ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > Self Resiliency Skill ทักษะชีวิตฝ่าวิกฤติอนาคต

Self Resiliency Skill ทักษะชีวิตฝ่าวิกฤติอนาคต

15 มกราคม 2022


มนุษย์ที่ไม่ใช่แค่จำนวนนับทางสถิติ

เป็นที่รับรู้กันว่า จะพูดให้ใครฟัง ก็ต้องพูดภาษาของเขา หลายปีก่อน ผมและเพื่อนๆ จัดทำแบบสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลวัยรุ่นไทยราวหมื่นคน เพียงเพื่อจะบอกว่า “รัฐและคนทำงานด้านเด็กเยาวชนควรฟังเสียงเด็กเยาวชนและปฏิบัติกับพวกเขาอย่างเท่าเทียม” แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมประโยคสั้นๆ ที่ทุกคนโดยเฉพาะคนทำงานกับเด็กเยาวชนควรมีอยู่ในสามัญสำนึกอยู่แล้วนั้น จึงต้องใช้ตัวเลขจำนวนมาก ข้อมูลมหาศาล และการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเพื่อ “โน้มน้าว” สามัญสำนึกที่ว่าให้เติบโตในดีเอ็นเอ(อ่านผลการสำรวจเพิ่มเติมได้ที่นี่)

แต่นั้นเป็นต้นมา ผมจึงเลิกทำสำรวจใดๆ ที่ไม่จำเป็นหากสามารถบอกอย่างตรงไปตรงมาได้แต่แรก ซึ่งจะเป็นการดีเสียกว่าหากพิจารณาตัวเลขเรือนหมื่นจากแบบสำรวจในฐานะมนุษย์ ที่ไม่ใช่เพียงจำนวนนับ ที่ซึ่งแต่ละหน่วยหมายถึงความสุข ความทุกข์ อดีตที่อาจเจ็บปวด เสียงร้องไห้ เสียงหัวเราะ การได้และการเสียผลประโยชน์ ความหวังและความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต

เมื่อมองชีวิตเป็นเพียงจำนวนนับทางเศรษฐกิจ ทำให้เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินการโน้มน้าวจากตัวเลขเรือนล้านถึงปัญหาการ “เกิดต่ำ แก่มาก ตายช้า” ที่กำลังท้าทายวัยรุ่นไทย จึงดูเสมือนเป็นการพร่ำบอกให้วัยรุ่นรีบๆ เรียน รีบๆ จบ แล้วก็รีบๆ หางานทำ สมรส แล้วเบ่งลูกออกมาเป็นแรงงาน เพื่อสานต่อวงจรเศรษฐกิจดังกล่าว วงจรที่คนอย่างเราๆ ไม่มีทางหรือต้องพยายามจนเลือดตาแทบกระเด็นเพียงเพื่อจะหาเงินมาผ่อนหนี้ค่าบ้าน จ่ายค่าเล่าเรียนลูก ซื้อของฟุ่มเฟือยบ้างบางครั้งในยามเทศกาล ส่วนเรื่องที่จะขยับสถานะทางเศรษฐกิจ หรือ อยู่ได้จาก passive income อะไรนั่น ก็คงต้องรอถูกหวยเอาจะง่ายกว่าการดิ้นรนในระบบดังกล่าว เป็นระบบเศรษฐกิจที่ปั่นจักรโดยเรา แต่ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่เพื่อเรา

การมองวัยรุ่นเป็นเพียงหน่วยหนึ่งทางแรงงาน ไม่ได้มองวัยรุ่นในฐานะมนุษย์ที่มีชีวิตและมีอะไรต้องแบกรับมากกว่าเรื่องสังคมสูงวัย ส่งผลต่อปัญหามากมายที่สุดท้ายแล้วคนซวยก็คือวัยรุ่นเอง

