ThaiPublica > คอลัมน์ > Soft Power อำนาจวัฒนธรรมทางปัญญา ที่รัฐบาลเริ่มทำได้เลย

Soft Power อำนาจวัฒนธรรมทางปัญญา ที่รัฐบาลเริ่มทำได้เลย

6 ธันวาคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ระหว่างทริปพาหนังสารคดี The Last Breath of Sam Yan ไปฉายที่หัวหิน โปรดิวเซอร์ทั้งสองถกเถียงกันว่า ถ้าคนไทยเห็นคนไทยและคนฝรั่งจมน้ำ ทั้งคู่ว่ายน้ำไม่เป็นและโอกาสเสียชีวิตพอกัน คนไทยจะเลือกช่วยใคร ฝ่ายแรกเสนอให้ช่วยคนฝรั่งเพื่อแสดงความเป็นคนไทยที่ดี อีกฝ่ายเสนอให้โยนหัวก้อย เพราะเหตุผลถูกใช้ถึงทางตันแล้ว หากมีคนใดหรือทั้งสองคนรอดชีวิต ก็สามารถอ้างว่าเป็นเรื่องของดวงได้ แม้ผมเห็นด้วยกับฝ่ายหลัง แต่ข้อเสนอของฝ่ายแรกนำไปสู่คำถามที่ว่า ภาพลักษณ์ของคนไทยคืออะไร

แทบร้อยทั้งร้อย ภาพลักษณ์ของคนในชาติเกิดจากการประกอบสร้างผ่านสื่อ และสื่อที่สามารถสร้างภาพที่ดีให้คนในชาติจนเกิดการยอมรับในระดับสากลได้ ก็เพราะอำนาจทางวัฒนธรรม soft power จึงเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ประเทศ งาน soft power คือโฆษณาขนาดยาว ที่ไม่ได้โฆษณาสินค้าบริษัท แต่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของชาติว่า อยากให้สากลโลกมองเราอย่างไร มองเห็นคนไทยเป็นแบบตัวเอกในสัปเหร่อ ไอ้แผนในมนต์รักทรานซิสเตอร์ นางข้างบนในสนิมสร้อย มือปืนในหนังท่านมุ้ย หรือตัวละครฉลาดหลักแหลมและมืออาชีพอย่างตัวเอกในซีรีส์เกาหลี เช่นเดียวกัน หากจะประชาสัมพันธ์ว่าไทยเป็นเมดิคัลฮับต้อนรับนานาชาติ ก็ต้องพัฒนาให้มีตัวละครหมอพยาบาลมากความสามารถ มีเสน่ห์ เปี่ยมศีลธรรม และยืนอยู่บนหลักการ หรือหากจะขายสตรีทฟู้ด เราก็จำเป็นต้องมีการ์ตูนอย่างโซมะยอดนักปรุง หรือคอมมิกอย่างไอ้หนูซูชิ (ตัวละครญี่ปุ่นในหนังสือมูราคามิซึ่งขายดีทั่วโลกเลยต้องฟังบาค ฟังไซคอฟสกี) ซึ่งดนตรีไทยและมวยไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วจากโหมโรงและองค์บาก เสียดายที่ในเวลานั้น ภาครัฐยังไม่มีความคิดเรื่อง soft power แบบครบวงจร เราจึงไม่ค่อยได้เห็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมต่อยอดใดๆ และก็เช่นเดียวกับโฆษณาที่ดี ซึ่งต้องยืนอยู่บนฐานคิดที่ว่า ไม่มีใครอยากดูโฆษณา นอกจากเนื้อหาที่สอดแทรกแล้ว รูปแบบที่เพลิดเพลิน บันเทิง และแปลกใหม่จึงเป็นเรื่องจำเป็น

เมื่อพูดถึงงานด้านวัฒนธรรม ในบ้านเรามักนึกถึงวัฒนธรรมฐานราก เช่น การละเล่นพื้นบ้าน ผ้าพื้นถิ่น อาหารประจำจังหวัด และประเพณีอันดีงาม เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้นักท่องเที่ยวที่เสาะแสวงหาโลก exotic เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำให้เกิดตลาดตลอดมา แต่สิ่งนี้คงจะไม่ใช่ soft power ในความหมายของประเทศที่มีอำนาจทางวัฒนธรรม

ที่ผ่านมางานส่งเสริมวัฒนธรรมไทย จึงทำอยู่บนแนวคิด “ไทยนิยม” ซึ่งเป็นมุมมองแบบ exotic แต่หากจะสร้างมูลค่าและไปสู่นานาชาติได้ เราต้องพัฒนาไปสู่วิธีคิดแบบ “ไทยสากล” ให้ได้ นอกจากการสนับสนุนวัฒนธรรมรากฐานแล้ว

ในประเทศที่อุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมก้าวหน้านั้น ยังสนับสนุนวัฒนธรรมทางปัญญา เป็นวัฒนธรรมที่ทั้งเนื้อหาและรูปแบบร่วมสมัยพอจะข้ามจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่วัฒนธรรมสากลได้

ผู้ผลิตสื่อและศิลปินไทยมีชื่อเสียงทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการผลิต มีรางวัลในเวทีระดับโลกยืนยัน แต่เมื่อมองภาพรวมจะเห็นว่า เป็นความสำเร็จของปัจเจกมากกว่าความสำเร็จในการสนับสนุนเชิงระบบ ทำให้เราไม่สามารถสำเร็จต่อเนื่อง โครงสร้างวัฒนธรรมทางปัญญาของไทยจึงเป็นคอขวดและไม่มีระบบสนับสนุน สถาบันการศึกษาไม่แข็งแรง เนื้อหาและกระบวนการผลิตไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ขาดสินค้าเรือธง ปราศจากช่องทางการเผยแพร่ที่หลากหลายและกระบวนการการให้คุณค่า รวมทั้งไม่มีตลาดรองรับ รัฐบาลจึงต้องออกแบบโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมตั้งแต่ต้นสายถึงปลายน้ำ ตั้งแต่สถานศึกษาถึงตลาดโลก

Soft Power อำนาจวัฒนธรรมทางปัญญา ที่รัฐบาลเริ่มทำได้เลย

หลังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการก็มีประกาศ 10 แผนงานสนับสนุนนโยบายดังกล่าว จึงขอเสนอสิ่งที่รัฐบาลสามารถเริ่มทำได้เลย โดยล้อกับทั้ง 10 แผน เพื่อสนับสนุนงานวัฒนธรรมไทยสากลให้เกิดขึ้น

แผนงาน 1 สำรวจ รวบรวมข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ

  • รัฐบาลควรสนับสนุนการจัดทำ creative databased platform เป็นฐานข้อมูลนักสร้างสรรค์ พร้อมทั้งองค์ความรู้ด้านสื่อและวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ทั้งเพื่อรวบรวมกำลังทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ และเพื่อให้เห็นภาพรวมของงานวัฒนธรรมทางปัญญาทั้งหมดในประเทศ
  • production portal platform เป็น interactive database สำหรับผู้ผลิตสื่อและคนทำงานด้านวัฒนธรรมให้มีช่องทางประชาสัมพันธ์โปรไฟล์ตัวเองได้ รวมทั้งเป็นระบบให้ผู้จัดจำหน่ายและภาคเอกชนสามารถจับคู่และสืบค้นได้สะดวก เป็นการขยายช่องทางการพัฒนางาน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวก
  • แผนงาน 2 สำรวจและพัฒนาแรงงานด้านวัฒนธรรมให้มีทักษะสูง รองรับความต้องการของตลาด

  • สถาบันนักสร้างสรรค์ นอกจากความร่วมมือกับสถาบันอาชีวะและหน่วยงานพัฒนาอาชีพแล้ว ยังควรมีหน่วยงานด้านการศึกษาหลัก เพื่อมุ่งสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่าง ภาพยนตร์ สื่อ และเกม รวมทั้งมีสถาบันบ่มเพาะนักวิจารณ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดคุณค่าทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังสามารถทำแพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์และแพลตฟอร์ม mentor matching จับคู่ผู้เรียนกับผู้ผลิต และจับคู่ผู้ผลิตกับหน่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมได้
  • แผนงาน 3 บริหารจัดการพื้นที่และเครือข่ายทางวัฒนธรรม

  • พื้นที่สร้างสรรค์ community space ขยายตลาดวัฒนธรรมทางปัญญาครอบคลุมทุกจังหวัด เป็นสเปซขนาดไม่ต้องใหญ่ แต่เพียงพอให้มีพื้นที่ฉายภาพยนตร์ แสดงงานศิลปะ พูดคุยเสวนา จัดงานพิพิธภัณฑ์ และอุดมด้วยความคิดสดใหม่ เป็นแหล่งรวมผู้สนใจงานสร้างสรรค์
  • งาน showcase นานาชาติ สนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมไทยสากล เปิดตลาดกับผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศ ให้คนทำหนังและผู้ผลิตสื่อไทยไม่ต้องดิ้นรนหาช่องทางเผยแพร่นอกประเทศแต่เพียงฝ่ายเดียว
  • แผนงาน 4 ยกระดับงานวัฒนธรรมเดิมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

  • งานทูตวัฒนธรรม รัฐบาลควรสนับสนุนอย่างครบวงจร ไม่เพียงแต่เอาต์เล็ตแฟชั่นบนถนนช็องเซลิเซหรือฟิฟท์อะเวนิว แต่ยังรวมถึงศูนย์เผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ ผ่านคอนเซปต์ร่วมสมัยและเป็นไทยสากล เช่นเดียวกับ Korean Cultural Center, Goethe หรือ Alliance Francaise ในไทย โดยนำร่องในประเทศทางวัฒนธรรม อย่าง ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย และอินเดีย
  • แผนงาน 5 ส่งเสริมเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆ ด้านวัฒนธรรม ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

  • ส่งเสริมปฏิทินวัฒนธรรมร่วมสมัย ยกระดับงานวัฒนธรรมไทยเดิมให้เป็นสากล เช่น การเพิ่มกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนในวันลอยกระทง (สำรวจสิ่งมีชีวิตในสายน้ำ, ดำน้ำเก็บขยะ, ประกวดคลองสวย, พายเรือเลาะคลอง, เดินเที่ยวชุมชนริมน้ำ, ชิมชอปประมงพื้นบ้าน) หรือประกวดคอสเพลย์ผีไทยเทศกาลฮาโลวีน
  • แผนงาน 6 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

  • จัดตั้ง “กองทุนนักสร้างสรรค์” นิติบุคคลมหาชน ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการเพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงานและมีความเป็นอิสระ เนื่องจากองค์กรมหาชนที่มีอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมนั้นเน้น “หัวข้อและเนื้อหา” ที่มีโจทย์กำหนดมาแล้ว มากกว่า เน้น “รูปแบบและทักษะ” ที่สามารถต่อยอดได้หลากหลาย กองทุนใหม่นี้ต้องเปลี่ยนจากการอาศัยสื่อเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของรัฐ ไปสู่การเป็นต้นทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กองทุนนี้ต้องเน้นพัฒนาทักษะด้านการผลิต เทคโนโลยี และกระบวนการคิดสร้างสรรค์ โดยมุ่งเป้าสนับสนุนนักสร้างสรรค์ ผู้ผลิตสื่อรายเล็ก และผู้จัดจำหน่ายรายย่อยให้เติบโตได้ นอกจากนี้ รัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่ลดทอนความคิดสร้างสรรค์ของคนทำงาน มีกฎหมายที่ช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ปกป้องสิทธิแรงงาน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงานสร้างสรรค์
  • แผนงาน 7 สร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน และเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม

  • ขยายตลาดภาพยนตร์และอุตสาหกรรมสื่อไทยในต่างประเทศ พัฒนาระบบการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม B2B ให้ผู้ผลิตสื่อวัฒนธรรมในไทย ไม่ต้องรองานอีเวนต์ ไม่ต้องผ่านตัวกลางเป็นหลัก และขยายช่องทางการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมเพื่อดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ รวมถึงให้ความรู้อย่างถูกต้องเพื่อขยายช่องทางการเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมในเทศกาลและเวทีที่เชื่อถือได้
  • แผนงาน 8 นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการต่อยอดงานวัฒนธรรม

  • พัฒนาการท่องเที่ยวเสมือนจริง ต่อยอดแหล่งท่องเที่ยว เช่น วัด พิพิธภัณฑ์ สถานที่ประวัติศาสตร์ ด้วยสื่อเทคโนโลยี VR, AR และ MR ให้สามารถสัมผัสเหตุการณ์สำคัญในอดีต ณ สถานที่นั้นๆ ได้ นอกจากนี้ ฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ จัดทำให้เป็น interactive น่าสืบค้น
  • แผนงาน 9 อนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมงานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติให้คงคุณค่าและเนื้อหาสาระของวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

  • สนับสนุนการผลิตงานแอนิเมชันไทยร่วมสมัย ที่ผ่านมางานแอนิเมชันที่รัฐสนับสนุนมักยืนอยู่บนความกลัวว่า ทำอย่างไรถึงจะไทยพอ ทำให้เรามีแต่ตัวละครรามเกียรติ์ รัฐบาลต้องก้าวข้ามความกลัวชุดนี้ให้ได้ และสนับสนุนการสร้างผลงานที่รูปแบบและเนื้อหาโดดเด่น แปลกใหม่เป็นหลัก อาจใช้จุดขายจากชื่อเสียงของภาพยนตร์สยองขวัญที่เคยมี พัฒนาตัวละครผีไทยที่ยึดโยงกับความเป็นพื้นบ้าน ให้เป็นต้นทุนในการออกแบบแคแรกเตอร์ที่พื้นฐานแข็งแรงและต่อยอดเป็นการ์ตูนซีรีส์ได้ เช่นเดียวกับ Over the Garden Wall และ Gravity Falls นอกจากนี้ ยังสามารถดึงเนื้อเรื่องทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยมาเล่าผ่านแอนิเมชันได้ เช่น ชีวประวัติศรีบูรพา, ผลงานของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ และงานเขียนรางวัลต่างๆ
  • แผนงาน 10 เปิดพื้นที่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และแสดงออก นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์

  • จัดเวทีประกาศรางวัลภาพยนตร์และหนังสั้นนานาชาติ ยกระดับภาพลักษณ์ HUB สื่อสร้างสรรค์ในภูมิภาค ASEAN, กระตุ้นการท่องเที่ยว, เปิดตลาดอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมใหม่ และสนับสนุนพื้นที่หนังสั้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนไทยตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน เนื่องจากเป้าหมายการพัฒนา soft power เป็นแผนระยะยาว รัฐบาลต้องเริ่มสร้างเยาวชนที่มีความสนใจ ทักษะ และวิธีคิดสร้างสรรค์สื่อที่เป็นไทยสากล และสร้างความเชื่อมั่นว่ามีตลาดรองรับ สามารถนำร่องในพื้นที่หัวเมืองใหญ่ เช่น นครราชสีมา, เชียงใหม่, สงขลา, อุบลราชธานี หรือจังหวัดอื่น ๆ ผ่านการสร้างสถานที่จัดฉายและที่จัดงานที่มีมาตรฐาน
  • นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดแพลตฟอร์มผลงานสื่อเยาวชนที่มีอยู่เดิมแล้ว ซึ่งมีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สนับสนุนอยู่ ให้เป็นออนไลน์สตรีมมิงเต็มรูปแบบ เพื่อเปิดโอกาสและขยายพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานด้านสื่อให้เยาวชน และพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มข่าวสารความรู้ด้านสื่อและวัฒนธรรมสำหรับสถานศึกษาได้ด้วย