ThaiPublica > สู่อาเซียน > “แบตเตอรี่อาเซียน” … ได้เวลาชาร์จไฟ?

“แบตเตอรี่อาเซียน” … ได้เวลาชาร์จไฟ?

26 ธันวาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

สายส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงในลาว สัญลักษณ์แสดงถึงสถานภาพการเป็น “หม้อไฟ” หรือแบตเตอรี่ของอาเซียน ที่มาภาพ : เพจศูนย์ข่าวพลังงานและบ่อแร่

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และปรากฏการณ์เอลนีโญ ได้ส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อยุทธศาสตร์ชาติของ สปป.ลาว โดยเฉพาะตำแหน่งของประเทศที่ถูกวางให้เป็น “หม้อไฟ” หรือแบตเตอรี่ของอาเซียน…

ระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2566 สปป.ลาว ได้จัดประชุมสรุปผลการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาด้านพลังงานและบ่อแร่ ประจำปี 2566 ที่หอประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน และร่วมรับฟังการรายงานข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 แขนงงานนี้

จากที่ประชุม ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับแขนงงานด้านพลังงานไฟฟ้าของลาวขณะนี้!

สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว เข้าร่วมรับฟ้งรายงานข้อมูลจากทุกหน่วยงานในแขนงพลังงานและบ่อแร่(ซ้าย)ทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ (ขวา)

ทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้รายงานต่อที่ประชุมโดยมีเนื้อหาสำคัญพอสรุปได้ดังนี้

  • ปี 2566 ลาวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 48,904 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปี 2565 สาเหตุหลักมาจากการที่ลาวต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ทำให้เขื่อนผลิตไฟฟ้าบางแห่งไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามแผนที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม กระแสไฟฟ้าที่ลาวผลิตได้มีมูลค่ารวม 58,285 พันล้านกีบ เพิ่มขึ้น 29.32% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งมีมูลค่า 45,070 พันล้านกีบ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในแต่ละช่วงมีความแตกต่างกัน
  • ไฟฟ้าที่ลาวผลิตได้เพื่อขายให้แก่ผู้ใช้ในประเทศ มีปริมาณ 11,800 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2565 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายในประเทศเพิ่มขึ้น 22% ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น 36%
  • การส่งออกกระแสไฟฟ้าไปต่างประเทศ มีปริมาณ 38,106 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 2,368 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับในปี 2565 ปริมาณการส่งออกกระแสไฟฟ้าลดลง 5% ส่วนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.4% และเมื่อเทียบกับเป้าหมายของแผนปี 2566 ตามมติที่ได้รับอนุมัติจากสภาแห่งชาติ ปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศปีนี้ ทำได้เพียง 94% ของเป้าหมาย ส่วนด้านมูลค่าทำได้ 97%
  • การนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศมีปริมาณ 1,658 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2565 ปริมาณการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 90% ส่วนมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 175% สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้การผลิตไฟฟ้าในประเทศไม่สามารถทำได้ตามแผน ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ การทำเหมืองขุดบิตคอยน์ และปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามที่อยู่อาศัยของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น
  • การซื้อกระแสไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าภายในประเทศจากโรงงานผลิตไฟฟ้าเอกชนเพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ มีปริมาณ 11,032 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 696 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2565 ปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อลดลง 15% ส่วนมูลค่าไฟฟ้าที่ซื้อลดลง 18%…
  • อาคมเดด วงไซ หัวหน้ากรมแผนงานและความร่วมมือ กระทรวงพลังงานและบ่อแร่

    อาคมเดด วงไซ หัวหน้ากรมแผนงานและความร่วมมือ กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กล่าวว่า ในวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเงินที่เกี่ยวข้องกับแขนงการพลังงานและบ่อแร่ มีการกำหนดแผนงานให้รัฐบาลค้นคว้าออกนโยบายและมาตรการลดการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อสงวนเงินตราต่างประเทศเอาไว้ และส่งเสริมการส่งออกไฟฟ้าไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ

    อย่างไรก็ตาม อาคมเดดบอกว่าในปี 2566 การผลิตไฟฟ้าในลาวไม่สามารถทำได้ตามแผน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ที่ส่งผลโดยตรงต่อเขื่อนผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้องนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้มีการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้พลังงานประเภทอื่นเพื่อผลิตไฟฟ้า เช่น จากถ่านหิน เพื่อช่วยให้มีการผลิตไฟฟ้าในประเทศได้อย่างเพียงพอ

    ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีแผนแก้ไขปัญหาปริมาณไฟฟ้าเหลือจากการผลิตในช่วงฤดูฝน แต่ขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงฤดูแล้ง ด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าแบบระบบสู่ระบบ(Grid to Grid) โดยในช่วงฤดูฝนที่ปริมาณไฟฟ้าซึ่งผลิตได้ในลาวมีเหลือ จะส่งออกพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินดังกล่าวไปยังจีน และในช่วงฤดูแล้งที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากกว่าที่ผลิตได้ จะมีการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากจีนเพื่อทดแทนส่วนที่ต้องการ

    ……

    การประชุมสรุปผลการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาด้านพลังงานและบ่อแร่ ประจำปี 2566

