ThaiPublica > เกาะกระแส > “การติดกับดักรายได้ปานกลาง” ของอาร์เจนตินา ให้บทเรียนอะไรแก่โลกเรา

“การติดกับดักรายได้ปานกลาง” ของอาร์เจนตินา ให้บทเรียนอะไรแก่โลกเรา

18 ธันวาคม 2021


ปรีดี บุญซื่อ รายงาน

ที่มาภาพ: theconversation.com

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Paul Samuelson เคยพูดประโยคที่มีคนนำไปอ้างอิงหลายครั้งว่า ระบบเศรษฐกิจในโลกเรามีอยู่ 4 แบบด้วยกัน คือ ระบบทุนนิยม ระบบคอมมิวนิสต์ ระบบเศรษฐกิจแบบญี่ปุ่น ที่ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย แต่ทำทุกอย่างได้ผลดีไปหมด และระบบเศรษฐกิจแบบอาร์เจนตินา ประเทศที่มีทรัพยากร แต่ทำอะไรก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

นิตยสาร The Economist เคยเขียนไว้ว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 อาร์เจนตินาเป็นดินแดนของโอกาสทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเติบโตมากที่สุดของโลก พวกยุโรปอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน เวลานั้น อาร์เจนตินาร่ำรวยกว่าฝรั่งเศส อิตาลี หรือญี่ปุ่น แต่นับจากปี 1930 เป็นต้นมา เศรษฐกิจอาร์เจนตินาเริ่มเข้าสู่ศตวรรษแห่งความตกต่ำถดถอย

ติดกับดักรายได้ปานกลางนานที่สุด

อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางเป็นเวลานานที่สุดประเทศหนึ่ง ในปี 1970 อาร์เจนตินายกระดับเป็นประเทศรายได้ปานกลาง (middle-income country) ระยะเวลา 50 ปีต่อมา ในปี 2020 จากตัวเลขธนาคารโลก รายได้เฉลี่ยต่อคนของอาร์เจนตินาอยู่ที่ 8,442 ดอลลาร์ มีฐานะเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle-income country)

อาร์เจนตินากลายเป็นตัวอย่างที่ประเทศกำลังพัฒนาหวาดวิตกว่า เมื่อตัวเองพัฒนาขึ้นมามีรายได้ระดับปานกลางแล้ว จะประสบชะตากรรมแบบเดียวกับอาร์เจนตินา ตามปกติแล้ว ระยะเปลี่ยนผ่านจากรายได้ปานกลางระดับบนสู่รายได้ระดับสูง ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 14 ปี แต่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ใช้เวลาน้อยกว่า 7 ปี กรีซที่เคยติดกับดักรายได้ปานกลางมานานแบบเดียวกับอาร์เจนตินา แต่ก็สามารถยกระดับเป็นประเทศรายได้สูง (high-income country) โดยใช้เวลา 28 ปี

ที่มาภาพ: amazon.com

หนังสือชื่อ The Power of Creative Destruction (2021) ที่ theeconomist.com เลือกเป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของปี 2021 เขียนไว้ว่า ในปี 1890 หรือ 131 ปีมาแล้ว รายได้ต่อคนของอาร์เจนตินาเท่ากับ 40% ของรายได้ต่อคนสหรัฐฯ มากกว่า 3 เท่าของบราซิล แต่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นและแคนาดา แต่นับจากปี 1938 เป็นต้นมา รายได้ต่อคนของอาร์เจนตินา เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ก็ถดถอยลง

อะไรคือสาเหตุการตกต่ำทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา The Power of Creative Destruction อธิบายว่า ในอดีตปัจจัยส่วนใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจอาร์เจนตินาเติบโต คือการพัฒนาเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ที่ต้องอาศัยการนำเข้าเครื่องจักรและเงินทุนต่างชาติมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การผลิตเฉพาะด้านการเกษตรมีเป้าหมายเพื่อการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจอาร์เจนตินาเสี่ยงต่อการขึ้นลงของอุปสงค์สินค้าเกษตรในตลาดโลก

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของโลกในปี 1932 กลายเป็นจุดเริ่มต้นการตกต่ำทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อาร์เจนตินาควรจะกระจายการผลิต หันมาพัฒนาอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด และลงทุนในด้านนวัตกรรม แต่อาร์เจนตินากลับถอนตัวกลับมาอยู่ในพรมแดนตลาดภายในของตัวเอง และหันมาใช้นโยบายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (import substitution) แทนที่จะผลิตเพื่อส่งออก และแข่งขันในตลาดโลก

หนทางสู่รายได้สูงไม่ใช่เส้นตรง

The Power of Creative Destruction บอกว่า อาร์เจนตินาไม่ใช่ประเทศเดียวที่ติดกับดักกึ่งกลางทางเศรษฐกิจดังกล่าว หลายประเทศมีเศรษฐกิจเติบโตพุ่งทะยานขึ้น โดยมีแนวโน้มที่ไปบูรณาการกับมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงของประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในระหว่างทางก็เกิดสะดุดลงเสียก่อน ประเทศเหล่านี้ยังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยล้มเหลวที่จะเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” (middle-income trap)

กับดักรายได้นี้ สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง ไม่ใช่กระบวนการที่เป็นเส้นตรง การจะหลีกเลี่ยงกับดักนี้ ประเทศนั้นจะต้องมองหายุทธศาสตร์การเติบโตแบบใหม่ ทำให้การผลิตมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น บนพื้นฐานของนวัตกรรม อาร์เจตินาล้มเหลวที่จะดำเนินการในสิ่งนี้ เศรษฐกิจมีลักษณะเติบโตที่มาจากการลงทุนเพิ่ม (accumulation-base growth) ไม่ใช่การเติบโตที่นำโดยนวัตกรรม (innovation-led growth)

