ThaiPublica > เกาะกระแส > EXIM BANK จับมือ “BIDV” เปิดเครดิตไลน์ 100 ล้านเหรียญ หนุนเวียดนามสั่งสินค้าไทย

EXIM BANK จับมือ “BIDV” เปิดเครดิตไลน์ 100 ล้านเหรียญ หนุนเวียดนามสั่งสินค้าไทย

10 มิถุนายน 2022


เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานผู้แทน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ในนครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย , นางสาววีรกา มุทิตาภรณ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ , ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ไซง่อน นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม

EXIM BANK เปิดสำนักงานผู้แทน “โฮจิมินห์” หนุนทุนไทยรุกตลาด BCG ใน CLMV พร้อมปล่อยซอฟท์โลนให้ “BIDV” วงเงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หนุนนักธุรกิจเวียดนามสั่งซื้อสินค้าไทยขั้นต่ำ 50%

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานผู้แทน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ในนครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย , นางสาววีรกา มุทิตาภรณ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ , ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ไซง่อน นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม

ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงการส่งเสริมการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนก้าวพ้นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ควบคู่กับการเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ของโลกยุค Next Normal

“ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เวียดนามเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มียุทธศาสตร์ชัดเจน ในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบ และการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนโดยเฉพาะมาตรการทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สอดรับกับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามโดยการสนับสนุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่าง EXIM BANK ในการทำงานเชิงรุกเพื่อสนับสนุนทุนไทยให้เข้าไปสยายปีกในต่างประเทศมากขึ้น โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของ EXIM BANK พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อสนับสนุนธุรกิจ BCG ในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น” ดร. อาคม กล่าว

พิธีลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินระหว่าง EXIM กับ BIDV

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอน และความท้าทายในโลกยุค Next Normal ยังมีโอกาสทางธุรกิจจำนวนมากอยู่รายล้อม โดย EXIM BANK พร้อมรับความเสี่ยงและเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทั้งด้านสินเชื่อและให้บริการประกันความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงทางการค้า และความเสี่ยงทางการเมือง ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่สู่อนาคต รวมถึง BCG และสนับสนุนทุนไทยไปต่างประเทศมากขึ้น โดยในวันนี้มี 2 กิจกรรมดังนี้

    1. เปิดสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินห์อย่างเป็นทางการ เพื่อทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้ทีมประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมทีม EXIM BANK สู่บทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” ควบคู่กับการเป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs” ด้วยภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” เพื่อเป็นกลไกการพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน และ

    2.ลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินกับธนาคารเพื่อการลงทุนและพัฒนาแห่งประเทศเวียดนาม (The Joint Stock Commercial Bank for Investment and Development of Vietnam : BIDV) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลเวียดนามในวงเงินเบื้องต้น 100 ล้านเหรัยญสหรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้ BIDV นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการปล่อยกู้ให้กับนักธุรกิจเวียดนาม โดยมีเงื่อนไขในการปล่อยกู้ที่สำคัญ คือ จะต้องสั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 50% ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างโอกาสขยายการค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนาม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK

“การสนับสนุนทางการเงินให้กับ BIDV วงเงิน 100 ล้านเหรัยญสหรัฐครั้งนี้ ใช้รูปแบบของ Soft Loan โดย EXIM BANK จะปล่อยกู้ให้กับ BIDV ในอัตราดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดเงินของประเทศเวียดนามอยู่ที่ 12% ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจให้ BIDV นำเงินที่ได้รับจาก EXIM BANK ไปล่อยกู้ต่อให้กับนักธุรกิจเวียดนาม โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยอย่างน้อย 50% ซึ่งทาง EXIM BANK จะขยายการสนับสนุนเงินในรูปแบบดังกล่าวนี้ไปยังประเทศอื่นๆ ใน CLMV ให้ 4 ประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ รวมทั้งยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.รักษ์ กล่าวต่อว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของการจัดตั้งสำนักงานผู้แทน EXIM BANK เป็นแห่งที่ 4 โดย EXIM BANK ได้มีบทบาทสนับสนุนให้เกิดธุรกิจการค้าและการลงทุนของไทยในเวียดนามมาเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนในเวียดนามภายใต้การสนับสนุนของ EXIM BANK ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ปิโตรเคมี ห้างค้าส่งและค้าปลีก โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 EXIM BANK ได้ขยายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการในเวียดนามมากที่สุดในตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 13,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินเชื่อคงค้างใน CLMV และ New Frontiers ทั้งหมด 51,554 ล้านบาท ทั้งนี้ เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยในอาเซียน การส่งออกของไทยไปเวียดนาม เน้นการตอบสนองความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเวียดนาม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่การลงทุนของไทยในเวียดนามกระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป เกษตรและประมง ธนาคาร ก่อสร้าง ค้าส่ง ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร คลินิกเสริมความงาม ขนส่ง โลจิสติกส์ และธุรกิจโฆษณา โดยไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 8 ในเวียดนาม

“โอกาสใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการไทยยังมีอยู่อีกมากในเวียดนาม เนื่องด้วยจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงเกือบ 7% ต่อปีโดยเฉลี่ย แม้ในวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมายังขยายตัวได้ที่ระดับเกือบ 3% ไทยและเวียดนามเป็นพันธมิตรทางการค้ามาช้านานและมีที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของ SMEs ไทยในการส่งออก โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มผู้บริโภคเวียดนามตามช่วงอายุ ซึ่งมีความต้องการที่หลากหลาย โดยผู้บริโภคชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้นเป็นลำดับ ประชากรวัยทำงานมีกำลังซื้อสูงขึ้นและชอบชอปปิ้งออนไลน์ ทำให้ตลาด E-Commerce โตถึง 35% ต่อปี ขณะเดียวกัน เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งไทย โดยมีนครโฮจิมินห์เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า บริการ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการคมนาคม เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและท่าเรือไซง่อนซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเวียดนาม เศรษฐกิจของโฮจิมินห์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และขยายตัวสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของทั้งประเทศ” ดร.รักษ์ กล่าว