ThaiPublica > คอลัมน์ > ย้อนรอยความคิดโจชัว หว่อง 2 ปีก่อนชุมนุมใหญ่ฮ่องกง

ย้อนรอยความคิดโจชัว หว่อง 2 ปีก่อนชุมนุมใหญ่ฮ่องกง

8 มกราคม 2020


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ และ วิภาพรรณ วงษ์สว่าง

“จีนแผ่นดินใหญ่มาที่นี่ ปิดถนนด้วยกระสอบ… ค่าเช่าพุ่งสูง ทุกอย่างแพงไปหมดสำหรับคนฮ่องกง” จัสมิน ผู้ประท้วงในชุดดำวัย 19 ปี ผู้ไม่สะดวกให้นามสกุลกล่าว (Reuters, 5 มกราคม 2020)

8 พ.ย. 2019 โจว ซี ลก (Chow Tsz-lok) วัย 22 ปี นักศึกษาปี 2 คณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ Hong Kong University of Science and Technology เสียชีวิตจากจากการบาดเจ็บระหว่างตำรวจฮ่องกงใช้กำลังสลายการชุมนุม

ฮ่องกงมีสัดส่วนวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ราว 12.4% หรือ 875,200 คนจากประชากรทั้งหมด มีประชากรหญิงมากกว่าชาย ระหว่างปี 1996-2011 อัตราส่วนผู้หญิงอายุระหว่าง 20-24 ปีที่ยังไม่แต่งงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90.1-97.3 ขณะเดียวกัน วัยรุ่นฮ่องกงจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “non-engaged” หรือไม่มีงานทำ ไม่ได้รับการฝึกอบรมร่วมกว่า 200,000 คน

ปี 2014 เป็นต้นมา การประท้วงฮ่องกงนำโดยวัยรุ่น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ Scholarism และ the Hong Kong Federation of Students และถูกยกระดับต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน ทำให้ผมนึกถึง 2 ปีก่อน ขณะหิ้วหนังสือใหม่ของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จากไทยไปฮ่องกงให้โจชัว หว่อง เซ็น ผมและนานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ใช้เวลาช่วงบ่ายกับโจชัว เดินตามจุดสำคัญของการประท้วงและนั่งสัมภาษณ์ริมสวนใจกลางย่านที่ทำการรัฐบาล เนื่องจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในแฟนเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่งได้ถูกลบไป จึงขอนำมาเรียบเรียงใหม่และเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อบันทึกความคิดของโจชัว หว่อง ในขณะนั้น ในช่วงท้ายผมตั้งใจอัปโหลดวิดีโอสัมภาษณ์ความยาว 12 นาทีไว้ให้รับชมกันตามอรรถยาศัยครับ

โจชัว หว่อง

เที่ยวฮ่องกงกับโจชัว หว่อง: ชมแลนด์มาร์กน่าจับตา ช้อปปิ้งบนถนนสายเสรีภาพ
โดย วิภาพรรณ วงษ์สว่าง

นี่คือทริปฮ่องกงครั้งที่สามของฉัน ครั้งแรกมาเที่ยวกับแฟน ครั้งที่สองมาออกบูธในงานเอ็กซ์โป ครั้งที่สามมาในฐานะคนส่งของให้กับโจชัว หว่อง … หนึ่งในบุคคลผู้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่