The Power of Creative Destruction อธิบายความสำเร็จหรือล้มเหลวที่ประเทศหนึ่งจะก้าวเป็นประเทศมั่งคั่งว่า ขึ้นอยู่กับโมเดลการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่ 2 แบบ คือ

  • โมเดลการไล่ตามทางเทคโนโลยี (technological catch-up)
  • โมเดลการสร้างนวัตกรรมของตัวเอง (frontier innovation)

ในประเทศกำลังพัฒนา บริษัทธุรกิจใช้โมเดลการไล่ตามทางเทคโนโลยี เป็นแหล่งที่สร้างการเติบโตทางธุรกิจ จีนคือตัวอย่างการพัฒนาในระยะแรก ที่อาศัยการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่การสร้างความสามารถด้านนวัตกรรมของตัวเอง ต้องอาศัยเศรษฐกิจที่อิงความรู้ (knowledge economy) โดยเฉพาะการวิจัยพื้นฐานและการศึกษาระดับหลังปริญญา

สหรัฐฯ จะไม่มีซิลิคอนแวลลีย์หากไม่มีมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศที่พัฒนาเข้าไปใกล้การมีนวัตกรรมของตัวเอง จะมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงขึ้น

โมเดลของเกาหลีใต้

The Power of Creative Destruction กล่าวว่า เกาหลีใต้คือตัวอย่างประเทศที่สามารถหลุดออกมาจากภาวะไม่พึ่งประสงค์ของดักรายได้ปานกลาง แต่วิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997-1998 คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้เปลี่ยนโมเดลการเติบโตของเศรษฐกิจ ก่อนหน้าวิกฤติ การเติบโตของเกาหลีใต้อาศัยโมเดลการเลียนแบบ

หลังจากสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง เกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำมาก ช่วงปี 1960-1997 เศรษฐกิจเติบโตในแต่ละปีเฉลี่ยเกือบ 7% การเติบโตด้วยโมเดลการเลียนแบบ อาศัยการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมและการเงินที่เรียกว่าแชโบล (chaebol) รัฐบาลให้การสนับสนุนกลุ่มแชโบลหลายรูปแบบ เช่น การอุดหนุนสินเชื่อ การปกป้องตลาดจากสินค้าต่างประเทศ ด้วยการลดค่าเงินวอน การอุดหนุนการส่งออกและเข้ามากอบกู้กิจการ

ในช่วงที่ธุรกิจรุ่งเรืองที่สุด คือช่วงต้นทศวรรษ 1990 การผลิตของกลุ่มแชโบลที่ใหญ่สุด 30 บริษัท มีมูลค่าถึง 16% ของ GDP เกาหลีใต้ และการผลิตของแชโบลใหญ่สุด 5 บริษัท คือ Hyundai, Samsung, LG, Daewoo และ SK Group มีมูลค่าถึง 10% ของ GDP กลุ่มแชโบลจึงเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1960-1995

The Power of Creative Destruction บอกว่า หากรัฐบาลเกาหลีใต้ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างอุตสาหกรรมแห่งชาติโดยการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มแชโบล และให้ปกป้องทางการค้าการตลาด เกาหลีใต้คงจะยังเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่เกาหลีใต้ใช้เวลา 30 ปี ที่ทำให้ตัวเองเป็นประเทศผู้นำโลกด้านอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม

วิกฤติการเงินเอเชียปี 1997-1998 ทำให้แชโบลบางกลุ่มล้มละลาย เช่น Daewoo และบางกลุ่มอ่อนแอลง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาจากทั้งตัววิกฤติเศรษฐกิจ สินเชื่อที่หดหายไป และเงื่อนไขการช่วยเหลือของ IMF ที่ให้เกาหลีใต้เปิดเสรีการลงทุนจากต่างประเทศ ให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทท้องถิ่นเพิ่มจาก 26% เป็น 55% แก้ไขกฎหมายต่อต้านการผูกขาด และเปิดเศรษฐกิจเกาหลีใต้กับการแข่งขันจากต่างประเทศ

วิกฤติ 1997-1998 มีผลกระทบต่อการสร้างนวัตกรรมของบริษัทเกาหลีใต้ ในทศวรรษ 1990 เกาหลีใต้ยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรต่อ The US patent and Trademark Office (USPTO) น้อยกว่าเยอรมัน ในปี 2012 บริษัทเกาหลีใต้ยื่นขอจดสิทธิบัตรมากกว่าเยอรมัน 30% แม้จะมีพลเมืองน้อยกว่า หลังจากเกิดวิกฤติ การยื่นของจดสิทธิบัตรของกลุ่มแชโบลไม่เพิ่มขึ้น แต่บริษัทเกาหลีใต้ที่ไม่ใช่กลุ่มแชโบลกลับขอจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ส่วนกรณีของอาร์เจนตินา ทางออกเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง คงจะอยู่ที่คำกล่าวของ Paul Samuelson ที่พูดถึงญี่ปุ่น ประเทศที่เป็นเกาะ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเลย แต่สามารถสร้างฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง

นักหนังสือพิมพ์ของอาร์เจนตินาคนหนึ่งให้ข้อสังเกตแบบเดียวกับ Paul Samuelson ว่า ญี่ปุ่นทำให้การขาดแคลนกลายเป็นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ ส่วนอาร์เจนตินาทำให้ความอุดมสมบูรณ์กลายเป็นความอับจน (Japan made scarcity into virtue, while Argentina made abundance into scarcity)

เอกสารประกอบ
The Power of Creative Destruction, Philippe Aghion and Others, Harvard University Press, 2021.
Argentina: What Went Wrong, Colin Maclachlan, Praeger, 2006.