เกิดต่ำ แก่มาก ตายช้า ท้าทายวัยรุ่นไทย

ท่อนนี้เป็นตัวเลขเรือนล้านเพื่ออ้างอิงข้อมูลทางประชากรที่ข้ามได้ ไม่ต้องอ่าน แต่หากกำลังมองหาภาษาที่คุ้นเคยอยู่ก็อ่านได้เช่นกัน… กระทรวงสาธารณสุขเผยว่า จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี ปี 2563 เป็นปีแรกที่อัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงต่ำกว่า 600,000 คน และมีแนวโน้มจะต่ำลงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะด้วยค่านิยมการไม่มีลูกที่มากขึ้น การครองชีวิตโสด หรือจะด้วยปัญหาด้านสวัสดิภาพในชีวิตที่ไม่แน่นอน ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การศึกษา สภาพแวดล้อม และความหวังที่จะมีอนาคตที่ดีในประเทศนี้ก็ตาม

ช่วงวันเด็กปี 2563 เช่นกัน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดประมาณประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคนในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคนในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตราร้อยละ -0.2 ต่อปี โดยประเมินว่า ปี 2583 จะมีประชากรทั้งหมดราว 65.4 ล้านคน โดยประชากรวัยเด็กแรกเกิดถึง 14 ขวบปีมีแนวโน้มลดลง ทำให้จากเดิมปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน (16.9%) ลดลงเหลือ 8.4 ล้านคน (12.8%) ในปี 2583

ในขณะที่ประชากรสูงวัยอายุมากกว่า 60 ปี ในปี 2563 มีประมาณ 12 ล้านคน (18%) เพิ่มขึ้นเป็น 20.42 ล้านคน (31.28%) ในปี 2583 ทั้งยังพบว่า ปี 2562 เป็นปีแรกที่ประชากรเด็กมีอัตราเท่ากับประชากรสูงวัยคือ 11.3 ล้านคน และจำนวนประชากรเด็กลดลงต่อเนื่องต่ำกว่าสัดส่วนผู้สูงวัยจากนั้นเป็นต้นมา ทำให้คนวัยแรงงาน อายุระหว่าง 15-59 ปี ลดลงจาก 43.26 ล้านคน (65%) ในปี 2563 เหลือ 36.5 ล้านคน (56%) ในปี 2583

จากข้อมูลประชากรทั้งประเทศปี 2563 ประเทศไทยมีประชากรวัยเด็กและวัยรุ่น อายุ 0-24 ปี รวม 19,207,491 คน หรือ คิดเป็น 28.82% จากทั้งหมด และหากนับแต่วัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ซึ่งถูกทำให้เป็นวัยที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนเป็นแรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 12.82% จากประชากรทั้งหมด ประชากร 12.82% นี้เองที่ไม่เพียงแต่กำลังจะต้องแบกรับสังคมสูงวัย แต่ยังต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก ที่มีทั้งภายนอกตั้งแต่ความผันผวนทางเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำ และสภาพภูมิอากาศ และยังต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภายในซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่แทบไม่อยู่ในความสนใจของภาคนโยบายด้านเด็กและเยาวชน อย่างเช่น ปัญหาสุขภาพจิต แรงกดดันในชีวิต การปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วย

ปัญหาระดับโลกที่ไม่มีใครพูดถึง…ในบ้านเรา

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ปี 2020 โรคซึมเศร้าก่อความสูญเสียด้านสุขภาพเป็นอันดับ 2 ของโลก ในบ้านเราเอง กรมสุขภาพจิตพบว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 3 ล้านคน และป่วยด้วยโรคซึมเศร้าแล้วกว่า 1 ล้านคน แต่วัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวเข้าถึงบริการน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับวัยแรงงานและสูงอายุ

