ThaiPublica > เกาะกระแส > ความเป็น “ชาติทรงอิทธิพลที่สุภาพ” ทำให้ญี่ปุ่นได้รับความเชื่อถือมากที่สุดจากอาเซียน

ความเป็น “ชาติทรงอิทธิพลที่สุภาพ” ทำให้ญี่ปุ่นได้รับความเชื่อถือมากที่สุดจากอาเซียน

20 ธันวาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://aseanjapan50.jp/en/about/

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16-18 ธันวาคม 2566 ในวาระครบรอบ 50 ปีของมิตรภาพและความร่วมมือ อาเซียนและญี่ปุ่น ได้ออกแถลงการณ์ที่เป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล สร้างความแข็งแกร่งด้านห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการใช้พลังงานที่ยั่งยืน และขยายการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชนในสาขาต่างๆ

ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังประกาศการริเริ่มใหม่ สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รุ่นต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ออกมาในรายละเอียด เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถรักษาฐานะ การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์

ฟูมิโอะ นิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า “บนพื้นฐานความไว้วางใจกันและกันที่หนักแน่น ญี่ปุ่นกับอาเซียนจะรับมือกับการท้าทายใหม่ และดำเนินการก้าวใหม่สำหรับอนาคต 50 ปีข้างหน้า”

โดยญี่ปุ่นแสดงพันธะที่จะดำเนินโครงการมากกว่า 130 โครงการกับอาเซียน ตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสะอาด ความมั่นคงทางไซเบอร์ จนถึงเทคโนโลยีทางอาวุธ

ความสำคัญของญี่ปุ่นที่ถูกมองข้าม

หนังสือ The Courteous Power (2021) เขียนถึงความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากอดีตจนถึงยุคอินโด-แปซิฟิก ไว้ว่า ญี่ปุ่นมีบทบาทเกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลุ่มลึก มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาภูมิภาคนี้มานานหลายสิบปี จนได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากบรรดาผู้นำและประชาชนของประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้

ญี่ปุ่นยังมีบทบาทนำในเรื่องระเบียบระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้ โดยเป็นประเทศนอกภูมิภาค ที่ดำเนินการมากสุดในการสนับสนุนสมาคมอาเซียนกับกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบพหุภาคี ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้อาเซียนสามารถรักษาจุดยืนทางการทูตของภูมิภาคนี้

แต่ The Courteous Power บอกว่า บทบาทและความสำคัญญี่ปุ่น ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักถูกมองข้าม การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างประเทศของภูมิภาคนี้ มักเป็นเรื่องท่าทีของประเทศในภูมิภาคนี้ ต่อการพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน หรือท่าทีต่อการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หรือเรื่องที่ภูมิภาคนี้ กำลังเป็นแนวหน้าของ “สงครามเย็นใหม่”

อิทธิพลที่มาจาก “อำนาจที่สุภาพ”

หนังสือ The Courteous Power บอกว่า แนวทางของญี่ปุ่นในการดำเนินงานกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะสุภาพและยอมรับความคิดกันและกัน นับจากสงครามโลกเป็นต้นมา แม้ญี่ปุ่นจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองมากขึ้น ก็ยังใช้วิธีการรับฟังความต้องการและความคิดเห็นของประเทศที่เป็นหุ้นส่วน ให้อำนาจแก่ประเทศที่เป็นมิตร ในการดำเนินการในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน

ญี่ปุ่นแทบไม่เคยยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองต้องการให้กับมิตรประเทศในภูมิภาคนี้ โดยสาระสำคัญ ญี่ปุ่นจึงเป็น “ชาติทรงอิทธิพลที่สุภาพ”

ปี 2016 รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ได้ริเริ่มแนวคิด “อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง” หรือ Free and Open Indo-Pacific (FOIP) สะท้อนท่าทีใหม่ด้านต่างประเทศของญี่ปุ่น ที่มีเป้าหมายในเชิงรุก เหมือนกับเป็นการเสนอทิศทางยุทธศาสตร์ให้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นที่ใกล้เคียง

แนวคิด FOIP มีหลักการในเรื่องการปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือ การยกระดับมาตรฐานทางการเงินของภูมิภาค การให้ความสำคัญต่อเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน หลักการเหล่านี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ในการยับยั้งจีน และจัดระเบียบในภูมิภาค ที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศพันธมิตรด้านประชาธิปไตย

หนังสือ The Courteous Power เขียนไว้ว่า แต่แนวคิดเดิมของ FOIP มีการพัฒนาออกไปมาก เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแกนกลางของนโยบาย FOIP ของญี่ปุ่น การเจรจากับประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้ญี่ปุ่นปรับแนวคิด FOIP ลงในเรื่องการเผชิญหน้ากับจีน หรือการส่งเสริมประชาธิปไตย ญี่ปุ่นกลับมาใช้ท่าที “มหาอำนาจที่สุภาพและเคารพความคิดเห็นกันและกัน” กับอาเซียน

