ThaiPublica > โครงการร่วม > เศรษฐกิจไทยจะไปไหนต่อ : นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกกาง Data ยุคเปลี่ยนผ่าน…3 สิ่งที่ต้องไม่ทำเหมือนเดิม

เศรษฐกิจไทยจะไปไหนต่อ : นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกกาง Data ยุคเปลี่ยนผ่าน…3 สิ่งที่ต้องไม่ทำเหมือนเดิม

23 เมษายน 2017


ในช่วงเวลาที่เปราะบางของการเปลี่ยนผ่านประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่นที่เป็น …ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การสูญเสียความได้เปรียบที่เคยมีในการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อนบ้าน การเมืองที่ขาดเสถียรภาพ และคุณภาพการศึกษาล้าหลัง ว่ากันว่าภายในก่อนปี 2050 GDP ของประเทศจะอยู่ในลำดับท้ายๆ เหนือเพียงกัมพูชา

คำถามคือ “เราจะไปไหนต่อ” จึงจะก้าวพ้น “กับดักตัวเอง” บนเส้นทางในการพัฒนาประเทศในอนาคต และจะทำอย่างไรให้ไทยสามารถกลับมาพลิกฟื้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่สามารถกลับมาเติบโตอีกครั้ง

“ไทยพับลิก้า” ชวน ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลกหนึ่งในทีมที่ทำการศึกษาล่าสุดของธนาคารโลกเกี่ยวกับประเทศไทยในรายงาน “กลับสู่เส้นทาง: ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน” ได้วิเคราะห์การพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ มาร่วมมองไปข้างหน้าว่าในภาวะเช่นนี้ “เศรษฐกิจไทยจะไปไหนต่อ?” การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีมาถูกทางหรือไม่ และอะไรคือสิ่งที่ประเทศนี้ต้องทำและอะไรคือสิ่งที่ต้องระวังที่สุด

ไทยพับลิก้า: ประเมินภาพเศรษฐกิจวันนี้อย่างไร

ดร.เกียรติพงศ์: ถ้าดูเศรษฐกิจโลกช่วงที่ผ่านมา ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2016) เป็นปีที่ถือว่าค่อนข้างแย่ เพราะว่าเศรษฐกิจโลกโตช้าที่สุด ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติโลก แต่ปีนี้ก็จะโตดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ ถ้าดูในเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่โตค่อนข้างดีประมาณ 6% โดยเฉพาะจีน แล้วก็อาเซียน CLMV ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเราก็โตดีประมาณ 6%  แต่หลายประเทศก็เริ่มชะลอลง เช่นจีนแล้วก็เพื่อนบ้านเรา เขาก็เริ่มหาวิธีใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออก อาจจะมีการเติบโตจากภายในประเทศมากขึ้น จากการลงทุน จากการบริโภค เป็นต้น

สำหรับไทยเองมีความท้าทายเดียวกัน เพราะว่าถ้าดูอัตราการเติบโตของเราช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งค่อนข้างต่ำ เทียบกับในอดีตช่วง 20 ปี เฉลี่ยการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5% แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการเติบโตชะลอตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 3%

ถ้าถามว่าโตเต็มศักยภาพคือเท่าไหร่ ก็อยู่ที่ 3.5% เพราะฉะนั้นเรายังไม่โตเต็มศักยภาพ ปีหน้าเราน่าจะโตประมาณ 3.2% หรือ 3 กว่า ก็ประมาณนี้ แต่คำถามที่น่าถามก็คือว่าเราควรจะโตเท่าไหร่ ถ้าเราจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามแผนฯ 20 ปี สำหรับประเทศที่กำลังโตดี ควรจะโตประมาณ 4-5% ถ้าเราโตประมาณ 4-5% ได้ในเวลา 20 ปี เราน่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ นี่คือคำถามที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยตอนนี้

ไทยพับลิก้า: ไทยจะโตได้อย่างไร เราได้ยินว่าประเทศอื่นๆ มีวิธีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ๆ แล้วสำหรับไทยเราจะไปทางไหน ไปอย่างไร

ดร.เกียรติพงศ์: ถ้าดูประเทศจีนเขาเพิ่งทำแผน 20 ปี เรียกว่า New Drivers of Growth ในอดีตจีนโตจาก Export แต่ตอนนี้เขาเน้นเรื่องภายในประเทศ เน้นเรื่องการบริโภคภายในประเทศ แล้วก็การเติบโตของเศรษฐกิจในต่างจังหวัด สำหรับมาเลเซียทำแผนมานานแล้ว เขาเน้นเรื่องนวัตกรรม เรื่องเศรษฐกิจในประเทศ เรื่องแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ส่วนเวียดนามก็เพิ่งทำ ที่มีส่วนที่มีความคล้ายคลึงกันในแต่ละแผนก็คือเรื่องการเพิ่มผลิตภาพ หรือว่า Productivity

“ถ้ามาดูแก่น ไส้ใน GDP ไทย จะสังเกตว่า GDP ไทยโตจากหลักๆ 3 อย่าง คือ เรื่องของการลงทุน เรื่องแรงงาน แล้วก็สุดท้ายเรื่องผลิตภาพ ถ้าดูการเติบโตเศรษฐกิจไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มาจากการลงทุน แรงงาน และผลิตภาพ (productivity) แต่ว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่สัดส่วนแรงงานใน GDP เริ่มเป็น 0% เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ และสัดส่วนของการลงทุนก็ไม่ได้เยอะมากแล้ว”

