ThaiPublica > เกาะกระแส > ทรายเริ่มขาดแคลน กลายเป็นธุรกิจมูลค่า 70 พันล้านเหรียญ มาเฟียค้าทรายถือกำเนิด

ทรายเริ่มขาดแคลน กลายเป็นธุรกิจมูลค่า 70 พันล้านเหรียญ มาเฟียค้าทรายถือกำเนิด

17 มกราคม 2019


ที่มาภาพ: https://scroll.in/article/836336/the-new-oil-the-global-battle-for-sand-is-getting-ugly

ตามข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาตินั้น ทรายและกรวดเป็นของแข็งตามธรรมชาติที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุดในโลก แต่ละปีมีการขุดทรายและกรวดเป็นปริมาณมากถึง 4-5 หมื่นล้านตัน แหล่งทรายธรรมชาติจึงตกอยู่ในภาวะวิกฤต หลายประเทศเริ่มเข้มงวดกับการขุดทรายมากกว่าเดิม ส่งผลให้เกิดองค์กรอาชญากรรมที่ทำมาหากินด้วยการลักลอบขายทรายในตลาดมืด โดยเรียกกันว่า “มาเฟียค้าทราย (Sand Mafia)” เนื่องจากในบางพื้นที่ ทราย 1 คิวบิกเมตร มีมูลค่าสูงถึง 80 เหรียญ

ขุดกันจนเกาะหาย สะพานถล่ม

ทรายเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมคอนกรีต ขวด แก้ว กระจก ชิพซิลิคอนสำหรับคอมพิวเตอร์ เครื่องสำอางค์ ผงซักฟอก ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอีกหลายชนิด แต่อุตสาหกรรมที่ใช้ทรายมากที่สุด คืออุตสาหกรรมก่อสร้าง

ทรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจำเป็นต้องใช้ทรายจากแม่น้ำและชายทะเล เนื่องจากเม็ดทรายในทะเลทรายถูกกระแสลมพัดให้กลิ้งไปมาตลอดเวลา เม็ดทรายจากทะเลทรายจึงมีลักษณะกลมเกลี้ยง ไม่ขรุขระ ทำให้การยึดเกาะไม่ดีเท่าทรายจากแม่น้ำและชายหาด แม้แต่ประเทศที่อยู่กลางทะเลทรายอย่างดูไบ ก็ยังต้องนำเข้าทรายจากออสเตรเลียเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างตึกระฟ้า

ยิ่งในระยะหลัง เมืองขนาดใหญ่ทั่วโลกขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง การถมทะเลเพื่อขยายพื้นที่และการก่อสร้างตึกสูงทำให้ธุรกิจการขุดทรายมีมูลค่าสูงถึง 70 พันล้านเหรียญ ระหว่างช่วงปี 2011-2013 เฉพาะประเทศจีนแห่งเดียว ใช้ซีเมนต์มากกว่าที่สหรัฐฯ ใช้รวมกันตลอดศตวรรษที่ 20 เสียอีก

ความต้องการใช้ทรายส่งผลให้มีการตักตวงจากธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การขุดทรายเพื่อส่งออกทำให้เกาะในอินโดนีเซียหายไปแล้วกว่า 20 เกาะ ชายหาดในหลายๆ ประเทศหมดสิ้นความงดงามเนื่องจากทรายด้านบนถูกแอบขุด หาดทรายบางแห่งหายไปภายในเวลาชั่วข้ามคืน ระดับน้ำในทะเลสาบโป๋หยางของจีนลดต่ำอย่างน่าตกใจเพราะการดูดทรายไปขาย ขณะที่เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา สะพานข้ามแม่น้ำที่เมืองมังกาลูรูในอินเดียพังทลายลง เนื่องจากการลักลอบขุดทรายแม่น้ำ

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การขนย้ายทรายปริมาณมากออกจากชายหาดและก้นแม่น้ำส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม การทำเหมืองทรายในสหรัฐฯ เป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะชายหาดถูกกัดเซาะ เกิดมลภาวะทั้งทางน้ำและอากาศ รวมทั้งเป็นสาเหตุของโรคภัยหลายชนิด

