ThaiPublica > เกาะกระแส > อียูออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานของลูกจ้าง “ธุรกิจแพลตฟอร์ม”

อียูออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานของลูกจ้าง “ธุรกิจแพลตฟอร์ม”

17 พฤษภาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : peerbits.com

เมื่อเดือนเมษายน สหภาพยุโรป (อียู) เห็นชอบกับมาตรการคุ้มครองแรงงานในเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (gig economy) โดยรัฐสภายุโรปมีมติเห็นชอบกับกฎระเบียบใหม่ เรื่องการคุ้มครองให้แก่พนักงานในธุรกิจแพลตฟอร์ม การทำงานในเศรษฐกิจแบบกิ๊ก หรืออาชีพอิสระ ทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานในธุรกิจแบบใหม่นี้มีความโปร่งใสมากขึ้น มีชั่วโมงการทำงานที่คาดหมายได้มากขึ้น มีการชดเชยรายได้แก่งานที่ถูกยกเลิก และลูกจ้างมีอิสระที่จะทำงานมากกว่านายจ้าง 1 คน เป็นต้น

กฎระเบียบของอียูนี้ ให้ความหมายของคำว่า “ลูกจ้างในเศรษฐกิจแบบกิ๊ก” คือ “พนักงานหรือคนงานที่มีการจ้างงานระยะสั้น ที่ไม่ใช่การจ้างงานแบบประจำ ลูกจ้างที่ทำงานเมื่อมีอุปสงค์ (on-demand worker) คนทำงานเป็นครั้งคราว พนักงานที่ทำงานโดยได้รับใบรับรองแทนการชำระด้วยเงิน (voucher-base worker) และพนักงานทำงานในธุรกิจแพลตฟอร์ รวมทั้งพนักงานที่ฝึกงาน”

งานในรูปแบบใหม่

ในปี 2014 องค์กรที่ชื่อว่า Eurofound ได้เคยเสนอรายงานต่อรัฐสภายุโรป เรื่อง สภาพการจ้างงานแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ทาง Eurofound ระบุว่ามีรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่สำคัญ 4 แบบด้วยกัน โดยการพิจารณาจากลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และลักษณะรูปแบบของงานใหม่

การทำงานรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นได้แก่

    (1) ระบบจ้างงานลูกจ้างร่วม (strategic employee sharing) เช่น หลายบริษัทจะจ้างลูกจ้างคนหนึ่งร่วมกัน เพราะลำพังเพียงบริษัทเดียวจะไม่มีงานพอให้ทำ การจ้างงานจะผ่านบริษัทตัวกลางแห่งหนึ่ง การจ้างงานลักษณะนี้ทำให้ลูกจ้างงานคนหนึ่งสามารถทำงานได้เต็มเวลา

    (2) งานแบบไม่ประจำ (casual work) ที่งานมีลักษณะไม่ต่อเนื่อง นายจ้างไม่มีพันธะที่จะมอบหมายงานแบบสม่ำเสมอ นายจ้างมีความยืดหยุ่นที่จะเรียกมาทำงานเมื่อมีความต้องการ

    (3) งานแบบคล่องตัวที่อิงระบบสารสนเทศ (ICT-based mobile work) ลูกจ้างทำงานประจำแต่ไม่ใช่ที่สำนักงานของนายจ้าง แต่จะเคลื่อนย้ายไปทำงานตามสถานที่ต่างๆ โดยสามารถติดต่อเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท เช่น วิศวกรตรวจงาน

    และ (4) งานที่ชำระด้วยใบรับรอง (voucher-based work) มีลักษณะเป็นงานที่นายจ้างได้รับใบรับรองจากบุคคลที่ 3 ซึ่งปกติจะเป็นหน่วยงานรัฐ และนำมาจ่ายให้กับคนงาน การจ้างงานแบบนี้ เพราะต้องการจะลดภาระการจัดการ และมีความคล่องตัว เมื่อต้องการที่จะจ้างงาน

งานใน “ยุคเศรษฐกิจ DIY”

