ThaiPublica > คอลัมน์ > เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับวัยรุ่น ASD

เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับวัยรุ่น ASD

11 ธันวาคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

“ตอนแรกโมโห ไม่เข้าใจว่า ทำไมพูดงี้ออกมานะ หรือ ทำไมเป็นงี้ แต่พอเข้าใจว่า เค้าเป็น ASD แล้วเริ่มศึกษาว่า ASD คืออะไร ความสัมพันธ์ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป” แฟนหนุ่มของผู้มีโรค ASD ให้สัมภาษณ์กับเราถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปหลังเริ่มเข้าใจโรคนี้มากขึ้น

ASD เป็นโรคที่คนรอบ ๆ ตัวอาจเข้าใจได้ยาก หากไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะเป็นโรคที่ส่งผลต่อการสื่อสารและความสัมพันธ์ ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนอีกบทความหนึ่งกล่าวถึงประสบการณ์ของคนเป็น ASD โดยเฉพาะ แต่บทความนี้ เราจะมาสำรวจทัศนคติของคนใกล้ตัวที่มีต่อผู้ป่วย ASD เราจะเข้าใจคนใกล้ตัวอย่างไรดี เมื่อเขาเป็น Autism Spectrum Disorder หรือ ASD และจะทำอย่างไรถึงใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างราบรื่น…อยู่ร่วมอย่างไร ในวันที่รู้ว่าคนใกล้ตัวเป็น ASD

“จริง ๆ แฟนบอกเราตั้งแต่หลังคบกันใหม่ ๆ เลยว่า เค้าเป็น ASD อันที่จริงเค้าเป็นซึมเศร้าด้วย” ผู้ให้สัมภาษณ์บอกต่อว่า เพราะอาการซึมเศร้าทำให้ตัวเขามีโอกาสได้เข้าไปพบจิตแพทย์ของแฟนอยู่บ่อย ๆ “เราก็เอามาเสิร์ชนะว่า ASD คืออะไร ตอนแรกเข้าใจว่า เหมือนออทิสติก แต่พอยิ่งอ่านก็ยิ่งทำความเข้าใจใหม่ว่า ออทิสติกนี่มันมีหลายระดับนะ แบบที่สื่อสารรู้เรื่องมาก ๆ หรือบางคนเป็นจีเนียสเลย”

“แฟนเคยไปโครงการแลกเปลี่ยนตอนมัธยม แต่ถูกส่งกลับก่อนเพราะมีปัญหากับโฮสต์แฟมิลี่ เหมือนโฮสต์ไม่เข้าใจว่า ทำไมแฟนพูดจาตรง ๆ พอกลับมาก็เป็นซึมเศร้า” ผู้ให้สัมภาษณ์ แม้เคยจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตบนโลกออนไลน์ แต่ยอมรับว่า การเข้าใจคนเป็น ASD นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

“คนคบกันก็ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้กันใช่มั้ย ในกรณีของคนเป็น ASD เรายิ่งต้องอาศัยเวลามากขึ้นไปอีก สมัยแรก ๆ แทบไม่มีข้อมูล ASD เป็นภาษาไทยเลย คือมีตามเว็บโรงพยาบาล แต่มันไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่แฟนเราเป็นนัก จนหลัง ๆ มานี้มีกลุ่มออนไลน์แลกเปลี่ยนกันเรื่องคนใกล้ตัว เช่น แฟน เช่น ลูก เป็น ASD กลุ่มแบบนี้ช่วยเรามาก ๆ” ในความสัมพันธ์ทั่วไป ดูเหมือนว่า การมี Empathy มีเมตตา รู้จักให้อภัย เป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด แต่ในความสัมพันธ์กับคนเป็น ASD เป็นอย่างไร “เราเคยโกรธที่ทำไมแฟนพูดแบบนั้นแบบนี้ หรือ เวลาพาแฟนไปเจอเพื่อน ๆ ของเราครั้งแรก ๆ แฟนก็เงียบตลอดเลย เรากลัวเพื่อนมองว่าแฟนเราแปลก ๆ แต่พอเข้าใจและได้คุยกับหมอก็ยอมรับว่า แฟนเราเป็นงี้แหละ ไม่ได้เป็นคนนิสัยไม่ดีอะไร” ผู้ให้สัมภาษณ์ยกคำพูดของหมอมาว่า ให้ปล่อยวาง ไม่ต้องนำคำพูดมาคิดมาก