ฉันตัดสินใจเดินทางมาฮ่องกงครั้งนี้ตามคำชวนของ ฟิล์ม เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ อย่างไม่ลังเล เป้าหมายหลักของฉันคือเป็ดย่างหนังกรอบ ส่วนเป้าหมายรองคือเอาหนังสือเวลาอยู่ข้างเราไปให้โจชัวเซ็น เราสองคนพกกระเป๋าเสื้อผ้ามาคนละใบ กล้องวิดีโอพร้อมไมค์อัดเสียงหนึ่งชุด ในกระเป๋าลากใบเล็กบรรจุหนังสือ “เวลาอยู่ข้างเรา” จำนวน 30 เล่ม ในสายตาคนนอก เราจึงดูก็เป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปในสายตาคนอื่น (และเราก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่านั้น แต่ชีวิตคนเราก็ต้องมีจินตนาการกันบ้างเนอะ) โจชัวนัดเราที่ร้านแมคโดนัลด์ใจกลางสถานี Admiralty เราสองคนไปถึงก่อนเวลาเล็กน้อย พยายามหาทำเลที่เงียบและเหมาะสมแก่การถ่ายวิดีโอสัมภาษณ์ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ระหว่างรอ ฉันเผลอใจสั่งกาแฟประจำเทศกาลมาชิม เป็นกาแฟรสขนมปังขิงและชอคโกแลตมินต์แถมการ์ดปีใหม่ รีวิวสั้นๆ = พอกินได้ และเมื่อกาแฟหมดแก้ว โจชัวก็มาถึงพอดี คนที่นี่ดูจะไม่แตกตื่นกับการปรากฎฏตัวของเขา แต่เราพอจะเห็นคนแอบมองซุบซิบ (ใช่มั้ยแก แกว่าใช่ปะ) ส่วนตาลุงที่นั่งข้างๆ ก็ย้ายโต๊ะหนีไปเงียบๆ

ว่าแต่ทำไมหนุ่มแว่นอายุ 21 ปีคนนี้ถึงเป็นบุคคลที่อันตรายต่อความมั่นคงของจีนแผ่นดินใหญ่?

ย้อนไปในปี 2010 โจชัวเข้าร่วมการประท้วงต้านรางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งแรกที่เขาเขาร่วม ต่อมาในปี 2011 เขาและเพื่อนได้ก่อตั้งกลุ่ม “Scholarism” ซึ่งรวมนักเรียนนักศึกษาเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ อย่างการต่อต้านการบังคับเรียนหลักสูตรรักชาติ กลุ่ม Scholarism มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีจำนวนกว่า 120,000 คนในปี 2012

เพื่อต่อต้านหลักสูตรรักชาติ นักเรียน 13 คน อดอาหารประท้วง มวลชนเข้ายึดครองอาคารที่ทำการรัฐบาล ทำให้ผู้นำฮ่องกงต้องถอดหลักสูตรออกไปในที่สุด

โจชัวในวัย 15 ปี จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของพลังนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่สื่อจีนนำเสนอภาพเขาในฐานะกลุ่มวัยรุ่นหัวรุนแรงที่ต่อต้านชาติ เขายังคงเคลื่อนไหวต่อจนปี 2014 มวลชนนับพันได้เข้ายึดถนนสายหลักของเกาะฮ่องกงใต้การนำของเขา เป้าหมายหลักคือเรียกร้องให้รัฐบาลจีนมอบประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประชาชนชาวฮ่องกงผ่านการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “ขบวนการร่ม”

ฉันเงยหน้าจากจอ ขณะที่โจชัวอธิบายเรื่องลายเซ็นของเขา “ลายเซ็นของผมประกอบด้วย Joshua Wong ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ด้านล่างเป็นตัวเขียนชื่อจีนของผม อ่านว่า Wong Chi-fung คำนี้แปลว่าแรงบันดาลใจ”

หลังจากเซ็นจนเสร็จ เขาก็เสนอว่าจะพาไปเดินชมเมืองสักหน่อยแล้วค่อยสัมภาษณ์กันที่สวน เราทั้งสองคนเห็นด้วยเลยเดินตามเขาออกไปตรงถนน

เที่ยวฮ่องกงกับโจชัว หว่อง เป็นอย่างไร?

จุดแรกที่เราแวะคือสะพานลอยตรงสถานี Admiralty จากบนสะพานเราจะได้เห็นถนนสายหลัก ซึ่งเป็นจุดที่มวลชนมาปิดล้อมในปี 2014 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจีนมอบประชาธิปไตยเต็มใบสู่ประชาชนชาวฮ่องกง โจชัวหยิบโทรศัพท์มาค้นหาภาพเพื่อเปรียบเทียบให้เราดู ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ได้ชื่อใหม่จากประชาชนเป็น “จัตุรัสร่ม” เป็นที่เรียบร้อย

