ThaiPublica > สู่อาเซียน > สวนกระแส!!… ลาวเปิดกระดานซื้อ-ขายเงิน “คริปโต”

สวนกระแส!!… ลาวเปิดกระดานซื้อ-ขายเงิน “คริปโต”

13 ตุลาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พิธีเปิดตัวบริษัทบิทคิก ศูนย์ซื้อขายเงินคริปโตแห่งแรกของลาว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565
ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-สังคม

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่โรงแรมคราวน์ พลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีงานเปิดตัว บริษัทบิทคิก (Bitqik) จำกัดศูนย์ซื้อขายเงินคริปโตในเครือบริษัทเอสเอ็มจี กรุ๊ป ที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว ให้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน

งานนี้ถือเป็นงานใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก มีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก แขกวีไอพีที่ถูกเชิญมา ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ และบุคคลสำคัญในแวดวงการเงิน การธนาคารของลาว เช่น บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยี่และการสื่อสาร บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว พูทะนูเพ็ด ไซสมบัด รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน โดยมีแม่งาน คือ เอกกะพัน พะพิทัก ประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารร่วมพัฒนา (JDB) และประธานบริษัทเอสเอ็มจี กรุ๊ป

วิละสัก วิละวง ผู้อำนวยการ บริษัทบิทคิก ได้ขึ้นเวทีบอกเล่าเรื่องราวของบิทคิกว่า เนื่องจากรัฐบาลลาวได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจสกุลเงินดิจิทัล การเปิดตัวบิทคิกจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยลดการรั่วไหลของเงินตราออกไปยังต่างประเทศได้ โดยในเบื้องต้น บนแฟลตฟอร์มของบิทคิกจะเปิดให้มีการซื้อขายเงินคริปโตประมาณ 20 สกุลเงิน

บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ในงานเปิดตัวบริษัทบิทคิก ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-สังคม

บิทคิกวางเป้าหมายในอนาคตว่าจะเป็นศูนย์กลางซื้อขาย สินทรัพย์ดิจิทัลระดับสากล ที่สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาหมุนเวียนซื้อขายเงินคริปโตอยู่ภายในลาว โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินคริปโตและเงินสดให้เป็นไปโดยไร้รอยต่อผ่านระบบธนาคาร นอกจากนี้ จะพัฒนาเทคโนโลยี่ เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ไปสู่โลกของดิจิทัล ที่ลูกค้าสามารถลงทุนได้โดยง่ายเพียงผ่านปลายนิ้ว

บิทคิกยังได้เชื่อมต่อระบบกับธนาคารร่วมพัฒนา ด้วยการผูกแอพพลิเคชั่นซื้อขายเงินคริปโตไว้กับบัญชีของธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมให้กับลูกค้า โดยสามารถตัดเงินออกจากบัญชีได้ทันทีในกรณีสั่งซื้อ และสามารถเงินโอนเข้าบัญชีได้ทันที ในกรณีสั่งขาย

นอกจากเป็นศูนย์กลางซื้อขายเงินคริปโตแล้ว บิทคิกยังมีบทบาทในการให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมี Bitqik Academy เป็นศูนย์รวมหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์เกี่ยวกับการลงทุนในเงินคริปโต ให้ลูกค้าได้ศึกษาเรียนรู้ก่อน เพื่อป้องกันความผิดพลาด และ Bitqik Insight เป็นศูนย์รวมข้อมูล ข่าวสาร ด้านการเงิน การลงทุน และเรื่องราวเกี่ยวกับเงินคริปโตอย่างรอบด้าน มีการอัพเดทข้อมูลใหม่ทุกวัน เพื่อให้นักลงทุนได้ติดตามความเคลื่อนไหวของภาวะเศรษฐกิจและสภาพตลาด

……

รัฐบาลลาวได้ประกาศนโยบายยอมรับและสนับสนุนการใช้ ขุด และซื้อขายเงินดิจิทัลภายในประเทศ ตามหนังสือแจ้งการเลขที่ 1158/หสนย. ลงนามโดยคำเจน วงโพสี ซึ่งขณะนั้นยังเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 เรื่อง ทิศชี้นำเกี่ยวกับการค้นคว้า การทดลองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin) และการขอเซ็นสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้ากับบริษัทที่ให้เงื่อนไขด้านราคาไฟฟ้าสูงสุด เพื่อนำมาใช้ในกิจการ Data Processing หรือการขุดเหมืองดิจิทัล (Crypto Currency)

