ThaiPublica > เกาะกระแส > บทเรียนจาก ‘อาร์เจนตินา’ ทำไมลาตินอเมริกา เป็น ‘ชาติล้มเหลวทางเศรษฐกิจ’

บทเรียนจาก ‘อาร์เจนตินา’ ทำไมลาตินอเมริกา เป็น ‘ชาติล้มเหลวทางเศรษฐกิจ’

27 ธันวาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ฮาเวียร์ มิเล (Javier Milei) ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอาร์เจนตินา ที่มาภาพ : https://www.infobae.com/politica/2023/12/27/el-gobierno-oficializo-la-suspension-de-la-pauta-publicitaria/

ในบทรายงานของ nytimes.com ชื่อ In Country Where House Bought in $100 Bills, Plans for Sweeping Change กล่าวว่า เมื่อฮาเวียร์ มิเล (Javier Milei) ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอาร์เจนตินา ราคาสินค้าเช่นเนื้อวัวเพิ่มขึ้นทันที 5% ขณะที่เงินเปโซอาร์เจนตินามีค่าตกลง 12% ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดต่ำลง เจ้าของร้านขายเนื้อคนหนึ่งบอกว่า ที่ผ่านมา ได้ขึ้นราคาเนื้อวัวหลายครั้งแล้ว คงไม่สามารถขึ้นราคาได้อีก

ฮาเวียร์ มิเลเป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมสุดขั้ว หัวใจสำคัญในนโยบายของเขา คือนำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มาใช้แทนเงินเปโซของท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา รวมทั้งปิดธนาคารกลาง และลดจำนวนกระทรวงต่างๆลง เพื่อทำให้หน่วยงานรัฐเล็กลง

นับจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เงินเปโซมีค่าลดลงไปแล้ว 93% เศรษฐกิจอยู่ในสภาพเงินเฟ้อสูงมาตลอด ในยามเศรษฐกิจประสบภาวะปั่นป่วน ประเทศยิ่งพึ่งพิงเงินดอลลาร์มากขึ้น ในการทำธุรกรรมของแต่ละวัน ทุกวันนี้ คนอาร์เจนติน่าหอบเงินสดเป็นธนบัตรมูลค่า 100 ดอลลาร์ไปซื้อบ้าน ที่ดินหรือรถยนต์

Nytimes.com บอกว่า จำนวนเงินดอลลาร์ที่หมุนเวียนทั้งหมดในประเทศต่างๆ มีอยู่ในอาร์เจนตินาประมาณ 10% หรือราวๆ 200 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าทุกประเทศที่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา เงินดอลลาร์เฉลี่ยต่อคนของอาร์เจนตินาอยู่ที่ 4,400 ดอลลาร์ ขณะที่ในสหรัฐฯเฉลี่ยต่อคน 3,100 ดอลลาร์ สำหรับคนอาร์เจนตินา ดอลลาร์คือสัญลักษณ์ความปลอดภัยทางการเงิน

ประเทศที่เกิดวิกฤติเรื้อรัง

บทความของ abc.net.au เรื่อง How Argentina went from one of the world’s richest nations to 100% inflation เขียนไว้ว่า ก่อนเกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกในทศวรรษ 1930 อาร์เจนตินาเป็น 1 ใน 10 ประเทศในโลก ที่รายได้ต่อคนสูงสุด

แต่นับจากทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา อาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก ที่มีจำนวนปีมากสุด ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย

นับจากต้นปี 2023 ภาวะเงินเฟ้อสูงถึง 100% มากสุดในรอบ 32 ปี ในสภาพที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจนผู้คนเลิกพูดถึงมันแล้วก็คือ ไม่มีใครรู้ว่า “ราคาสินค้า” มีความหมายว่าอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า “การคาดการณ์ที่หลุดลอย” เจ้าของห้องเช่าคนหนึ่งในเมืองบูโนสแอเรส พูดว่า “แต่ละวันราคาสินค้าขึ้นไปมาก ในที่สุด เราไม่มีเข้าใจว่า สินค้าแต่ละอย่างมีค่าเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่กันแน่”

วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเรื้อรัง มาจากการขาดดุลด้านงบประมาณต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางต้องพิมพ์เงินออกมาแก้ปัญหานี้ รวมทั้งต้องลดค่าเงินเป็นระยะ อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้คนในปัจจุบันเคยชินหรือเห็นเป็นเรื่องปกติ ที่จะมีเงินเฟ้อระดับ 30%

ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของอาร์เจนตินามีต้นตอมานานหลายปี จากเรื่องการบริหารงานผิดพลาดทางเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การใช้จ่ายเงินมากกว่ารายรับ งบประมาณขาดดุลจำนวนมาก นโยบายกีดกันการค้า นโยบายการควบคุมเงินตรา ที่ซับซ้อนยากจะเข้าใจ หนี้สินต่างประเทศ 44 พันล้านดอลลาร์ และการอาศัยการพิมพ์ธนบัตรมาชำระหนี้สินของรัฐบาล

หลังจากเข้ารับตำแหน่ง รัฐบาลของจาเวียร์ มิเลก็ลดค่าเงินเปโซลงกว่า 50% อัตราแลกเปลี่ยนทางการจาก 366.5 เปโซต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 800 เปโซต่อดอลลาร์ ส่วนอัตราแลกในตลาด เมื่อเกิดโควิด-19 อยู่ที่ 80 เปโซต่อดอลลาร์ เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว 300 เปโซต่อดอลลาร์ หลังชัยชนะของจาเวียร์ มิเล 1,075 เปโซต่อดอลลาร์

นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นว่า การใช้ดอลลาร์เป็นเงินสกุลทางการในเศรษฐกิจอาร์เจนตินาเป็นเรื่องท้าทายมาก ในจุดเริ่มต้น ประเทศนั้นต้องมีเงินดอลลาร์จำนวนมากอยู่ในมือ คนอาร์เจนตินาอาจมีเงินดอลลาร์สะสมไว้ แต่รัฐบาลอาร์เจนตินาไม่มีเงินดอลลาร์เลย นอกจากนี้ ประเทศจะขาดเครื่องมือทางการเงินสำคัญ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย หรือการควบคุมเงินเฟ้อ การหันมาใช้เงินดอลลาร์ทำให้ประเทศนั้น จะต้องลดค่าเงินลงทันที

ที่มาภาพ : amazon.com

ทำไมลาตินอเมริกาจึงล้มเหลว

หนังสือ Why Latin American Nations Fail เขียนไว้ว่า มีคำอธิบายหลายอย่างเรื่องที่ว่า ทำไมบางประเทศเจริญมั่งคั่ง และทำไมบางประเทศยังยากจน และมีความเห็นหลายอย่างเช่นกันต่อปัญหาที่ว่า ทำไมประเทศจำนวนมาก รวมทั้งลาตินอเมริกา จึงต้องอยู่ในสภาพตรงกลาง คือไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่ยากจนกว่า และก็ไม่สามารถไล่ตามประเทศร่ำรวย

แนวคิดเศรษฐศาสตร์ดั่งเดิมมองว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ มาจากการลงทุนด้านปัจจัยการผลิต เช่น เงินทุนกับแรงงาน และการใช้เทคโนโลยี แนวคิดนี้ให้ความสำคัญการเติบโตที่มาจากอุปทาน (supply) แนวคิดที่ 2 คือความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจ มาจากระบบการแบ่งงาน ที่เป็นรากฐานความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และจากการเติบโตของอุปสงค์หรือความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นแนวคิดของ Adam Smith แนวคิดที่ 2 ให้ความสำคัญกับการเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ (demand-led growth)

ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งเรียกว่า แนวคิดเศรษฐศาสตร์สถาบัน (institutional economics) ที่อธิบายความสำเร็จหรือล้มเหลวในการพัฒนา โดยการจำแนกระหว่างประเทศที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาครอบคลุมถ้วนหน้า (inclusive) กับประเทศที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ หรือทำหน้าที่เรียกเก็บค่าเช่า (rent-seeking)

พฤติกรรมเศรษฐกิจของรัฐและเจ้าหน้าที่ ที่แสวงหาประโยชน์ เป็นธุรกรรมที่ทำให้เกิดสูญเปล่า การไร้ประสิทธิภาพ และมีต้นทุนสูง การกระทำของรัฐที่แสวงหาประโยชน์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการและธุรกิจ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจ กลายเป็นธุรกรรมที่แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ มากกว่าการหาประโยชน์จากการสร้างความมั่งคั่งแบบใหม่ขึ้นมา

หนังสือ Why Latin American Nations Fail สรุปบทเรียนการพัฒนาและการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ว่า

  • ประการแรก นโยบายการพัฒนาไม่สามารถอาศัยเพียงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนหรือการส่งเสริมการเติบโต แต่ต้องให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงคุณภาพของสถาบันประเทศ
  • ประการที่ 2 เงื่อนไขสำคัญต่อการพัฒนาคือ บทบาทที่ยึดหยุ่นของรัฐในเรื่องการส่งเสริมการลงทุน นโยบายอุตสาหกรรมกับนวัตกรรม นโยบายการศึกษา นอกเหนือจากบทบาทด้านนโยบายสาธารณะประโยชน์แบบดั้งเดิม
  • ประการที่ 3 นโยบายส่งเสริมการเติบโต ไม่ควรจำกัดเฉพาะด้านอุปทานเท่านั้น ที่สำคัญต้องส่งเสริมการขยายตัวของอุปสงค์ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หลายประเทศใช้นโยบายลดภาษีรายได้แก่นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา หรือเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐ มากขึ้น เป้าหมายคือทำให้อุปสงค์ของเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้น
  • ประการสุดท้าย สถาบันเกี่ยวข้องการพัฒนาจะทำงานได้ผล ต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินตามแผนการพัฒนา แบบเดียวกับความเป็นอิสระ ของกระทรวงการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรม หรือ MITI ของญี่ปุ่น ความสำเร็จของ MITI ในการพัฒนาญี่ปุ่นหลังสงคราม เกิดจากข้าราชการประจำ มีอำนาจตัดสินใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยไม่มีการแทรกแซงจากนักการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจจะได้ผล ต้องแยก “การมีตำแหน่ง” (reign) ออกจาก “การมีอำนาจ” (rule)
  • นักเศรษฐศาสตร์มักอาศัยสำนวนเปรียบเทียบของนักประพันธ์ Tolstoy ความสำเร็จทางเศรษฐกิจทั้งมวล ก็เหมือนครอบครัวที่มีความสุข คือมาจากความประหยัด การมีธรรมาภิบาล และนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาคที่รอบครอบ ส่วนความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ก็เหมือนครอบครัวที่ไร้ความสุข ก็ล้มเหลวตามแบบที่เฉพาะของแต่ละราย

    เอกสารประกอบ
    In Country Where Houses Are Bought in $100 Bills, Plans for Sweeping Change, November 24, 2023, nytimes.com
    How Argentina went from one of the world’s richest nations to 100 per cent inflation, April 11, 2023, abc.net.au
    Why Latin American Nations Fail, Edited by Esteban Perez Caldentey and others, University of California Press, 2017.