ฉันเปิดกูเกิลเพื่อหาประวัติของการประท้วงอีกสักหน่อย เจอบทความของ Stephan Ortmann ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย City University of Hong Kong ระบุว่าฮ่องกงเป็นเมืองที่มีความไม่เท่าเทียมทางรายได้สูงสุดในกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ความเหลื่อมล้ำมีแต่จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและ “ถูกครอบงำด้วยชนชั้นบน คนมีอำนาจ นักธุรกิจใหญ่” ในขณะที่สหภาพแรงงานก็เคลื่อนไหวลำบาก เพราะหากหยุดงานมาประท้วงก็อาจตกงาน

ตัวอย่างปัญหาที่ชัดเจนที่สุดเป็นเรื่อง “ค่าเช่าที่อยู่อาศัย” ที่แพงลิบลิ่วจนคนจำนวนหนึ่งตัดสินใจที่จะเช่า “กรง” แทนการเช่าที่อยู่อาศัย ทว่า คนที่ออกมาประท้วงกลับไม่ใช่คนที่มีปัญหาโดยตรง แต่เป็นกลุ่มคนที่ตระหนักถึงการรักษาเสรีภาพ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือเดียวที่ใช้ต่อรองกับกลุ่มอำนาจที่ครอบงำเศรษฐกิจของประเทศ

ปัญญาชนชาวฮ่องกงกลุ่มนี้คับข้องใจความคืบหน้าทางการเมืองที่ยืดยาด และกังวลว่าอนาคตของคนที่อยากขยับฐานะจะเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้นทุนด้านที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูง ทำให้โอกาสมีชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นเก่าเป็นไปได้ยาก ขบวนการร่มจึงมีจุดเด่นประการหนึ่ง คือการปวารณาตนเพื่ออุดมคติทางประชาธิปไตย มองว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคือชุมชนที่ประชาชนไว้ใจกันและแบ่งปันกันได้

ในระหว่างที่ยึดถนนสองเดือน ไม่มีการตั้งร้านขายของเอากำไร ผู้คนขายร่มในราคาทุน แจกสติกเกอร์และโปสการ์ดฟรี มีอาหารและน้ำให้กินฟรี (ซึ่งเป็นสเบียงที่ผู้สนับสนุนส่งเข้ามาช่วยเหลือ) ขบวนการร่มเน้นย้ำว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่สังคมเห็นแก่เงินจะมองไม่เห็น (เสาหลักสี่เสาของระบบเศรษฐกิจฮ่องกงคือ การเงิน การค้าและการขนส่ง ภาคบริการการผลิต และภาคบริการวิชาชีพ สี่เสานี้ไม่พูดถึงชีวิต ศิลปวัฒนธรรม)

จากสะพานลอย โจชัวพาเราไปยัง Lennon Wall กำแพงนี้ทอดยาวขนาบข้างบันไดสู่อาคารที่ทำการรัฐบาล ครั้งหนึ่งกำแพงนี้ถูกปูด้วยโพสต์อิตที่สื่อถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตย และนอกจากกำแพงเลนนอนแล้ว ช่วงที่ประท้วงยังมีงานศิลปะเชิงการเมืองอีกหลายชิ้น แต่น่าเสียดายที่ไม่มีชิ้นไหนถูกเก็บรักษาเอาไว้

เราเดินไปยังทางเดินริมแม่น้ำที่ตัดเข้าสวนสาธารณะ Tamar Park จากตรงนี้เราจะมองเห็นตึกสำคัญ 4 ตึกของประเทศ ได้แก่ ตึกที่ทำการรัฐบาล (CGO) ตึกกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ตึกศาลสูงประจำฮ่องกง (High Court) และสำนักงานธนาคารต่างๆ และหากมองไปอีกด้าน เราจะได้เห็นวิวอันสวยงามของท่าเรือวิกตอเรีย และเห็นเกาะเกาลูนอยู่ไกลๆ

เหลือเวลาอีก 30 นาทีก่อนจะแยกย้ายกัน ไม่มีที่ไหนเหมาะสมที่จะนั่งคุยกันเท่าที่นี่อีกแล้ว เราตั้งกล้อง ติดไมค์ และเริ่มยิงคำถามใส่โจชัวรัวๆ

