ThaiPublica > คอลัมน์ > การหันมาหาคำนิยามให้ตัวเองของวัยรุ่นในยุคนี้ คืออะไร

การหันมาหาคำนิยามให้ตัวเองของวัยรุ่นในยุคนี้ คืออะไร

13 พฤษภาคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

การหันมาหาคำนิยามให้ตัวเองของวัยรุ่นในยุคนี้ คืออะไร

ดูเหมือนว่า นอกจากการแนะนำตัวเองด้วยชื่อแล้ว

สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นปกติของทุกวันนี้คือการแนะนำว่า ตนเองอยู่ในหมวดหมู่แคแรกเตอร์แบบใด เช่น ลักษณ์ 8, MBTI, Introvert, Extrovert, Imposter Syndrome, ADHD และอื่นๆ อีกมากมาย

การหันมาหาคำนิยามให้ตัวเองในยุคนี้ คืออะไร

ทำไมคนยุคนี้ถึงชอบที่จะนิยามตัวตนของตัวเองอย่างที่เรามักจะเห็นบทความที่มีชื่อเรียกของภาวะต่างๆ ซึ่งคนมักแชร์กันในเฟซบุ๊ก

พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเพียง Echo Chamber หรือวัยรุ่นกำลังคิดอะไรอยู่กันแน่

“หลายปีก่อนเราเจอปัญหาชีวิต เลยหันมาสนใจศาสนากับจิตวิทยา แล้วก็เริ่มสนใจ MBTI”

MBTI คือแบบทดสอบบุคลิกภาพอย่างหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยจะมีผลลัพธ์แบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 16 บุคลิกลักษณะแตกต่างกันออกไป

“MBTI จริงๆ มันมีเป็นสิบปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ดังเท่าทุกวันนี้ คงเพราะเจนซียังเข้าไม่ถึงโซเชียลมีเดีย”

อิทธิพลของโซเชียลมีเดียซึ่งมีกลุ่มย่อยอยู่มากมาย เพื่อจะจัดวางตนเองอยู่ในกลุ่มนั้นๆ การแบ่งหมวดหมู่ตัวตนของเราก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยบอกเราว่า เราควรอยู่ตรงไหนในสังคมที่ซับซ้อนและหลากหลายนี้

“เหมือนกับว่า คนเรามักจะนิยามตัวเองอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะนำเสนอมันในรูปแบบไหน เช่น เจนวายช่วงก่อนก็ชอบนิยามตัวเองผ่านกรุ๊ปเลือด แต่ตอนนี้ก็ MBTI เราเองรู้ตัวอีกทีนึงก็เข้าไปศึกษามันแล้ว”

นอกจาก MBTI ซึ่งกำลังคุยกับผู้ให้สัมภาษณ์อยู่ ผู้เขียนเองก็มีโอกาสได้เรียนคอร์สที่ชื่อว่า NLP ในราคาประมาณ 70,000 บาท ซึ่งแบ่งการรับรู้ของคนออกเป็นแบบต่างๆ เช่นกัน

“ตอนแรกเราก็เข้าใจว่า มันเป็นแค่แบบทดสอบอันนึง แต่สำหรับเรามันเกี่ยวกับ cognitive function ลำดับการคิดของสมอง แล้ว MBTI มันช่วยให้เราเข้าใจ trauma ในวัยเด็ก”

ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตที่คนรุ่นใหม่กำลังรับมืออยู่นั้น นอกจากการบำบัดเยียวยาแล้ว การเข้าใจตนเองในวัยเด็ก ประสบการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ช่วยให้เรายอมรับและจัดการความรู้สึกได้

สำหรับผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว MBTI เป็นเครื่องมือที่อาจกำลังทำแบบนั้นอยู่

“เลยรู้สึกว่าคนเจนปัจจุบันอาจจะอยากกลมกลืนไปกับเพื่อนฝูง” ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวต่อถึงพฤติกรรมวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ที่อาจกำลังต้องการรักษาอัตลักษณ์ ร่วมด้วยการนิยามตัวตนของตัวเองให้ชัดเจนขึ้น

