ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกชี้คนชั้นกลางจนลง คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นอีก 2 ปี

ธนาคารโลกชี้คนชั้นกลางจนลง คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นอีก 2 ปี

30 มิถุนายน 2020


นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย

ธนาคารโลก หั่น GDP ไทยปี 63 ติดลบ 5% ชี้คนชั้นกลางจนลง คาดเศรษฐกิจไทยกลับมาโตตามปกติกลางปี 65 แนะขยายมาตรการช่วยกลุ่มเปราะบาง

วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ธนาคารโลกเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับใหม่ “ประเทศไทยในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” Thailand Economic Monitor June 2020: Thailand in the Time of COVID-19 โดยมีนางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย, นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย และ ดร.จูดี้ หยาง นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ร่วมแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์

ธนาคารโลกเผยผลกระทบที่สำคัญของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ความเปราะบางของครัวเรือน และผู้ประกอบการ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 โดยอาจหดตัวกว่า 5% ในปี 2563 และน่าจะใช้เวลามากกว่าสองปีกว่าที่จะกลับไปสู่ระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ก่อนที่จะประสบปัญหาโควิด-19

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในวันนี้พบว่า การระบาดของโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในไตรมาสที่สองของปี 2563 โดยมีคนตกงานกระจายไปทั่ว และกระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลาง และครัวเรือนที่ยากจน

แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการชะลอการระบาดของโควิด-19 ภายในสามเดือนที่ผ่านมา แต่ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจนั้นรุนแรง เพราะความเปิดกว้างทางการค้าของไทย และความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว 5% ในปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะหดตัวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เป็นผลมาจากการชะลอตัวอย่างรุนแรงของการส่งออก โดยเฉพาะรายรับจากการท่องเที่ยวและการค้าในตลาดโลกที่อ่อนแอลง รวมไปถึงการชะลอตัวลงของอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งสะท้อนผลกระทบที่เกิดจากการจำกัดการเดินทางและคำสั่งปิดสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม การประมาณการนี้อาจจะมีการทบทวนอีกครั้งในอนาคต ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มปรับลดลงกว่านี้อีก เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากวงจรการแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลกและภายในประเทศ

รายงานระบุว่า อุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอทำให้การค้าในตลาดโลกหดตัว กระทบห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มในตลาดโลก เช่น รถยนต์ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่โดดเด่น และส่งผลต่อการส่งออก โดยคาดว่าการส่งออกน่าจะหดตัวลงประมาณ 6.3% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงรายไตรมาสที่แรงที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยในต่างประเทศยังคงอ่อนแอ อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ส่วนภาคการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่ประเทศเกือบจะห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และท้ายที่สุด การจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโรค แม้ว่าจะมีส่วนสำคัญช่วยทำให้เส้นกราฟของการติดเชื้อกลายเป็นเส้นแนวราบ แต่มาตรการดังกล่าวก็ส่งผลกดดันอย่างรุนแรงต่อการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะต่อธุรกิจค้าปลีก และบริการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งกระทบไปถึงยอดขายสินค้าคงทนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรงกว่า 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะลดลง 3.2% เนื่องจากมาตรการห้ามการเดินทางและรายได้ที่ลดลงซึ่งจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยเฉพาะในไตรมาสที่สองของปี 2563

จากการที่ประเทศไทยเริ่มผ่อนปรนการห้ามเดินทาง จะทำให้การบริโภคภายในประเทศที่เดิมมีความเข้มแข็งอยู่แล้วและเป็นเครื่องจักรผลักดันเศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่สองของปี 2563 และในปี 2564 แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ปรับตัวและยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทั้งนี้ โดยพื้นฐานแล้ว เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวที่ 4.1% ในปี 2564 และ 3.6% ในปี 2565 ซึ่งสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิดภายในกลางปี 2565 แต่รูปแบบของการฟื้นตัวยังขึ้นอยู่ปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ การท่องเที่ยวที่เปราะบาง รวมไปถึงการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงอยู่ในภาวะชะงักงัน

โดยคาดว่าจะกลับไปสู่ระดับผลผลิตก่อนวิกฤติโควิดได้ภายในสองปี ความเข้มแข็งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการรับมือเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบาง ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษาโควิด-19 เศรษฐกิจในภาพรวมยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านลบ

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “พลังของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับนโยบายในการรับมือวิกฤติที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบางในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ความท้าทายที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้ที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง ทั้งนี้ น่าจะได้นำมาตรการที่เสริมความคล่องตัวของตลาดแรงงานมาพิจารณา เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าจ้างที่มุ่งเป้าไปสู่บุคคลที่อยู่ในภาคการผลิตที่เปราะบางที่สุด และการฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมกับการทำงานจริงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานอีกครั้ง”