คุณก่อตั้งพรรคเดโมซิสโทในปี 2016 ตอนนี้เดโมซิสโทเป็นยังไงบ้างครับ

ตอนนี้ผมดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของเดโมซิสโท ส่วนแอกเนส โชว์ เป็นหนึ่งในผู้นำพรรคและเป็นคณะกรรมการ เธอยังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย โดยมีนาทาน ลอว์ เป็นหัวหน้าพรรค ถึงแม้เราจะมีตำแหน่งที่หลากหลาย แต่มันก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนะเพราะมันเป็นแค่ตำแหน่ง ยังไงเราก็เน้นแสวงหาจุดร่วม (concensus) และผลักดันอิสรภาพ ผลักดันประชาธิปไตยของฮ่องกงให้ก้าวหน้ามากขึ้น

โจชัว หว่อง

พรรคของคุณคิดจะทำไงต่อในระดับเอเชีย

ผมพยายามสร้างเครือข่ายของนักประชาธิปไตยรุ่นใหม่ในเอเชียแปซิฟิก ปีที่แล้วเราพยายามทำเครือข่ายผู้นำ ฮ่องกง ไทย มาเลเชีย เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี เราพยายามจะเจอกันทุกปีให้ได้ อย่างปีที่แล้วเราจัดประชุมที่ฟิลิปปินส์โดยมีผู้นำเยาวชนจาก 10 ประเทศมาหารือเรื่องอนาคตร่วมกัน

ในปี 2017 ความกดขี่ทางการเมืองทำให้เราไม่ได้จัดงาน คือเรากะจะเปิดรับสมัครในสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ผมติดคุกพอดีเลยต้องยกเลิกไป (ขำเล็กน้อย) แต่เราก็หวังว่าเราจะได้จัดประชุมสำหรับนักเรียนและวัยรุ่นในปี 2018 ส่งตัวแทนมาสัก 40-50 คน

ผมก็หวังว่าปีหน้า กรกฎาคมถึงสิงหาคมปีหน้า ผมจะได้จัดมันนะ และเพราะตอนนี้ผมเข้าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายๆ ประเทศไม่ได้ งานก็เลยน่าจะต้องย้ายไปจัดที่เกาหลีหรือญี่ปุ่น เพราะดูๆ แล้วน่าจะปลอดภัยที่สุด

คุณดูมีความเสี่ยงมาก เราทราบว่าในปี 2017 คุณติดคุกเพราะการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ชีวิตหลังออกจากคุกเป็นยังไงบ้าง?

ผมได้รับโทษจำคุกอยู่หกเดือน อยู่ในนั้นได้สองเดือนก็ประกันตัวออกมา รอการอุทธรณ์ต่อศาลสูงประจำฮ่องกง ผมว่ามันไม่ง่ายที่จะกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังจากติดคุกในฐานะผู้ต้องขังเยาวชน ที่นั่นผมต้องเดินทุกวัน รับคำสั่งมากมาย ต้องแสดงความจงรักภักดีต่อผู้คุม ผมอยากบอกว่าคุกไม่ใช่ที่ที่อนุญาตให้คุณมีอิสระทางความคิด ไม่มีความคิดวิพากษ์ เพราะคุณจะถูกบังคับให้เชื่อฟังและแสดงความจงรักภักดี … คุณต้องรับทุกคำสั่งจากชนชั้นบน แต่ที่นั่นก็เป็นที่ที่ผมได้ทบทวนตัวเอง เพื่อที่จะมีพลังขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต

หมายความว่ายังไงเรื่องเชื่อฟัง เชื่อฟังต่อใคร?

ต้องเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ในคุกน่ะ เขาขอไต่สวนผม แต่ระหว่างการไต่สวนผมไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่เสื้อผ้า พวกเขาให้ผมลุกนั่ง แหงนหน้ามองเจ้าพนักงาน ปฏิบัติต่อผมเหมือนสุนัขมากกว่ามนุษย์ และนี่คือสิ่งที่พวกเขาทำครับ ผมต้องแก้ผ้าระหว่างตอบคำถามของเจ้าหน้าที่

มีคนมากมายไม่อยากเชื่อฟัง อยากทำให้ประเทศดีขึ้น แต่ก็ยังอยากเรียนหนังสือและทำมาหากินอยู่นะ?

