ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊(24)…งานศิลปะมีชื่อเสียงของ da Vinci

เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊(24)…งานศิลปะมีชื่อเสียงของ da Vinci

29 ธันวาคม 2023


ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

Leonardo da Vinci (1452- 1519) ได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ในยุค High Renaissance ที่สมบูรณ์แบบ คือ รอบรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เขาเป็นทั้งศิลปิน นักคิดนักเขียน นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์

ผลงานศิลปะของ da Vinci ได้รับการยอมรับให้เป็นผลงานระดับโลก (masterpiece) หลายชิ้น เขาเป็นชาวอิตาเลียน แต่บั้นปลายของชีวิตทำงานให้กับสำนักราชวังของกษัตริย์ฝรั่งเศส

ในเรื่องเล่าครั้งนี้ ลุงหมีขอแนะนำผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงของ da Vinci รวม 4 ชิ้น

ในปี 1503 Leonardo da Vinci วาดภาพหญิงงามซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดของวงการศิลปะ คือ ภาพ Mona Lisa

ภาพนี้สร้างความแปลกใหม่ให้แก่ผู้คนในยุคนั้นหลายประการ ได้แก่ การวาดภาพเหมือนของคนในลักษณะมีภาพทิวทัศน์อยู่ในแบ็กกราวด์แบบสลัว หญิงสาวนั่งในท่าเอียงตัว และหันหน้ามองออกมาโดยมีใบหน้าอมยิ้ม ยิ้มของโมนาลิซาถือกันว่าเป็นยิ้มลึกลับ

ภาพนี้ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Louvre ของฝรั่งเศส

ภาพวาดมีชื่อเสียงของ da Vinci อีกสองภาพเป็นภาพด้านศาสนาเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์สำคัญในชีวิตพระเยซู

ภาพแรก ชื่อ Madonna of the Rocks (หรือ Virgin of the Rocks) วาดในปี 1843 แสดงภาพพระแม่มารีกับทารกเยซูรับการเคารพจากทารกอีกคนหนึ่ง (ถือกันว่าเป็น John the Baptist) โดยมีเทพธิดาเป็นสักขีพยาน

ภาพนี้สร้างความแปลกใหม่ให้วงการวาดภาพทางศาสนา เพราะแทนที่จะใช้สถานที่โรงนาแบบนิยมวาดกัน da Vinci จัดภาพให้พระแม่นั่งบนโขดหิน มีถ้ำและทิวทัศน์มองไกลอยู่ด้านหลัง ใช้พื้นสีดำตัดกับสีนวลของพระแม่และทารกเยซู

สำหรับการจัดตำแหน่งของบุคคลในภาพนั้นจัดเป็นทรงสามเหลี่ม ฐานด้านล่างคือเส้นแนวจุดนั่งของทารกทั้งสอง ส่วนแนวเหลี่ยมสูงสองด้านคือ แนวลำตัวพระแม่มารีไปบรรจบจุดสูงสุดของสามเหลี่ยที่หัวของพระแม่มารี การออกแบบรูปทรงตัวคนในภาพให้เป็นลักษณะสามเหลี่ยมนี้เป็นที่นิยมใช้ในยุค High Renaissance

ภาพนี้ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Louvre เช่นเดียวกับภาพ Mona Lisa

ภาพทางศาสนาภาพที่สอง ชื่อ The Last Supper วาดเมื่อปี 1495 แสดงเหตุการณ์พระเยซูกินอาหารมื้อสุดท้ายของชีวิตกับสาวกทั้ง 12 คน พระองค์แจ้งต่อเหล่าสาวกว่ากำลังจะมีสาวกคนหนึ่งทรยศต่อพระองค์ (คือชี้ตัวให้ทหารโรมันจับตัวพระองค์ไปตรึงไม้กางเขน) จึงเกิดความปั่นป่วนในหมู่สาวก ในภาพต่างคนแสดงปฏิกริยาแตกต่างกันไป มีทั้งตกใจ สงสัย และโกรธแค้น นับเป็นภาพที่เร้าอารมณ์มาก