กฎระเบียบใหม่นี้ของอียูกำหนดให้ ภายใน 3 ปี ประเทศสมาชิกจะต้องไปออกกฎหมายภายในประเทศขึ้นมารองรับ แต่กฎระเบียบของ EU ให้ความสำคัญแก่การคุ้มครองแรงงานที่ทำงานกับธุรกิจแพลตฟอร์ม รัฐสภายุโรปเองแถลงว่า “คนที่ทำงานกับ Uber หรือบริษัทที่คล้ายๆ กันควรได้รับสิทธิขั้นต่ำจำนวนหนึ่ง” ที่ผ่านมา คนทำงานในเศรษฐกิจแบบกิ๊กไม่สามารถกำหนดเวลาทำงานหรือจำนวนรายได้ได้

การจ้างงานแบบใหม่ในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ที่มีคนเรียกชื่อหลายอย่าง เช่น เศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) เศรษฐกิจตามอุปสงค์ (on-demand economy) หรือเศรษฐกิจแบบกิ๊ก ตัวอย่างบริษัทที่เป็นตัวแทนเศรษฐกิจแบบใหม่นี้คือ Uber หรือ Airbnb ที่ทำธุรกิจออนไลน์โดยอาศัยอินเทอร์เน็ต และแพลตฟอร์ม ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างคนซื้อกับคนขาย โดยตัดคนกลางออกไป ก่อนหน้านี้ Amazon และ eBay เป็นบริษัทที่บุกเบิกการใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม ในการขายหนังสือ และสินค้าที่ใช้แล้ว

พวกที่ชื่นชมเศรษฐกิจแบบกิ๊กกล่าวว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์มไม่ใช่เรื่องการค้าขายอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างทางเลือกในการทำงานให้กับคนทำงาน แทนที่จะทำงานในองค์กรธุรกิจแบบเดิมๆ คนทำงานสามารถทำงานให้กับตัวเอง เหมือนกับว่าตัวเราเป็นผู้ประกอบการรายย่อย โดยไม่มีระบบคนกลาง เพราะเหตุนี้ จึงมักเรียกเศรษฐกิจแบบนี้ว่า เศรษฐกิจที่เราทำเอง (DIY (do-it-yourself) economy) เราแต่ละคนจะเป็น CEO ในธุรกิจอิสระของเราเอง

แต่ในหนังสือชื่อ Raw Deal: How the “Uber Economy” and Runaway Capitalism Are Screwing American Worker ผู้เขียนคือ Steven Hill กล่าวว่า ในยุคเศรษฐกิจแบบกิ๊กหรือการทำงานอิสระ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพของงานถดถอยลงเป็นเพราะนายจ้างหันไปอาศัยลูกจ้างที่ไม่จ้างงานประจำ ในสหรัฐฯ จึงมีการเรียกสภาพการณ์แบบนี้ว่า “เศรษฐกิจแบบ 1099” เพราะลูกจ้างไม่ได้กรอกใบการเสียภาษีในแบบฟอร์ม W-2 เหมือนกับพนักงานประจำ แต่พวกเขากรอบแบบฟอร์มการเสียภาษี 1099-MISC ที่หมายถึงการมีรายได้อิสระแบบจิปาถะ (miscellaneous income)

ที่มาภาพ : https://www.booksinc.net/event/steven-hill-books-inc-berkeley

การที่นายจ้างนิยมใช้ลูกจ้าง 1099 มากกว่าพนักงาน W-2 เพราะธุรกิจจะได้ประโยชน์ชัดเจน นายจ้างประหยัดค่าแรงไปได้กว่า 30% หรือมากกว่านี้ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของลูกจ้าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินเกษียณอายุ การชดเชยเมื่อตกงาน ค่าชดเชยเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ หรือเงินเดือนที่ลูกจ้างได้รับในช่วงลาหยุด

มาตรการคุ้มครองของอียู

มาตรการปกป้องแรงงานในธุรกิจแพลตฟอร์ม ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกลุ่มอียู ที่เรียกว่าเสาค้ำหลักของยุโรปด้านสิทธิทางสังคม (European Pillar of Social Rights) ที่สถาบันหลักของอียูได้ประกาศออกมาเมื่อปี 2017 เสาหลักนี้ประกอบด้วยสิทธิสำคัญใน 3 ด้านที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนในอียู คือ