คาดคนตกงานกว่า 8.3 ล้านคน

มาตรการเพื่อรับมือโควิด-19 ของไทยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นคิดเป็นร้อยละ 12.9% ของ GDP โดยให้ความสำคัญกับการช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบาง ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ทั้งในเชิงของขนาด ความคุ้มครอง และความหลากหลายของเครื่องมือที่ใช้

รายงานประมาณการว่า กว่า 8.3 ล้านคน จะตกงาน หรือสูญเสียรายได้จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจะทำให้งานมากมาย โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีความเสี่ยง

ดร.จูดี้ หยาง นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไทยดำเนินการเร็วในการใช้มาตรการบางด้าน แต่ยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบกว่าครึ่งของแรงงานรวม โดยที่แรงงานนอกระบบภาคเกษตรสูง 92% และในภาคการค้าสูงเป็นอันดับสองรองลงไป 60% และแรงงานนอกระบบบในทุกภาคเศรษฐกิจได้รับค่าจ้างต่อเดือนต่ำกว่าแรงงานในระบบ

ครัวเรือนที่มีสมาชิกอย่างน้อย 1 คน เป็นแรงงานในภาคบริการและการผลิตซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด มีสัดส่วนราว 33.5% ของครัวเรือนทั้งหมด ครัวเรือนในภาคธุรกิจอื่นก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน ส่วนครัวเรือน 22.4% อยู่ในภาคเกษตร และ 13% เป็นครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกรายใดเป็นแรงงานเลย

คนชั้นกลางจนลง

หากไม่รวมภาคเกษตรไว้ในครัวเรือนที่มีสมาชิกครอบครัวทำงานในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พบว่าครัวเรือนที่เป็นชนชั้นกลางรายได้สูง (upper-middle)ที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนมากขึ้น ประเมินว่าจะว่างงานเพิ่มขึ้น และรายได้จากการทำงานลดลง กลุ่มครัวเรือนที่ยากจนและครัวเรือนที่เป็นชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

รายงานพบว่าจำนวนผู้ที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือผู้ที่มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 5.5 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ) จะสูงขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.7 ล้านคนในไตรมาสแรก เป็น 9.7 ล้านคนในไตรมาสที่สองของปี 2563 สัดส่วนครัวเรือนชั้นกลางที่มีสมาชิกเป็นแรงงานในภาคธุรกิจบริการและการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจะลดลงจาก 40% เป็น 24% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัดส่วนของคนที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลางในภาคการผลิตและภาคบริการจะเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัว จาก 6% เป็น 20%

ทั้งนี้ครัวเรือนราว 13% ไม่มีรายได้จากการทำงาน และเลี้ยงชีพจากเงินโอน โดยเงินโอนคิดเป็น 61% ของรายได้ทางการเงินของครัวเรือนทั้งหมด

 

เพื่อปกป้องครัวเรือนที่เปราะบาง รายงานฉบับนี้เสนอว่า ควรขยายความคุ้มครองทางสังคมเพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มผู้สูงอายุและแรงงานข้ามชาติไม่ได้ถูกมองข้าม ทั้งนี้ รายงานยังได้เสนอแนะว่า ควรให้เงินอุดหนุนแก่กลุ่มที่เปราะบางต่อไป และถ้าเป็นไปได้ ควรพยายามเชื่อมโยงการให้เงินอุดหนุนไปกับการฝึกอบรม การให้คำแนะนำ และความสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ ในระยะปานกลาง ประเทศไทยควรพิจารณาโครงการที่จะให้ประโยชน์ครอบคลุมทั่วทุกด้านเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคและวิกฤติการณ์อื่นๆ ทั้งนี้ ควรเสริมด้วยการมุ่งเป้าโครงการไปที่กลุ่มคนยากจน

แนะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

แม้ว่าประเทศไทยจะประกาศใช้มาตรการที่ใหญ่มากเพื่อรับมือโควิด แต่ประเด็นท้าทาย คือ การเข้าถึงการลงทะเบียนของผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ และการสร้างระบบลงทะเบียนทางสังคมอย่างบูรณาการที่จะช่วยให้มีข้อมูลที่ทันสมัยและสามารถมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนเปราะบางได้ และยังช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการออกแบบและปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลกได้พึ่งพาข้อมูลทะเบียนทางสังคมแบบบูรณาการเพื่อออกแบบและกำหนดเป้าหมายของโครงการ โดยข้อมูลทางทะเบียนเหล่านี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และรวดเร็วในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ อันดับแรกของการพัฒนาระบบทะเบียนทางสังคมแบบบูรณาการนี้จะต้องมีความตกลงในหลักเกณฑ์วิธีการทำงานร่วมกันในการจัดการฐานข้อมูลของประเทศ นอกจากนี้ ประเด็นท้าทายอีกด้านคือการสนับสนุนผู้ที่ตกสำรวจในครัวเรือน โดยความคุ้มครองที่ให้กับครัวเรือนที่เปราะบางควรครอบคลุมทั่วถึง ไม่ละเลยกลุ่มคนที่เปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุและแรงงานข้ามชาติ

