ThaiPublica > เกาะกระแส > ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงบุกเบิก “ภาระหน้าที่” ในความหมายของ Soft Power

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงบุกเบิก “ภาระหน้าที่” ในความหมายของ Soft Power

11 กันยายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก The Royal Family

ในบทความของหนังสือพิมพ์ Haaretz ที่โด่งดังของอิสราเอลชื่อ Over 120 Countries, but Never Israel เขียนไว้ว่า ตลอดรัชสมัย 70 ปี ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จไปประเทศต่างๆทั่วโลก 120 ประเทศ แต่ไม่เคยเสด็จไปเยือนอิสราเอลเลย ในปี 1986 เมื่อนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ไปเยือนอิสราเอลอย่างเป็นทางการ ในฐานะนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นักข่าวถามว่า เมื่อไหร่ควีนเอลิซาเบธจะมาเยือน แธตเชอร์ตอบว่า “ฉันก็มาเยือนแล้วไง”

เมื่อนักข่าวอิสราเอลตั้งคำถามว่าทำไมควีนเอลิซาเบธที่ 2 ไม่เสด็จเยือนอิสราเอล เจ้าหน้าที่อังกฤษจะกล่าวตอบว่า “เมื่อมีสันติภาพที่ยั่งยืนแล้ว” แต่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษก็ไปเยือนอิสราเอลตลอดมา ปี 1995 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไปร่วมงานพิธีศพของนายกรัฐมนตรียิตซ์ฮัก ราบิน แต่ก่อนหน้าในปี 1984 ควีนเอลิซาเบธเสด็จไปเยือนจอร์แดน ประเทศที่อยู่ติดกับอิสราเอล เมื่อได้ชมแผนที่ค่ายผู้อพยพปาเลสไตน์ พระองค์ตรัสว่า เป็นแผนที่ที่น่าหดหู่

การศึกษาสมัยเป็นเจ้าหญิง

หนังสือชื่อ Elizabeth The Queen ผู้เขียน Sally Bedell Smith กล่าวถึงเรื่องการศึกษาของควีนเอลิซาเบธว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1936 ขณะที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธอายุได้ 10 ปี ทราบข่าวจากพี่เลี้ยงว่า พระบิดาจะขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป เนื่องจากกษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 8 ได้สละราชสมบัติ เพื่อสมรสกับสตรีชาวอเมริกัน ทำให้ Margaret Rose น้องสาวของเอลิซาเบธถามว่า “หมายความว่า เธอจะเป็นราชินีคนต่อไป” เอลิซาเบธตอบว่า “ใช่ ในวันหนึ่งข้างหน้า”

ในวาระการครองราชย์ครบ 40 ปี ควีนเอลิซาเบนเคยตรัสว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ในที่สุดแล้ว การฝึกอบรมคือคำตอบต่อเรื่องสำคัญหลายอย่าง คนเราสามารถทำอะไรได้มากมาย หากได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกต้อง และข้าพเจ้าหวังว่าตัวเองมีสิ่งนี้”

หนังสือ Elizabeth The Queen บอกว่า เมื่อเทียบกับมาตรฐานในปัจจุบัน เจ้าหญิงเอลิซาเบธไม่ได้รับการศึกษาแบบเป็นทางการ ที่เราเข้าใจในปัจจุบัน ในเวลานั้น ผู้หญิงชั้นสูงและคนรุ่นเดียวกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ มักจะได้รับการศึกษาที่บ้าน โดยเน้นการเรียนรู้ในด้านปฏิบัติ มากกว่าทางวิชาการ

ครูพี่เลี้ยงชาวสก็อตแลนด์ชื่อ Marion Crawford เป็นคนสอนหนังสือแก่เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ที่คนในครอบครัวเรียกชื่อว่า “ลิลิเบต” (Lilibet) เกี่ยวกับวิชาด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวรรณกรรม และให้อ่าน Children’s Newspaper หนังสือพิมพ์เด็กในสมัยนั้น ที่รายงานข่าวด้านเหตุการณ์ปัจจุบันแก่เยาวชน ทำให้ที่ปรึกษาสำนักราชวังให้ข้อสังเหตุว่า เจ้าหญิงเอลิซาเบธ มีความรู้อย่างดีด้านกิจการรัฐและเหตุการณ์ปัจจุบัน