    ตามข้อมูลที่เปิดเผยในที่ประชุม แขนงงานด้านพลังงานและบ่อแร่มีสัดส่วน 16.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP) ของลาวในปี 2564 แยกเป็นแขนงพลังงานไฟฟ้า 11.8% บ่อแร่และการขุดค้น 4.4% ปี 2565 แขนงงานด้านพลังงานและบ่อแร่มีสัดส่วน 15.5% ของ GDP แยกเป็นแขนงพลังงานไฟฟ้า 11.5% บ่อแร่และการขุดค้น 4% ส่วนปี 2566 คาดว่าแขนงงานด้านพลังงานและบ่อแร่จะมีสัดส่วน 14.3% ของ GDP แยกเป็นแขนงพลังงานไฟฟ้า 10.8% บ่อแร่และการขุดค้น 3.5%

    ในภาคการส่งออกสินค้า แขนงงานด้านพลังงานและบ่อแร่มีสัดส่วน 47% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของลาวในปี 2564 แยกเป็นแขนงพลังงานไฟฟ้า 26.5% บ่อแร่ 20.5% ปี 2565 แขนงงานด้านพลังงานและบ่อแร่มีสัดส่วน 44% ของการส่งออกของลาว แยกเป็นแขนงพลังงานไฟฟ้า 27% บ่อแร่ 17% และ 6 เดือนแรกของปี 2566 แขนงงานด้านพลังงานและบ่อแร่มีสัดส่วน 49.28% ของการส่งออก แยกเป็นแขนงพลังงานไฟฟ้า 28.89% บ่อแร่ 20.39%

    สัดส่วนรายได้ที่ถูกนำส่งเข้าสู่ระบบงบประมาณของรัฐในปี 2564 มาจากแขนงพลังงานไฟฟ้า 969 พันล้านกีบ บ่อแร่ 216 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2565 มาจากแขนงพลังงานไฟฟ้า 1,279 พันล้านกีบ บ่อแร่ 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัดส่วนรายได้ 11 เดือนแรกของปี 2566 มาจากแขนงพลังงานไฟฟ้า 973 พันล้านกีบ และจากบ่อแร่ 261 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ปัจจุบัน ทั่วประเทศลาวมีแหล่งผลิตไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 1 เมกวัตต์ขึ้นไป และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน และโครงการผลิตไฟฟ้าอิสระที่รัฐให้สัมปทานแก่ภาคเอกชน รวมทั้งสิ้น 98 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 11,692.14 เมกะวัตต์ ความสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า 58,884.27 กิกะวัตต์/ชั่วโมง ต่อปี

    ในนี้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 81 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 12 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง เมื่อเทียบสัดส่วนตามกำลังการผลิตติดตั้งแล้ว 82% ของกระแสไฟฟ้าในลาว ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำหรือเขื่อนผลิตไฟฟ้า อีก 16% ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนอีก 2% ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าชีวมวล

    ทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กล่าวถึงแผนงานในปี 2567 โดยคาดว่าจะมีแหล่งผลิตไฟฟ้าใหม่ที่สร้างเสร็จพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มขึ้นอีก 12 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำพูน, เขื่อนน้ำโม้ 1, เขื่อนน้ำโม้ 2, เขื่อนน้ำฟ้า, เขื่อนเซกอง 4A, เขื่อนเซกอง 4B, เขื่อนน้ำอ่าง, เขื่อนน้ำต่าย, เขื่อนน้ำบี 1, เขื่อนน้ำบี 2, เขื่อนน้ำบี 3 และโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินละมาน มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,625.90 เมกะวัตต์ ความสามารถในการผลิตพลังงานไฟฟ้ารวม 8,128.91 กิกะวัตต์/ชั่วโมง ต่อปี

    ปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยรวมทั่วประเทศในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 51,112 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 56,564 พันล้านกีบ

    การส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปยังต่างประเทศในปี 2567 คาดว่าจะทำได้ 41,867 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 2,812 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าภายในประเทศในปี 2567 คาดว่าจะทำได้ 11,502 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 747 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    การซื้อกระแสไฟฟ้าจากโครงการภายในประเทศ เพื่อสนองความต้องการใช้ในประเทศ ในปี 2567 คาดว่าจะทำได้ 12,258 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 746 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    การนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากต่างประเทศ ในปี 2567 คาดว่าจะมีปริมาณ 1,348 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่า 89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 เพจ Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz หรือสถานีวิทยุซาวหนุ่มลาว ได้รายงานข่าวการประชุมสรุปผลการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาด้านพลังงานและบ่อแร่ ประจำปี 2566 โดยใช้ประโยคพาดหัวที่เรียบง่ายแต่ตรงประเด็นว่า…

    “การจำหน่ายไฟฟ้าของลาวไปต่างประเทศลดลง แต่นำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น”

    เขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 3 ที่มาภาพ: บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาวมหาชน

    ……

    การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อสถานภาพการเป็น “หม้อไฟ” หรือแบตเตอรี่ของอาเซียนของลาวในปีนี้ อาจไม่ใช่เป็นปีแรกและปีเดียว

    การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การเผาและทำลายป่าไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม การขยายตัวของเมือง ยังปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในหลายประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลให้สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง และโลกร้อนขึ้น

    สปป.ลาว ที่มีนโยบายชัดเจนว่าเน้นการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกขายให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียน จะพิจารณาถึงตัวแปรข้างต้นนี้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ติดตาม…

  • ลาวเปลี่ยนนโยบาย เริ่มทดลองใช้เงินคริปโต
  • สวนกระแส!!…ลาวเปิดกระดานซื้อ-ขายเงิน”คริปโต”