ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อการทวงถามความยุติธรรมกลายเป็นช่องทางการลงทุน

เมื่อการทวงถามความยุติธรรมกลายเป็นช่องทางการลงทุน

11 กันยายน 2018


รายงานโดย สุนิสา กาญจนกุล

ประเด็นเกี่ยวกับ Legal funding ปรากฏให้เห็นเป็นประจำในซีรีส์เรื่อง The Good Fight
ที่มาภาพ: https://www.marketwatch.com/story/in-low-yield-environment-litigation-finance-booms-2018-08-17

แนวโน้มการลงทุนชนิดใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างเห็นได้ชัดเจนในระยะหลังจนกลายเป็นหัวข้อข่าวในสื่อชั้นนำของต่างประเทศหลายๆ สื่อ ก็คือการให้เงินทุนสนับสนุนด้านกฎหมาย (Legal funding) แก่ผู้ค้าความที่เดือดร้อนด้านการเงิน

ปฐมบท

การฟ้องร้องคดีเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอย่างมาก บางรายถึงกับหมดตัวหรือต้องยอมเป็นหนี้ จนหลายคนถอดใจตั้งแต่แรกหรือยอมยกธงขาวระหว่างทางแม้ตนเองจะเป็นฝ่ายถูกและถ้าชนะคดีจะได้เงินชดเชยก้อนใหญ่ ปัญหานี้ทำให้มีผู้ที่เห็นโอกาสในการทำธุรกิจและก้าวเข้ามาให้เงินทุนแก่ผู้ค้าความซึ่งไร้ที่พึ่งทางการเงินรูปแบบอื่น

ที่จริงแล้ว การให้เงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ที่ต้องขึ้นศาลนั้นไม่ใช่แนวคิดใหม่ มีการระดมเงินเพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นจำเลยอย่างไม่เป็นธรรมมานานแล้ว แต่สำหรับธุรกิจ Legal funding ผู้มาขอใช้บริการมักจะเป็นฝ่ายโจทก์ซึ่งต้องการเรียกร้องค่าเสียหายที่คิดว่าตนสมควรได้ ส่วนใหญ่เป็นคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับการได้รับบาดเจ็บ คดีเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้าง และคดีสิทธิมนุษยชน

Legal funding ถือว่าเป็นธุรกิจที่ยังใหม่มาก เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อราวๆ ปี 1997 โดยผู้ลงทุนจะมอบเงินล่วงหน้าให้กับผู้ฟ้องร้องก้อนหนึ่งแบบเหมาจ่ายเพื่อนำไปใช้ในการทำคดี หรือเพื่อใช้จ่ายส่วนตัวระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุดโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เนื่องจากผู้ฟ้องร้องหลายรายอาจอยู่ในสภาวะบาดเจ็บหรือตกงาน จนกระทั่งคดีสิ้นสุดลงและผู้ฟ้องร้องได้รับเงินชดเชย ผู้ลงทุนก็จะได้รับค่าธรรมเนียมจำนวนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า

ในอดีต หลายๆ ประเทศมีข้อห้ามไม่ให้ทนายความออกเงินกู้ให้กับลูกความของตน แต่ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ผ่อนปรนกฎเกณฑ์เรื่องนี้จนถือเป็นผู้ให้กำเนิดธุรกิจการให้เงินทุนด้านกฎหมาย จากนั้นอังกฤษก็โอนอ่อนตามในช่วงทศวรรษ 2000 ขณะที่สหรัฐฯ ตามมาติดๆ มีการก่อตั้งสมาคมผู้ให้เงินทุนด้านกฎหมายของอเมริกัน (ALFA) ขึ้นในปี 2004 แต่ปัจจุบัน การให้เงินทุนด้านกฎหมายในสหรัฐฯ ก็คงเป็นสิ่งต้องห้ามหรือมีข้อจำกัดในบางรัฐ ขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์เพิ่งเปิดโอกาสให้ธุรกิจนี้แบบมีข้อจำกัดเมื่อปีที่แล้ว

ความรุ่งโรจน์

นักลงทุนที่ผจญปัญหาอัตราดอกเบี้ยต่ำตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ต่างมองหาตลาดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงมาตลอด จนมาสะดุดเข้ากับธุรกิจ Legal funding ซึ่งตัวเลขรายได้ที่งดงามคือแม่เหล็กดึงดูดชั้นดี ตัวอย่างเช่น รายงานผลประกอบการของบริษัท Legal funding ชั้นนำของออสเตรเลียชื่อ IMF Bentham แสดงให้เห็นว่าการให้เงินทุนสนับสนุนเพียง 43.3 ล้านเหรียญ แก่คดีความ 9 คดีที่ลงเอยในปี 2017 สามารถทำเงินเข้าบริษัทได้ถึง 82.9 ล้านเหรียญเลยทีเดียว

ซินดี้ เช็น ดีลาโน่ นักวิเคราะห์อาวุโสของไวต์บ็อกซ์ แอดไวเซอร์ แอลแอลซี ประเมินว่า ตลาดการลงทุนด้านกฎหมายในปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าราวๆ 50-100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และผลสำรวจในปีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า อัตราการใช้เงินทุนด้านกฎหมายของบริษัทกฎหมายในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 414 % เมื่อเทียบกับปี 2013

แม้ว่า Legal funding จะไม่ใช่ธุรกิจใหม่เอี่ยมในสหรัฐฯ แต่สิ่งที่จุดประกายความสนใจของสาธารณชนในช่วงหลังนั้นคือความโด่งดังของข่าวที่ปีเตอร์ ธีล นักลงทุนคนสำคัญ ให้เงินสนับสนุนการฟ้องร้องของฮัลค์ โฮแกน นักมวยปล้ำผู้ฉาวโฉ่นั่นเอง (อ่านเพิ่มเติมที่) ว่ากันว่าหลังจากเกิดกระแสข่าวเรื่องนี้ เงินทุนก็หลั่งไหลเข้ามาสู่ธุรกิจ Legal funding แบบไม่ขาดสาย

ความแตกต่างระหว่างเงินกู้และเงินทุนด้านกฎหมาย

ผู้ฟ้องร้องที่มีสินทรัพย์อาจหาเงินมาสู้คดีได้ด้วยการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน เมื่อชนะคดี ก็นำเงินชดเชยไปชำระเงินกู้และดอกเบี้ย แต่ถ้าแพ้คดีและไม่สามารถจ่ายค่างวดเงินกู้ หลักทรัพย์ดังกล่าวก็จะถูกยึดไป

ในขณะที่บริษัทให้เงินทุนด้านกฎหมายพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการเงินโดยไม่ได้คำนึงถึงหลักทรัพย์เป็นหลัก แต่ดูจากความเป็นไปได้ในการชนะคดีและจำนวนเงินชดเชยที่ผู้ฟ้องร้องน่าจะได้รับ และนิยมเลือกคดีที่มีโอกาสประนีประนอมยอมความโดยไม่ต้องขึ้นศาล เพื่อจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนคืนโดยเร็ว

จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ Legal funding คือหากผู้ขอเงินทุนสนับสนุนแพ้คดีหรือได้รับค่าชดเชยน้อยกว่าเงินสนับสนุนที่ได้รับมา ผู้ขอเงินทุนจะไม่ต้องจ่ายเงินคืนให้แก่บริษัท เพราะเงินจากบริษัทผู้ให้ทุนสนับสนุนด้านกฎหมายไม่ถือเป็นเงินกู้ แต่เป็นเงินเบิกล่วงหน้าแบบไม่มีสิทธิ์ไล่เบี้ย และระหว่างการสู้คดีก็ไม่ต้องผ่อนชำระคืนเป็นงวดๆ เหมือนเงินกู้ทั่วไป ไม่เพียงเท่านั้น หากผู้ได้รับเงินสนับสนุนแพ้คดีแต่เงินที่รับมาก่อนล่วงหน้ายังมีเหลืออยู่ ก็สามารถเก็บเงินส่วนนั้นไว้โดยไม่ต้องคืนบริษัทอีกด้วย

ผลกระทบและข้อสงสัยด้านจริยธรรม

ตลอดเวลาที่ผ่านมา การให้เงินทุนด้านกฏหมายส่งผลให้เกิดการโต้เถียงในหลายๆ วงการ ทั้งในแวดวงศาลและทนายความ ผู้ออกกฎหมาย สื่อมวลชน และนักวิชาการฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าการเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น ทำให้การเรียกร้องความเป็นธรรมสามารถทำได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับธุรกิจนี้มองว่ารูปแบบการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนจากคดีความส่งผลให้ผู้ให้เงินทุนไม่คำนึงถึงความถูกต้องของคดี สนใจเพียงแค่ผลตอบแทน อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการฟ้องร้องจอมปลอมเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถหาเงินช่วยเหลือในการฟ้องร้องได้ง่ายขึ้นและมีเงื่อนไขผูกพันน้อยกว่าเดิม นอกจากนั้น เมื่อบริษัท Legal funding เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับคดี ก็เป็นไปได้ว่าบางบริษัทที่ไร้จริยธรรมอาจใช้วิธีตุกติกเพื่อกดดันการพิจารณาคดีให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการอีกด้วย

ขณะเดียวกัน การให้เงินสนับสนุนแบบจ่ายล่วงหน้านั้นถูกออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายที่ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตรา ค่าธรรมเนียมที่จะถูกแบ่งไปเมื่อชนะคดีจึงสูงลิ่วเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยจากการกู้เงินตามปกติ และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมด้านกฎหมายของบริษัททนายความก็มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเมื่อรู้ว่ามีบริษัท Legal funding มาเกี่ยวข้องด้วย ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นรวมกับส่วนแบ่งที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทลงทุน จึงอาจทำให้ผู้ฟ้องร้องคดีเหลือเงินไม่มากพอจะเยียวยาความเสียหายของตนเองทั้งที่เป็นฝ่ายชนะคดี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจะไม่มีวันได้บทสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องแบบเป็นเอกฉันท์ แต่ก็ชัดเจนแล้วว่าการลงทุนในคดีความกลายเป็นแนวโน้มธุรกิจที่มีแต่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น แนวทางที่ดีที่สุดก็คงจะเป็นการออกกฎระเบียบและข้อบังคับเพื่อควบคุมดูแลรูปแบบการลงทุนชนิดนี้ให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมนั่นเอง

แหล่งข้อมูล