ThaiPublica > สู่อาเซียน > ลาวกำลังเผชิญวิกฤติ “ระบบสาธารณสุข”…?

ลาวกำลังเผชิญวิกฤติ “ระบบสาธารณสุข”…?

21 กรกฎาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 โรงพยาบาลแขวงคำม่วน ได้ออกหนังสือแจ้งการ เลขที่ 373/รพข. เรื่อง “การอำนวยความสะดวกให้พ่อแม่ ประชาชน ในระยะวิกฤติการณ์ที่โรงพยาบาลแขวงขาดแคลนยารักษาโรคจำเป็นพื้นฐาน จนต้องให้พี่น้อง คนเจ็บ ไปหาซื้อยาเองตามร้านขายยานอกโรงพยาบาล” ลงนามโดย ดร.แก้วอุดม ลอดทำมะวง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลแขวงคำม่วน เนื้อหาในหนังสือ มีรายละเอียดดังนี้…

ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลแขวงคำม่วน ขอถือเป็นเกียรติแจ้งการมายังพ่อแม่ ประชาชน พร้อมทั้งผู้ถือสิทธิ์ประกันตน ทุกภาคส่วน รับรู้ว่า โรงพยาบาลแขวง จำเป็นตัองปรับปรุงระบบควบคุมกองทุนประกันสุขภาพใหม่ ดังนี้

1. การฟอกไต จะต้องเก็บค่ายาเพิ่ม 500,000 กีบ (ประมาณ 900 บาท) ต่อกรณี (ไม่รวมยากระตุ้นไตต่างๆ)

2. กรณีผ่าตัด ให้เก็บเงินเพิ่มจากเพดาสูงสุดที่ประกันสุขภาพคุ้มครอง

3. ยาที่มีราคาสูงต้องจ่ายเงินเอง (มีรายการกำกับตามเขตบริการต่างๆ โดยอิงจากราคาจริงตามท้องตลาด)

4.ผู้ป่วยนอก ต้องจ่ายค่าตรวจรักษาเอง 100% (ยกเลิกการจ่ายสมทบผู้ป่วยนอก)

5.หญิงตั้งครรภ์ที่สมัครใจคลอดลูกด้วยการผ่าตัด ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล 100% โดยประกันสุขภาพไม่คุ้มครอง

6. ถ้าศูนย์เลือด ไม่มีเลือดที่จะจ่ายให้ผู้ป่วย ครอบครัว พี่น้อง ผู้ป่วย ต้องระดมกันบริจาค หรือช่วยแพทย์ออกหาเลือดเพิ่ม แล้วแต่เงื่อนไขที่จะหาเลือดมาให้ได้

7. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หญิงตั้งครรภ์ คนทุกข์ยาก และพระสงฆ์ นักบวช สามเณร กองทุนประกันสุขภาพยังคุ้มครอง 100%

ดังนั้น จึงแจ้งมายังพ่อแม่ ประชาชน รวมถึงพนักงาน รัฐกร และผู้ใช้แรงงาน ที่ถือสิทธิ์ประกันตนทั้งหลาย เพื่อทราบ และพร้อมปฏิบัติตามหนังสือแจ้งการฉบับนี้ด้วย

รุ่งขึ้น วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 หนังสือแจ้งการฉบับนี้ ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางตามชุมชนออนไลน์ในลาว โดยเฉพาะสื่อที่ไม่ใช่สำนักข่าวทางการของรัฐ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระจายไปทั่ว ส่วนใหญ่เป็นการตำหนิที่โรงพยาบาลผลักภาระไปให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะการให้คนไข้ออกไปซื้อยาบางส่วนจากนอกโรงพยาบาลมากินเอง การเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าฟอกไต ค่าผ่าตัดเพิ่มฯลฯ

โพสต์ของสำนักข่าวโทละโข่ง เผยแพร่ในตอนเช้าวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

“โทละโข่ง” สำนักข่าวออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุดแห่งหนึ่งในลาว มีผู้ติดตามมากกว่า 1.3 ล้านคน มีรายงานสั้นๆออกมาในตอนเช้าของวันที่ 19 กรกฎาคม เขียนว่า “ขอเป็นกำลังใจให้ เนื่องจากโรงพยาบาลแขวงคำม่วนแจ้ง! สภาพความยุ่งยากในการขาดดุลของการบริการกองทุนประกันสุขภาพภาคเอกชน (กปช.) ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถชำระหนี้สินได้ตามกำหนดเวลา จนบริษัทต้องยุติการส่งยามาให้กับโรงพยาบาลแขวง…!!!