    (1) การเท่าเทียมทางโอกาส และการเข้าถึงตลาดแรงงาน
    (2) สภาพการทำงานที่ยุติธรรมและการคุ้มครองทางสังคม
    (3) การครอบคลุมทุกส่วนของสังคม (inclusion)

ในบทความของ Wharton Business School ชื่อ Gig Economy Protection: Did the EU Get It Right? กล่าวว่า กฎระเบียบของอียูนี้ให้การปกป้องแก่คนที่ทำงานในธุรกิจแพลตฟอร์มว่ามีฐานะเป็นลูกจ้าง กฎระเบียบนี้ใช้กับลูกจ้างที่ทำงานเฉลี่ยอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 12 ชั่วโมงต่อ 4 สัปดาห์ โดยนายจ้างจะต้องชี้แจงเงื่อนไขการทำงานที่ชัดเจนนับจากวันแรกที่เข้าทำงาน แต่ไม่เกินภายใน 7 วัน ช่วงระยะทดลองงานไม่เกิน 6 เดือน และกำหนดให้นายจ้างต้องฝึกงานให้ลูกจ้าง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้ถือเป็นเวลาทำงาน

นอกจากนี้ ลูกจ้างหรือคนทำงาน มีสิทธิที่จะปฏิเสธ การมอบหมายงานที่อยู่นอกเหนือชั่วโมงทำงานที่กำหนดไว้แล้ว หรือได้รับการชดเชยรายได้ ในกรณีที่งานที่ได้รับมอบหมายถูกยกเลิกล่วงหน้าอย่างกะทันหัน

บทความของ Wharton Business School กล่าวว่า การคุ้มครองลูกจ้างธุรกิจแพลตฟอร์มโดยขยายรวมไปถึงช่วงการฝึกงานเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เพราะหลายประเทศในยุโรปถือว่าคนที่ฝึกงานคือลูกจ้าง หากไม่ปฏิบัติแบบนี้จะทำให้ระบบการฝึกงานของยุโรปอ่อนแอลงไป อย่างเช่นเยอรมันถือว่า ระบบการฝึกงานจะต้องไม่ถูกทำให้อ่อนแอลงไปเพราะการแข่งขันระหว่างธุรกิจ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจแบบกิ๊กต้องการกฎระเบียบ ที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจแพลตฟอร์มมีการแข่งขัน ทั้งในด้านผู้บริโภค ด้านบริษัทแพลตฟอร์ม และลูกจ้าง ซึ่งในปัจจุบัน ธุรกิจนี้ก็มีการสร้างแพลตฟอร์มากขึ้น ทำให้ลูกจ้างสามารถเปรียบเทียบเงื่อนไขการทำงานของแพลตฟอร์มต่างๆ มาตรการการคุ้มครองลูกจ้าง จะทำให้ลูกจ้างสามารถทำงานได้หลายอย่าง เช่น ให้บริการรถยนต์โดยสารร่วม (ridesharing) จากนั้น ก็ไปทำงานส่งอาหาร เป็นต้น

จะมีประเทศอื่นออกกฎระเบียบคุ้มครองลูกจ้างธุรกิจแพลตฟอร์มแบบเดียวกับอียูหรือไม่ บทความของ Wharton Business School กล่าวว่า เมืองใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น นิวยอร์ก หรือซานฟรานซิสโก อาจจะออกระเบียบคุ้มครองลูกจ้างเศรษฐกิจแบบกิ๊ก เช่น นายจ้างจะต้องชดเชยรายได้ หากลูกค้ายกเลิกการใช้บริการแบบกะทันหัน เป็นต้น

เอกสารประกอบ
Gig Economy Protection: Did the EU Get It Right? May 06, 2019, knowledge.wharton.upenn.edu
Raw Deal, Steven Hill, St. Martin’s Press, 2015.