ThaiPublica > เกาะกระแส > การประท้วงในฮ่องกง สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจกลไกตลาดแบบสุดขั้ว

การประท้วงในฮ่องกง สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจกลไกตลาดแบบสุดขั้ว

14 สิงหาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อวันจันทร์ 12 สิงหาคม ผู้ประท้วงเคลื่อนเข้าไปในสนามบินนานาชาติ ทำให้สนามบินที่เป็นศูนย์กลางการบินของโลกแห่งหนึ่ง มีสภาพเป็นอัมพาต ที่มาภาพ : https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/hong-kong-airport-could-resume-operations-tuesday-remaining-monday-flights-cancelled

การประท้วงในฮ่องกงย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 10 จากจุดเริ่มต้นที่คัดค้านร่างกฎหมายการส่งตัวคนร้ายที่เป็นคนฮ่องกงข้ามแดนให้กับทางการจีน มาเป็นการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอิสระเสรีในฮ่องกง ซึ่งข้อเรียกร้องนี้เป็นการท้าทายโดยตรงต่ออำนาจการนำของจีน หากทางการจีนยินยอม ย่อมจะหมายถึงการสูญเสียอำนาจการควบคุมของจีนที่มีต่อเกาะแห่งนี้

การประท้วงของคนฮ่องกงที่เริ่มต้นเป็นการประท้วงอย่างสันติ ขยายตัวรุนแรงมากขึ้นจนไปขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของฮ่องกง ที่เป็นเมืองมีชื่อเสียงด้านความสงบเรียบร้อย เมื่อวันจันทร์ 12 สิงหาคม ผู้ประท้วงเคลื่อนเข้าไปในสนามบินนานาชาติ ทำให้สนามบินที่เป็นศูนย์กลางการบินของโลกแห่งหนึ่ง มีสภาพเป็นอัมพาต

ส่วนทางการจีนก็มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นต่อผู้ประท้วง เท่ากับไปสร้างแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้มาตรการรุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่จีนประกาศว่า การกระทำของผู้ประท้วงเริ่มเข้าข่ายการก่อการร้าย ตำรวจจีนที่เมืองเสินเจิ้น ที่อยู่ตรงข้ามกับฮ่องกง ก็ทำการซ้อมใหญ่การรับมือกับผู้ประท้วง

ความขัดแย้งพื้นฐาน

หนังสือพิมพ์ New York Times รายงานเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมนี้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ช่วยเปิดเผยให้เห็นสิ่งที่เคยเป็นความขัดแย้งที่ซ่อนเร้นอยู่ในการเมืองของฮ่องกง หลังจากที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้กับจีนในปี 1997 แล้ว ก็มีความพยายามที่จะผสมรวม ระหว่างระบอบอำนาจนิยมของจีนเข้ากับดินแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของฮ่องกง

จุดเริ่มต้นของการประท้วงในฮ่องกงเป็นกฎหมายส่งคนฮ่องกงไปรับโทษในจีน คนฮ่องกงเกรงว่า เจ้าหน้าที่อาจใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือเล่นงานคนที่เป็นศัตรูทางการเมือง และศาลในจีนนั้น พรรคคอมมิวนิสต์สามารถครอบงำได้ เท่ากับเป็นจุดจบของนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

จีนต้องการให้ฮ่องกงมีฐานะเหมือนกับเป็นเมืองๆหนึ่งในแผ่นดินใหญ่ของจีน ส่วนคนฮ่องกงที่เข้าร่วมการประท้วง ต้องการรัฐบาลท้องถิ่นที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของคนฮ่องกง ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของจีนเท่านั้น เช่น แก้ไขปัญหาค่าเช่าที่พักอาศัยที่แพงที่สุดในโลก และค่าแรงที่ต่ำ