ส่วนที่เป็น Productivity หรือผลิตภาพอยู่ที่ประมาณ 1.7% ซึ่งต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น มาเลเซีย อยู่ที่ประมาณ 2.7% อันนี้ก็จะชี้ให้เห็นว่า เรายังมีโอกาสเยอะ ที่เราจะโตจาก 3 %กว่า  ไปถึง 4.5% ถ้าเราสามารถเพิ่มส่วนผลิตภาพได้

ทาง World Bank มองว่าแผน 20 ปี เป็นสิ่งที่ดี เป็นจุดเริ่มต้น เป็นความใฝ่ฝันที่ดี แต่ถ้าจะทำให้ฝันกลายเป็นจริง ควรจะทำอย่างไร ก็ควรจะเริ่มด้วยการความลำดับวามสำคัญ(Priority) ของสิ่งที่เราควรจะเริ่มทำวันนี้ ซึ่งหลายประเทศเขาก็ทำ เช่น มาเลเซียเลือกแค่ 7 Priority แล้วเขาก็จะติดตาม (Monitor) ไปเรื่อยๆ

ทีนี้เรื่อง Productivity ก็ค่อนข้างยาก เป็นนามธรรม คำถามก็คือว่า Productivity ที่จะเพิ่มขึ้น จะมาจากไหน World Bank เราศึกษาเรื่องนี้ มี 3 เรื่องที่เราคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับสิ่งที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ เรื่องแรกก็คือเรื่องการศึกษา เรื่องที่ 2 คือเรื่องการลงทุนภาครัฐ เรื่องสุดท้ายก็คือภาคบริการ

ไทยพับลิก้า: แล้วแผน 20 ปี ที่ไทยกำลังทำ ตอบโจทย์ 3 เรื่องหลักที่ธนาคารโลกคิดว่าต้องทำหรือเปล่า

ดร.เกียรติพงศ์:  ตอนนี้แผน 20 ปียังอยู่ในขั้น ที่เป็นวิสัยทัศน์ (Vision) ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ภายใน 20 ปี แล้วก็จะพูดถึงการเน้นภาคอุตสาหกรรมแบบ advance manufacturing เน้นเรื่องนวัตกรรม เรื่องประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ละสิ่งแต่ละอย่างเป็นสิ่งที่ดีหมด แล้วก็ควรจะทำ มีหลายประเด็นของแผนฯ 20 ปีของรัฐบาลที่ทับซ้อนกับที่ธนาคารโลกคิดว่าต้องทำ ถ้าเกิดดูในภาพกว้างก็มีการทับซ้อนค่อนข้างเยอะ เช่น การลงทุนภาครัฐ ส่วนการศึกษาก็อยู่ในแผน เรื่องภาคบริการก็อยู่บางส่วน เช่น เรื่องการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพฯ หรือ Medical Hub เรื่องการท่องเที่ยว ก็อยู่ในนั้น แต่ว่าภาคบริการโดยรวมไม่ได้อยู่ในแผน สรุปคือในแผนไม่ได้ดูทั้งภาคเต็มระบบ

จากประสบการณ์ของธนาคารโลก พบว่า ที่เราได้ช่วยหลายประเทศในขับเคลื่อนแผน สิ่งที่ยาก ไม่ใช่การเขียนแผน แต่คือการขับเคลื่อนแผน ขับเคลื่อนแผนได้ดีคือต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ว่าจะเน้นอะไร ซึ่งตอนนี้ ไทยกำลังทำอยู่ อยู่ในขั้นตอนอันนี้ แล้วก็ขั้นตอน Master Plan

ส่วนรายละเอียดว่าควรจะเริ่มตรงไหนก่อนแล้วก็มี  อะไรบ้างในการพัฒนา เราก็แนะนำว่ามี 3 เรื่องที่สำคัญที่ต้องทำอย่างชัดเจน คือ เรื่องการศึกษา การลงทุนภาครัฐ แล้วก็ภาคบริการ สิ่งที่เราเสนออาจจะยังไม่อยู่ในแผนอย่างชัดเจนคือเรื่องวิธีแก้ไขปัญหาพวกนี้ คือทุกคนทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นอุปสรรค แต่ว่าที่อาจจะยังไม่ตกลงกันคือว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ไทยพับลิก้า: ทำไมธนาคารโลกถึงมองว่า เรื่องการศึกษา การลงทุนภาครัฐ และภาคบริการ เป็น 3 เรื่องสำคัญที่สุด

ดร.เกียรติพงศ์:  ขอกล่าวเรื่องการศึกษาก่อน ที่เราพบก็คือว่า การศึกษามีค่าใช้จ่ายประมาณ 5% ของ GDP ซึ่งเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับเกาหลี เป็นต้น เกาหลีเขาเป็นประเทศที่เน้นเรื่องการศึกษา เขาก็ใช้ประมาณ 5% ของ GDP แต่ว่าผลที่เขาได้มาดีมาก เกาหลีตอนนี้ก็เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คนของเขาก็ถือว่าเก่ง เป็นที่ยอมรับ