เนื้อหาในหนังสือแจ้งการฉบับนี้ ระบุว่าเพื่อไม่ให้เสียโอกาส จึงอนุญาตให้บริษัทเอกชนในประเทศ 6 แห่ง ได้ทดลองขุด ใช้ และซื้อขายเงินคริปโต ประกอบด้วย

  • บริษัทวาบป์ ดาตา เทคโนโลยี่ ลาว จำกัด
  • บริษัทพงซับทะวี ก่อสร้างขัวทาง จำกัด
  • บริษัทสีสะเกด ก่อสร้างครบวงจร จำกัด
  • บริษัทบุผา พัฒนาก่อสร้างเคหะสถาน ขัวทาง และสำรวจ ออกแบบ จำกัด
  • ธนาคารร่วมพัฒนา
  • บริษัทพูสี กรุ๊ป จำกัด
  • รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารเป็นแม่งาน ร่วมกับกระทรวงการเงิน ธนาคารแห่ง สปป.ลาว กระทรวงแผนการและการลงทุน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กระทรวงป้องกันความสงบ และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ศึกษา ค้นคว้า ร่างกฎระเบียบควบคุม และมาตรการเงื่อนไขต่างๆ ในการทดลองสำหรับการอนุญาตให้ขุดค้น และซื้อขายเงินคริปโตภายในลาว

    การประกาศนโยบายสนับสนุนธุรกรรมเงินดิจิทัลของลาว เกิดขึ้นหลังจากทางการจีนเพิ่งประกาศแบนธุรกรรมเดียวกันนี้ได้เพียง 2 เดือน

    โดยกลางเดือนมิถุนายน 2564 ทางการมณฑลเสฉวนได้สั่งยุติการทำเหมืองบิตคอยน์ในจีนโดยสิ้นเชิง ด้วยการสั่งให้บริษัทที่ทำธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ 26 แห่ง หยุดกิจกรรมโดยทันที ภายในวันที่ 20 มิถุนายน และสั่งห้ามโรงไฟฟ้าจ่ายไฟฟ้าให้กับเหมืองขุดบิตคอยน์ทุกแห่ง

    บริษัทเอสเอ็มจี กรุ๊ป ในเครือธนาคารร่วมพัฒนา เป็นบริษัทแรกใน 6 บริษัท ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลลาวให้ทดลองขุดบิตคอยน์มาแล้วประมาณ 1 ปี ที่ได้เปิดกระดานซื้อขายเงินคริปโตขึ้นอย่างเป็นทางการ ในนามบริษัทบิทคิก

    อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวบริษัทบิทคิกในจังหวะนี้ อาจดูเป็นการสวนกระแสเศรษฐกิจการเงินทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่ จากความขัดแย้งของมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียและจีน ที่เริ่มต้นขึ้นหลังรัสเซียบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และกำลังเพิ่มอุณหภูมิความร้อนแรงขึ้นทุกขณะ จนกลายเป็นการเผชิญหน้ากันอยู่ในขณะนี้

    วิกฤติครั้งนี้ ได้ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกเกิดความผันผวน โดยเฉพาะราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ราคาตกต่ำลงมาอย่างรุนแรง

    เศรษฐกิจภายในของลาวเองก็ต้องเผชิญกับวิกฤติใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ค่าเงินกีบของลาวเริ่มตกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนเมษายนตลาดการเงินของลาวได้เกิดภาวะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ กระทั่งเคยเกิดกรณีเงินดอลลาร์ในประเทศมีไม่เพียงพอจะสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาในประเทศ จนกลายเป็นความโกลาหล วุ่นวายตามปั๊มน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศมาแล้วในเดือนพฤษภาคม

    อัตราเงินเฟ้อของลาว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึงล่าสุดเดือนกันยายน 2565 ที่มาภาพ : กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า

    แต่สิ่งที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนลาวมากที่สุด คือภาวะเงินเฟ้อ โดยนับแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ลาวต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ศูนย์สถิติแห่งชาติ กระทรวงแผนการและการลงทุนประกาศออกมา เมื่อเทียบกันปีต่อปี พุ่งขึ้นสร้างสถิติใหม่มาตลอดทุกเดือน และตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 อัตราเงินเฟ้อของลาวได้เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก

    อัตราเงินเฟ้อของลาวเดือนมกราคม 2565 เทียบกับงวดเดียวกันของปี 2564 เพิ่มขึ้น 6.25% เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 7.31% มีนาคม 8.54% เมษายน 9.86% พฤษภาคมพุ่งขึ้น 12.81% มิถุนายน 23.61% กรกฎาคม 25.62% และสิงหาคม 30.01%

    ตัวเลขล่าสุดที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 หลังงานเปิดตัวบริษัทบิทคิกเพียงวันเดียว อัตราเงินเฟ้อของลาวเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้นถึง 34%

    สาเหตุสำคัญที่เงินเฟ้อของลาวพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม เครื่องมือเครื่องจักร ปัจจัยการผลิต และสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันของคนลาวส่วนใหญ่ ต้องนำเข้าไปจากต่างประเทศ

    เมื่อค่าเงินกีบตกต่ำได้ส่งผลโดยตรงให้ราคาสินค้าเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น จนกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนลาวทุกคน

    วาลี เวดสะพง ขณะอภิปรายในสภาแห่งชาติ ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทม์

    ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 3 ของสภาแห่งชาติลาว ชุดที่ 9 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 วาลี เวดสะพง สมาชิกสภาแห่งชาติ (สสซ.) จากเขตเลือกตั้งที่ 1 นครหลวงเวียงจันทน์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายในประเด็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ลาวกำลังเผชิญอยู่ ด้วยเนื้อหาที่กระชับ ตรงประเด็น ตอนหนึ่งเธอได้กล่าวถึงนโยบายสนับสนุนธุรกรรมเงินดิจิทัลของรัฐบาลลาวสั้นๆ ว่า

    “ข้าพเจ้าอยากถามเพิ่มเติมถึงตัวเลขที่ขายไฟฟ้าให้กับเหมืองบิตคอยน์นั้น ได้มากน้อยเพียงใด อันนี้จะขอรู้ตัวเลขได้ไหม เพราะว่าการให้ทำบิตคอยน์นี่ เพราะว่าเราจะขายไฟ อยากรู้ว่าในปัจจุบันนี่ เราขายได้มากน้อยแค่ไหน”

  • ลาวเปลี่ยนนโยบาย เริ่มทดลองใช้เงินคริปโต
  • สัปดาห์แห่งความ“โกลาหล” หน้าปั๊มน้ำมันทั่วประเทศลาว
  • “ต้นตอ” วิกฤตการเงินในลาว คำถามตรงประเด็นจาก “วาลี เวดสะพง”
  • เปิดชื่อ 7 นักธุรกิจชั้นนำลาว ที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี
  • วันที่ 7 ตุลาคม 2565 หลังงานเปิดตัวบริษัทบิทคิก 2 วัน Laonew.net ซึ่งเป็นสำนักข่าวเอกชน ได้โพสต์ในเชิงแสดงความห่วงใยออกมาทางเพจ Laonews ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 113,000 คน มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้…

    “อยู่ต่างประเทศเขาปั่นเงินคริปโตกันมาเป็นเวลา 10 ปี มีหลายบริษัทขาดทุนจากการซื้อขาย ล้มไปหลายบริษัทแล้ว บางประเทศผู้นำเห่อกับการซื้อบิตคอยน์ ตอนนี้ราคาตก ประเทศพร้อมจะล้ม ในประเทศไทยมีการเทรด พร้อมขบวนการโกงแบบแชร์ลูกโซ่ เป็นคดีความกัน ในจีนผลิตการ์ดจอ ผลิตเครื่องขุดบิตคอยน์มาขาย ตอนนี้เหมืองขุดบิตคอยน์ถูกห้าม เพราะใช้พลังงานไฟฟ้าเกินอัตรา จึงขายเลหลังเครื่องขุดและการ์ดจอมา

    โพสต์แสดงความห่วงใยต่อการเปิดกระดานซื้อขายเงินคริปโตในลาวของเพจ Laonews เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565

