ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ชา 400 ปี” บ้านกอแมน … ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของลาว

“ชา 400 ปี” บ้านกอแมน … ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของลาว

19 ธันวาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ภาพหญิงชาวพูน้อยปีนป่ายขึ้นไปเด็ดใบชาบนยอดไม้ที่สูงกว่า 3 เมตร ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางในชุมชนออนไลน์เมื่อ 9 ปีที่แล้ว

ภาพกลุ่มผู้หญิงชาว “พูน้อย” 5-6 คน ปีนป่ายอยู่บนต้นชาขนาดใหญ่ที่สูงเกินกว่า 3 เมตร เพื่อเด็ดยอดอ่อนมาตากแห้งทำเป็นใบชา ซึ่งเผยแพร่ไปตามชุมชนออนไลน์ของลาวเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ที่พบเห็นได้ไม่น้อย

ยิ่งเมื่อได้อ่านเรื่องราวของต้นชาที่พวกเธอไต่ขึ้นไปเด็ดยอด ซึ่งผู้เขียนในขณะนั้นกล่าวถึงเพียงสั้นๆ ว่าเป็นต้นชาธรรมชาติที่มีอายุยืนยาวกว่า 400 ปี ยิ่งจุดประกายความอยากรู้ อยากเห็น ไม่เฉพาะกับคนลาว แต่ชาวต่างชาติแทบทุกคนที่เห็นภาพ ต่างต้องการเดินทางไปดูต้นชาของจริง

“พูน้อย” เป็น 1 ใน 50 ชนเผ่าซึ่งสภาแห่งชาติลาวรับรองอย่างเป็นทางการ ชาวพูน้อยหรือที่เรียกในชื่ออื่น เช่น ผู่น้อย ผู้น้อย ปูน้อย สิงสีลิ ปีซู ไทผ้งสาลีฯลฯ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในรัฐฉานของเมียนมา และจากประเทศจีน ต่อมาชนเผ่านี้ได้แผ่ขยายประชากรออกไปสร้างชุมชนเพิ่มเติมอยู่ในลาวและเวียดนาม

จากข้อมูลที่ได้รับการสำรวจเมื่อปี 2548 ใน สปป.ลาว มีชาวพูน้อยอยู่ 37,447 คน กระจายตัวตั้งถิ่นฐานอยู่ในแขวงผ้งสาลี หลวงน้ำทา บ่อแก้ว อุดมไซ และหลวงพระบาง

ต้นชา 400 ปีในภาพ อยู่ที่บ้านกอแมน เมืองผ้งสาลี แขวงผ้งสาลี อยู่ห่างจากตัวเทศบาลเมืองผ้งสาลีไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 15 กิโลเมตร

ผ้งสาลีเป็นแขวงที่อยู่เหนือสุดของลาว มีชายแดนติดกับจังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใบชาเลื่องชื่อจนถูกขนานนามให้เป็น “เมืองแห่งใบชาจีน”

ที่ตั้งแขวงผ้งสาลี ซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ภาพหญิงชาวพูน้อยปีนขึ้นไปเก็บใบชา แม้เผยแพร่ออกมานาน อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2557 แต่ก็นำมาใช้กันอีกนับครั้งไม่ถ้วนในหลายสื่อจนถึงปัจจุบัน ทุกๆครั้งเมื่อมีการพูดถึงใบชาและต้นชาอายุ 400 ปี จากบ้านกอแมน

……

ประวัติของต้นชา 400 ปี ที่บ้านกอแมน มีกล่าวถึงไว้ในหลายแหล่ง

วิกิพีเดียภาษาลาว หัวข้อ “สวนชา 400 ปี” เขียนว่า บ้านกอแมนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวจีนที่อพยพมาปักหลักสร้างบ้านเรือนเมื่อหลายร้อยปีก่อน และปลูกชาขายมาตั้งแต่ต้น จนถึงปัจจุบัน สามารถผลิตได้ 60-70 ตันต่อปี มีโรงงานผลิตและห้องเก็บรักษาชา ที่สามารถเก็บชาไว้ได้ถึง 10 ปี โดยสวนชาเก่าแก่อายุ 400 ปีของบ้านกอแมนนั้น อยู่ใกล้ๆ กับตัวหมู่บ้าน…