หนังสือ Elizabet the Queen บอกว่า เมื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นมาอยู่ในอันดับแรกของการสืบสันตติวงศ์ การศึกษาในสาขาวิชาต่างๆก็เข้มข้นและกว้างมากขึ้น ครูผู้สอนที่สำคัญคือ Sir Henry Marten รองครูใหญ่ Eton College โรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ Henry Marten เป็นคนแต่งตำราเรียนชื่อ Th Groundwork of British History

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Elizabeth_II#/media/File

  • สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กษัตริย์แห่งเครือจักรภพที่ยิ่งใหญ่
  • วิชารัฐธรรมนูญอังกฤษ

    วิชาที่เรียนกับ Henry Marten กำหนดให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ต้องอ่านหนังสือหนังสือคลาสสิกของอังกฤษ เช่น The Law and Custom of the Constitution โดย Sir William Anson, English Social History ของ G M Trevelyan, Imperial Commonwealth ของ Lord Elton และ The English Constitution ของ Walter Bagehot หนังสือมาตรฐานเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญอังกฤษ และความมหมายของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่พระราชบิดาของเอลิซาเบธเอง ก็เคยศึกษาเล่มนี้มาก่อน

    รัฐธรรมนูญอังกฤษแตกต่างจากรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ รัฐธรรมนูญอังกฤษไม่มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร จึงขึ้นกับธรรมเนียมประเพณี และกฎหมายที่ผ่านมา ขึ้นกับการวินิจฉัย และการแก้ไขกฎระเบียบ เมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา ครูผู้สอนบอกว่า

    รัฐธรรมนูญอังกฤษเหมือนกับโครงสร้างบ้านพัก เจ้าของที่อาศัยอยู่ต่อเนื่องกันมา ต่างก็ทำการปรับปรุงแก้ไข

    เรื่องบทบาทหน้าที่และอำนาจของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คลุมเครือไม่ชัดเจน อำนาจของกษัตริย์ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องที่กษัตริย์ทำไม่ได้ มากกว่าในเรื่องที่ทำได้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์ลงนามในกฎหมายที่ผ่านรัฐสภา แนวคิดการใช้สิทธิ์วีโต้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาแล้ว เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่ความเป็นไปได้ก็มีอยู่

    ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก The Royal Family

    ความเป็นควีนเอลิซาเบธ

    หลังจากการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา สื่อต่างๆเขียนถึงเรื่องที่ว่า อะไรคือความเป็นควีนเอลิซาเบธของพระองค์ บทความชื่อ The subtle power of Queen Elizabeth II’s reign ในเว็บไซด์ vox.com เขียนไว้ว่า ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตเมื่อพระชนม์ 96 พรรษา โดยพระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่ออายุ 25 พรรษา การสวรรคตของพระองค์ถือเป็นการสิ้นสุด ของหนึ่งในรัชสมัยระบอบกษัตริย์สมัยใหม่ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

    ในการสำรวจประชามติคนอังกฤษ ควีนเอลิซาเบธได้รับคะแนนนิยมถึง 75% พวกที่สนับสนุนให้อังกฤษเป็นสาธารณรัฐ มักพูดเสมอว่า ความนิยมในควีนเอลิซาเบธคือเหตุผลสำคัญ ที่อังกฤษยังรักษาระบอบกษัตริย์ไว้ได้ ในหนังสือ Queen of Our Time ผู้เขียนคือ Robert Hardman อ้างคำพูดของ Neville Wran ผู้นำพรรคแรงงานออสเตรเลียที่เคยพูดว่า “ปัญหาใหญ่ที่เราประสบคือพระราชินี ทุกคนรักพระองค์”

    บทความของ vox.com กล่าวว่า ในอเมริกา นักการเมืองแสดงไมตรีจิตต่อประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ความชื่นชมของประชาชนในควีนเอลิซาเบธที่ 2 เกิดขึ้นนานหลายทศวรรษ ความนิยมของประชาชน มาจากความมุ่งมั่นที่แสดงออก ถึงแนวปฏิบัติไม่เป็นทางการของราชสำนักอังกฤษที่ว่า “ไม่แสดงความไม่พอใจ ไม่อธิบาย”