    ลาวเราเอง ก็เปิดให้มีการทดลองซื้อขายในปี 2021 มีรายงานในสภาฯว่าได้กำไร ได้ค่าภาษีอากรหลายล้านดอลลาร์ ล่าสุด มีข่าวว่า มีการเปิดบริษัทเทรด ซื้อขายบิตคอยน์เกิดขึ้นเป็นทางการ

    สภาพบิตคอยน์ตอนนี้ อยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก จากที่เคยขึ้นไปถึง 60,000 ดอลลาร์ ตอนนี้ลงมาเหลือ 20,000 ดอลลาร์ แบบขึ้นๆ ลงๆ หน่อย หมายความว่าใครซื้อตอน 60,000 ทุนลดไปแล้ว 2 ทบ มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ตอนนี้ใครก็ร้องโอ้ย โอ้ย คิดให้ดีก่อนตัดสินใจ”
    ……

    เอกกะพัน พะพิทัก ประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารร่วมพัฒนา (JDB) และประธานบริษัทเอสเอ็มจี กรุ๊ป ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-สังคม

    ธนาคารร่วมพัฒนา เป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนแห่งแรกใน สปป.ลาว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ตามวิสัยทัศน์ “จินตนาการใหม่” ของประธานประเทศ “ไกสอน พมวิหาน” ที่ต้องการดึงภาคเอกชนให้มีบทบาทในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้กับลาว

    ผู้ก่อตั้งธนาคารร่วมพัฒนาเป็นกลุ่มธุรกิจคนไทย คือ คุณหญิงสุวรรณี สิงห์สมบุญ พัวไพโรจน์ เจ้าของบริษัทพงษ์สุวรรณอบพืชและไซโล ซึ่งประธานไกสอนเป็นผู้เชิญชวนด้วยตนเอง ให้ข้ามแม่น้ำโขงไปช่วยตั้งธนาคารร่วมพัฒนา โดยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารสหธนาคาร ไปช่วยวางระบบให้

    เมื่อแรกเริ่มก่อตั้ง ธนาคารร่วมพัฒนาเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทพงษ์สุวรรณอบพืชและไซโล กับธนาคารแห่ง สปป.ลาว ในสัดส่วน 70 : 30 ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2553 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้โอนหุ้นที่ถืออยู่ 30% ให้หุ้นส่วนฝ่ายไทยถือทั้งหมด 100%

    เอกะพัน พะพิทัก (กลาง) เมื่อครั้งนำเงินภาษีจากผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ของธนาคารร่วมพัฒนา จำนวน 26.8 พันล้านกีบ ไปจ่ายให้กับกระทรวงการเงิน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ที่มาภาพ : กระทรวงการเงิน

    ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ตระกูลสิงห์สมบุญเป็นผู้บริหารธนาคารร่วมพัฒนามาตลอด กระทั่งถึงเดือนตุลาคม 2555 ที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้ง 100% ให้กับเอกะพัน พะพิทัก ประธานสีเมืองกรุ๊ป

    เอกกะพันเป็นชาวสะหวันนะเขต เริ่มต้นธุรกิจจากการทำไม้ จนเติบโตขยายธุรกิจออกไปอีกหลากหลายแขนง ตั้งแต่นำเข้า-ส่งออกสินค้า รับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจยานยนต์ และธุรกิจพลังงาน โดยได้รับสัมปทานเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำฮุ่ง ที่แขวงไซยะบูลี และเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซละมอง ในแขวงสะหวันนะเขต และก้าวสู่ธุรกิจการเงิน หลังเข้าซื้อหุ้น 100% ในธนาคารร่วมพัฒนา

    เอกะพัน พะพิทัก (ซ้าย) กับ พูทะนูเพ็ด ไซสมบัด (ขวา) ครั้งยังดำรงตำแหน่งหัวหน้ากรมส่วยสาอากร กระทรวงการเงิน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ที่มาภาพ : กระทรวงการเงิน

    เอกกะพัน เป็น 1 ในนักธุรกิจ 7 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะช่วยงานนายกรัฐมนตรี พันคำ วิพาวัน ตามข้อตกลงฉบับที่ 50/นย. ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี และเป็น 7 บุคคลากร ที่กำลังมีบทบาทสูงต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของลาวในหลายๆ ด้านอยู่ในทุกวันนี้..