ผมอยากให้ประสบการณ์ของผมเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้คน หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมเราไม่จำเป็นต้องรอเรียนจบ ไม่ต้องรอเลื่อนฐานะเป็นชนชั้นบน แม้ตอนนี้เราจะไม่มีน้ำหนักอะไรในสังคม แต่ในฐานะวัยรุ่นของประเทศ เรายังมีความกล้าหาญและความมุ่งมั่นที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง

เราสามารถนำรุ่นของเราให้มีอนาคตที่ดีขึ้นได้ แทนที่เราจะปล่อยให้ชนชั้นบนครอบงำเมืองของเรา จัดการอนาคตของเรา ใช้พวกเราสร้างผลประโยชน์ใส่พวกเขา ถึงเวลาแล้วที่วัยรุ่นจะสร้างแรงสั่นสะเทือน ดังที่ออกซ์ฟอร์ดเพิ่มคำว่า Youthquake ลงไปในพจนานุกรม คือให้วัยรุ่นเป็นคนเปลี่ยนโลก

แต่เด็กไทยยังไม่รอดจากหัวเกรียนเลยนะ

ผมว่าโครงสร้างกดขี่อย่างการใส่ชุดนักเรียนหรือบังคับตัดผมอย่างเข้มงวดเป็นอะไรที่ยอมรับไม่ได้ อย่างในฮ่องกงเราก็มีกฎระเบียบที่บังคับให้ผู้ชายไว้ผมสั้นก็จริง แต่กฎก็ยืดหยุ่นและพอจะมีอิสรภาพบ้าง อย่างน้อยนักเรียนเลือกได้เองว่าจะไว้ทรงอะไร ว่าจะแต่งตัวยังไง ผมคิดว่าระเบียบที่กดทับอิสรภาพในการตัดสินใจอย่างเข้มงวดจนเกินเหตุเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่จำเป็นมากๆ ผมไม่คิดว่าคนที่เชื่อฟังกฎพวกนี้จะใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมากไปกว่าคนที่ตั้งคำถามถึงกฎของโรงเรียน

งั้นรัฐบาลควรทำอะไรเพื่อสนับสนุนนโยบายทางการเมืองของวัยรุ่น

ผมว่าทั่วโลก ในอเมริกา เอเชีย อาเซียน มีปัญหาเหมือนกันตรงคนรุ่นเก่าไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเสียงของวัยรุ่น คนรุ่นเก่ามักตัดสินใจบนมุมมองผลประโยชน์ของคนรุ่นตัวเอง อีกอย่างกฎระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป้าเรื่องอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งสำคัญ ก็เป็นอุปสรรคใหญ่ที่กีดกันวัยรุ่นออกจากการเมือง

พวกเขาคงปรารถนาให้วัยรุ่นทุ่มเทเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ แต่คงไม่อยากให้เราปฏิรูปการเมืองการปกครองหรือออกไปเรียกร้องหรอกครับ ทางที่ดีรัฐบาลควรแสดงความคิดเห็นและเข้าไปอยู่ในสภาโดยมีอิสรภาพในการเสนอไอเดียอย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้เราแสดงคุณค่าด้านสิทธิมนุษยชน มีเสรีภาพเต็มที่บนท้องถนน แต่ถ้าเขาไม่เปิด ก็หมายความว่าเขาพยายามกดขี่คนรุ่นเราและเมินเฉยต่อสิ่งที่เราพยายามทำ

คุณจะบอกอะไรคนที่พึงพอใจกับเสรีภาพที่มีอยู่อย่างจำกัด?