ภาพ The Last Supper ได้กลายเป็นต้นแบบของงานศิลปะอีกสองแขนงที่ได้รับความนิยม ดังนี้

ปี 2003 Dan Brown แต่งนิยายแนวลึกลับและตื่นเต้น ใช้ชื่อว่า The Da Vinci Code และต่อมาในปี 2006 ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนต์มีชื่อนำแสดงโดย Tom Hanks พล็อตของเรื่องใช้ภาพ The Last Supper เป็นจุดเริ่มต้น โดยตีความจากภาพว่าสาวกคนนั่งติดกับพระเยซูทางขวามือนั้น ไม่ใช่สาวกชายตามความเชื่อทั่วไป แต่ลักษณะผมยาวและใบหน้าอ่อนหวานแสดงว่าเป็นสาวกหญิงชื่อ Mary Magdalene จึงมีการสันนิษฐานต่อว่าพระเยซูมีทายาท เรื่องราวในหนังสือจึงเป็นการแกะรอยจากสัญญลักษณ์ลึกลับต่างๆ ว่าเชื้อสายของทายาทได้สืบทอดต่อมาถึงปัจจุบันหรือไม่

ในปี 1970 Andrew Loyd Webber สุดยอดนักแต่งละครเพลงได้แต่ง Rock Opera ขึ้นมาใช้ชื่อว่า Jesus Christ Superstar ต่อมาได้สร้างเป็นหนังแนว musical drama ตีความการเผยแพร่ศาสนาของพระเยซูเป็นเหตุการณ์ทางการเมือง เพื่อปลุกระดมมวลชนให้ลุกขึ้นต่อต้านการปกครองของทหารโรมัน มีเพลงในหนังที่ได้รับความนิยม ชื่อ I Don’t Know How to Love Him แสดงอารมณ์รักใคร่และห่วงใยของ Mary Magdalene ที่มีต่อพระเยซู คลิปเพลงนี้ขับร้องโดย Yvonne Elliman

ในปี 1490 da Vinci ได้วาดภาพลายเส้นด้วยปากกา ชื่อ Vitruvian Man พร้อมกับคำอธิบายจากผลการสังเกตและคำนวณถึงสัดส่วนที่ถูกต้องของสรีระของมนุษย์ว่า ถ้าคนผู้ชายยืนขาตรงและกางมือออก ร่างกายจะอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม แต่ถ้าผู้ชายยืนกางขาแล้วกางมือโดยยกให้สูงขึ้น ร่างกายจะอยู่ในกรอบวงกลมพอดี

การค้นพบข้อเท็จจริงของ da Vinci ครั้งนี้ทำให้รูป Vitruvian Man ถูกนำมาใช้แพร่หลายเป็นหลักของการวาดรูปทรงมนุษย์

เมื่อปี 2511 ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติคนดังของไทยเพิ่งเดินทางกลับจากการไปศึกษาดูงานศิลปะในต่างประเทศ เขาได้แรงบันดาลใจจากภาพ Vitruvian Man ของ da Vinci มาสร้างภาพวาดในสไตล์ของไทย คือให้เป็นรูปคนขี่ควาย โดยตัวคนแหงนหน้าและขยับแขน ส่วนควายก็ขยับหัวหงายขึ้นและก้มลงเป็นภาพซ้อนกัน

เมื่อเดือนตุลาคม 2566 นี้เอง มีการประมูลภาพที่น่าสนใจชิ้นนี้ ปรากฏว่าสามารถขายได้ในราคา 25.5 ล้านบาท นับเป็นสถิติการขายภาพศิลปินไทยที่สูงสุดที่เคยมีมา

ที่มา
1. A-Z of art
2. story of arts
3. คลิปเพลงจาก YouTube
4. ภาพของถวัลย์ ดัชนี จากมติชนออนไลน์
5. ปกหนังสือ Dan Brown จาก Google