ผมเองมีโอกาสทำงานด้านสุขภาพใจวัยรุ่นร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ในการหารือแลกเปลี่ยนหลายครั้งเราพบว่า ระหว่างที่เราในฐานะคนทำงานภาคสังคมหมกมุ่นอยู่กับวิธีคิดเรื่องชีวิตที่มีคุณค่า คนรุ่นใหม่หลายคนที่เราทำงานด้วยและกำลังเติบโต ไม่ได้เชื่อว่าชีวิตต้องมีคุณค่า ไม่เชื่อในชีวิตที่มีความหมาย และไม่เชื่อว่าชีวิตต้องมี passion จะด้วยเพราะ existential crisis ที่ปะทะกับคนกลุ่มนี้เร็วขึ้น เพราะการเข้าถึงสื่อโลกตะวันตกที่ให้คุณค่ากับ nihilism (อย่างริกแอนด์มอร์ตี) ที่มากขึ้น หรือการมีชีวิตที่มีความหมายมันเหนื่อยเหลือเกิน เลยเกิดคนกลุ่มใหญ่ๆ นี้ขึ้นมา คนที่ใช้ชีวิตแบบไม่มีความหมายก็ได้ ซึ่งความท้าทายของเราคือ เราจะอยู่ร่วมบ้านเดียวกันหรือทำงานกับคนที่ไม่เชื่ออะไรเลยได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้และคนอีกกลุ่มที่เชื่อในคุณค่าบางอย่างในชีวิตยังมีสิ่งหนึ่งร่วมกัน คือเราต่างพยายามใช้ชีวิตอยู่ให้ไม่ต้อง mental breakdown และความพยายามแบกชีวิตที่มันใช้ยากเหลือเกินภายใต้กรอบทุนนิยมและกรอบของสังคมนี้เอง เป็นทักษะที่ผมเรียกว่า self resilience ที่คนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องพยายามหาความหมายให้ชีวิตก็ได้ แต่เราในฐานะคนทำงาน จะสร้างนิเวศอย่างไรให้เขาไม่รู้สึกว่า กำลังแบกชีวิตไว้คนเดียว การช่วยกันลดแรงกดดันในชีวิต ให้ไม่กระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาวะนั้น เป็นโจทย์ที่ท้าทาย และเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนเพื่อเห็นแนวทางใหม่ๆ ในการทำงาน

Self Resiliency Skill ทักษะชีวิตฝ่าวิกฤติอนาคต

ทักษะ self resiliency หรือ self resilience หรือ “ทักษะภูมิชีวิต” หมายถึง การปรับตัวเมื่อเผชิญกับสถานการณ์เสี่ยงหรือยากลำบาก โดยยังสามารถมีผลลัพธ์เชิงบวกเกิดขึ้นในตัวบุคคล เป็นความสามารถในการเปลี่ยนความเลวร้ายในอดีตมาเป็นภูมิต้านทาน (steeling effect) ซึ่งประกอบด้วย 5 ปัจจัย

1. การปรับตัวทางสรีระ อันเกิดจากการฝึกฝน เช่น นักดำน้ำที่ลดความกลัวในการดำน้ำลึกลงเมื่อดำบ่อยครั้งขึ้น
2. ลักษณะนิสัยใจคอ (psychological habituation) การมองโลก หรือ mindset
3. การรู้สึกถึงประสิทธิภาพในตนเอง (self-esteem)
4. การรับมือกับปัญหาอย่างมีความสามารถ (self-organization)
5. การให้ความหมายใหม่ในทางบวกต่อประสบการณ์ในอดีต

self resiliency skill หรือ ทักษะภูมิชีวิต ไม่ได้มีพัฒนาการแบบเส้นตรงและคงทน แต่มีลักษณะเป็นพลวัตร หรือ dynamic ไม่ได้ static แบบแนวคิดปัจจัยเสี่ยงแบบเดิมที่มองว่า หากป้องกันตัวแปรบางอย่าง ก็สามารถแก้ไขกิจกรรมเชิงลบของทุกๆ คนได้ แต่เป็นทักษะที่เกิดในตัวบุคคลนั้นเอง ผ่านปัจจัยเชิงบวก เช่น ด้านร่างกาย การมี IQ มีพื้นฐานทางอารมณ์ สารเคมีในสมอง, ด้านจิตใจ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสามารถ ความถนัด และด้านสังคม ครู เพื่อน ชุมชน

ทักษะดังกล่าวตั้งอยู่บนความเชื่อ 2 ประการ ได้แก่ 1) Internal locus of control คือการเชื่อว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นเพราะเราทำ ไม่ใช่บุญกรรมหรือโชคช่วย 2) External attribution of blame เชื่อว่า ความเลวร้ายไม่ได้เกิดจากเราหรือเราแต่เพียงผู้เดียว แต่เพราะปัจจัยภายนอก

ทั้งยังรวมถึงการมีความรู้สึกว่า เราเกิดมามีความสุข มีคุณค่า (presence of spirituality), มีจิตใจที่ยืดหยุ่น ดูแลตนเองได้ (ego resilience), รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนหรือแวดวง (sense of community), มีความพึงพอใจในบทบาททางสังคมของตน (social role satisfaction) และมีความสามารถในการให้ความหมายใหม่เชิงบวก (conceptual change and cognitive restructuring) รวมทั้งมีกลไกจัดการปัญหาในเชิงพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น ไปจิตบำบัด กิจกรรม งานอาสา และมีทักษะการสื่อสารและแก้ปัญหา

การพัฒนาทักษะ self resilience นั้น สามารถส่งเสริมผ่านปัจจัยทางร่างกายหรือชีวภาพ ปัจจัยทางจิตใจ และปัจจัยด้านสังคม เพื่อพัฒนาให้บุคคลมีความภูมิใจในตนเอง มีทักษะทางอารมณ์ ทักษะทางความสัมพันธ์ และทักษะต่างๆ ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและการใช้ชีวิตแล้ว ยังพัฒนาให้บุคคลสามารถปรับตัวเชิงบวกและเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง

การส่งเสริมทักษะภูมิชีวิตสามารถทำได้ผ่านทุกระดับในสังคม เริ่มตั้งแต่ สื่อ ครอบครัว ภาคการศึกษา สังคม และในระดับโครงสร้าง ผ่านกฎหมาย นโยบาย และวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นการลดประสบการณ์เชิงลบ เช่น การมีตาข่ายรองรับทางจิตใจ หรือ mental safety net, การส่งเสริมประสบการณ์เชิงบวก และการเก็บข้อมูลในเชิง data prediction ที่ช่วยให้เข้าถึงและส่งเสริมความต้องการของเยาวชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรวัยรุ่นได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการศึกษาท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่มีความจำเป็นต้องเรียนออนไลน์ นอกจากความพยายามกลับมาเรียนปกติให้ได้เร็วที่สุด (ซึ่งถึงที่สุดแล้ว คงต้องใช้เวลาอีกนาน) ตั้งแต่เรียนทีละครึ่งห้องหรือวันเว้นวันแล้ว ควรพัฒนาการสอนออนไลน์ให้ตอบสนองกับผู้เรียนให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน หนึ่งในการลดประสบการณ์เชิงลบในโรงเรียน คือ ยกเลิกวัฒนธรรมการลงโทษที่กระทบต่อกายใจเด็ก และลดแรงกดดันในการเรียนรู้ ผู้สอนควรเข้าใจบุคลิกลักษณะผู้เรียนซึ่งมีความหลากหลาย มีทั้งเด็กอยากแสดงออกมากและเด็กที่เป็นอินโทรเวิร์ท ไหนจะเด็กที่เป็นแอสเพอเกอร์ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กที่โตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ครูต้องตระหนักเสมอ

มีนักศึกษาผมคนหนึ่งเคยบ่นว่า แกเครียดจนเหงื่อตกทุกครั้งเวลาเจอครูเรียกเช็กชื่อแล้วให้ขานต่อหน้าคนทั้งห้อง นอกจากนี้ การลดระยะเวลาการทำการบ้านก็เป็นเรื่องสำคัญที่ครูควรจะคุยกัน หรือ มีมาตรการบางอย่างช่วยไม่ให้เด็กเสียเวลาชีวิตเกินไป เช่น การบ้านควรเป็นงานที่ใช้เวลาทำไม่เกิน 1 ใน 4 ของเวลาเรียน อย่างเช่น เรียน 1 ชั่วโมง การสั่งการบ้านก็ควรจะเป็นงานที่ใช้เวลาทำไม่เกิน 15 นาที แล้วปล่อยให้เด็กยุคนี้เรียนตามความสนใจและสบายใจของเขาเถอะครับ

ที่มาภาพ : กิจกรรม Youth In Charge

บทสรุปนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตวัยรุ่น

นอกจากทักษะ self resilience ที่ต้องช่วยกันสร้าง โดยไม่ได้ผลักให้เป็นภาระของเยาวชนฝ่ายเดียวแล้ว ผมยังอยากเห็นทรัพยากรที่จะกลายเป็นทั้งโอกาสและข้อมูลในการตัดสินใจใช้ชีวิต ถูกทำให้เข้าถึงได้อย่างเป็นระบบ เป็นธรรม ไม่ต้องรู้จักใคร ไม่ต้องอาศัยโชค และไม่มีสถานะ ช่วงวัย เพศ หรือความเป็นอื่นใดๆ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรนั้นได้ อยากให้มีระบบพัฒนาและสนับสนุนวัยรุ่น ที่ไม่ต้องให้ผู้เคยเป็นวัยรุ่นมาเลือกให้เช่นที่เป็นอยู่ แต่วัยรุ่นได้ตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง ผ่านการมีหรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ทำงาน ศึกษา และสำรวจรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นวัยรุ่นในเชิงคุณค่าและวัฒนธรรม

คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรเราจึงจะยอมรับข้อเท็จจริงที่เป็นประสบการณ์เชิงประจักษ์ดังกล่าว แทนที่จะใช้วิธีสำรวจข้อมูลแบบเดิมๆ เพราะกว่าจะได้ตัวเลขมายืนยันว่าปัญหามีจริง ก็อาจใช้เวลาเป็นปี และกว่าจะกลายเป็นนโยบายอย่างเร็วก็อีกปีถึงสามปี ไหนจะเก็บเกี่ยวผลอีกสองถึงสามปี ถึงเวลานั้นคนรุ่นใหม่ก็ผลัดรุ่นไปเป็นวัยอื่นแล้ว ประเด็นคือการทำงานด้านประชากรอาจไม่ควรใช้วิธีการเดียวกันกับนโยบายอื่นๆ ซึ่งเป็นการสืบค้นหลักฐานย้อนหลัง แต่ควรกล้าที่จะสำรวจ คาดการณ์ และมองไปยังอนาคต

หากเรามีการสำรวจแรงกดดันในการใช้ชีวิต มีระบบแวดล้อมที่สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพและการมีส่วนร่วมของวัยรุ่น มีการผลักดันให้เกิดการรับรองสิทธิ อิสรภาพและความรับผิดชอบด้วยกฏหมายและนโยบาย เราอาจเห็นงานวิจัยเพื่อค้นหาว่า พ่อแม่ไทยกลัวอะไร? อาจมีมูฟเมนต์รณรงค์ รื้อถอนวัฒนธรรมความรุนแรงที่เกิดกับวัยรุ่นให้นำมาพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม เราจะได้เห็นนโยบายซึ่งมองวัยรุ่นเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เพียงว่าที่แรงงาน หรือหลักประกันผู้ปกครองในวัยชรา หรือตัวเลขในงานวิจัย ที่จะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับสังคมและประเทศได้โดยอายุ สถานะ รูปร่าง เพศ ความต้องการเฉพาะบางอย่าง และพื้นฐานครอบครัว ไม่ใช่เครื่องกีดกัน

เพื่อให้เห็นโอกาสที่จะมีชีวิตโดยไม่ถูกจองจำจากประเพณี ความเชื่อที่ห้ามพิสูจน์ กฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม และมีทางเลือกในชีวิตที่หลากหลาย เห็นการพัฒนาประชากรและประเทศด้วยเหตุผลและข้อมูล มากกว่า ความเชื่อว่าปัญหาเกิดจากความล้มเหลวทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล

ความหวังที่จะเห็นอนาคตที่ดีในประเทศนี้ในอีก 20 ปีข้างหน้า คงต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ วันที่เราทุกคนเลิกมองเสียงประชาชนเป็น noise ที่ถูกละเลย แต่เป็น voice ที่ถูกรับฟัง ให้คุณค่า และถูกให้ความหมายให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

อ้างอิง & ขอขอบคุณ

  • www.posttoday.com (ข้อมูลสถิติประชากร)
  • ศุภรา เชาว์ปรีชา พบ. วทม. resilience ในเด็กที่ถูกทารุณกรรม
  • ความสุขประเทศไทย. เชื่อมเจนเชื่อมใจ กระบวนการทางสุขภาวะทางปัญญากับการเชื่อม Generation Gap ที่ขาดหาย
  • อัจฉรา สุขารมณ์. มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต. การฟื้นฟูพลังใจในภาวะวิกฤติ
  • วิภาพรรณ วงษ์สว่าง สำหรับการตรวจทานต้นฉบับ

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…