 สำหรับไทย ถ้าเกิดเราวัดผลโดยคะแนน PISA Score ซึ่งเป็นการสอบเด็กอายุ 15 ปี ในหลายประเทศ จะพบว่า ของเรายังตามหลังประเทศเวียดนามประมาณปีกว่า ข้อนี้ก็สะท้อนว่า มองไปข้างหน้าแรงงานไทยอาจจะไม่มีทักษะ ที่อาจจะแข่งกับเพื่อนบ้านได้แล้ว

คำถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ทำไมเราลงทุนเยอะแต่ว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร ถ้าเกิดไปดูคะแนน PISA Score ในกรุงเทพ เทียบกับต่างจังหวัด จะพบว่าในกรุงเทพคะแนนใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ว่าต่างจังหวัดเป็นอีกโลกหนึ่งเลย อันนี้ก็สะท้อนว่า การจัดสรรเงินกับทรัพยากรมีปัญหา แล้วก็ ในงานศึกษาของธนาคารโลก ก็พบว่ามีบางจังหวัด บางตำบล มีโรงเรียนเยอะ มีครูเยอะ แต่ลูกศิษย์น้อย ในทางกลับกันก็มีลูกศิษย์เยอะ แต่ว่าครูน้อย หรือโรงเรียนน้อย

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราแนะนำก็คือการ Consolidate หรือว่าควบรวบทรัพยากร ให้มีโรงเรียนน้อยลง น้อยลงแต่ว่ามีครูที่มีคุณภาพดีขึ้น แล้วก็มีความโปร่งใสมากขึ้น ว่าครูเก่งหรือเปล่า ให้ผู้ปกครองสามารถไปตามได้ว่าครูหรือว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ดี ทีนี้การทำเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากเพราะว่าผู้ปกครองอาจจะไม่เห็นด้วยกับการที่จะต้องมีการปิดโรงเรียนแล้วก็ครูเองก็อาจจะไม่เห็นด้วย เพราะว่างานเขาอยู่ที่โรงเรียน อันนี้ก็ยากแล้ว และนักการเมืองก็คงไม่อยากเข้าไปแตะเรื่องที่คงไม่ได้เป็นที่ยอมรับของประชาชนแล้วก็ครูด้วย

แต่ทาง World Bank เราก็เสนอว่าที่จริงหลายประเทศก็ทำมาแล้วนะครับ เช่น ประเทศญี่ปุ่น แล้วก็วิธีทำคือทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะทำนำร่องในบางตำบลก่อน แล้วก็โดยมีการสื่อสารที่ดีว่าสิ่งเหล่านี้เราทำเพื่ออนาคตของลูกของผู้ปกครอง คือควบรวมจะทำให้โรงเรียนดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น แล้วก็อาจจะให้ช่วยผ่อนปรนช่วงปรับตัวในแง่ที่ว่าอาจจะให้มีการมีรถสนับสนุนการเดินทางหรือจ่ายค่าชดเชยในเรื่องค่าใช้จ่ายที่มีมากขึ้นจากการย้ายโรงเรียน เป็นต้น เมื่อทำโครงการเสร็จก็จะสามารถแสดงให้เห็นได้ในระดับประเทศ

ความจริงอยากบอกว่าการศึกษาเป็นเรื่องระยะยาว แต่ยิ่งระยะยาว ยิ่งสำคัญ เพราะว่าถ้าไม่เริ่มวันนี้ ผลพวงที่เราจะได้จากการศึกษาก็จะยิ่งล่าช้า โดยเฉพาะในบริบทที่ไทยกำลังเป็นสังคมสูงอายุ เรามีเวลาน้อยลงทุกวันที่จะทำสิ่งระยะยาว ควรจะเริ่มวันนี้ก่อนที่เราจะเป็นสังคมสูงวัยแล้วคงไม่ทัน

ถ้าดูสัดส่วนแรงงานไทยที่รอบปีนี้ก็เริ่มขยายตัวเป็น 0% ไม่ขยายแล้ว ผมเดาว่าเรามีเวลาประมาณ 15-20 ปี ก่อนที่จะเป็นสังคมสูงวัย ถ้าจะเริ่มต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพราะฉะนั้น รุ่นที่เริ่มวันนี้ เขาจะได้โตแล้ว เขาจะได้มีผลิตภาพ มีทักษะที่จะทำงานดีๆ เพื่อดูแลสังคมโดยรวมผู้ที่สูงอายุ

สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องการศึกษาที่ธนาคารโลกพบสำหรับประเทศไทยก็คือ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เงิน เพราะว่าเงินเราค่อนข้างเยอะ แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดสรร เพราะว่าเราอาจจะเอาเงินไปลงในพื้นที่ บางพื้นที่มากเกินไป หรืออาจจะลงวัตถุบางอย่างมากเกินไป

“ข้อดีก็คือว่าไม่ใช่เรื่องเงิน เป็นเรื่องอื่นที่อาจจะทำให้ง่ายกว่า ที่จริงอาจจะง่ายกว่าเรื่องเงินด้วยซ้ำไป ที่กระทบหลายคน อาจจะทำยาก ถ้าทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้ผู้ปกครองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีจริง ผมว่าในระดับทั้งประเทศก็ต้องมาสนับสนุนเรื่องนี้ในที่สุด”

