ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘เหมืองแร่ใต้ทะเลลึก’ สมรภูมิแห่งใหม่ศึกชิงทรัพยากรโลก

‘เหมืองแร่ใต้ทะเลลึก’ สมรภูมิแห่งใหม่ศึกชิงทรัพยากรโลก

19 ธันวาคม 2023


สุนิสา กาญจนกุล รายงาน

มนุษย์ไม่เคยละความพยายามที่จะเสาะแสวงหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติแหล่งใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคที่ไม่รู้จักจบสิ้น หลังจากเก็บเกี่ยวสิ่งที่หาได้จากบนพื้นโลกจนทุกอย่างหดหาย เราก็เริ่มขุดลึกลงไปในดิน และเมื่อวิทยาการก้าวหน้ายิ่งขึ้น เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ มีความพร้อมกว่าเดิม เราก็เริ่มหาทางดำดิ่งลงสู่ใต้ทะเลลึก เพื่อเสาะหาขุมทรัพย์แห่งใหม่ซึ่งจะมาแทนที่ขุมทรัพย์แห่งเดิม

สิ่งที่หน้าตาเหมือนหุ่นยนต์ทำลายล้างเหล่านี้คือเครื่องจักรขนาดยักษ์ที่ใช้ในการทำเหมืองใต้ทะเลลึก ที่มาภาพ : https://chinadialogueocean.net/en/conservation/6682-future-deep-seabed-mining/

อะไรอยู่ใต้ผืนน้ำ

ลึกลงไปใต้ทะเลมีแร่ธาตุสำคัญซึ่งทั้งมีมูลค่าและความต้องการสูง แร่ธาตุสำคัญเหล่านั้น ได้แก่ โคบอลต์ นิกเกิล สังกะสี และแมงกานีส ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตสิ่งอำนวยความสะดวกที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เช่น โทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้า

บนพื้นดิน แร่เหล่านี้ถูกขุดขึ้นมาใช้จนเหลือน้อยลงอย่างน่าตกใจ แต่ใต้ทะเลลึกยังมีแหล่งแร่สำคัญที่สามารถเก็บเกี่ยวมาใช้ประโยชน์ได้กระจายตัวอยู่ทั่วไป โดยแหล่งแร่ใต้ทะเลลึกมีสามประเภทหลักด้วยกัน ได้แก่ ลานที่มีก้อนพอลิเมทัลลิกเรียงราย บริเวณรอบช่องเปิดใต้น้ำที่เรียกว่าปล่องความร้อนมหาสมุทรซึ่งมีแร่ธาตุสะสมอยู่ และเปลือกโลกด้านข้างสันเขากลางมหาสมุทรและภูเขาใต้ทะเลที่อุดมไปด้วยโคบอลต์

แหล่งแร่เหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในน่านน้ำสากล และอาจอยู่ห่างจากชายฝั่งหลายร้อยถึงหลายพันไมล์ อีกทั้งอยู่ลึกลงไปใต้พื้นน้ำหลายไมล์ แต่ก็ยังไม่พ้นความพยายามของมนุษย์ที่จะนำขึ้นมาใช้ประโยชน์

รู้จักการทำเหมืองใต้ทะเลลึก

ความใฝ่ฝันที่จะทำเหมืองใต้ทะเลลึกนั้นมีมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติมีค่ามากมายที่พื้นสมุทร เช่น เงิน ทองคำ แต่การนำทรัพยากรแร่จากพื้นมหาสมุทรที่ระดับความลึกมากกว่า 200 เมตรขึ้นมาใช้งานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จนกระทั่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าพอที่จะลงมือขุดแร่จากพื้นทะเลได้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การทำเหมืองใต้ทะเลลึกเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหม่ โดยมีการออกใบอนุญาตสำรวจเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในปี 2018 กระบวนการทำเหมืองใต้ทะเลลึกนั้นแบ่งออกได้เป็นสามประเภทตามรูปแบบของแหล่งแร่

1. การทำเหมืองก้อนพอลิเมทัลลิก (polymetallic nodule) ซึ่งเป็นก้อนแร่ขนาดเท่าหัวมันฝรั่งที่ประกอบด้วยแมงกานีส โคบอลต์ นิกเกิล และทองแดง อันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ ก้อนโพลีเมทัลลิกพบได้ที่บริเวณใต้มหาสมุทร ณ ระดับความลึก 4-6 กม. และมีอยู่มากในบริเวณที่เรียกว่าเขตแคลเรียน-คลิปเปอร์ตัน (Clarion-Clipperton หรือเรียกย่อๆ ว่า CCZ) ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือระหว่างฮาวายและเม็กซิโก

