ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกชี้วิกฤติโควิด ถ่วงเศรษฐกิจ EAP จี้เร่งฉีดวัคซีน ไทยต้องมีมาตรการเจาะจงช่วยคนจน

ธนาคารโลกชี้วิกฤติโควิด ถ่วงเศรษฐกิจ EAP จี้เร่งฉีดวัคซีน ไทยต้องมีมาตรการเจาะจงช่วยคนจน

15 กรกฎาคม 2021


นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 08.00 ธนาคารโลกได้จัดงานแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยนายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก

นายมัลพาสส์กล่าวว่า เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เป็นภูมิภาคแรกที่ประสบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเป็นหนึ่งในหลายภูมิภาคแรกๆที่ฟื้นตัวจากการระบาดเช่นกันอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในปีนี้จะฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากหลายประเทศยังประสบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น การกลายพันธ์ของไวรัสและการจัดหาวัคซีนล่าช้า

เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปี 2021 คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 4.0% ไม่รวมจีน แต่หากรวมจีนจะเติบโต 7.7% เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัว 8.5% จะมีส่วนหนุนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ค่อนข้างมาก

นายมัลพาสส์กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้ผู้คนจำนวนกว่า 29 ล้านคนตกไปอยู่ในความยากจนสุดขั้วภายในสิ้นปีนี้ เพราะใช้ชีวิตด้วยเงินที่น้อยกว่า 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งเป็นเส้นแบ่งความยากจน โดยผู้หญิงและเด็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุด

“ความสำคัญเร่งด่วนและเฉพาะหน้าของประเทศกำลังพัฒนาคือการกระจายวัคซีนและเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนให้ได้ตามโปรแกรมการฉีดวัคซีนที่วางไว้ และเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วกระจายวัคซีนส่วนเกินให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังต้องการวัคซีนจำนวนมาก เพื่อเร่งการฉีดวัคซีนให้ได้มากขึ้น” นายมัลพาสส์กล่าว

การขาดแคลนวัคซีนและปัญหาจากข้อจำกัดการขนส่ง ทำให้ประเมินว่ามีหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบทุกคนได้ไปจนถึงสิ้นปี 2024 ขณะที่ไวรัสกลายพันธ์กระจายมากขึ้น

นายมัลพาสส์ยังกล่าวอีกว่า ธนาคารโลกกังวล ต่อการฟื้นตัวใน 2 ลักษณะ(2-speed recovery) คือประเทศกำลังพัฒนาฟื้นตัวตามหลังประเทศพัฒนาที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร

“นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราให้ความสำคัญกับการกระจายวัคซีน และธนาคารโลกได้เพิ่มวงเงินในการสนับสนุนการจัดซื้อและการกระจายวัคซีนขึ้นเป็น 20 พันล้านดอลลาร์ทั่วโลกในช่วง 18 เดือนข้างหน้า หลังจากที่ได้สนับสนุนทางการเงินเพื่อการจัดหาวัคซีนไปแล้ว 1.1 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้วในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย มองโกเลีย ปาปัวนิวกินี และฟิลิปปินส์ และพร้อมที่จะสนับสนุนมากขึ้น”

มาตรการทางการคลังและมาตรการดูแลสังคมมีความสำคัญ แต่ต้องปรับใช้เพื่อให้การช่วยเหลือตรงจุดมากขึ้น และต้องมีการปฏิรูปทางการคลังไปด้วย โดยที่ไม่ต้องสร้างภาระให้กับการลงทุนของภาครัฐ

ภาคเอกชนก็มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวในภูมิภาค ทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยธนาคารโลกได้มีเงินให้เปล่าให้ประเทศที่พัฒนาไม่มากในด้านสวัสดิการสังคม การพัฒนาด้านดิจิทัล เพราะมีความสำคัญในการดูแลผู้หญิง เด็ก และสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ยกตัวอย่างในมาเลเซียที่มีการพัฒนาระบบดิจิทัล ทำให้ในช่วงการระบาดของโควิดสามารถเข้าถึงประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ และช่วยเหลือได้ถึง 10 ล้านคน

นอกจากนี้การใช้จ่ายทางการคลังเพื่อเยียวยาและฟื้นฟู ส่งผลให้ภาระหนี้ภาครัฐสูงขึ้น ฐานะการคลังของบางประเทศเริ่มสั่นคลอน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) และธนาคารโลกได้ร่วมกันจัดทำกรอบการให้ความช่วยเหลือในการบรรเทาภาระหนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลัง

โดยรวมรัฐบาลประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจัดเก็บรายได้ภาษีได้เฉลี่ย ราว18% ของ GDP โดยประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่เก็บได้น้อยกว่า 1 ใน 3 และมีหลายประเทศที่ยังคงใช้เงินมากกว่า 1% ของ GDP เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

พื้นที่การคลังมีพอทำมาตรการช่วยคนจน

ต่อมาในเวลา 10.00 น.ของวันเดียวธนาคารโลก ประจำประเทศจัดแถลงข่าวออนไลน์ เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับใหม่ Thailand Economic Monitor :The Road to Recovery ให้ข้อมูลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาและลู่ทางในอนาคต การปฏิรูปนโยบาย และการดำเนินมาตรการจัดการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และการฟื้นฟู นอกจากนี้ ยังมีการประเมินมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคมของรัฐบาลในการบรรเทาผลกระทบต่อความยากจนจากโควิด-19 และถอดบทเรียนเพื่อให้ประเทศไทยจะได้มีขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติใดๆ ในอนาคตและคุ้มครองคนยากจนและคนที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ โดยดร.เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการประจำประเทศไทย ธนาคารโลก, ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย และดร.ฟรานเซสก้า ลามันนา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระบุว่า

เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงถูกกระหน่ำอย่างหนักต่อไปอีกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.2 ในปี 2564 ซึ่งปรับลดลงจากร้อยละ 3.4 ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมีนาคม การให้ความช่วยเหลือคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงแรงงานนอกระบบ ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไปเนื่องจากโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

อนาคตที่ดูซึมลงเป็นผลมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสามที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ที่มีต่อการบริโภคภาคเอกชน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามามีจำนวนที่ต่ำมากจนถึงสิ้นปี 2564 ประเทศไทยมีสถิติจำนวนการเข้ามาของนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนในปี 2562 แต่จำนวนที่คาดการณ์สำหรับปี 2564 ถูกปรับลดลงอย่างมากจาก 4 – 5 ล้านคนเหลือเพียง 6 แสนคนเท่านั้น

ดร. เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการประจำประเทศ ไทย ธนาคารโลก

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน แต่การรับมือด้วยมาตรการความคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วนของรัฐบาลส่งผลเป็นที่น่าพอใจในการบรรเทาผลกระทบ” นางเบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “พื้นที่การคลังของประเทศไทยยังคงมีเพียงพอสำหรับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือคนยากจนและผู้ที่ลำบากมากที่สุดในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า”

กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่าจะไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปจนกระทั่งปีพ.ศ. 2565 โดยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.1 อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการดำเนินการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ประสิทธิผลของมาตรการสนับสนุนทางการคลัง และระดับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้าคาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกสำหรับชิ้นส่วนยานยนตร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลิตผลทางการเกษตร ความเสี่ยงในด้านลบมีค่อนข้างมากเนื่องจากการฟื้นตัวอาจต้องล่าช้าออกไปเพราะมีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้การรักษาและวัคซีนที่มีอยู่ไม่เป็นผล

ธนาคารโลกำลังประเมินผลการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือระดับประเทศช่วงปี 2562 – 2565 ซึ่งเป็นกรอบที่จัดทำขึ้นก่อนการระบาดของโควิดเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปของประเทศไทยให้พัฒนาเป็นเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาด้านนวัตกรรม เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีส่วนร่วมและมีความยั่งยืน โดยคาดว่าจะสรุปผลร่วมกับทางการของไทยได้ภายในเดือนนี้ ว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ เพื่อให้ประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก เปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจใหม่ภายใต้ความปกติใหม่

หนี้สาธารณะยังจัดการได้เหตุกู้เงินบาท-สภาพคล่องในประเทศสูง

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลกกล่าวว่า ไทยเจอการระบาดของโควิดมากว่าหนึ่งปีแล้วตั้งแต่การระบาดรอบแรก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 แต่ฟื้นตัวต่อเนื่องจนไตรมาสแรกปีนี้ติดลบน้อยลง โดยหดตัวลงร้อยละ 2.6 เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออก เพราะเศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวแล้ว และได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการทางการคลัง หลังจากการระบาดรอบสอง และการระบาดรอบสามช่วงสงกรานต์ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มใกล้เคียงกับมาเลเซีย ทำให้รัฐต้องออกมาตรการควบคุมเพื่อลดการติดเชื้อและลดการสัญจรการเคลื่อนไหวแต่ไม่มากเท่าปีที่แล้วและมาตรการไม่แรงเท่ากับปีก่อน ธุรกิจหันมาใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น

ผลกระทบจากโควิดที่เห็นชัดคือ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส ที่ 1 ของปี 2564 จากที่เกินดุล เนื่องจากรายรับจากภาคการท่องเที่ยวที่ต่ำมากและการเกินดุลการค้าที่ลดลง รวมทั้งเงินไหลเข้าเพื่อลงทุนในตลาดหุ้นไหลออกจำนวนมากทำให้ไตรมาสสี่และไตรมาสแรกปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้น ประกอบมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผ่อนปรนให้เงินไหลเข้าออกได้สะดวกมากขึ้น

ด้านนโยบายการคลัง รัฐได้กู้เงิน 2 ชุด ชุดแรกมีวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ชุดที่สอง 5 แสนล้านบาท ซึ่งชุดแรกมีการเบิกจ่ายพอสมควรราวร้อยละ 70แต่ชุดที่สองส่วนใหญ่เพื่อการเยียวยา ที่เหลือเป็นมาตรการฟื้นฟูและสาธารณสุข ส่งผลให้ฐานะการคลังปีงบประมาณ 2563 ขาดดุลร้อยละ 5.6 ของ GDP และขาดดุลเพิ่มขึ้น 2 เท่าในปีงบประมาณ 2564 ที่ระดับร้อยละ 10.5 ของ GDP จากการมาตรการเยียวยา
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจ ปี 2564 ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 และจะเติบโตร้อยละ 5.1% ในปี 2565 กลับไปที่ระดับเดิม

“เป็นการฟื้นตัวที่ใช้เวลานาน และมีการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ภาคการส่งออกฟื้นตัวก่อนจากอุปสงค์ในต่างประเทศ การเติบโตในปีนี้มาจากการส่งออก จากการบริโภคที่ได้รับผลจากมาตรการเยียวยา จากการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก”

แนวโน้มเศรษฐกิจจะส่งผลต่อฐานะการคลัง โดยการขาดดุลในปีงบประมาณ 2563 มีจำนวนมากพอสมควร 9.6% ของ GDP จากรายจ่ายเพิ่มขึ้นรายรับลดลง และมีการใช้จ่ายเงินทั้งรอบแรกและรอบสองเริ่มเบิกจ่าย แต่จะลดลงในปีงบประมาณหน้า และยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด จากการใช้จ่ายเงินกู้รอบสอง

ในแง่ความยั่งยืนทางการคลัง ภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 43 ของ GDP ช่วงก่อนโควิด เป็นร้อยละ 59.3ของ GDP ในปีงบประมาณ 2564 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 62.1 ในปีงบประมาณ 2565

“แม้จะสูงกว่าเพดานหนี้ที่กำหนดไว้ แต่ธนาคารโลกมองว่า หนี้สาธารณะยังมีพลวัตรที่มีความยั่งยืน จากการวิเคราะห์พลวัตรหนี้สาธารณะควบคู่กับ GDP ความเสี่ยงถูกบริหารด้วยหนี้ในสกุลเงินบาท และสภาพคล่องในประเทศมีมากพอสมควรที่รองรับได้”

ความไม่แน่นอนจากโควิดมีสูงมาก ความเสี่ยงด้านต่ำจึงมีมาก มีตั้งแต่ ความเป็นไปได้ที่โควิดจะระบาดและเกิดการระบาดรอบใหม่ มีไวรัสกลายพันธุ์ที่ควบคุมยากขึ้น รวมทั้งอาจจะมีความจำเป็นที่รัฐต้องออกมาตรการ ล็อกดาวน์หรือจำกัดเพื่อควบคุมการระบาด และมีความเป็นไปได้ที่การจัดซื้อและการกระจายวัคซีนช้ากว่าที่คาด

“มาตรการตรวจเชื้อ-สืบย้อน-กักตัวที่เหมาะสมและการดำเนินการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงจะมีความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการล็อคดาวน์ กระตุ้นการเพิ่มการเคลื่อนย้ายและการบริโภคภายในประเทศให้ต่อเนื่อง และเพื่อให้ประเทศสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว “ในระยะยาว การปฏิรูปเพื่อลดต้นทุนและอุปสรรคการค้าจะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก”

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดร.เกียรติพงศ์กล่าวว่า การมีวัคซีนคือหัวใจหลักของการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพราะเป็นปัจจัยหลักที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ และการบริโภคในภาคบริการของประเทศ

นอกจากนี้ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายเยียวยาวและฟื้นฟู และรักษาเสถียรภาพทางการคลัง แต่มองไปข้างหน้าการใช้นโยบายแบบเจาะจงเป้าหมายจะมีความสำคัญมากขึ้น

มาตรการช่วยเหลือต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย

รายงานระบุว่า มาตรการช่วยเหลือทางสังคมของประเทศไทยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดถือว่ามีขอบเขตและ ขนาดที่ไม่เคยมีมาก่อนและโดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ รัฐบาลได้ขยายมาตรการให้เงินเยียวยา จากโครงการที่ค่อนข้างเล็กไปเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวม รายจ่ายทั้งหมดจากมาตรการให้เงินเยียวยาประชาชนในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 3.88 แสนล้านบาท หรือ ประมาณร้อยละ 2.5 ของ GDP และดึงให้ยอดรวมของการให้ความช่วยเหลือทางสังคมขึ้นไปแตะระดับร้อยละ 3.2 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ 0.8 ของ GDP ในปี2562

การใช้เงินเพื่อช่วยเหลือสังคมของไทยก่อนการระบาดอยู่ในระดับต่ำมากและเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีการใช้เงินต่ำสุด ด้านความยากจนของประเทศไทยลดลงก่อนโควิด แต่เพิ่มขึ้นในปี 2559 และ 2561 และเพิ่มขึ้นอีกในการระบาดของโควิด

ดร.ฟรานเชสกา ลามานนา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่า ประเทศไทยมีการดำเนินการที่ค่อนข้างดีในแง่ของระดับและความรวดเร็วในการรับมือด้านการคลัง รัฐบาลได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนจากเดิมที่อยู่ในระดับไม่มากนักมาเป็นชุดของมาตรการให้เงินเยียวยาในระดับแถวหน้าของโลกเพื่อการรับมือกับโควิด-19

การจำลองสถานการณ์เบื้องต้นบ่งบอกว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 780,000 คนในปี 2563 หากรัฐบาลไม่ได้เพิ่มความช่วยเหลือทางสังคม

อย่างไรก็ตามการดำเนินมาตรการยังมีความท้าทายในบางด้าน ข้อแรก กลุ่มเปราะบางได้รับการเยียวยาจากโครงการที่มีเป้าหมายไปที่ความยากจนที่ช่วยลดภาระได้ แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองเต็มที่ เพราะเงินโอนที่ได้มีจำนวนไม่มาก ข้อสองแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับการคุ้มครองมีเพียงร้อยละ 40 ของกลุ่มอายุเท่านั้นที่มีประกันสังคม

“วิกฤตในปี2563 แสดงให้เห็นถึงความสามารถของประเทศไทยในการใช้งานระบบเลขประจำตัวประชาชนดิจิทัลที่เข้มแข็งและครอบคลุม ระบบดิจิทัลที่รองรับการใช้งานได้ดีและทำงานข้ามแพล็ตฟอร์มได้ และฐานข้อมูลเพื่อการบริหารงานภาครัฐจำนวนมากในการคัดกรองผู้มีคุณสมบัติสำหรับมาตรการให้เงินเยียวยาที่ออกมาใหม่ ก้าวต่อไปของประเทศไทยจะต้องอาศัยการผนึกกำลังความพยายามต่างๆ เหล่านี้และการเตรียมพร้อมให้ดียิ่งขึ้นไปอีกเพื่อรับมือกับวิกฤต โดยการจัดตั้งระบบการลงทะเบียนทางสังคม” ดร.ลามานนา กล่าว

รายงานฉบับนี้ยังเสนอด้วยว่า รัฐบาลควรต้องลงทุนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศ

สิ่งสำคัญอันดับแรกในอนาคตอันใกล้คือการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยดูแลให้มีการให้ความช่วยเหลือตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผลเพื่อจำกัดภาระทางการคลังโดยรวม

นอกจากนี้วิกฤตครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีระบบให้ความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมภาคการทำงานนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ตลอดเวลาด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่ในช่วงวิกฤตเท่านั้น