ผมพอจะรู้มาว่าหลายๆ คนในประเทศไทยค่อนข้างโอเคกับเสรีภาพที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ผมก็อยากถามพวกเขานะว่าอนาคตแบบไหนที่คุณอยากจะส่งมอบให้กับคนไทยรุ่นต่อไป

ถ้าคุณเกิดมาเป็นเบบี้บูม คุณก็โตมากในยุคที่โอกาสขยับจากชนชั้นล่างไปเป็นชนชั้นกลางไม่ลำบากเท่ายุคสมัยปัจจุบัน คุณจะมีอิทธิพลต่อสังคม มีรายได้ที่น่าพึงพอใจและเพียงพอที่จะเปลี่ยนสังคม จะเข้าถึงมาตรฐานชีวิตที่ใช้ได้ แต่ในยุคนี้โอกาสหายากมากขึ้น ทั้งในการหางาน การมีทรัพย์สิน จ่ายค่าเช่าแฟลต ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้สำหรับการเข้ามหาลัยที่ดี สภาวะนี้ดูดกลืนครอบครัวของคุณและครอบครัวของผมไปพร้อมกัน ทั้งๆ ที่เราอาศัยอยู่คนละที่

ดังนั้นอิสรภาพที่มีอยู่อย่างจำกัดมันยังดูไม่ค่อยซีเรียสสำหรับคุณหรอกครับ แต่มันจะทำร้ายคนรุ่นต่อไปอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าคุณหวังว่าลูกหลานของคุณจะได้ใช้ชีวิตในที่ที่ดีกว่านี้ ได้อยู่ในประเทศที่ดีกว่านี้ ประเทศไทยน่าจะมีอิสรภาพได้มากกว่านี้นะ หวังว่าคนในไทย ในฮ่องกง คนทั่วโลก จะมองเห็นอนาคตที่ดีและมีความหวังมากขึ้นครับ


และสำหรับคนที่คิดว่าตัวเองคงเปลี่ยนอะไรไม่ได้?

ผมอยากให้ประสบการณ์ของตัวผมเอง จากนักเรียน ม.ปลาย อายุ 14 จนปัจจุบัน (อายุ 21 ขณะสัมภาษณ์) ที่ใช้โอกาสนี้ก้าวข้ามตัวเองมา เป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คน แม้ผมจะไม่ได้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ แต่ถ้าผมทำได้ผมก็อยากเชียร์ให้หลายๆ คนคิดว่าพวกเขาสามารถทำได้อย่างเต็มที่และสามารถทำอนาคตให้ดีที่สุดได้

คงไม่ใช่ทุกคนที่อยากออกมาปรากฏตัวอยู่แถวหน้าใช่ไหมครับ แต่อย่างน้อยเราก็เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมกับสังคมอย่างเข้มข้นได้ การที่คุณแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะในปัจจุบันเรามีหลายวิธีที่คุณจะแสดงจุดยืนทางสังคม

คุณทำดีที่สุดเมื่อคุณสนับสนุนคนที่พูดแทนคุณ อย่างน้อยพวกเขาก็รับรู้ว่าเขาไม่ได้เดินอยู่คนเดียวครับ

หากคุณมีความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม อย่ารอจนกว่าจะรวยหรือจนกว่าจะได้เข้าไปอยู่ในวัฏจักรของอภิสิทธิ์ชนเลย มันไม่สำคัญว่าคุณจะอยู่สูงหรือต่ำ สำคัญที่คุณมีความรู้ ความกล้าหาญ มีความมุ่งมั่นที่จะเห็นเมืองที่คุณอยู่มีอนาคตขึ้น ถ้าคุณมีสิ่งเหล่านี้คุณก็ทำได้เลยทันที

ดังนั้นผมหวังว่าภายใต้การจำกัดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน วัยรุ่นในประเทศไทยจะสามารถแสดงจุดยืนของตัวเอง และก้าวข้ามข้อจำกัดนั้นได้ในที่สุด

อย่าปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนครอบงำช่วงเวลาของเรา

หลังสัมภาษณ์เสร็จ ถอดไมค์ เก็บของ ยินดีที่ได้มาพบกัน เราจับมืออย่างหนักแน่นพร้อมรอยยิ้ม และแยกย้ายจากกันไป ฉันและเปรมปพัทธสูดหายใจลึกๆ ดีใจที่งานเสร็จซะที เรียบง่ายกว่าที่จินตนาการเอาไว้มาก (อย่างน้อยในขณะที่เขียน เราสองคนก็ปลอดภัยดีในประเทศไทย — หวังว่าจะปลอดภัยไปอีกนานๆ) แต่ภารกิจส่วนตัวยังไม่จบ เพราะบ่ายโมงแล้ว ยังไม่ได้กินอะไรเลย