ไทยพับลิก้า: การแก้ปัญหาการศึกษาที่ไทยต้องเปลี่ยน นอกจากเรื่องการจัดสรรทรัพยากร ยังมีเรื่องอื่นอีกหรือไม่

ดร.เกียรติพงศ์: อีกสิ่งหนึ่งที่ธนาคารโลกพบจากการทำสำรวจ (Survey) เราเรียกว่า Enterprise Survey ซึ่งอันนี้เป็น Survey ที่เราทำทั่วโลก เราก็จะถามบริษัทที่มาลงทุนในประเทศว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง มีอุปสรรคอะไรบ้าง สิ่งที่เราพบสำหรับประเทศไทยก็คือเรื่องไม่สามารถหาแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งอุปสรรคนี้เรายังไม่ค่อยเห็นอย่างชัดเจนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้น “แรงงานที่มีทักษะ” เป็นประเด็นที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงกับประเทศไทย ซึ่งสะท้อน 2 อย่าง คือ 1) ระบบการศึกษา ไม่ได้เตรียมเด็กเพื่อจะรับงานในเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ได้ให้ทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน  2) สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง แล้วก็การที่เราจะพ้นกับดักคือต้องมีทักษะ เพื่อก้าวไปสู่งานที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

ประเทศอื่น เช่น ลาว เวียดนาม ตอนนี้เขาอยู่ในช่วงที่แรงงานยังถูก ยังสามารถขยายแรงงานได้ เรื่องทักษะก็เลยยังไม่ได้เป็นประเด็นมากเท่าของไทย ทีนี้ จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาสามารถสร้างคนหรือว่าให้ทักษะที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานได้ อันนี้ก็มีหลายวิธี เรื่องความโปร่งใส วิธีวัดก็คือ จะให้ผู้ปกครองสามารถรู้ได้ว่าเด็กที่จบจากโรงเรียนนี้หรือจากมหาลัยนี้ไปรับงานที่ไหนได้บ้าง ตอบโจทย์เขาหรือเปล่า ได้งานที่เขาพึงพอใจหรือเปล่า แล้วก็อีกโมเดล ที่เป็นทางเลือกได้ ของหลายประเทศจะมีระบบ เช่น เยอรมัน แบบ Partnership คือให้ภาคเอกชนเข้ามาจับมือร่วมกับภาครัฐหรือว่าโรงเรียนระดับต่างๆ เพื่อออกหลักสูตร เพื่อเอาเด็กไปทำ ไปฝึกงานด้วย แล้วก็ในที่สุดเด็กส่วนใหญ่ก็จะได้งาน ทำงานได้จริงจากหลักสูตรนี้ ซึ่งอันนี้ผมเข้าใจว่า ภาครัฐก็กำลังทำอยู่ มีโครงการนำร่อง (Pilot Project) ที่ทำกับ SCG แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นคือให้โครงการนี้ขยายไปเป็นภาพใหญ่ๆ สู่ประชาชน

ไทยพับลิก้า: แล้วที่พูดมาถ้าเราทำไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้น

ดร.เกียรติพงศ์: เราก็คงโตในระดับ 3% ไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจจะต่ำกว่านั้นด้วยซ้ำไป เพราะว่า อย่างที่บอก เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ สัดส่วนแรงงานก็จะลดลง ถ้าแรงงานนั้นไม่สามารถทำงานได้เก่งขึ้น GDP ไทยก็จะเริ่มชะลอลง แล้วก็ในที่สุดก็อาจจะหดด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ทำสิ่งพวกนี้ก็เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจชะลอลงมากกว่า 3% แล้วอันนี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะว่าถ้าเราเป็นสังคมสูงวัยแล้ว เราจะเอาทรัพยากรไหนมาดูแลผู้สูงวัย ก็จะเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศไทย

ไทยพับลิก้า: ทีนี้มาถึงอีก 2 เรื่องที่เหลือที่ควรต้องทำ คือการลงทุนของภาครัฐ ภาคบริการ ไทยต้องทำอะไร ที่เราทำอยู่ตอนนี้เดินมาถูกทางแล้วหรือยัง

ดร.เกียรติพงศ์:  การลงทุนภาครัฐเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าดูในช่วงที่ผ่านมาเป็นเวลา 10 ปีจะพบว่า ไม่ค่อยมีการลงทุนภาครัฐเทียบกับก่อนหน้านั้นที่มีการลงทุนค่อนข้างเยอะ ในช่วง 20 ปีจากแผนสภาพัฒน์ฯ หรือว่าจากกระทรวงการคลังก็ตาม มีแผนในการลงทุนค่อนข้างเยอะ แต่ช่วงหลังชะลอลงเพราะว่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทางธนาคารโลกมองว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องหลัก เรื่องหลักก็คือว่าระบบการบริหาร การลงทุนภาครัฐเริ่มมีปัญหา