ผู้ที่เป็นออทิสติกสเปกตรัม หรือ ASD มักจะพบกับอุปสรรคใหญ่ ๆ 3 ประการ 1.การสื่อสาร การรับรู้ การแสดงออกทางอารมณ์ 2.การติดนิสัยบางอย่างเป็นกิจวัตร ขาดความยืดหยุ่น 3.ขาดทักษะทางสังคม เช่น ไม่เข้าใจมารยาทหรือมุกตลกบางอย่าง “หมอบอกว่า แฟนเราเป็น High function autism คือเป็นกลุ่ม ASD ที่มีความสามารถ ถ้าสนับสนุนให้แฟนได้ทำสิ่งที่ชอบก็จะเป็นเรื่องดี”

“มีครั้งหนึ่งพ่อเราทะเลาะกับเราหนักมากเรื่องแฟนเรานี่แหละ แกไม่เข้าใจว่า ทำไมแฟนเราพูดจาตรง ๆ คิดไรก็พูด หรือ เจอกันไม่ทักทาย ไม่สบตา ไม่มองหน้า เราเข้าใจในความอึดอัดของคนรอบ ๆ ตัวนะ แต่ก็ต้องพยายามมาอธิบายให้เข้าใจ ซึ่งใช้เวลาพอสมควร และเอาจริง ๆ แฟนก็บอกว่า ถ้าเลือกได้ เค้าก็ไม่ได้อยากจะแนะนำกับใครต่อใครว่า เค้าเป็นอะไร มันง่ายที่จะถูกตัดสินอย่างเข้าใจผิด”

“หมอบอกว่า ไม่ใช่เรื่องผิดหากจะอธิบายวิธีการเข้าสังคมให้คนเป็น ASD เข้าใจ” คนใกล้ตัวที่มีความเข้าใจจึงสำคัญมากในการพัฒนาทักษะทางสังคมของผู้เป็น ASD “เวลาพาแฟนไปเจอใครใหม่ ๆ ตอนกลับออกมา แฟนก็มักจะถามเสมอว่า เมื่อกี้เผลอพูดอะไรไม่ควรพูดไปมั้ย หรือ พูดมากไปเปล่า เราก็มักจะตอบว่า โอเคแล้ว พูดที่อยากพูด ทำที่อยากทำแหละ คอยให้กำลังใจ เราคิดว่า การเป็น ASD ไม่ใช่ความผิดแฟน แต่เพราะสังคมไม่ได้ให้ความรู้เรื่องนี้กับคนทั่ว ๆ ไปว่า ควรคาดหวังน้อยลงหน่อยเมื่อสื่อสารกับคนเป็น ASD ถ้ามีพื้นที่ที่ความเข้าใจมีมากกว่านี้ เราว่า คนเป็น ASD ก็คงสบายใจที่จะเข้าสังคมมากขึ้นด้วย

ผู้ให้สัมภาษณ์ยกคำ ๆ หนึ่ง คือคำว่า “Too much” หรือ มากเกินไป “แฟนเล่าให้ฟังว่า ตัวเค้า Too much สำหรับทุกคน แต่พอมองจริง ๆ แล้ว เค้ามีสังคมรอบ ๆ ตัวเล็ก ๆ ที่อบอุ่นและไม่ตัดสิน เรารู้สึกว่า เพื่อนกับเค้าสนิทกัน มากกว่า เพื่อนกับเราอีก” ผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งอยู่ในวัยทำงานแล้วกล่าวเปรียบเทียบถึงความสัมพันธ์ของตนกับเพื่อน ๆ ที่แตกต่างออกไปจากวัยมหาวิทยาลัย
“เรายังมีบางอย่างที่คุยกับเพื่อนไม่ได้ใช่มั้ย เพราะทำงานกันหมดแล้ว จะให้บ่นเรื่องนั้นเรื่องนี้เหมือนตอนเป็นเด็ก ก็เกรงใจ ต่างคนต่างมีภาระ ในขณะที่แฟนเค้ามีเพื่อนสนิท และเพื่อนเค้าก็ไม่ได้รู้จัก ASD แค่รู้ว่า แฟนเป็นแบบไหน และเค้าเป็นเพื่อนกัน”

คำว่า สเปคตรัม ใน ASD นี้ทำให้ผมนึกถึงความหลากหลายที่ต่างคนต่างมีความต้องการหรือลักษณะนิสัยบางอย่างไม่เหมือนกัน และหลายครั้งก็แตกต่างออกไปจากมาตรฐานส่วนใหญ่ของสังคม แทนที่จะบีบให้ใครสักคนกลับมาสู่มาตราฐานดังกล่าวซึ่งอาจกลายเป็นการทำร้ายคนเหล่านั้นอยู่ เราสามารถสร้างความเข้าใจต่อความหลากหลายนี้ให้มากขึ้นได้ในสังคมที่เราอยู่อาศัย เริ่มต้นจากคนใกล้ ๆ ตัว