โรงพยาบาลแขวงคำม่วน เป็น 1 ใน 2 โรงพยาบาลเป้าหมาย ที่ “โตโน่” ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้อง นักแสดงชื่อดังของไทย ได้จัดโครงการ “หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” หรือ ONE MAN AND THE RIVER ด้วยการว่ายน้ำข้าม 2 ฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565 เพื่อระดมเงินบริจาคซื้ออุปกรณ์การแพทย์ไปมอบให้ โดยอีกโรงพยาบาลหนึ่ง คือ โรงพยาบาลจังหวัดนครพนม ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม การว่ายข้ามแม่น้ำโขงของโตโน่ในครั้งนั้น สามารถระดมเงินซื้ออุปกรณ์การแพทย์ไปมอบให้ทั้ง 2 โรงพยาบาลคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โตโน่เพิ่งเดินทางข้ามไปทำพิธีมอบอุปกรณ์การแพทย์ ให้แก่โรงพยาบาลแขวงคำม่วนเป็นรอบที่ 2 อุปกรณ์ที่มอบให้ครั้งนี้มีมูลค่ารวม 29.2 ล้านบาท หรือ 17.1 พันล้านกีบ ประกอบด้วย

    1. เครื่องช่วยหายใจเด็ก ชนิด nCPAP 2 เครื่อง
    2. เครื่องเฝ้าสัญญานชีพชนิดข้างเตียงผู้ป่วยในห้อง ICU 5 เครื่อง
    3. เครื่องกระตุกหัวใจ AED 3 เครื่อง
    4. เครื่องวัดความดันเลือดแบบอัตโนมัติพร้อมขาตั้ง 12 เครื่อง
    5. เครื่องวัดความดันแบบสอดแขน 3 เครื่อง
    6. เครื่องดึงคอ/ดึงหลัง 1 เครื่อง
    7. เครื่องอัลตราซาวด์สำหรับกายภาพ 2 เครื่อง
    8. หม้อต้มแผ่นประคบร้อน 1 เครื่อง
โตโน่” ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นำอุปกรณ์การแพทย์มูลค่า 29 ล้านบาท ไปมอบให้แก่โรงพยาบาลแขวงคำม่วน เป็นรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์ลาวโพสต์

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องมือ เครื่องใช้อื่นๆ อีกหลายรายการ เช่น เครื่องช่วยหายใจเด็ก, bedside monitor ฯลฯ ที่ถูกส่งมอบให้พร้อมกันด้วยในครั้งนี้

……

หลังมีการเผยแพร่หนังสือแจ้งการของโรงพยาบาลแขวงคำม่วนออกมาได้เพียง 1 วัน รุ่งขึ้น วันที่ 19 กรกฎาคม ชุมชนออนไลน์ในลาว ได้มีการเผยแพร่บทรายงานของแผนกสาธารณสุข แขวงสาละวัน เลขที่ 2039/สธข.สว. ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ส่งถึงประธานสภาประชาชน และหัวหน้าห้องว่าการแขวงสาละวัน เรื่อง “ขออนุญาตรายงานยาขาดคลัง ในสถานที่บริการสุขภาพของแขวงสาละวัน” เนื้อหาในบทรายงานมีดังนี้…

แผนกสาธารณสุข แขวงสาละวัน ขอถือเป็นเกียรติอย่างสูง ขออนุญาตรายงานมายังท่านได้รับทราบว่า ปัจจุบัน ตามสถานที่บริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลแขวง ได้เกิดสถานการณ์ยาขาดในคลังยา (โรงพยาบาลแขวงขาด 26 รายการ) เนื่องจากติดหนี้ค่ายากับบริษัทยาจำนวนมาก มาถึงปัจจุบัน (เดือน 7/2566) มูลค่าหนี้ค่ายาที่ติดค้างไว้ 25,238,711,745 กีบ (ประมาณ 45 ล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง ทางบริษัทยาจึงไม่สามารถส่งยาให้กับสถานบริการรักษาสุขภาพได้ ส่วนรายการยาที่ขาดแคลน ไม่มีอยู่ในคลังนั้น ให้ผู้ป่วยไปหาซื้อเองภายนอกโรงพยาบาล