เพื่อก้าวไปข้างหน้า การช่วยเหลือผู้ประกอบการควรออกแบบเพื่อช่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ในขณะเดียวกัน ก็ยังควรสนับสนุนผู้ประกอบการที่เปราะบาง แม้ว่าเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น แต่บางภาคการผลิต เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมาก มีการจ้างงานมหาศาล และนำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศจำนวนมาก ยังคงอยู่ในภาวะที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้โดยเพิ่มการใช้งานผ่านระบบดิจิทัลจะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจเหล่านี้ในช่วงวิกฤติ และช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงหลังวิกฤติโควิด ที่ความต้องการบริการที่ลดปริมาณการติดต่อสื่อสารระหว่างกันจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนั้น มาตรการที่จะช่วยเสริมสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ เช่น การจดทะเบียนธุรกิจโดยผ่านระบบอัตโนมัติทั้งระบบจะช่วยสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่ๆโดยยังคงรักษามาตรฐานการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้ การช่วยเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก โดยการตั้งเป้าไปที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และวิสาหกิจรายย่อยโดยดูที่ฐานะการออม และที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม อาจทำให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า “สำหรับผู้ประกอบการที่เปราะบาง ธรรมชาติของการสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ควรจะต้องปรับเปลี่ยนจากการช่วยเหลือในภาวการณ์ฉุกเฉิน ไปสู่การเสริมสร้างผลิตภาพของผู้ประกอบการที่ยังประกอบกิจการอยู่ รวมถึงปรับทิศทางการสนับสนุนด้านการคลัง จากมาตรการฉุกเฉินไปสู่โครงการสร้างงานชั่วคราว โดยเพิ่มความสะดวกให้กับบริษัทที่จะเข้าร่วมในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือการรับทำงานสาธารณะ”

ในก้าวต่อไป ควรจะปรับเปลี่ยนการสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการ และการเพิ่มผลิตภาพการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นส่งเสริมการลงทุนเพื่อการฝึกอบรมแรงงาน ฝึกอบรมการบริหารงาน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบกิจการ

นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะประเมินมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ออกมา ยังรอติดตามข้อมูล ซึ่งสำนักงานสถิติกำลังเก็บข้อมูล แต่มาตรการเยียวยาครัวเรือนและเอกชนของไทยถือว่ามีขนาดใหญเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน มาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนมีบางจุดรายงานมีคำแนะนำให้ปรับ เพราะมีบางกลุ่มไม่ได้รับและตกหล่น เช่น ผู้สูงวัย ประชากรอายุน้อย แรงงานต่างด้าว คำแนะนำเชิงนโยบายคือ ควรเพิ่มฐานข้อมูลโครงการภาครัฐ เพื่อจะได้แก้ไขช่วยเหลือตรงจุด ทันการณ์

นายเกียรติพงศ์กล่าวถึงการใช้งบประมาณและนโยบายการคลังของไทยว่า ธนาคารโลกมองว่านโยบายการคลังมีพื้นที่สมควรที่จะรองรับการผลกระทบการระบาดของโควิด และสามารถขยายการใช้หากยังมีผลกระทบต่อไปในไตรมาสสอง เช่น การเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือนยังสามารถขยายได้ ยังมีงบประมาณเหลือที่จะใช้ สำหรับการลงทุนในปีหน้า การลงทุนในโครงการพื้นฐานภาครัฐจะกระตุ้นให้มีการจ้างงาน การเชื่อมโยงในประเทศที่อาจจะไม่ได้รับผล และการใช้โอกาสจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ในระยะยาว นโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความยืดหยุ่น เนื่องจากพื้นที่การคลังที่ลดลง ดังนั้น การฟื้นฟูกันชนทางการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากรายรับของรัฐ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่วางแผนไว้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ไทยสามารถได้ประโยชน์จากการถอดบทเรียนของมาตรการเพื่อรับมือโควิด-19 อย่างเร่งด่วน โดยการก้าวข้ามระบบคุ้มครองทางสังคมแบบดั้งเดิมที่ผูกพันอยู่กับการจ้างงานไปสู่ระบบความคุ้มครองที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดจะเข้าถึงสิทธิประโยชน์ขั้นต่ำ และสามารถคัดกรอง ชี้เป้ากลุ่มเปราะบางที่ควรได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ และให้ได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะใหม่เพื่อตอบรับกับความต้องของเศรษฐกิจฐานความรู้

“การใช้งบประมาณมีความท้าทาย 3 ข้อ คือ หนึ่ง อัตราการเบิกจ่าย ประสิทธิภาพในการบริหารของภาครัฐ สอง ความจำเป็นที่ไทย ต้องดูสถานการณ์คลังใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สาม ขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะ”