ThaiPublica > คอลัมน์ > “พาร์ตที่ยากที่สุดคือ เราจะทำยังไงให้ตัวเองดูปกติ” คุยกับวัยรุ่น ASD

“พาร์ตที่ยากที่สุดคือ เราจะทำยังไงให้ตัวเองดูปกติ” คุยกับวัยรุ่น ASD

5 มีนาคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

“เคยได้ยินคำว่า แอสเพอร์เกอร์ มาก่อนมั้ย” ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวทักทายเราด้วยประโยคข้างนี้

แอสเพอร์เกอร์เป็นคำที่ในประเทศไทยไม่ได้ยินบ่อยนัก และปัจจุบันไม่ได้มีบรรจุอยู่ในชื่อการวินิจฉัยทางจิตเวช ตามเกณฑ์คู่มือ DSM-5 สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน โดยเปลี่ยนไปใช้คำว่า “autism spectrum disorder” หรือ ASD แทน ซึ่งก็ตามชื่อเรียกใหม่ เพราะคนที่มีโรคนี้อาจมีอาการที่แสดงออกแตกต่างกันไปตามแต่สเปกตรัมของตนเอง

สำหรับคนนอก อาจฟังดูเหมือนข่าวร้ายที่รู้ว่าตนเองเป็นโรคนี้ แต่สำหรับผู้ให้สัมภาษณ์เองแล้ว เมื่อได้รู้ว่าตนมีโรคนี้อยู่ในตัว กลับนำมาซึ่งความโล่งใจ เพราะเหมือนได้ตอบคำถามทั้งหมดในชีวิตแล้วว่า อะไรทำให้คนอื่นๆ ปฏิบัติกับเราแบบนั้น “สำหรับครอบครัวเค้าก็เข้าใจความละเอียดอ่อนของเรา แต่สำหรับเพื่อนๆ ทุกคนไม่รู้ว่ามันคืออะไร ไม่มีใครคิดว่ามันเป็นเรื่องจริงด้วยซ้ำ” คนที่ได้รับการวินิจฉัยเป็น ASD มักมีวิธีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่แตกต่างออกไป อาจจะเป็นการสบตา การแสดงสีหน้า กิริยา หรือท่าทาง “เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่รู้ว่าตนเองเป็นแอสเพอร์เกอร์ เวลาคนอื่นพูดกับเรา บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเค้าพูดกับเราอยู่ หรือบางทีก็ไม่เข้าใจว่าเค้าโกรธอยู่ ดูไม่ค่อยออก”

นอกจากนี้ คนเป็น ASD ยังมักจะมีความชอบที่เฉพาะตัว ใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าบางชนิดไม่ได้ อาหารที่มีเนื้อสัมผัสบางอย่างจะกินไม่ได้ คนเป็นแอสเพอร์เกอร์จึงมักจะหมกมุ่นกับพฤติกรรมที่เป็นกิจวัตรซ้ำๆ และบางทีก็ถูกมองว่า ไม่ยืดหยุ่น ความแตกต่างนี้นำไปสู่ความไม่เข้าใจและการเข้าสังคม “เราก็ว่า เราเข้ากับคนไม่ค่อยได้ คือพยายามเต็มที่นะ แต่ก็มีเพื่อนแค่นี้ เหมือนคุยด้วยไม่รู้เรื่อง”

ปี ค.ศ.1934 ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) กุมารแพทย์ออสเตรีย มีการบันทึกถึงเด็กที่เข้าสังคมได้ยากลำบาก และมักชอบทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ แต่ดูจะมีความฉลาดเป็นพิเศษในเรื่องที่หมกมุ่น ในกรณีของผู้ให้สัมภาษณ์เองซึ่งเป็นวัยรุ่นที่มีผลงานมากมายตั้งแต่สมัยมัธยม โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องงานเขียน ตั้งแต่ เรื่องสั้น หนังสือ นิตยสาร ภาพวาด การ์ตูน รวมถึงงานประติมากรรมขนาดเล็ก และล้วนแล้วเป็นผลงานที่มีความเฉพาะตัวมาก

“วัยรุ่นสมัยนี้ชอบพูดคำว่า ‘แรง’ เราพูดคำอะไรไปก็ไม่ได้คิดอะไร แต่เค้าก็ตอบกลับมาว่าแรง เราก็ไม่แน่ใจว่า มันแรงยังไง แต่เวลาคนพูดอย่างนี้ ก็จะนึกว่า สงสัยตัวเองลืม masking แน่เลย” ยกตัวอย่าง นิสัยอย่างหนึ่งของคนเป็น ASD คือการพูดตรงไปตรงมา แต่การ masking คือการคิดแบบนี้นี่แหละ แต่พูดออกมาแบบอื่น เพราะกลัวคนมองว่าแรง เป็นการซ่อนสิ่งที่เป็นอยู่ เป็นการซ่อนความเป็น ASD ของตนเอง พอมีคนทักเช่นคำว่าแรง ก็จะรู้สึกว่า เรา masking ไม่เนียน

“ก่อนเราจะรู้ว่าเป็น ASD เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าอาการเหล่านี้ หรือสิ่งที่เราแสดงออกมันไม่พึงประสงค์ หรือถูกตีความว่าหยาบคาย เราไม่ได้อยากเป็นคนแบบนั้น แต่พอรู้แล้ว และรู้ว่าน่าจะทำไม่ได้ ก็เริ่มพยายามจะทำตัวแบบคนปกติเป็น อาศัยดูที่คนอื่นเค้าทำ หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงที่จะสนทนากับคนอื่น”

“พาร์ตที่ยากที่สุดคือ เราจะทำยังไงให้ตัวเองดูปกติ” ผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งกล่าวกับเราว่า การสนทนากับคนที่ไม่สนิทเป็นกิจกรรมที่ยากมาก “เจอคนเคมีตรงกันมันน้อยมาก 0.00001% ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น ถ้าคุยกับคนบางคนแล้วไม่สนิทมันจะทำตัวไม่ถูก เราว่า มันรู้สึกถึงความพอดีของตัวเองยาก กลัวว่าตัวเองพูดมากไป พูดเรื่องไม่ควรพูด แต่พอไม่พูดเลย ก็กลัวคนจะมองว่า ติ๋มๆ อ่อนแอ” นอกจากนี้ การพูดกับคนอื่นว่าเป็นออทิสซึมนั้น คนจำนวนมากก็ยังเข้าใจผิด ต่างจากโรคซึมเศร้าที่ได้รับความเข้าใจอย่างกว้างขวางในสังคมปัจจุบัน

ผู้ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงเวลาคนอื่นตัดสินว่าตนหยาบคาย เช่น ไม่ไหว้ หรือพูดตรงๆ ว่า “เราว่า มันไม่ใช่ความหมายของคำว่าหยาบคายนะ เวลาเจอคนหยาบคาย เค้าอาจจะพูดจาหยาบๆ เถื่อนๆ แต่อันนี้มันต่างออกไป มันเป็นเรื่อง common sense มั้ง” และคงเป็นดังเช่นที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เห็นสเตตัสหนึ่งโพสต์ว่า หากเขาแคร์เรา เค้าจะกูเกิลโรคของเรา ซึ่งก็คงเป็นความจริง ถ้าเราอยากจะรู้จักและรู้วิธีสื่อสารกับใครสักคนหนึ่ง

สุดท้ายนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์เมื่อรู้ตัวว่าเป็นแอสเพอร์เกอร์แล้ว ก็ทำให้สามารถจัดวางชีวิตได้ง่ายขึ้น “อย่าทำให้ความอยากเป็นคนปกติมันกัดกินเรา แต่พยายามสร้างพื้นที่ในการเป็นตัวของตัวเองให้แข็งแรง อยู่ในวงโคจรที่คนรอบๆ ตัวรักเรา เข้าใจเรา ที่เหลือคือ เราเลือกได้ เลือกว่าจะไปปาร์ตี้มั้ย ไปเจอคนใหม่ๆ มั้ย อยากลองทำดูก็ได้ ถ้าทำแล้วไม่ชอบ เราก็มีพื้นที่ที่มั่นคงของเรา”