ก่อนหน้าที่ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม New York Times ได้เคยเสนอรายงานบทวิเคราะห์เรื่อง สิ่งที่เป็นรากเหง้าทางเศรษฐกิจของการประท้วงในฮ่องกง คือ สภาพห้องพักอาศัยที่คับแคบ ค่าเช่าห้องพักที่สูง และแพงกว่าในนิวยอร์ก หรือ ลอนดอน แม้จะมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่ง คน 1 ใน 5 ในฮ่องกง มีชีวิตอยู่อย่างยากจน และค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 4.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ (114 บาท) ต่อชั่วโมง

ห้องพักที่แบ่งย่อยแก่หลายคนในฮ่องกง ที่มาภาพ : https://www.nytimes.com/interactive/2019/07/22/world/asia/hong-kong-housing-inequality.html

ที่พักอาศัยแพงเกินกำลังซื้อ

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post (SCMP) ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม ก็รายงานข่าวความไม่พอใจของบรรดาเยาวชนที่เขาร่วมการประท้วงว่า คนหนุ่มสาวเป็นหัวหอกการประท้วงกฎหมายส่งคนร้ายข้ามแดนให้กับจีน หลายคนอาจเห็นว่า สาเหตุของการประท้วงคือ เรื่องที่อิสระภาพและสิทธิเสรีภาพของฮ่องกง ถูกกัดกร่อนลงไป แต่คนหนุ่มสาวไม่พอใจกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และกลัวว่าความหวังที่จะมีที่พักอาศัยของตัวเอง คงจะเป็นเพียงแค่ความฝัน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง พุ่งขึ้น 242% และเป็นปีที่ 9 ติดต่อกันที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงถูกประเมินว่า ราคาสูงมากจนยากที่คนส่วนใหญ่จะมีเงินซื้อได้ เงินเดือนเฉลี่ยของผู้ชายอยู่ที่ 19,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (2,446 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่วนค่าเช่าห้องพักห้องเดียวในเมือง เฉลี่ยเดือนละ 16,551 ดอลลาร์ฮ่องกง ตัวเลขเหล่านี้ แสดงว่าเป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวของฮ่องกง

Fung Cheng นักออกแบบกราฟิกอายุ 25 ปี บอกกับ SCMP ว่า “มันเป็นปัญหาที่ระบบ พวกเขาไม่จำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนเพื่อเป็นรัฐบาล มันจึงไม่มีความเป็นประชาธิปไตย”

ส่วน William Lun ทนายความ อายุ 22 ปี กล่าวว่า “เป็นความฝันของทุกคนที่อยากจะมีบ้านพัก สิ่งนี้เป็นความฝันของคนจีน แต่มันเป็นภาระกิจที่เป็นไปไม่ได้”

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/d/d6/Montane_Mansion_Quarry_Bay.B.JPG/1440px-Montane_Mansion_Quarry_Bay.B.JPG

ปฏิรูปเศรษฐกิจคือทางออก

Graeme Maxton อดีตเลขาธิการของชมรม The Club of Rome เขียนบทความเชิงทัศนะลงใน SCMP ว่า ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของฮ่องกง มาจากระบบเศรษฐกิจที่เชื่อว่า กลไกตลาดเสรีสุดขั้วอย่างเดียว จะสามารถแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ การใช้วิธีการจัดการอย่างเด็ดขาดกับผู้ชุมนุม ยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

Graeme Maxton กล่าวว่า วิธีเดียวที่จะฟื้นฟูความสงบเรียกร้อยคือ การเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของฮ่องกง หลังจากที่ปล่อยให้กลไกตลาดจัดการเรื่องเศรษฐกิจมานานหลายทศวรรษ และรัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย ถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลฮ่องกงจะหันมาทำหน้าที่ในสิ่งที่เป็นงานของรัฐบาล คือการทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่