วันที่ 10 ตุลาคม 2557 เพจ “เครือสายเลือดลาว” บอกเล่าเรื่องราวของต้นชาอายุ 400 ปีจากบ้านกอแมน โดยให้ข้อมูลว่า ใบชาที่นี่สามารถเก็บได้เกือบตลอดปี ยกเว้นช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม เวลาเก็บเกี่ยวจะคัดเก็บแต่ยอดอ่อน 3 ใบต่อยอดเท่านั้น จากนั้นนำมาคั่วจนสุกพอควร ยกหม้อคั่วขึ้นขณะที่ไฟยังร้อน ใช้มือบีบคั้นใบชาให้เหนียวพอประมาณ เพื่อให้ใบชามีรสชาติหวานและกลิ่นหอม ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง จึงค่อยนำมาชงดื่ม

เนื่องจากต้นชาอายุ 400 ปี มีรากใหญ่หยั่งลึกลงไปในพื้นดินที่มีแร่ธาตุอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีลำต้นสูงกว่า 6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางโคนลำต้นกว่า 30 เซนติเมตร เป็นจุดเด่นทำให้ชาจากบ้านกอแมนมีกลิ่นหอมและรสชาติเฉพาะตัว…

สวนชา 400 ปี ที่บ้านกอแมน ที่มาภาพ : เพจซาวนาสตูดิโอ

เพจ “ซาวนาสตูดิโอ” เคยเขียนเรื่องสวนชา 400 ปี ที่บ้านกอแมนไว้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 บอกว่า บ้านกอแมนมีอีกชื่อหนึ่งว่าบ้าน “ลุงจิง” เรียกตามชื่อของ “ลุงจิง” ชาวพูน้อยที่อพยพมาจากจีน และเป็นผู้นำต้นชาต้นแรกมาปลูกไว้ที่บ้านกอแมนเมื่อกว่า 400 ปีก่อน และเป็นจุดเริ่มต้นการปลูกชาขายที่ชาวพูน้อยบ้านกอแมนยึดถือเป็นอาชีพมาตลอดกว่า 400 ปี จนถึงรุ่นปัจจุบัน ถือเป็นเจเนอเรชันที่ 7 แล้ว

ภาพต้นชา 400 ปี ที่เพจ “ซาวนาสตูดิโอ” นำมาเผยแพร่ ส่วนใหญ่เป็นทรงพุ่มเตี้ยพอท่วมหัวคน ต้นไม่สูงมาก เพราะเจ้าของตัดแต่งทรงต้นทุกปีเพื่อให้ชาแตกยอด จะได้เด็ดใบขาย แต่ยังพอมีบางต้นที่ปล่อยไว้โดยไม่ได้ตัดแต่ง ทำให้มีลำต้นสูงถึง 6 เมตร

ทุกวันนี้ต้นชาอายุกว่า 400 ปี ที่ปลูกไว้ตั้งแต่ยุคลุงจิงยังคงมีเหลืออยู่ 48,373 ต้น ในพื้นที่ 32.25 เฮกตาร์ หรือประมาณ 201.6 ไร่ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของแขวงผ้งสาลีสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่รักการผจญภัย เพราะการเดินทางไปยังเมืองผ้งสาลี โดยเฉพาะบ้านกอแมน ถนนหนทางค่อนข้างลำบาก…

วันที่ 9 มีนาคม 2566 เพจ Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz เขียนว่า ตำนานชา 400 ปีที่บ้านกอแมนมีการเล่าขานต่อๆ กันมาหลายทอด แต่ยังไม่มีตำนานใดที่ยืนยันได้ว่า ต้นชาเก่าแก่ของที่นี่เป็นชาป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นต้นชาที่มีคนนำมาปลูกไว้

Lao Youth Radio เล่าว่า ทางทิศเหนือของบ้านกอแมนมีเนินเขาลูกหนึ่ง ซึ่งภาษาพูน้อยเรียกว่า “ละเตพุบ” แปลว่าเนินสวนชา ที่ถูกเรียกเช่นนี้ เพราะเมื่อนานมาแล้ว ชาวบ้านได้พบต้นชาต้นแรกของหมู่บ้านบนเนินเขาแห่งนี้โดยบังเอิญ ขณะที่กำลังพักผ่อนอยู่ใต้ร่มไม้ขนาดใหญ่ระหว่างออกไปทำไร่ ต่อมาได้รู้ภายหลังว่าต้นไม้ต้นนั้นคือต้นชา และด้วยขนาดของต้น ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นชาที่มีอายุหลายร้อยปี เทียบเท่าได้กับอายุของหมู่บ้าน