2. การทำเหมืองพอลิเมทัลลิกซัลไฟด์ เป็นการสกัดโครงสร้างคล้ายปล่องไฟที่ก่อตัวขึ้นรอบปล่องความร้อนมหาสมุทร โดยปล่องเหล่านี้เป็นแหล่งซัลไฟด์ขนาดใหญ่ อุดมไปด้วยสังกะสี ตะกั่ว โคบอลต์ แมงกานีส เงิน ทองแดง และทองคำ

3. การทำเหมืองเปลือกโลกที่อุดมด้วยโคบอลต์ เป็นการขุดแยกเปลือกโลกที่ก่อตัวบนภูเขาใต้ทะเล เปลือกเหล่านี้ประกอบไปด้วยโคบอลต์ แมงกานีส และนิกเกิล

ภาพวาดแสดงวิธีการทำเหมืองใต้ทะเลลึกทั้งสามวิธี ที่มาภาพ : https://www.gao.gov/blog/deep-sea-mining-could-help-meet-demand-critical-minerals%2C-also-comes-serious-obstacles

ประตูสู่ขุมทรัพย์หรือหายนะ

การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลก็เช่นเดียวกับธุรกิจอีกหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม คือมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน บ้างมองเป็นการเปิดประตูบานใหม่ไปสู่ขุมทรัพย์ บ้างก็มองเป็นการเปิดประตูสู่หายนะครั้งใหญ่ของสิ่งแวดล้อม

ฝ่ายสนับสนุนบรรยายถึงความสำคัญและความจำเป็นของการทำเหมืองใต้ทะเลที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการปฏิวัติพลังงานสีเขียว การให้พลังงานแก่รถยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากใต้ทะเลลึกคือแหล่งแร่ธาตุสำคัญซึ่งจำเป็นสำหรับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เช่น ลิเทียม โคบอลต์ และนิกเกิล

การทำเหมืองใต้ทะเลลึกยังสามารถสร้างงานและโอกาสทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา ช่วยลดการพึ่งพาการทำเหมืองบนดินซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านเตือนถึงความเสียหายชนิดที่ไม่อาจกอบกู้ให้ฟื้นคืนได้ต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลลึก ซึ่งเปราะบางอย่างยิ่งและส่วนใหญ่ยังไม่มีการสำรวจ ตะกอนที่เกิดจากการขุดสกัดและเก็บแร่อาจอุดตันระบบหายใจของเหล่าสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลได้ อีกทั้งปกคลุมแนวปะการังและทำลายห่วงโซ่อาหารที่ละเอียดอ่อน

มลพิษทางเสียงและแสงจากเครื่องจักรทำเหมืองแร่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล เช่น วาฬและโลมา การปล่อยสารพิษจากเรือของเหมืองแร่บนผิวน้ำจะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลในบริเวณกว้าง

สัตว์และพืชใต้น้ำหลายชนิดช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้มหาสมุทร ทำให้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศช้าลง และสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์มีชีวิตอยู่ได้แค่ใต้ทะเลลึกเท่านั้น การทำเหมืองจะทำลายถิ่นที่อยู่เพียงแห่งเดียวของมัน ซึ่งหมายถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น สรุปง่ายๆ ว่าผลลัพธ์ระยะยาวจากการรบกวนโลกใต้ทะเลลึกนั้นยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของนานาประเทศ เนื่องจากแหล่งแร่ใต้น้ำส่วนใหญ่อยู่ในเขตน่านน้ำสากล การแย่งชิงเพื่อกอบโกยผลโยชน์จึงน่าจะดุเดือดเลือดพล่านไม่น้อยเลย

กฎระเบียบและความคืบหน้า

ปัจจุบันองค์กรพื้นสมุทรสากล (International Seabed Authority หรือ ISA) คือหน่วยงานหลักที่ดูแลการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่กล่าวถึงสิทธิหน้าที่ของรัฐภาคีเกี่ยวกับทะเลไว้อย่างกว้างๆ โดย ISA ได้รับมอบหมายให้ดูแลการทำเหมืองใต้ทะเลลึกโดยยึดหลักการว่าทรัพยากรใต้ทะแลเป็นมรดกร่วมกันของของมนุษยชาติ และควรมีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

