จาก 5 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และเน้นให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของตลาดแรงงานที่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำโดยการเพิ่มโอกาสที่ดีขึ้นให้แก่กลุ่มด้อยโอกาส

การเข้าถึงทุนมนุษย์เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยการประชุมประจำปีของธนาคารโลกประจำปี พ.ศ. 2561 ธนาคารโลกได้เปิดตัวดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index – HCI) ซึ่งวัดระดับผลิตภาพที่คาดหวังจากคนทำงานรุ่นต่อไปเมื่อเทียบกับศักยภาพที่พวกเขาพึงมีหากได้รับการศึกษาเต็มที่และมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์

ค่าดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศไทยนั้นอยู่ที่ 0.60 จากคะแนนสูงสุด 1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยที่เกิดในวันนี้จะเติบโตขึ้นและสามารถมีผลิตภาพร้อยละ 60 เท่าที่จะเป็นไปได้หากพวกเขาได้รับการศึกษาและการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด ทั้งนี้ รายงานแสดงให้เห็นว่า ขณะที่ประเทศไทยได้รับคะแนนโดยรวมอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่ากลางในตัวชี้วัดหลายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนและประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงระดับสูง อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก เช่น อัตราการอยู่รอดของผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปีหรืออัตราที่คนคนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 60 ปี อัตราของประเทศไทยยังต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่ถูกประเมินทั่วโลก

ประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพใหม่ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases: NCDs) จากประชากรผู้ใหญ่ทั่วประเทศไทยนั้น มีคนอายุ 15 ปีเพียงร้อยละ 85 ที่จะสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้จนกระทั่งอายุ 60 ปี จำนวนนี้นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้เดียวกันที่อยู่ที่ร้อยละ 86.2% และใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศอาเซียน ภาระหนักจากผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ และการบาดเจ็บบนท้องถนนซึ่งทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่งผลกระทบต่ออัตราการรอดชีวิตของประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่โรคไม่ติดต่อ

ที่มาภาพ:http://pubdocs.worldbank.org/en/111811547607637081/TEM-Executive-Summary-Jan.pdf

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น การลงทุนในคนรุ่นต่อไปอย่างมีส่วนร่วมและและเท่าเทียมจึงมีความสำคัญ โดยสามารถเริ่มต้นด้วยการจัดการกับประเด็นสำคัญเรื่องการศึกษา สุขภาพ และโอกาสที่เท่าเทียมกัน ความต้องการของประเทศไทยในการก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจขั้นสูงกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบากจากสังคมผู้สูงอายุ คุณภาพการศึกษาที่ต่ำ ความแตกต่างแต่ละภูมิภาคของไทยในการเข้าถึงทรัพยากรและคุณภาพของการศึกษา รวมถึงความท้าทายด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นใหม่

ในด้านการศึกษาควรจัดทำยุทธศาสตร์เรื่องการจัดการกับโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมีเด็กนักเรียนประมาณ 1 ล้านคน (ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน) ปัจจุบันเด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพด้อยกว่า รวมถึงเรื่องการปรับปรุงด้านการบริหารจัดการของโรงเรียน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษาของภาครัฐ นอกจากนี้ การส่งเสริมสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากอัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่ในประเทศไทยต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศทั่วโลก ท้ายที่สุด การลงทุนในทุนมนุษย์จะต้องเท่าเทียมกันเพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับประชากรทุกคนในรุ่นต่อไป

การลดโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันสามารถทำให้เกิดวงจรที่ยุติธรรมได้ เมื่อคุณภาพของเด็กลดการยึดติดกับสภาพแวดล้อมที่กำเนิดและคุณ ลักษณะของพ่อแม่ การยกระดับด้านการศึกษาจะมีมากขึ้น และจะทำให้กับดักความไม่เท่าเทียมถูกทำลายลง และทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับการกระตุ้น การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเหล่านี้ส่งเสริมกระบวนการเติบโตที่เท่าเทียมกันมากขึ้น และช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายเพิ่มขึ้นด้วย

วงจรที่ยุติธรรมนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งจากการส่งเสริมความเอื้ออาทรและสมานฉันท์ทางสังคม เนื่องจากผู้คนไม่รู้สึกว่าถูกกีดกันออกจากการพัฒนาประเทศอีกต่อไป ทำให้เกิดความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมและมองโลกในแง่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่มีการยกระดับในด้านการศึกษาที่ดีกว่า ผู้ปกครองมีแนวโน้มที่จะมองโลกในแง่ดีและเชื่อว่าบุตรของตนจะมีโอกาสเรียนรู้และเติบโต การลดความเหลื่อมล้ำนั้นเชื่อมโยงกับการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในบางประเทศ แม้ว่าจะไม่พบความสัมพันธ์ในระดับโลกเมื่อสังคมมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดความยากจนจึงจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นได้