ไทยพับลิก้า: ปัญหามาจากอะไร

ดร.เกียรติพงศ์:  ปัญหามาจากการที่มีหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องในการลงทุนภาครัฐ แล้วก็อาจจะไม่ได้ประสานงานเท่าที่ควร หน่วยที่ทำแผนฯ เช่น สภาพัฒน์ทำแผนฯ 5 ปี หรือตอนนี้ก็จะมีแผนฯ 20 ปี คือแผนไม่ได้ผูกกับงบประมาณอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น แผนกับงบประมาณการลงทุนอาจจะไปคนละทางได้ แล้วก็สิ่งที่ควรจะทำในแผนก็ไม่ได้ทำในที่สุด นี่ก็คือปัญหาช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ทีนี้ขอพูดว่าถ้าดูคุณภาพของถนนหนทางรถไฟของไทยโดยรวมที่จริงถือว่าค่อนข้างดี แต่อันนี้คล้ายๆ เป็น บุญเก่าของไทย เพราะว่าเราทำมาดีมานานแล้ว ตอนนี้เริ่มเห็นแล้ว มันจะเริ่มเป็นอุปสรรค เช่น การท่องเที่ยวตอนนี้ที่โตดี แต่ก็เริ่มมีอุปสรรคเพราะว่ามีจุดท่องเที่ยวไม่กี่ที่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ แล้วก็สนามบินอาจไม่สามารถที่จะรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวหรือการค้าขายระหว่างแต่ละจังหวัด หรือระหว่างชายแดน ตอนนี้ก็เริ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น เรื่องการลงทุนภาครัฐ เรื่องถนน เรื่องรถไฟ เรื่องสนามบินก็ตาม จะมีความสำคัญมากขึ้นเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ลองกลับมาดูว่าทำไมระบบถึงมีปัญหา คือ ถ้าเกิดเราจะทำการลงทุน ปกติเราเริ่มต้องเริ่มด้วยแผน เราเรียกว่า การศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility) คือ ต้องดูทั้งระบบว่า ถ้าเราทำรถไฟเส้นนี้จะมีคนใช้มากแค่ไหน จะมีการค้าขายมากแค่ไหนจากเส้นนี้ แล้วก็เส้นอื่นถูกกระทบหรือเปล่า แล้วโดยรวมเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศไทยแล้วก็เพื่อนบ้านหรือเปล่า นี่คือ Feasibility

ข้อดีของการทำแผนแบบนี้ก็คือว่าจะเห็นชัดเจนว่า คุณทำต้นทุนเท่าไหร่ คุ้มหรือเปล่า ถ้าเกิดไม่คุ้ม อาจจะบอกว่าไม่กำไรแต่ว่าอย่างน้อย อาจจะไปช่วยเรื่องต่างจังหวัด ซึ่งอาจจะเป็นโจทย์ของสังคมว่าเราต้องเพิ่มโอกาส แล้วก็กระจายรายได้ไปสู่ต่างจังหวัดแม้ว่าอาจจะไม่คุ้ม

เช่น เกาหลีก็ทำ เกาหลีเขาเขียนชัดเจนว่า หลายโครงการของเขาทำ เพื่อกระจายรายได้ แต่อาจจะไม่ได้คุ้มค่ากับการลงทุน เขาเขียนชัดเจนว่าบางเส้นไม่คุ้มแต่ช่วยต่างจังหวัด ทีนี้ของเรา 1) การทำ Feasibility ในระดับการทำแผน ก็ยังไม่ค่อยชัด 2) ไม่ได้โปร่งใส ถ้าเกิดเป็นประเทศเกาหลี เขาก็จะส่งทำแผน Feasibility แล้วก็ส่งไปสู่องค์กรที่ 3 ซึ่งไม่ได้อยู่ในรัฐบาล เป็นศูนย์ที่จะมีหน้าที่จะเข้ามาประเมินว่าแผนนี้คุ้มจริงๆ หรือเปล่า หรือถ้าเกิดไม่คุ้มมีตรงไหนที่จะช่วยจังหวัดได้ แล้วก็ในที่สุดควรทำหรือไม่ทำ แล้วเขาก็จะปล่อยการประเมินขึ้นเว็บไซต์ ให้ประชาชนเข้ามาดู ข้อดีคือถ้าเกิดเป็นของดีจริง ประชาชนเขาก็จะยอมรับและสนับสนุน โครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้คนไทยยังไม่มีขั้นตอนตรงนี้

การทำแผนของไทยก็เลยถูกเปลี่ยนตลอดเวลาได้ง่าย เพราะว่าเราไม่ได้เริ่มจากพื้นฐานที่ชัดเจนแล้วก็ดีตั้งแต่แรก เช่นแบบเกาหลี ที่แบบแผนดีตั้งแต่แรก ก็ยากที่จะเปลี่ยน เพราะถ้าจะเปลี่ยนรัฐบาลต้องเข้าไปอธิบายว่าทำไมต้องเปลี่ยน ทั้งที่ประชาชนบอกว่า แผนดีอยู่แล้ว แล้วก็อยากได้แผนนี้ อยากได้การลงทุนแบบนี้ ส่วนจัดซื้อจัดจ้างของไทยก็น่าจะสามารถเพิ่มความโปร่งใสได้มากกว่านี้

