ThaiPublica > เกาะกระแส > ตรุษจีน สัญลักษณ์ “การอพยพครั้งใหญ่” ของคนจีน แรงงานชนบท ที่สร้างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ตรุษจีน สัญลักษณ์ “การอพยพครั้งใหญ่” ของคนจีน แรงงานชนบท ที่สร้างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

8 มกราคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2022/01/24/china/china-wuhan-lockdown-two-years-mic-intl-hnk/index.html

จีนเป็นประเทศที่มีเทศกาลหยุดยาว 3 ช่วง คือตรุษจีน วันแรงงานและวันชาติจีน เมื่อรวมกันจีนมีวันหยุดนานปีหนึ่ง 40 วัน

ดังนั้นในแต่ละปี เมืองต่างๆในประเทศจีนจะร้างผู้คนเป็นเวลา 40 วัน โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน กระทรวงการรถไฟของจีนเรียกช่วงนี้ว่า “ฤดูการเดินทางเทศกาลใบไม้ผลิ” เทศกาลนี้มีวันหยุดนาน 2 สัปดาห์ ที่คนจีนจะเข้าคิวซื้อบัตรโดยสารรถไฟ เพื่อกลับไปเยี่ยมครอบครัวในชนบท

ในช่วงเทศกาลตรุษจีน คนในนครเซี่ยงไฮ้กว่า 40 % เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด ภายในวันเดียว มีคนไปใช้บริการรถไฟของเซี่ยงไฮ้ถึง 1.3 ล้านคน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศ ต้องรับมืออย่างหนักกับคลื่นอพยพกลับบ้านของคนจีนในช่วงเทศกาลหยุดยาว

การเดินทางในเทศกาลวันหยุดยาวของคนจีนจำนวนมาก คือภาพสิ่งที่สะท้อนถึง “การอพยพครั้งใหญ่ของจีน” (China’s Great Migration) กระบวนการนี้คือสิ่งที่ทำให้ในระยะเวลามากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรในเมืองของจีนเพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการอพยพของคนจากชนบท เข้ามาทำงานในเมือง

เศรษฐกิจที่ล้อมรอบ “ตรุษจีน”

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Chinas-Great-Migration-Prosperous-Nation/dp/1598132229

หนังสือชื่อ China’s Great Migration เขียนไว้ว่า เศรษฐกิจจีนถูกประดิษฐ์ขึ้นมาให้ล้อมรอบเทศกาลตรุษจีน ในหลายสัปดาห์ก่อนหน้าที่จะถึงเทศกาลวันหยุด ผลผลิตทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากบริษัททั้งหลายต้องการบรรลุเป้าการผลิต ก่อนที่คนงานจะหยุดงาน 2 สัปดาห์ เมื่อเทศกาลวันหยุดสิ้นสุดลง บริษัทต่างๆต้องเร่งหาคนงานใหม่ เพราะคนงานเก่าไม่กลับมาทำงาน เนื่องจากย้ายงานไปทำงานในเมืองอื่น

ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี คนชนบทหลายสิบล้านคนจะอพยพเข้ามาในเมือง คนอีกหลายล้านคนอพยพย้ายจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง เพื่อหาลู่ทางใหม่ ค่าเช่าที่พักในเมืองแพงขึ้น แบบเดียวกับค่าเช่าหอพักนักศึกษาสูงขึ้น หลังจากการปิดภาคเรียนในฤดูร้อนสิ้นสุดลง

China’s Great Migration บอกว่า งานที่ดีจะมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น แต่ก็มีงานให้ทำมากพอ บริษัทต่างชาติจ้างแรงงานจีน ที่รถบรรทุกที่ขนแรงงานเข้ามา หากว่ายินดีที่จะทำงานได้ค่าจ้างตามที่บริษัทกำหนด การมีเส้นสายหรือฝีมือช่วยให้ได้งานในโรงงานขนาดเล็กลงมา ที่ผลิตสินค้าเฉพาะอย่าง แต่ไม่ว่าแรงงานอพยพจากชนบทจะได้งานอะไรทำก็ตาม ก็ล้วนมีรายได้มากกว่าหลายเท่า จากที่เคยมีรายได้ในการทำงานเกษตรกรรมในชนบท ในระยะยาว หลายคนมีโอกาสเริ่มธุรกิจตัวเองขึ้นมา เหมือนนายจ้างคนปัจจุบันของตัวเอง

ช่วงปี 1978-2012 หรือภายใน 34 ปี ประชากรในเมืองของจีนเพิ่มขึ้น 500 ล้านคน โดยเป็นแรงงานจากชนบทถึง 260 ล้านคน ที่เข้ามาหาโอกาสในเมือง เปรียบเทียบกับสภาพตลาดแรงงานเดียวของสหภาพยุโรป มีคนยุโรปเพียง 13.6 ล้านคน ที่ทำงานในประเทศสมาชิก EU ที่ไม่ใช่ประเทศบ้านเกิดตัวเอง ส่วนจำนวนคนต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำงานในอเมริกา มีเพียง 41.3 ล้านคน

มูลค่าเศรษฐกิจจากการอพยพ

ปัจจุบัน ทางการจีนพยายามจำกัดการอพยพแรงงานเข้ามาเมืองใหญ่ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนด้านบริการพื้นฐาน แต่ในมุมมองของแรงงานจากชนบท การอพยพแรงงานมีความหมายสำคัญทางเศรษฐกิจมาก แรงงานชนบทที่มาทำงานในเมือง หมายถึงการมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 500% เมื่อเทียบกับรายได้ในชนบท