ISA เป็นองค์กรระหว่างประเทศเพียงองค์กรเดียวที่มีอำนาจในการออกใบอนุญาตสำหรับการสำรวจและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ใต้ทะเลลึก โดยล่าสุดมีผู้ยื่นขอใบอนุญาตทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกมากกว่า 30 ฉบับแล้ว

เดิมที ISA มีกำหนดการออกใบอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ในที่สุด ISA ก็ตัดสินใจชะลอไว้ก่อน เนื่องจากกระบวนการสรุปกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่คืบหน้าอย่างที่คิด เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ หลายฝ่าย ทั้งยังต้องพิจารณาเกี่ยวกับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ปัจจุบันมีหลายประเทศเรียกร้องให้ระงับการทำเหมืองใต้ทะเลลึกชั่วคราว โดยบราซิล แคนาดา คอสตาริกา ชิลี ฟินแลนด์ เยอรมนี โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ และวานูอาตู เป็นหนึ่งใน 21 ประเทศที่สนับสนุนการสั่งห้าม ขณะที่จีน นอร์เวย์ นาอูรู เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร สนับสนุนให้รีบออกใบอนุญาตทำเหมืองใต้ทะเลลึก ทั้งนี้ การประชุมสมัชชาครั้งต่อไปเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกจะมีขึ้นในกลางปี 2024

ไม่มีคำตอบที่ง่ายดาย

ปัจจุบันการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกยังอยู่ในขั้นตอนที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษาเก็บข้อมูลของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศก้นมหาสมุทร ความรู้ความเข้าใจจึงมีเพียงน้อยนิดหรือแทบจะเป็นศูนย์ ทำให้ยากต่อการคาดเดาถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกได้อย่างถี่ถ้วน การถกเถียงเกี่ยวกับการทำเหมืองใต้ทะเลจึงไม่สามารถยุติได้ง่ายๆ แต่อนาคตของการทำเหมืองใต้ทะเลลึกน่าจะอยู่ที่การเสาะหาความสมดุลที่เหมาะสม แม้ว่าผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นนั้นดูงดงามจนไม่ควรจะปฏิเสธ แต่ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่สิ่งที่จะละเลยได้เช่นกัน

เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมีความรับผิดชอบ การกำหนดแนวทางอย่างระมัดระวังจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ก่อนที่จะดำดิ่งลงสู่ใต้ทะเล ควรคิดหามาตรการเพิ่มเติมเรื่องการใช้ทรัพยากรบนบกอย่างมีประสิทธิภาพและนำกลับมาใช้ซ้ำ รวมถึงวิจัยแนวทางปฏิบัติในการทำเหมืองบนบกอย่างยั่งยืนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่สำหรับการสกัดแร่ธาตุอย่างจริงจัง

หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่จะต้องเปิดประตูไปสู่ความลึกล้ำ ก็ควรมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างถี่ถ้วน สำรวจผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศและชุมชนต่างๆ บังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวด ดูแลเรื่องผลประโยชน์ที่เท่าเทียม หาหนทางลดผลกระทบให้น้อยที่สุด และกำหนดมาตรการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

และที่สำคัญ ทุกประเทศควรร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้แน่ใจว่าการแสวงหาความก้าวหน้าจะไม่ต้องแลกกับระบบนิเวศที่เปราะบาง และความมหัศจรรย์ล้ำค่าที่ซ่อนอยู่ใต้ทะเลลึกบนโลกของเราจะสามารถสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อๆ ได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลอ้างอิง

https://eos.org/features/the-2-year-countdown-to-deep-sea-mining
https://economictimes.indiatimes.com/small-biz/trade/exports/insights/why-deep-sea-mining-is-the-next-battleground-in-the-energy-transition/articleshow/101813237.cms
https://www.gao.gov/blog/deep-sea-mining-could-help-meet-demand-critical-minerals%2C-also-comes-serious-obstacles
https://www.euronews.com/green/2023/08/02/deep-sea-mining-heres-which-countries-oppose-and-support-the-controversial-practice#:~:text=Brazil%2C%20Canada%2C%20Costa%20Rica%2C,licences%20for%20deep%20sea%20mining.
https://www.gao.gov/blog/deep-sea-mining-could-help-meet-demand-critical-minerals%2C-also-comes-serious-obstacles