สุดท้าย ซึ่งสำคัญมาก คือ การผูกงบประมาณระยะยาว อาจจะเป็นระยะปานกลางกับแผน หลายประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็ทำ แล้วอันนี้สำคัญเพราะว่าเป็นวิธีขับเคลื่อน แผนระยะยาวโดยที่ไม่ต้องมาพึ่งกับการเมืองหรือรัฐบาลที่อาจจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สามารถให้แต่ละรัฐบาล เข้ามาเสนอโครงการที่ดี แล้วโครงการนี้จะเข้าไปในระบบราชการแล้วก็จะสามารถเดินได้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรจะทำในการลงทุนภาครัฐ คือ ระบบ Feasibility ที่ชัดเจนและเป็นของทั้งระบบ หมายถึง กรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ประเทศไทย แล้วก็เพื่อนบ้านด้วย ความที่ไทยยังเป็นศูนย์กลางของ CLMV เพราะฉะนั้น การทำระบบ Logistic ต่างๆ นานา เราต้องดูความเชื่อมโยงทั้งหมด ไม่ใช่ว่าดูแต่ละเส้น เพราะว่าแต่ละเส้นดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับระบบ คือ ต้องดูทั้งรถไฟ ถนน หรือการบิน ต้องดูทั้งหมด แล้วก็ต้องดูว่าเพื่อนบ้านเราจะสามารถเชื่อมต่อได้หรือเปล่าด้วยซึ่งตรงนี้แผนนี้ยังไม่มี

ไทยพับลิก้า: ดูเหมือนปัญหาจะอยู่ที่ระบบมากกว่างบประมาณที่ใส่ลงไปในการลงทุน

ดร.เกียรติพงศ์:  เรื่องเงินน่าสนใจ ประเทศไทยเราโชคดี เนื่องจากเราไม่มีประเด็นเรื่องเงิน ถ้าเกิดดูฐานะการคลังแล้วก็การเงินของเราถือว่าดีมาก จริงๆ อาจจะดีที่สุดในเอเชีย เงินเฟ้อต่ำ มีดุลการค้าก็ดี  เงินทุนสำรอง ก็ถือว่าสูงมากถ้าเทียบกับ GDP อาจจะเกือบติดอันดับต้นๆ ในโลก อันดับ 5 ฐานะการคลังเราก็ดี หนี้สาธารณะประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ GDP ทีนี้เราก็เลยพร้อมและมีศักยภาพที่จะทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ เช่น การลงทุนภาครัฐ ซึ่งไม่เหมือนกับหลายประเทศ เพราะว่าเขาใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจมานานจนเขาไม่มีเงินเหลือแล้ว แต่ว่าของเรายัง ยังทำได้อีกเยอะ

เพราะฉะนั้น ในการลงทุนภาครัฐ เงินไม่ใช่ประเด็น เรามีเงินของเราเอง แล้วยังมีความสามารถที่จะกู้จากต่างประเทศด้วยซ้ำไป แต่ประเด็นของไทยคือรูปแบบการลงทุนมากกว่า ว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้แบบขับเคลื่อนให้โครงการพวกนี้สำเร็จในระยะยาว ซึ่งยากกว่า

ไทยพับลิก้า: เรื่องสุดท้ายในภาคบริการ อะไรที่เป็นส่วนที่น่ากังวลที่สุด

ดร.เกียรติพงศ์: ภาคบริการที่จริงเป็นภาคค่อนข้างใหญ่ใน GDP ไทย ประมาณเกือบ 50% ถ้าไปดูประเทศที่พัฒนาแล้วจะสังเกตว่าภาคบริการใหญ่มาก ประมาณ 70-80% ในยุโรปแล้วก็อเมริกา ของไทยถือว่าอยู่ประมาณปานกลาง

แต่ที่แปลก ถ้าดูช่วงใน 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนมันเริ่มลดอย่างต่อเนื่อง สวนทางเพื่อนบ้านเราที่เขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เช่น จีน มาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ และสิ่งที่น่ากังวลเรื่องต่อมาก็คือว่า ถ้าไปดูมูลค่าเพิ่มในภาคบริการจะพบว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับคน หมายถึงว่าใช้คนจำนวนมากแต่ว่าสิ่งที่ได้มาน้อย นั่นหมายถึงถ้าดูผลิตภาพต่อคน เทียบกับเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ผลิตภาพในภาคบริการของไทยต่ำกว่ามาเลเชียอาจจะประมาณครึ่งหนึ่ง

มีงานศึกษาเรื่องหนึ่งของธนาคารโลกที่เรียกว่า Thailand Economic Monitor หรือ รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ก็จะมีตัวเลขวัดพวกนี้ พบว่า ผลิตภาพในภาคบริการไทยต่ำเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ยิ่งถ้าเทียบกับภาคอุตสาหกรรมก็ต่ำกว่า จะเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทย แต่ว่าสัดส่วนประมาณแค่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วก็ใช้คนน้อย แต่ว่าคนที่อยู่ในนั้นมีผลิตภาพสูง มีทักษะ มากกว่าในภาคบริการ

ภาคบริการ ที่จะอยู่ในภาคของการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม แพทย์ Wellness and Medical Hub หรือคมนาคม หรือธุรกิจค้าปลีก การศึกษา ฯลฯ ซึ่งหลายสิ่งพวกนี้ก็อยู่ในแผน 20 ปี เช่น เรื่องการแพทย์ การท่องเที่ยว โลจิสติกส์  ทีนี้ ภาคบริการมีสิ่งที่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง เพราะว่าเป็นภาคที่ยังค่อนข้างมีกำแพงล้อมค่อนข้างเยอะ