เมื่อชาวบ้านลองเด็ดยอดใบชาจากต้นที่พบมาต้มกับน้ำดื่มดูแล้ว พบว่าน้ำชาที่ได้มีกลิ่นหอมและรสชาติที่อร่อยกว่าชาชนิดอื่นที่เคยรู้จัก จึงเป็นต้นกำเนิดของการผลิตใบชาเพื่อจำหน่ายของชาวบ้านกอแมน

รากอากาศบริเวณผิวลำต้นที่แสดงถึงความเก่าแก่ของต้นชาบ้านกอแมน ที่มาภาพ : เพจซาวนาสตูดิโอ

……

ระหว่างวันที่ 11-12 สิงหาคม 2563 ทองสะหวัน ทำมะวง ประธานแนวลาวสร้างชาติ แขวงผ้งสาลี ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ในโอกาสเข้าร่วมประชุมกรรมการศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ ครั้งที่ 5 สมัยที่ 10 ที่นครหลวงเวียงจันทน์

เขาบอกว่า แนวลาวสร้างชาติ แขวงผ้งสาลี ได้วางยุทธศาสตร์เปลี่ยนผลผลิตจากธรรมชาติ ไปสู่การผลิตในระบบเศรษฐกิจการตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่า โดยสร้างอาชีพที่สามารถทำรายได้อย่างสม่ำเสมอให้แก่ประชาชนในพื้นที่

ที่ผ่านมาผลผลิตที่เป็นจุดเด่นของแขวงผ้งสาลีคือใบชา จึงได้สนับสนุนให้ประชาชนใน 22 บ้านทำไร่ชาเพื่อผลิตเป็นสินค้าส่งขายเข้าไปในจีน

ประธานแนวลาวสร้างชาติ แขวงผ้งสาลี เล่าว่าพื้นที่ตอนเหนือของแขวงผ้งสาลี เป็นชายแดนที่อยู่ติดกับจีน ในเมืองผ้งสาลีมีต้นชาธรรมชาติอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี อยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของใบชาจากที่นี่

ตามข้อมูลที่นำเสนอในขณะนั้น แขวงผ้งสาลีมีพื้นที่ปลูกชาทั้งหมด 1,643 เฮคตา หรือ 10,270 ไร่ เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถผลิตยอดใบชาได้แล้ว 1,550 เฮกตาร์ หรือ 9,690 ไร่ เฉพาะพื้นที่ซึ่งมีต้นชาอายุมากกว่า 400 ปี มีอยู่ 30 เฮคตา หรือ 188 ไร่

ปี 2563 มีบริษัทชาจากจีนหลายแห่ง เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานปรุงแต่งใบชาอยู่ในแขวงผ้งสาลี รับซื้อยอดใบชาจากเกษตรกรนำไปแพ็กส่งขายกลับไปยังจีน

ปี 2562 และ 6 เดือนแรกของปี 2563 ยอดส่งออกใบชาจากแขวงผ้งสาลีเข้าไปจีน มีมูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านกีบ เฉพาะ 6 เดือนแรกของปี 2563 ส่งออกไปแล้ว 2,000 ล้านกีบ ราคาขายส่งใบชาแห้งจากแขวงผ้งสาลี เมื่อปี 2563 มีรายละเอียดดังนี้

  • ชาป่า กิโลกรัมละ 170,000 กีบ
  • ชาใบใหญ่อายุ 400 ปี กิโลกรัมละ 150,000 กีบ
  • ชาแนวพันธุ์ 400 ปี กิโลกรัมละ 60,000 กีบ
  • ชาใบเล็ก กิโลกรัมละ 35,000 กีบ
  • (อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อกลางปี 2563 เงิน 1 บาทแลกได้ 280 กีบ ปัจจุบัน เงิน 1 บาทแลกได้ 680 กีบ)

    ยอดอ่อนของใบชาจากบ้านกอแมน ที่มาภาพ : เพจซาวนาสตูดิโอ

    อย่างไรก็ตาม สถานีวิทยุเอเซียเสรีภาคภาษาลาว มีรายงานว่า หลังโควิด-19 เริ่มระบาดเข้าไปในลาว ทำให้ตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา เกษตรกรผู้ปลูกชา 400 ปีที่บ้านกอแมนต้องเผชิญกับปัญหาราคารับซื้อใบชาตกต่ำอย่างรุนแรง เนื่องจากพ่อค้าจีนส่วนใหญ่ไม่ยอมเดินทางเข้าไปซื้อ ขณะที่พ่อค้าจำนวนน้อยที่ยอมเดินทางไปรับซื้อใบชาจากชาวบ้านก็ตั้งเงื่อนไขการซื้อไว้สูงมาก เช่น ต้องเด็ดใบชาเพียง 1 ใบ ต่อ 1 ยอดเท่านั้น ถ้าพบเกินจากนี้ เช่น 2 ใบต่อ 1 ยอด จะกดราคารับซื้อลง

    ราคารับซื้อยอดใบชา 400 ปีของพ่อค้าชาวจีนในช่วงเวลาดังกล่าว ลดจากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 150,000-170,000 กีบ ลงมาเหลือเพียง 5,000 กีบต่อ 1 กิโลกรัมเท่านั้น!