ดังนั้นเราสองคนจึงพาตัวเองไปยังร้าน Yat Lok แถบสถานี Central ซึ่งมีความดีเด็ดในด้านห่านย่างหนังกรอบ

และนี่คือห่านย่างหนังกรอบชั้นไขมันหนาที่ฉันใฝ่ฝัน กินพร้อมบะหมี่ ข้าวหรือโปะหน้าข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อย เราลองสั่งเฉพาะเนื้อห่านมาเบิ้ลอีกหนึ่งจาน แต่พบว่าห่านย่างเป็นจานอร่อยน้อยกว่าห่านที่โปะมาในบะหมี่ อาจเพราะน้ำซุปข้นหอมที่ซึมเข้าไปในชั้นไขมันได้ชูรสให้อร่อยละมุนมากขึ้น ถือว่าภารกิจการมาฮ่องกงได้บรรลุแล้ว

ก่อนกลับไทยจึงแวะไปช้อปปิ้งย่าน Mong Kok ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนสะสมของเล่นและอาร์ทอยเป็นอย่างดี แต่รู้ไหมว่าครั้งหนึ่งขบวนการ Scholarism ได้จัดประท้วงในชื่อ “การปฏิวัติช้อปปิ้ง” หลังจากถูกตำรวจไล่รื้อแคมป์ชุมนุมเขต Mong Kok ภายหลังการไล่รื้อ นายเหลียงชุนหยิง (ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง) ยังประกาศออกสื่ออีกว่า “หลังจากกวาดล้างพื้นที่ประท้วงแล้ว ประชาชนควรกลับไปช้อปปิ้งซะ” ดังนั้นเหล่าผู้ชุมนุมจึงปฏิวัติผ่านการช้อปปิ้งซะเลย ชอปไปประท้วงไป ทำให้ตำรวจสับสนว่าใครคือคนที่มาช้อปปิ้ง และใครเป็นผู้ประท้วงกันแน่

ความคิดสร้างสรรค์ ความเสียสละ ความไม่ยอมแพ้ต่ออยุติธรรม และความหวังที่มีต่อวัยรุ่นทำให้ฉันคิดว่าสมควรแล้วที่ขบวนการร่มและแกนนำเหล่านี้จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสันติภาพแห่งปี 2018 ระหว่างเขียนและเดินทางต่อ ฉันคิดทบทวนตัวเองพอสมควร เพราะอีกห้าปีฉันก็จะอายุสามสิบ ฉันอาจจะแต่งงาน มีลูก มีภาระ และกังวลว่าหลังจากนั้นฉันจะไม่กล้าเสี่ยงทำในสิ่งที่มีแค่คนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ทำได้อีกต่อไป

ฉันได้ทำอะไรให้คนรุ่นต่อไปบ้างหรือยังนะ

“พวกเขาคงปรารถนาให้วัยรุ่นทุ่มเทเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ แต่คงไม่อยากให้เราปฏิรูปการเมืองการปกครองหรือออกไปเรียกร้องหรอกครับ… และคงไม่ใช่ทุกคนที่อยากออกมาปรากฏตัวอยู่แถวหน้า แต่อย่างน้อยเราก็เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมกับสังคมอย่างเข้มข้นได้… หากคุณมีความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม อย่ารอจนกว่าจะรวยหรือจนกว่าจะได้เข้าไปอยู่ในวัฏจักรของอภิสิทธิ์ชนเลยครับ มันไม่สำคัญว่าคุณจะอยู่สูงหรือต่ำ สำคัญที่คุณมีความรู้ ความกล้าหาญ มีความมุ่งมั่นที่จะเห็นเมืองที่คุณอยู่มีอนาคตขึ้น ถ้าคุณมีสิ่งเหล่านี้คุณก็ทำได้เลยทันที”
– Joshua Wong

อ้างอิง:

  • “ขบวนการร่ม” ในฮ่องกง: จากประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจถึงการปฏิเสธลัทธินิยมวัตถุ [STEPHAN ORTMANN]
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Joshua_Wong
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Demosist%C5%8D
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Lennon_Wall_(Hong_Kong)
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Art_of_the_Umbrella_Movement