    บทความของ vox.com กล่าวว่า การที่พระองค์ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกใดๆออกมา และไม่แบ่งแยกผู้คน สิ่งนี้ทำให้ควีนเอลิซาเบธสร้างคุณค่าใหญ่หลวงแก่สถาบันกษัตริย์ คือ การที่พระองค์เป็นใครก็ได้ ที่ประชาชนประสงค์จะสร้างภาพให้พระองค์เป็น อาทิ เป็นควีนนักประชาธิปไตย นักอนุรักษ์นิยมก้าวหน้า และขุนนางพหุวัฒนธรรม เป็นต้น

    แบบอย่างของ Soft Power

    ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก The Royal Family

    หนังสือ Queen of the World ของ Robert Hardman เขียนอีกไว้ว่า Joseph Nye นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นคนพัฒนาแนวคิด Soft Power ที่หมายถึง “ความสามารถที่จะสร้างผลลัพธ์ที่ได้ โดยอาศัยความนิยมมากกว่าการใช้อำนาจบังคับหรือจากการใช้จ่ายเงิน” เนื่องจากโลกเราพัฒนาไปตามเส้นทางประชาธิปไตยมากขึ้น Joseph Nye เห็นว่า Soft Power จะมีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย

    Joseph Nye เชื่อว่า สถาบันกษัตริย์เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้อังกฤษติดอันดับสูงของประเทศที่มี Soft Power ไม่ว่าจะประสบพายุฝนทางการเมืองอย่างไร “อังกฤษอยู่ในอันดับสูง แม้จะมีเหตุการณ์ Brexit อังกฤษมีสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์อย่างอื่นๆ แต่หนึ่งในนั้นคือราชวงศ์” Joseph Nye เชื่อว่า สิ่งนี้คือภาวะย้อนแย้งอย่างหนึ่งของศตวรรษ ระบบการแบ่งชั้นที่โบราณคือ วิธีการที่คุ้มค่ามากในการสร้างความนิยมให้กับอังกฤษ”

    สะพานลอนดอนพังลงจริงๆ

    บทความของ nytimes.com ชื่อ Queen death leaves UK grappling with its sense of national identity กล่าวว่า เมื่อควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต ทางการอังกฤษเริ่มปฏิบัติการตามแผนงานที่เรียกเป็นระหัสลับว่า Operation London Bridge แผนงานนี้ออกแบบมาเพื่อให้การเปิดเผยข่าวการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธ เป็นไปอย่างสง่างาม การรำลึกถึงความทรงจำต่อพระองค์ และการต่อเนื่องของกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ แผนการเริ่มจากเลขานุการส่วนพระองค์แจ้งข่าวสวรรคต แก่นายกรัฐมนตรีโดยระหัสลับว่า “สะพานลอนดอนพังลง” (London bridge is down)

    แต่สำหรับคนอังกฤษบางส่วน การสิ้นสุดของรัชสมัยเอลิซาเบธที่ 2 ที่ยาวนาน 70 ปี อาจหมายถึงสะพานลอนดอนพังลงจริงๆ เพราะวิตกกังวลต่อเอกลักษณ์ความเป็นอังกฤษ ต่อเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงบทบาทในโลก อันเนื่องมาจากจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรป เศรษฐกิจถดถอย และปัญหาวิกฤติพลังงานจากสงครามยูเครน จนทำให้ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประกาศใช้เงิน 100 พันล้านปอนด์ เพื่อควบคุมราคาพลังงาน

    แต่อย่างไรก็ตาม ควีนเอลิซเบธที่ 2 ได้รับการยอมรับว่า พระองค์คือผู้บุกเบิกการทำหน้าที่ ที่เวลาต่อมารู้จักกันว่าคือ Soft Power ศาสตราจารย์ Garton Ash จากอ๊อกฟอร์ด กล่าวว่า “ในทัศนะส่วนตัวของผมมองว่า คงไม่มีโอกาสอีกแล้ว ที่จะมีชาวอังกฤษอีกคน ที่จะได้รับการอาลัยจากทั่วโลก ในบางด้าน สิ่งนี้คือห้วงเวลาสุดท้ายในความยิ่งใหญ่ของอังกฤษ”

    เอกสารประกอบ

    Over 120 countries, but never Israel, Sep 9, 2022, Haaretz.com
    The subtle power of Queen Elizabeth II’s reign, Sep 8, 2022. vox.com
    Queen’s death leaves UK grabbling with its sense of national identity, Sep 10, 2022, nytimes.com
    Elizabeth the Queen, Sally Bedell Smith, Random House, 2012.
    Queen of the World, Robert Hardman, Arrow, 2019.