ท่าทีเสมอต้นเสมอปลายและการเคารพซึ่งกันและกัน กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสำเร็จมากที่สุดให้กับญี่ปุ่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเวลาที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญความเสี่ยงในเรื่องสันติภาพและความรุ่งเรือง อันเนื่องมาจากนโยบายที่ไม่แน่นอนของสหรัฐฯ บทบาทของจีนที่มีท่าทีกดดันเป็นฝ่ายรุกมากขึ้น หรือการถดถอยทางประชาธิปไตย และหวนกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมของบางประเทศ

ที่มาภาพ : amazon.com

อาเซียนกับญี่ปุ่นในยุค FOIP

สิ่งที่เป็นเรื่องโต้แย้งที่สุดของความคิด FOIP คือ การขยายบทบาทด้านความมั่นคงของญี่ปุ่น การเป็นปรปักษ์มากขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้ภูมิภาคนี้เกิดความไม่แน่นอนและอันตราย ทำให้ญี่ปุ่นต้องขบคิดเรื่องบทบาทของตัวเอง ต่อความมั่นคงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเรื่องทะเลจีนใต้

ญี่ปุ่นจึงให้การสนับสนุนบางประเทศในภูมิภาคนี้ ในเรื่องปฏิบัติการชายฝั่งทะเล และการตรวจตราทางทะเล ในช่วงวาระครบรอบ 50 ปีความร่วมมือญี่ปุ่นกับอาเซียน ในการประชุมทวิภาคีกับอินโดนีเซีย ญี่ปุ่นจะให้เงิน 63.7 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนความมั่งคงทางทะเลของอินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นได้ให้ระบบเรดาร์ที่ทันสมัยแก่ฟิลิปปินส์

แนวคิดสำคัญข้อที่ 2 ของ FOIP คือการเชื่อมโยงของภูมิภาค (regional connectivity) ที่หมายถึงการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ผ่านทางเงินทุนการพัฒนา และเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แนวคิดนี้มีความสำคัญต่ออาเซียน ทำให้แนวคิด FOIP มีความหมายต่อภูมิภาคนี้ เรื่องเงินทุนการพัฒนานั้น ญี่ปุ่นมีบทบาทมานานแล้วผ่านธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

ประเทศอาเซียนสนับสนุนบทบาทของญี่ปุ่น ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้มีทางเลือกด้านแหล่งเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ภูมิภาคอาเซียนต้องการปีหนึ่ง 185 พันล้านดอลลาร์ในเวลา 10 ปีข้างหน้า แต่ประเทศอาเซียนก็ไม่ต้องการที่จะถูกบังคับให้เลือกข้างเรื่องเงินทุนการพัฒนา แต่ต้องการระบบเปิดด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ในเรื่องการค้าของภูมิภาคนี้ ก็เหมือนกับเรื่องเงินทุนการพัฒนา ญี่ปุ่นสนับสนุนท่าทีแบบเปิดกว้างของภูมิภาค ปี 2021 รัฐสภาญี่ปุ่นเห็นชอบที่ญี่ป่นจะเข้าร่วมข้อตกลงการค้า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่นำโดยจีน RCEP ประกอบด้วยอาเซียนทั้งหมด ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และจีน

FOIP ให้ความสำคัญเรื่องเสรีภาพ ชินโซะ อาเบะ เคยเขียนบทความยืนหยัดว่า การทูตของญี่ปุ่นและอนาคตความรุ่งเรื่องของเอเชีย จะต้องมีรากฐานอยู่ที่ “ประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน” แต่แนวคิด FOIP ยังรวมถึง “เสรีภาพที่ไม่ถูกกดดันจากภายนอก” ที่มีนัยยะหมายถึงกิจกรรมทางทหารและอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน

แต่แนวคิดเรื่องเสรีนิยมที่อยู่ใน FOIP ถูกคัดค้านจากประเทศอาเซียน ที่ไม่เห็นด้วยกับการเน้นหนักเกี่ยวกับเสรีภาพทางการเมืองภายในประเทศ ต่อมาญี่ปุ่นถอนเรื่องนี้ออกไป โดยไปให้น้ำหนักในเรื่อง เสรีภาพที่ไม่ถูกกดดันจากภายนอก ในจุดนี้สะท้อนการกลับมาวางตัวของญี่ปุ่นถึงการเป็น “ประเทศทรงอิทธิพลที่สุภาพ”

อนาคตของแนวคิด FOIP มีความไม่แน่นอน เพราะจีนคัดค้านเรื่องนี้ แต่ไม่ว่าแนวคิดนี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไรในอนาคต เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีอิทธิพลสำคัญต่อแนวคิดนี้ เพราะภูมิภาคนี้เป็นแกนของอินโด-แปซิฟิก และญี่ปุ่นก็เห็นว่า การวางตัวของประเทศที่ใช้อำนาจอย่างสุภาพ คือหนทางที่สร้างความก้าวหน้าได้ดีที่สุด

เอกสารประกอบ

Japan and ASEAN vow to widen cooperation aster 50 years of ties, thejapantimes.co.jp
The Courteous Power: Japan and Southeast Asia in the Indo-Pacific Era, Edited by John D. Ciorciari and Kiyoteru Tsutsi, University of Michigan Press, 2021.