สิ่งหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือเรื่องการทำลายความงดงามและทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้น ทำให้แม่น้ำเน่าเสีย ทำลายชายหาด ในเวลาเดียวกันก็ทำลายถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์น้ำ รวมทั้งทำลายเนินทรายและแนวปะการังที่ปกป้องชายฝั่งของหลายๆ ประเทศ อีกทั้งยังทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดต่ำลงและทำให้เกิดมลภาวะ ขณะที่แอ่งน้ำขังในหลุมทรายก็เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่นำเชื้อมาเลเรีย

ออโรรา ตอเรส นักนิเวศวิทยาแห่งศูนย์วิจัยความหลากหลายด้านชีวภาพแบบผสมผสานในเยอรมนี ซึ่งศึกษาเรื่องผลกระทบที่การขุดทรายไปใช้งานมีต่อโลกให้ข้อมูลว่า การขุดทรายเพิ่มปริมาณขึ้นในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา และทวีความเร็วขึ้นมากนับตั้งแต่ปี 2000

ปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการขุดทรายทำให้บางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนาม จำกัดปริมาณหรือสั่งห้ามส่งออกทราย หลายๆ ประเทศเริ่มตื่นตัวและเข้มงวดเรื่องการขุดทรายเพื่อจำหน่าย ส่งผลให้มีการค้าทรายแบบผิดกฎหมายเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

มาเฟียค้าทรายจะลักลอบขุดทรายตามชายหาดและก้นแม่น้ำเพื่อนำไปขายในตลาดมืด และบ่อยครั้งที่มีการใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน กลุ่มมาเฟียค้าทรายกระจายอยู่ในหลายสิบประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โมร็อกโก แอฟริกาใต้ ไปจนถึงแคริบเบียน

แต่ประเทศที่มาเฟียค้าทรายทรงอิทธิพลที่สุด คือ อินเดีย ตามด้วยแอลจีเรียและโมร็อกโก มีรายงานว่า แค่ในช่วงไม่กี่ปีมา จำนวนผู้ล้มตายเพราะมาเฟียค้าทรายในประเทศอินเดียมีจำนวนหลายร้อยคน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาล ตำรวจและประชาชนทั่วไป สาเหตุการตายมีทั้งที่ไปขัดขวางผลประโยชน์ของแก๊งมาเฟียค้าทรายและจากการที่แก๊งมาเฟียต่อสู้กันเอง

ทางออกและสิ่งทดแทน

ความรุ่งโรจน์ของเหล่ามาเฟียค้าทรายเกิดขึ้นได้เพราะความไร้ประสิทธิภาพหรือการจงใจละเลยของผู้มีอำนาจในคณะรัฐบาลเนื่องจากมีการรับสินบน แนวทางหลักที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องลักลอบค้าทรายจึงอยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพของฝ่ายรัฐ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อมีผลประโยชน์ก้อนใหญ่มาเกี่ยวข้อง

อีกหนทางหนึ่งที่คือการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานวิชาการเร่งทำการวิจัยเพื่อหาสิ่งทดแทนหรือผลิตทรายเทียมขึ้นมาใช้งาน รวมถึงนวัตกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยหาทางออกให้กับการบริโภคทรัพยากรแบบเกินพอดีได้

ปัจจุบัน นักวิจัยพบวิธีที่จะนำทรายจากทะเลทรายมาปรับแต่งเพื่อให้สามารถยึดจับกับปูนซีเมนต์ได้ดีขึ้นจนนำไปใช้ในการก่อสร้างได้แล้ว รวมถึงมีการคิดค้นวิธีผลิตทรายเทียมจากพลาสติกใช้แล้วได้สำเร็จ แต่เท่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ ยิ่งจำนวนประชากรทั่วโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้น ความต้องการใช้ทรายก็มีแต่จะเพิ่มปริมาณจากเดิม การวิจัยในรูปแบบนี้จึงต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนกว่าจะพบวิธีลดการใช้ทรายธรรมชาติลงจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

แหล่งข้อมูล:
1.https://www.theguardian.com/global/2018/jul/01/riddle-of-the-sands-the-truth-behind-stolen-beaches-and-dredged-islands
2.https://globalnews.ca/news/4274233/world-running-out-of-sand-black-market/
3.https://www.wired.com/2015/03/illegal-sand-mining/
4.http://www.mattersofstate.org/sand-mafias/