    ประสบการณ์ในช่วงโควิด-19 ระบาดทำให้ชาวบ้านกอแมนตระหนักว่า การพึ่งตลาดส่งออกใบชาไปยังจีนเพียงประเทศเดียวถือเป็นความเสี่ยง เหล่าผู้ผลิตใบชาที่บ้านกอแมนจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “สมาคมส่งเสริมชากอแมน” ทำโครงการส่งเสริมและปกป้องถิ่นกำเนิดชากอแมน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Agence Française de Développement หรือ AFD)

    กระบวนการผลิตและการทำตลาดชาจากบ้านกอแมน เริ่มมีการปรับแนวคิดทางธุรกิจให้เป็นระบบที่ทันสมัย…

    วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ที่กรุงปารีส สมาคมส่งเสริมชากอแมน ได้ส่งผลิตภัณฑ์ใบชาเข้าร่วมประกวดในรายการ “Teas of the World International Contest” ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดโดย The Agency for the Valorization of Agricultural Products หรือ AVPA มีผู้ผลิตใบชาจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน ไต้หวัน อินเดีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น เวียดนาม ฝรั่งเศส รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ฯลฯ ส่งผลิตภัณฑ์ชาของตนเองเข้าประกวดในครั้งนี้ด้วย

    ผลการประกวด ผลิตภัณฑ์ใบชาจากบ้านกอแมนได้รับรางวัลเหรียญทองในประเภท “ชาเขียวตากแห้งด้วยแสงแดด” (sun-dried green tea) และยังได้รับรางวัลพิเศษประเภท “ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ” อีกหนึ่งรางวัล

    ปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 สื่อแทบทุกแห่งในลาวพร้อมใจกันรายงานข่าวการได้รับรางวัลในการประกวดรายการ Teas of the World ของใบชาจากบ้านกอแมน เนื้อหาข่าวเขียนตรงกันว่า รางวัลที่ได้รับเป็นการยืนยันถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ใบชาจากบ้านกอแมน ว่าได้ก้าวขึ้นสู่มาตรฐานระดับโลก ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับใบชาจากบ้านกอแมนให้เป็นที่รู้จักในหมู่คนที่นิยมดื่มชาที่มีคุณภาพจากหลายประเทศ และช่วยดึงดูดผู้คนให้อยากเดินทางมาเที่ยวยังแขวงภาคเหนือของลาว

    ส่วนหนึ่งของสื่อลาวที่เสนอข่าวการได้รับรางวัลจากการประกวด Teas of the World ของชากอแมน

    วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำนักข่าวสารประเทศลาว ซึ่งเป็นสื่อของทางการ ได้เผยแพร่ คลิปสารคดีเชิงข่าว ความยาว 4 นาทีครึ่ง บอกเล่าเรื่องราวของชากอแมนอย่างละเอียด โดยเฉพาะกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปีนขึ้นไปเด็ดยอด การตาก คั่ว หมัก กระทั่งออกมาเป็นผลผลิตใบชา กระบวนการทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันธ์กับวิถีชีวิตของชนเผ่าพูน้อยและอาข่า ชนเผ่าท้องถิ่นของบ้านกอแมน เมืองผ้งสาลี

    ……

    การปีนเก็บใบชาของหญิงชาวพูน้อยยุคหลัง ที่มาภาพ : เพจซาวนาสตูดิโอ

    ภาพต้นชาเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี การปีนเก็บใบชาบนยอดที่สูงกว่า 3 เมตรของหญิงสาวชนเผ่าพูน้อยเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน มาถึงวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงแม่เหล็กเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวให้กับแขวงผ้งสาลีเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว

    เรื่องราวของใบชาจากบ้านกอแมนกำลังเป็นที่บอกเล่าออกมาใหม่อย่างเป็นลำดับ ขั้นตอน เพื่อให้ชากอแมนได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่งของลาว

    อาจมีความหมายตรงกับคำศัพท์ฮิต ที่กำลังเอ่ยถึงกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทยขณะนี้… “ซอฟต์พาวเวอร์”