ถ้าดูย้อนหลังไป 20 ปี ตอนที่เศรษฐกิจไทยเริ่มโต ภาครัฐเริ่มเปิดภาคอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันมากขึ้น ให้มีนักลงทุนต่างจากเข้ามาลงทุน แล้วก็เปิดการค้าขายระหว่างประเทศให้ไหลเข้ามา แต่ว่าภาคบริการไม่เคยได้เปิดเลย ถูกปิดมาเป็นเวลา 10 กว่าปี เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ก็เลยไม่ได้แปลกใจว่าทำไมสัดส่วนภาคบริการไม่ได้เปลี่ยน จะหดด้วยซ้ำไป เพราะว่าสิ่งแวดล้อมของภาคบริการก็ยังเหมือนเดิมมาเป็นเวลายาวนาน

ถามว่าอุปสรรคอยู่ตรงไหน ก็จะพบว่ามีทั้งในแง่ของกฎหมายและก็แง่ของการปฏิบัติ ตัวอย่างหนึ่ง เช่น ตอนที่ไทย เข้า AEC  เราก็ตกลงว่าจะเปิดภาคบริการ เช่น ให้หน่วยงานที่มีทักษะ เช่น หมอ เข้ามาทำงานได้ แต่ ณ ปัจจุบัน หมอฟิลิปปินส์จะเข้ามาทำงานในไทยได้ แต่ว่าเขาต้องสอบข้อสอบภาษาไทย อันนี้สะท้อนว่ายังไม่ได้เปิดอย่างแท้จริง เพราะในระดับการให้ Certificate กับระดับนโยบายยังไม่ค่อยสอดคล้องกัน ทำให้ภาควิชาชีพยังไม่ได้เปิดอย่างแท้จริง เรื่องนี้อาจจะกระทบเป้าหมายไทย ที่จะเป็นศูนย์การแพทย์ เรื่อง Wellness and Medical Hub ถ้าเราจะก้าวเข้าไปสู่อีกระดับ คิดว่าเราต้องหาหมอที่เก่งในแต่ละ Specialty เข้ามาทำงานในไทยได้มากขึ้น

นอกจากนี้ก็จะมีกฎหมายที่อาจจะเป็นอุปสรรค เช่น การลงทุน ซึ่งบังคับว่าถ้าต่างชาติจะเข้ามาลงทุน ต้องเป็นหุ้นส่วนน้อย 49% ไทยเป็นหุ้นส่วน 51% เขาก็ต้องหาพาร์ทเนอร์ไทย ซึ่งก็ทำให้ผู้เล่นในแต่ละตลาดน้อย เช่น ที่เราเห็นในการแพทย์ ก็มีผู้เล่นไทยน้อย หรือค้าปลีก การโรงแรม หรือการศึกษาด้วยซ้ำไป

ถ้าดูประเทศมาเลเซีย เขาเริ่มเปิดแล้วด้านการศึกษา ถ้าดูด้านการเงิน สิงคโปร์เปิดมานานแล้ว ที่จริงด้านการเงินเราต้องยอมรับว่าไทยก็เริ่มเปิดมาค่อนข้างมาก ทั้งที่ถ้าดูกฎหมายอาจจะไม่ได้เอื้อต่อการเปิด แต่จะมีข้อยกเว้นว่า ในกรณีที่แบงก์ชาติ กระทรวงคลัง เห็นว่าไม่ได้กระทบระบบเสถียรภาพของระบบก็ให้เข้ามาได้

เพราะฉะนั้น ถ้าดูหุ้นส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นต่างชาติ ถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ว่าหลายธนาคารก็ยังบริหารโดยคนไทยอยู่ แล้วก็แบงก์ชาติก็ให้แบงก์ต่างประเทศ 2 แบงก์เข้ามาเปิดกิจการ แล้วก็อีกหน่อยก็จะมีมากกว่านี้ เพราะฉะนั้น ภาคธนาคารจะเป็นภาคที่น่าเปิดแล้ว  แต่ว่าภาคอื่นยังช้าอยู่

จากการทำสำรวจของธนาคารโลกทั่วโลก โดยวัดเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการทั่วโลก สำหรับในอาเซียนก็พบว่าของไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ตามหลังจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย หมายถึง สองประเทศนี้ปิดมากกว่าไทย ส่วนไทยนั้นอยู่ลำดับที่ 3 แต่ที่แปลกใจที่สุด คือ ถ้าเกิดมาดูว่าเราตามหลังใครจะพบว่าเราตามหลัง ลาว พม่า เขมร และสิงคโปร์ คือสิงคโปร์ผมไม่แปลกใจ แต่แปลกใจตรงที่ ลาว พม่า นำเราไปแล้ว

เพราะว่าตอนที่เขาเริ่มโต เขาสามารถเริ่มรีบเปิดภาคบริการได้ เพราะว่ายังไม่มีเรื่องผลประโยชน์มากมาย ยังไม่มีกฎหมายหรือเกณฑ์ต่างๆ  ที่ต้องแก้ไข แต่ว่าที่ไทยมีกฎหมาย เกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค แล้วก็มีผลประโยชน์เข้ามาทับซ้อน ตอนนี้ก็เลยอาจจะยากที่จะเริ่มเปิดภาคบริการ

