ThaiPublica > เกาะกระแส > “FIRE movement” อีกหนึ่งแนวทางสู่อิสรภาพทางการเงิน – เลิกทำงานก่อนวัยเกษียณ

“FIRE movement” อีกหนึ่งแนวทางสู่อิสรภาพทางการเงิน – เลิกทำงานก่อนวัยเกษียณ

21 กันยายน 2018


รายงานโดย สุนิสา กาญจนกุล

สตีฟ แอดค็อกและภรรยา เกษียณจากงานในวัย 35 พร้อมสินทรัพย์เกินล้านเหรียญเพื่อใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถตู้ ที่มาภาพ: https://free.vice.com/en_us/article/qvnwvq/financial-independence-retire-early

ท่ามกลางกระแสทุนนิยมและบริโภคนิยมอันเชี่ยวกรากในอเมริกา แนวคิดรีบเร่งสร้างตัวที่เรียบง่ายสมถะอย่าง FIRE movement กลับสามารถยืนหยัดและเรียกผู้ที่เห็นพ้องมาร่วมขบวนการได้มากขึ้นเรื่อยๆ

FIRE movement ย่อมาจาก Financial Independence Retire Early movement ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนชั้นกลางที่มุ่งหวังความเป็นอิสระทางการเงินและเลิกทำงานก่อนวัยเกษียณเพื่อไปทำตามความปรารถนาที่แท้จริงของตน

ใครคือผู้จุดประกาย

เป็นการยากที่จะเจาะจงอย่างแน่ชัดว่าใครคือผู้เริ่มต้นขบวนการนี้ แต่ความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในยุค 60 ก็เคยมีพวกฮิปปี้ที่ต้านทุนนิยม ละทิ้งงานในระบบอุตสาหกรรมและรวมตัวกันทำงานในชุมชนที่ตนเองสร้างขึ้นมา

แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนเรื่องการถือกำเนิด แต่ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นแรงกระตุ้นสำคัญของขบวนการนี้ในยุคแรกก็คือ วิคกี้ โรบิน ผู้เขียนหนังสือ Your Money or Your Life (มีฉบับแปลไทยในชื่อว่า เงินหรือชีวิต โดย ฐณฐ จินดานนท์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks) ซึ่งเป็นเสมือนคัมภีร์ของขบวนการ FIRE movement โดยเนื้อหาของหนังสือเป็นการสอนให้ผู้อ่านลดการใช้จ่ายและให้คุณค่ากับเวลา (หรือพลังชีวิต) มากกว่าวัตถุ

ผู้ร่วมขบวนการ

ผู้เข้าร่วม FIRE movement มักจะเป็นชาว Millennials (ผู้ที่เกิดในช่วงค.ศ. 1980-1996 ) ซึ่งมองว่าการทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมเป็นการสูญเสียเวลาที่มีค่าในชีวิตและทำร้ายจิตวิญญาณ ส่วนใหญ่เป็นเพศชายและทำงานในธุรกิจที่ได้รับค่าจ้างก้อนใหญ่แลกกับการทุ่มเทใช้สมองอย่างหนักวันละหลายชั่วโมงติดต่อกัน อย่างเช่น เจสัน ลองก์ เภสัชกรในเทนเนสซี ซึ่งเกษียณจากงานประจำตอนอายุ 38

เจสันเล่าว่า เขาทนทุกข์กับการทำงานเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากต้องรับรู้ปัญหาต่างๆ ด้านสุขภาพ เช่น ค่ายาที่แพงขึ้นเรื่อยๆ การที่ผู้ป่วยมีปัญหากับบริษัทประกัน ฯลฯ รวมถึงการต้องรองรับอารมณ์โกรธ สับสน และสิ้นหวังของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ บางครั้งก็ต้องทำงานหนักติดต่อกันเป็นสิบชั่วโมง จนไม่มีเวลากินอาหารหรือเข้าห้องน้ำ

เมื่อเก็บออมเงินได้กว่า 1 ล้านเหรียญ เจสันจึงไม่ลังเลที่จะเกษียณจากงาน แม้ว่าพ่อของเขาจะไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงไม่ยอมทำงานต่อเพื่อเงินค่าจ้างปีละ 150,000 เหรียญ

หลักการเบื้องต้น

โจนาธาน เมนดอนซา หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วม FIRE movement ขยายความว่า อิสรภาพทางการเงินของพวกเขาหมายถึงการมีสินทรัพย์สุทธิมูลค่าราวๆ 25 เท่า ของรายจ่ายประจำปี ดังนั้นผู้ที่ใช้เงินปีละ 40,000 เหรียญ จะมีอิสรภาพทางการเงินเมื่อมีสินทรัพย์มูลค่า 1 ล้านเหรียญ จากนั้นก็ยึดกฎ 4 % ในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ นั่นคือแต่ละปีจะถอนเงินมาใช้จ่ายได้ไม่เกิน 4 % โดยคาดหวังว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะสามารถชดเชยส่วนที่ถูกถอนออกมาใช้จ่ายได้

แนวทางในการที่จะบรรลุอิสรภาพทางการเงินของพวกเขานั้นมีหลักการที่ง่ายดายอย่างเหลือเชื่อเพียง 3 ประการ นั่นคือ