ดังนั้น แผนกสาธารณสุข แขวงสาละวัน จึงทำรายงานมายังท่านเพื่อรับทราบ เห็นสมควรประการใด ก็ให้แนะนำพวกข้าพเจ้าด้วย ลงชื่อ ดร.อาคม ล่ำวิจิด หัวหน้าแผนกสาธารณสุข แขวงสาละวัน

ข่าวแผนกสาธารณสุขแขวงสาละวันติดหนี้บริษัทยา ที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ของลาว ตลอดทั้งวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

ปฏิกิริยาของชุมชนออนไลน์ในลาวต่อบทรายงานของแผนกสาธารณสุขแขวงสาละวันชิ้นนี้ ไม่แตกต่างจากหนังสือแจ้งการของโรงพยาบาลแขวงคำม่วน ที่ปรากฏออกมาเป็นข่าวเมื่อวันก่อนหน้า หลายคนตั้งคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับระบบสาธารณสุขของลาว?

อีกหลายคนตั้งข้อสังเกตุว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะโรงพยาบาลต้องจ่ายค่ายาเป็นเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ใช่หรือไม่?

สำนักข่าว “ลาวนิวส์” เขียนเนื้อหาสั้นๆ ประกอบการนำเสนอบทรายงานของแผนกสาธารณสุข แขวงสาละวัน ว่า “โรงพยาบาลแขวงสาละวันมีหนี้สินจำนวนมาก เนื่องจากขาดดุลราคายากับประกันสุขภาพ จนบริษัทยาไม่สามารถส่งยาให้ได้ จึงต้องกำหนดค่ารักษาพยาบาลใหม่”

ตลอดเวลาเกือบ 2 วันเต็ม หลังเริ่มมีการเผยแพร่หนังสือแจ้งการของโรงพยาบาลแขวงคำม่วนออกมาในตอนเช้าของวันที่ 18 กรกฎาคม กระทั่งถึงช่วงบ่ายของวันที่ 19 กรกฎาคม สำนักข่าวทางการของรัฐไม่มีการรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้

บ่ายวันที่ 19 กรกฎาคม เพจ “โทละโข่ง” ได้ขึ้นข้อความไว้บนไทม์ไลน์ว่า “ระดมเงิน ศรัทธาใหญ่ สร้างวัด สร้างพระ ก็ทำมาแล้ว พวกเราจะไม่ช่วยระดมปัจจัยซื้อยาให้โรงพยาบาลหน่อยหรือ?”

ข่าวแผนกสาธารณสุขแขวงสาละวันติดหนี้บริษัทยา ที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ของลาว ตลอดทั้งวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

……

เย็นวันที่ 19 กรกฎาคม มีการเผยแพร่หนังสือแจ้งการของแผนกสาธารณสุข แขวงคำม่วน เลขที่ 1009/สธข.คม. ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เรื่อง ยกเลิกหนังสือแจ้งการของโรงพยาบาลแขวงคำม่วน เลขที่ 373/รพข. ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ลงนามโดย ดร.แสงทอง เสิมลำวัน หัวหน้าแผนกสาธารณสุข แขวงคำม่วน โดยมีรายละเอียดว่า

นโยบายประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นนโยบายที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยเหลือ ลดภาระ และความยุ่งยากในการรักษาพยาบาล ของพนักงาน ทหาร ตำรวจ และประชาชนทุกชั้นคน ให้สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเป็นนโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจสูง ฉะนั้น เพื่อให้การบริการของสถานพยาบาลของภาครัฐสอดคล้องตามระเบียบ กฎหมาย และนโยบายที่ออกมา แผนกสาธารณสุขแขวงคำม่วน จึงออกแจ้งการดังนี้

1. ยกเลิกหนังสือแจ้งการของโรงพยาบาลแขวงคำม่วน เลขที่ 373/รพข. ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 และให้สืบต่อปฏิบัติตามนโยบายประกันสุขภาพที่รัฐบาลได้วางไว้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

2. สำหรับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการรักษาสุขภาพทั่วไปที่โรงพยาบาลแขวง โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดเล็ก ยังคงสืบต่อปฏิบัติตามปกติเหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ใช้บริการต้องนำทะเบียนบ้าน หรือเอกสารยืนยันที่ถูกต้องมาแจ้งต่อสถานบริการ เพื่อรับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลตามนโยบายของรัฐ

3. สำหรับพนักงาน รัฐกร ทหาร ตำรวจ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ที่เข้าประกันสังคม และผู้ที่ได้รับสิทธิ์คุ้มครอง ให้ปฏิบัติตามปกติเหมือนก่อนหน้านี้ โดยให้นำบัตรประกันสังคมมาแจ้งต่อสถานบริการ เพื่อปฏิบัติตามกฏหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพ ฉบับที่ 60/สพซ. ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2561 และคำสั่งแนะนำของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยกลไกการเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงิน และการคิดค่าบริการ สำหรับกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 0476/สธ. ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2561

4. เสนอให้ทุกแผนกการ องค์กรจัดตั้งเทียบเท่า และทุกเมือง เผยแพร่เนื้อหาหนังสือแจ้งการฉบับนี้ ให้พนักงาน ทหาร ตำรวจ ประชาชน และสังคมได้รับรู้ เข้าใจอย่างกว้างขวาง และทั่วถึง

5. ให้โรงพยาบาลแขวง โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดเล็ก เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์เนื้อหาในหนังสือแจ้งการฉบับนี้ ให้ประชาชนและผู้เข้ามาใช้บริการในสถานพยาบาลของตน ให้รับทราบสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลตามนโยบายประกันสุขภาพแห่งชาติที่รัฐบาลได้วางไว้อย่างถูกต้อง

เอกสารแนะนำกลไกการคุ้มครอง การจ่ายเงิน อัตราค่าบริการ และการปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นธรรม ของกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยละเอียด ที่ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในชุมชนออนไลนตอนเย็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

หนังสือพิมพ์ “ลาวพัฒนา” ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ ได้ร่วมเผยแพร่หนังสือแจ้งการของแผนกสาธารณสุข แขวงคำม่วน ฉบับนี้ด้วย ในตอนเย็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น เย็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ได้มีการเผยแพร่เอกสารแนะนำกลไกการคุ้มครอง การจ่ายเงิน อัตราค่าบริการ และการปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นธรรม ของกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกไปตามชุมชนออนไลน์หลายแห่งของลาว อย่างแพร่หลาย

หนังสือแจ้งการฉบับนี้จัดทำโดยแผนกสาธารณสุขแขวงสะหวันนะเขต ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 เนื้อหาในหนังสือบอกถึงการคุ้มครอง การคิดค่ารักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยต่างๆ ของสถานบริการที่อยู่ในระบบกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างละเอียด เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติของทั้งสถานพยาบาล และผู้ที่เข้ามาใช้บริการตรวจ รักษา

ข่าวแผนกสาธารณสุข แขวงคำม่วน ออกหนังสือแจ้งการยกเลิกหนังสือของโรงพยาบาลแขวงคำม่วน เลขที่ 373/รพข. ที่หนังสือพิมพ์“ลาวพัฒนา” ซึ่งเป็นสื่อทางการของรัฐ ร่วมนำเสนอด้วยในตอนเย็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2566
……

ระยะเวลา 2 วัน นับแต่เริ่มมีการเผยแพร่หนังสือแจ้งการ เลขที่ 373/รพข. ของโรงพยาบาลแขวงคำม่วน ออกไปตามชุมชนออนไลน์ในตอนเช้าวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ตามมาด้วยการเผยแพร่บทรายงานของแผนกสาธารณสุข แขวงสาละวัน ในตอนเช้าวันที่ 19 กรกฎาคม ได้จุดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขของลาว

แม้ทางการลาวได้เข้ามาแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงที ด้วยการประกาศยกเลิกหนังสือแจ้งการของโรงพยาบาลแขวงคำม่วน ในตอนเย็นวันที่ 19 กรกฎาคม พร้อมทั้งเผยแพร่รายละเอียดการคุ้มครองของกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทากระแสวิพากษ์วิจารณ์ให้สงบลงได้ชั่วขณะ

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 2 วันนี้ ยังคงทิ้งเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่เอาไว้ เพราะยังไม่มีการให้คำตอบในประเด็นที่ว่า โรงพยาบาลแขวงคำม่วนกับสาละวัน จะนำเงินจากไหนไปจ่ายค่ายาที่ค้างอยู่กับบริษัทยา และยังมีโรงพยาบาลในท้องถิ่นหรือแขวงอื่นอีกหรือไม่ ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เช่นเดียวกับโรงพยาบาลที่เป็นข่าวทั้ง 2 แห่ง แบบเงียบๆ…