การที่ค่าแรงเพิ่มอีก 8-9 ดอลลาร์ต่อวัน อาจมีความหมายไม่มากในแง่ของคนเมือง แต่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับแรงงานยากจนจากชนบท เงิน 8-9 ดอลลาร์ต่อวันคือสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตพวกเขา รายได้ในชนบทมีค่าเพียงการดิ้นรนเพื่อใช้ซื้อเสื้อผ้า แต่รายได้ในเมืองมีค่าต่อการดิ้นรนเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือ

ชีวิตในชนบทคือการอ่านออกเขียนได้ แต่ในเมืองหมายถึงความรู้ทักษะในการทำงาน

เมื่อแรงงานจากชนบทอพยพมาในเมือง ทำให้เกิดโอกาสหลายอย่างต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แรงงานชนบทต้องการที่พักอาศัย รายได้จากการทำงานโรงงานสามารถนำไปใช้ด้านการบันเทิง เสื้อผ้า และอาหาร พวกเขาผลิตสิ่งของต่างๆขึ้นมา หากไม่มีแรงงานพวกนี้ ก็ไม่มีการผลิตเกิดขึ้น

สิ่งที่อธิบายความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีนแบบง่ายๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นตรงกันก็คือว่า ในช่วงปี 1990-2010 การอพยพแรงงานจากการเกษตรสู่อุตสาหกรรมของของจีน มีสัดส่วนมากกว่า 20% ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน ช่วงนี้เศรษฐกิจจีนเติบโตจากมูลค่าปีหนึ่ง 400 พันล้านดอลลาร์ เป็น 6 ล้านล้านดอลลาร์ พูดอีกนัยหนึ่ง การปล่อยให้คนจีนอพยพจากชนบทเข้ามาทำงานในโรงงาน ทำให้เศรษฐกิจจีนมีมูลค่าเพิ่ม 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ในเวลา 20 ปี

แม้จะไม่ใช่สาเหตุเดียว ที่สร้างความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีน แต่การอพยพแรงงานเป็นแนวทางการวิเคราะห์สำคัญที่ทำให้เห็นว่า จีนประสบความสำเร็จอย่างไร ความสำเร็จที่เกินการคาดหมายของนักวิเคราะห์ ที่เคยมองจีนว่าจะเผชิญอุปสรรคต่างๆ การอพยพแรงงานครั้งใหญ่ นอกจากประโยชน์จากการขยายตัวของแรงงานภาคอุตสาหกรรมแล้ว แรงงานอพยพยังได้เรียนรู้ฝีมือจากงานทำใหม่ แข่งขันกันเพื่องานที่ดีขึ้น ส่วนชนบท เมื่อแรงงานมีจำนวนลดลง ผลิตภาพการเกษตรก็สูงขึ้น

China’s Great Migration อธิบายว่า การอพยพแรงงานยังช่วยอธิบายโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของจีน เมื่อเกิดการอพยพแรงงานครั้งใหญ่ สิ่งนี้กลายเป็นแรงกดดันรัฐบาลจีนให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อรองรับสิ่งที่อดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เรียกว่า “การสร้างงาน 25 ล้านงานในแต่ละปี” เป็นแรงกระตุ้นให้จีนยอมรับบทบาทของธุรกิจเอกชน ปรังปรุงระบบการเงินที่ตอบสนองต่อธุรกิจเอกชน และการพัฒนาเมือง

ที่มาภาพ : Japan Focus

บทเรียนจากจีน

ในปี 2000 สหประชาชาติประกาศเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ที่จะให้จำนวนคนยากจนที่สุด (absolute poverty) ในโลกลง 50% ภายในปี 2015 แต่ในช่วง 1990-2015 จำนวนคนยากจนที่สุดในโลกลดลงถึง 72% และอีกหลายร้อยล้านคนกำลังเข้าถึงโอกาสเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความยากจนในโลกลดน้อย ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะความยากจนที่ลดลงเกิดขึ้นทั่วโลก ในทุกภาวะเศรษฐกิจและระบอบการเมือง แต่ละประเทศต่างก็ได้ประโยชน์จากการปฏิรูปเศรษฐกิจในทางใดทางหนึ่ง และอานิสงส์จากกระแสโลกาภิวัตน์

แต่หัวใจของการถกเถียงในเรื่องนี้คือ ความสำเร็จของจีน จากปี 1981-2011 หรือในช่วง 30 ปี จำนวนประชากรจีนที่มีฐานะยากจนที่สุดลดลงถึง 753 ล้านคน เท่ากับ 2 เท่าของจำนวนประชากรสหรัฐฯ การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมีส่วนถึง 50% ของจำนวนคนยากจนในโลกที่ลดลง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ แรงงานจากชนบทอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองจำนวนหลายร้อยล้านคน

ดังนั้น หากโลกเราต้องการที่จะเข้าใจว่า โลกเราประสบความสำเร็จอย่างไรในการต่อสู้เพื่อลดจำนวนคนฐานะยากจน สิ่งที่สำคัญคือการเข้าใจในสิ่งที่จีนได้ทำไป จากการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากประเทศที่สำคัญ แต่มีฐานะเศรษฐกิจที่ต่ำมาก กลายมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

เอกสารประกอบ
China’s Great Migration: How the Poor Built a Prosperous Nation, Bradley M. Gardner, The Independent Institute, 2017.