ความไม่พอใจของคนฮ่องกง ไม่ใช่แค่กฎหมายการส่งผู้ร่ายขามแดนให้จีน แต่เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมานับตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ และระบบเศรษฐกิจ ที่อังกฤษปลูกฝังไว้ในฮ่องกง ให้กลายเป็นระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดที่เสรีมากที่สุด โดยไร้ข้อจำกัดหรือการควบคุมใดๆ และยังถูกปลูกฝังให้ภาคภูมิใจในสิ่งนี้ พร้อมกับความเชื่อที่ว่า การจำกัดหรือควบคุมธุรกรรมทางเศรษฐกิจใดๆที่เป็นไปตามกลไกตลาด ถือเป็นความผิดพลาด

ระบบเศรษฐกิจที่ศรัทธากลไกตลาดแบบไร้ข้อจำกัดใดๆ จะสร้างความไม่พอใจให้กับคนส่วนใหญ่ เพราะระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะจบลงเสมอ ในการสร้างความไม่ยุติธรรมเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่ไร้การควบคุม จะสร้างช่องว่างมหาศาลระหว่างคนรวยกับคนจน สร้างค่าแรงที่ถูกกับคนส่วนใหญ่ และความมั่งคั่งสุดขั้วให้กับการลงทุนเก็งกำไร และบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย ที่ครอบครองเศรษฐกิจ

ที่เป็นเช่นว่านี้ เพราะว่าระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรี จะให้ประโยชน์แก่คนที่มีฐานะมั่งคั่ง แนวคิดที่ว่าเงินทุนที่สั่งสมโดยคนมีฐานะ ในที่สุดจะกระจายไปสู่คนที่ยากจน หรือที่เรียกว่า trickle-down effect คือภาพมายา สภาพที่เกิดขึ้นแบบนี้ คือเนื้อหาในหนังสือของ Thomas Piketty ชื่อว่า Capital in the Twenty-First Century ระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดที่ไม่มีการควบคุมใดๆเลย ทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายกว้างมากขึ้น

Graeme Maxton กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจกลไกตลาดก็ไม่ได้สร้างงานหรือลดความยากจน แต่ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ เป็นผลจากการปรับปรุงประสิทธิภาพและการเพิ่มผลิตภาพ สิ่งนี้หมายความว่า การเติบโตมีแนวโน้มอาศัยจักรกลการผลิต ทำให้ในระยะยาว การจ้างงานจะลดลง แรงกดดันที่ต้องลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันที่ไม่หยุดต่ออัตราค่าจ้าง

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/99/190616_HK_Protest_Incendo_03.jpg/1440px-190616_HK_Protest_Incendo_03.jpg

Graeme Maxton กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจแบบนี้แหละ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับฮ่องกง ความผิดพลาดไม่ใช่มาจากจีน หรือกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลฮ่องกง ในการบริหารเศรษฐกิจ และเชื่อว่ากลไกตลาดอย่างเดียว จะแก้ปัญหาสังคมอื่นๆได้ทั้งหมด

ผลที่ตามก็คือ เกิดช่องว่างมหาศาลระหว่างคนรวยกับคนจน คนฮ่องกงจำนวนมากมีที่พักนอนเหมือนกรง ครอบครัวไม่กี่รายครอบครองเศรษฐกิจ มีระบบรัฐสวัสดิการที่อ่อนแอ อัตราค่าจ้างต่ำ อสังหาริมทรัพย์ราคาแพง และคนรุ่นใหม่ขาดความหวังในอนาคต ข่าวดีก็คือ มีหนทางแก้ไขในด้านนโยบายต่อระบบเศรษฐกิจที่สร้างความแตกต่างนี้ เช่นเก็บภาษีคนรวยให้เหมาะสม ธุรกิจผูกขาดต้องถูกแบ่งแยกให้เล็กลง และสร้างระบบรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมขึ้นมา

เอกสารประกอบ
Tiny Apartment and Punishing Work Hours: The Economic Roots of Hong Kong’s Protest, July 22, 2019, The New York Times.
How Hong Kong can put an end to protest chaos – it’s about the economy, so fix the deep divide, Graeme Maxton, South China Morning Post, August 5, 2019.