แต่ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะว่า ส่วนใหญ่มูลค่าเพิ่มมาจากภาคบริการ ยกตัวอย่าง ถ้าเราดู ไอโฟน ถือว่าเป็นตัวอย่างความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรม เช่น ของจีน แต่ถ้าเกิดเรามาดูไส้ในของไอโฟนว่ามาจากไหน จะพบว่ามาจากหลายประเทศในเอเชียนะ แต่ว่าที่สำคัญคือไส้ในไม่ได้มาจากอุตสาหกรรม มาจากภาคบริการมากกว่า มีสัดส่วน 2 ใน 3 ด้วยซ้ำไป เช่น ดีไซน์ การตลาด โลจิสติกส์ ระบบไอที ฯลฯ ซึ่งอันนี้ก็เป็นโจทย์ของแผน 20 ปี ว่าทำยังไงให้เราเป็น advance manufacturing

ถ้าดูประเทศอินเดีย มีช่วงนึงที่ประเทศอินเดียเริ่มโตดี ตอนนี้ก็โตประมาณ 9-10% ในเอเชีย คนจะไปดูเรื่องภาคอุตสาหกรรม และก็เรื่องไอที แต่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบว่าตอนที่ภาคอุตสาหกรรมในอินเดียเริ่มขยาย ส่วนหนึ่งมาจากภาคบริการช่วย มีภาคบริการหลายอย่างเข้ามาเพิ่มมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมอินเดีย เพราะฉะนั้น การที่เราจะยกระดับภาคอุตสาหกรรม เราก็ต้องทำภาคบริการไปด้วยกัน อาจจะเป็นสิ่งที่ยากแต่ว่ามีหลายตัวอย่างในอาเซียนที่ชี้ให้เห็นว่าทำได้ เช่น การเปิดเสรีในภาคการศึกษาของมาเลเซีย การเปิดเสรีไอทีในฟิลิปปินส์ การที่สิงคโปร์เปิดภาคการเงิน ฯลฯ หลายประเทศก็ทำให้เห็นว่าทำได้

ไทยพับลิก้า: ทีนี้ในภาคบริการมีหลายเซ็กเตอร์ เราจะสามารถจัดลำดับความสำคัญได้หรือไม่ ว่าจะต้องเริ่มปรับตรงไหนก่อน

ดร.เกียรติพงศ์: สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องคน ในเรื่องแรงงานที่มีทักษะที่เราไม่มี ดังนั้น การที่เราตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ เราจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเข้ามา เพราะในไทยเราไม่มี สิ่งที่ทำได้เลยในทันทีก็คือการที่ให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในไทยได้อย่างสะดวกมากขึ้น เช่น การแก้ไข โดยการทำระบบการยอมรับในมาตรฐานของประเทศเพื่อนบ้าน หรือการทำให้ใบอนุญาตในการทำงานของคนต่างชาติคล่องตัวมากขึ้น ก็จะช่วยดึงดูดคนต่างชาติให้เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ในเรื่องการลงทุน เราอาจจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น เพื่อเพิ่มผู้เล่นในตลาด ซึ่งตอนนี้เราก็ทำกับภาคการเงินแล้ว นำโดยแบงก์ชาติเป็นหลัก เราอาจจะเอาสิ่งที่เราทำในภาคการเงิน ไปทำในภาคอุตสาหกรรมอื่นด้วย เช่น การแพทย์  การท่องเที่ยว หรือการศึกษา ซึ่งทางมาเลเซียก็ทำแล้ว คือให้มหาลัยวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาลงทุน เขาทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีระบบติดตามผลที่ค่อนข้างชัดเจน การเปิดโอกาสให้ผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด ทำให้ตอนนี้ตลาดการศึกษามาเลเซียโตดีมากขึ้น แล้วก็เด็กที่จบจากระบบการศึกษาเขาก็หางานในมาเลเซียได้

สุดท้าย เรื่องที่อาจจะช่วยได้คือเรื่องกฎหมายการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันมีร่างแล้ว การที่เราสามารถกระตุ้นการแข่งขันได้ภายในภาคบริการอื่นๆ ก็จะช่วยให้เพิ่มผลิตภาพในประเทศได้ เพราะในตลาดที่มีการแข่งขันน้อยจะขาดแรงจูงใจและแรงกระตุ้น ดังนั้น สำคัญที่สุดในการเพิ่มการแข่งขันจะเป็นการกระตุ้นให้ภาคบริการสามารถเพิ่มผลิตภาพของตัวเองได้ในที่สุด

“ที่เราต้องทำตอนนี้เพราะเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสในการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงต้องปฏิรูป อาจจะเรียกว่า เที่ยวรถไฟสุดท้าย เพราะว่าถ้าเกิดไม่ทำตอนนี้ก็จะมีปัญหาแน่นอน ภายใน 15-20 ปีก็เห็นด้วย ควรจะเริ่มทันที”

ดูวิดิโอที่นี่

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีย์ข่าวขนาดสั้น “เปลี่ยนผ่านประเทศไทย…เราจะไปไหนต่อ” หนึ่งในโครงการความร่วมมือของธนาคารโลกประจำประเทศไทยร่วมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่จะนำเสนอต่อเนื่องใน thaipublica.org ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2560