    1. เก็บออมอย่างหนัก (50-70 % ของรายได้)
    2. ใช้ชีวิตอย่างตระหนี่ (กินอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ตนสามารถจับจ่ายได้)
    3. ลงทุนในกองทุนดัชนีที่ค่าธรรมเนียมต่ำ (ตามที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ กูรูด้านหลักทรัพย์เคยแนะนำไว้) เพื่อจะได้มีเงินเก็บก้อนใหญ่ในเวลาไม่นาน (ราวๆ 10 ปี)

พูดง่ายทำยาก

แต่ FIRE movement ก็เหมือนกับเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ ที่หลักการนั้นเป็นเรื่องง่าย ขณะที่การปฏิบัติตามต้องอาศัยทั้งสติปัญญา วินัยและความอดทน

ปีเตอร์ อเดนีย์ ผู้ได้รับฉายา “กูรูแห่งความตระหนี่” จาก The New Yorker อธิบายเคล็ดลับการประหยัดและการลงทุนของเขาเอาไว้ว่า หลักสำคัญคือให้ความสำคัญกับความสุขไม่ใช่ความสะดวกสบาย ลดค่าใช้จ่ายด้วยการพักอยู่ใกล้ที่ทำงาน เดินทางด้วยจักรยานเป็นส่วนใหญ่ ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย ไม่กู้เงินมาซื้อรถ ไม่ใช้โทรศัพท์หรู ไม่ดูเคเบิลทีวี ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และลงทุนแบบเรียบง่าย ช้าๆ ด้วยการซื้อกองทุนค่าธรรมเนียมต่ำเป็นประจำทุกเดือนโดยไม่สนใจเรื่องการเก็งตลาด และยังต้องฝึกที่จะมองโลกในแง่ดีอีกด้วย

อเดนีย์เกษียณจากงานได้เมื่ออายุเพียง 30 และกลายเป็นต้นแบบคนสำคัญที่ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้ที่เห็นพ้องกับแนวคิดนี้ โดยเว็บไซต์ชื่อ www.mrmoneymustache.com ของเขา ถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมในการแบ่งปันกลยุทธ์ทางการเงิน เช่น วิธีเพิ่มอัตราการเก็บออมให้ได้สูงสุด เคล็ดลับประหยัดเงินในการซื้อของกินของใช้ วิธีเดินทางท่องเที่ยวโดยใช้แต้มสะสมจากบัตรเครดิต ฯลฯ

หลากหลายรูปแบบ

แม้ขบวนการ FIRE movement จะเน้นความประหยัด แต่จริงๆ แล้ว ผู้เข้าร่วม FIRE movement มีหลายประเภทด้วยกัน บ้างก็เห็นด้วยกับวิธีเก็บออมแบบสุดขั้ว บ้างก็ประหยัดแบบไม่กดดันตัวเองมากนัก บ้างก็ใช้วิธีเพิ่มรายได้ด้วยการทำงานพิเศษเพิ่มเติม แต่ทั้งหมดก็มีเป้าหมายเดียวกันคือสะสมความมั่งคั่งให้มากพอที่จะเกษียณจากงานประจำได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางคนที่ไม่เข้าร่วม FIRE movement แบบเต็มตัว เพราะสนใจแค่เรื่อง FI (มีอิสรภาพทางการเงิน) ไม่สนใจเรื่อง RE (เกษียณเร็ว) หลายคนสะสมความมั่งคั่งจนสามารถเกษียณจากการทำงานประจำได้ แต่ก็ยังเลือกที่จะทำงานต่อไป หลายคนตัดสินใจออกจากงานที่เครียดและกดดันเพื่อมาเริ่มอาชีพใหม่ที่ผ่อนคลายกว่าเดิมหรือทำงานที่ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้นเพื่อจะได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างเต็มที่

ความเสี่ยง

FIRE movement ก็เป็นเช่นเดียวกับหลักการอื่นๆ แม้จะผ่านกระบวนคิดมาเป็นอย่างดี แต่ก็ยังเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติจริง

บางครั้งความเป็นไปในชีวิตอาจก่อให้เกิดอุปสรรคทางการเงินที่ไม่คาดฝัน เช่น การเจ็บป่วย การหย่าร้าง ฯลฯ หรือเศรษฐกิจอาจผันผวนจนผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เป็นอย่างที่หวัง แต่ด้วยความรู้ความสามารถของคนกลุ่มนี้และการที่เกษียณออกมาขณะที่อายุยังน้อย ทำให้พวกเขาสามารถหวนคืนสู่เส้นทางการทำงานได้ไม่ยากนักหากจำเป็น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ศรัทธาแนวคิดของ FIRE movement จึงพร้อมที่จะเสี่ยงด้วยการเดินตามความฝันของตน เพราะท้ายที่สุดแล้ว ดูเหมือนว่าคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการบริหารการเงินและการลงทุน ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกระบบการทำงานประจำ ก็คือการปรับตัวไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้าเพื่อเอาตัวรอดให้ได้นั่นเอง

แหล่งข้อมูล
1. https://www.nytimes.com/2018/09/01/style/fire-financial-independence-retire-early.htmlhttps://twocents.lifehacker.com/the-basics-of-fire-financial-independence-and-early-re-1820129768
2.https://www.playingwithfire.co/whatisfire
3.https://www.forbes.com/sites/laurashin/2013/10/03/how-mr-money-mustache-retired-at-age-30-and-how-you-can-too/#66f67a3571e8
4.http://thewealthhound.com/fire-movement-financial-independence-retire-early/