“คำนิยามคำว่า echo chamber คือ เราเห็นสิ่งสิ่งหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่า มันมีแต่สิ่งสิ่งนั้น ใน MBTI เองน่าจะมี 2 แบบ คือการที่เรานิยามตัวตนตัวเองผ่าน MBTI แล้วเราก็เชื่อว่าเราเป็นแบบนั้นเลย กับอีกทางคือการที่เราใช้ MBTI มาสะท้อนว่า เราเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือเปล่า แล้วถ้าเราเป็น วิธีการแก้ หรือ พัฒนาตัวเองคืออะไร”

การแปะป้ายตนเองอาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า fixed mindset คือพอเชื่อว่า ฉันเป็นคนแบบนี้

ฉันก็จะไม่พัฒนาตนเองไปเป็นแบบอื่น “อย่างเรา เราเป็น INFJ คือจะมีปัญหาทางใช้ sensing เยอะ เช่น ถ้าเครียด เราจะใช้ sensing ภายนอกเยอะ อยู่ดีๆ ก็ alert หรืออยากใช้สัมผัสภายนอก อย่างพอเราอ่านมาแบบนี้ เราก็เอาไปใช้สังเกตตัวเองว่า เป็นจริงหรือเปล่า แต่อีกจุดหนึ่ง คนก็อาจจะ stereotype ตัวเองว่าตัวเองต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น”

“เป็นประเด็นที่คนในกลุ่ม MBTI เองก็หยิบเอามาพูดกันบ่อย อย่างเราเป็นอินโทรเวิร์ตน้า เราก็โดนภาพจำว่าเราเข้าสังคมยาก เราคิดว่ามันมองได้หลายด้าน อย่างคนเป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตมักจะต้องรับพลังงานจากภายนอก ก็อาจจะทำให้รู้สึกเข้าสังคมได้เก่งกว่า”

มนุษย์แต่ละคนมีธรรมชาติพื้นฐานที่แตกต่างกันออกไป แต่บนวัฒนธรรมออนไลน์ ที่ซึ่งการต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่ง นำไปสู่ประโยชน์ต่อการลงโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และต่อการแนะนำ People you may know, เพจ หรือกลุ่มที่คุณสนใจได้ตรงเป้า

การนิยามตนเองเป็นแบบใดสักแบบจึงทำงานได้ดีภายใต้อัลกอรึทึมเหล่านี้

“ความรู้สึกตัดสินคนอื่นมันมีอยู่แล้ว แต่เราว่ามันก็เกี่ยวกับกาลเทศะทางสังคมด้วย อย่างในกลุ่มที่คุยเรื่อง MBTI เราก็สามารถพูดอย่างอิสระได้ว่า เอ้อ คนนี้เค้าเป็น NFJ นี่ไง เลยทำแบบนี้ แต่ถ้าเราไปอยู่อีกกลุ่มสังคมนึง แล้วเราไปตัดสินคนอื่นว่า เอ้อ พูดไม่เก่ง ต้องเป็นอินโทรเวิร์ตแน่ มันก็จะกลายเป็นเรื่องของมารยาท”

“ตอนนี้เราทำ Tiktok อยู่ ซึ่งยอด engage เยอะ เราก็แปลกใจอยู่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราแปลกใจกว่าก็คือ คนที่เป็น NF ตรงกลาง ก็คือเป็นคนที่ใช้ intuition กับ feeling ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก แต่กลับปรากฏในเน็ตเยอะมาก แต่เปอร์เซ็นต์คนที่ทำอาชีพเหมือนนักวางระบบ เป็นตระกูล ST ตรงกลางกลับสนใจภาวะภายในน้อยกว่า เวลาทำคลิปเกี่ยวกับตระกูล NF ตรงกลาง เราได้ยอดวิวเป็นแสนเลย พอมีข้อมูลความแตกต่างที่ชัดเจนขนาดนี้ มันก็ค่อนข้างจะบอกความเข้าใจบางอย่างกับเรา ซึ่งก็มาจากการสังเกตของเราเอง ไม่ได้มาจากเปเปอร์”

หากพูดถึงการเป็นและการไม่เป็นนั้น มีความสำคัญต่อ identities หรือตัวตนของวัยรุ่น ซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่กำลังค้นหาว่าเขาหรือเธอคือใครกันแน่ เครื่องมือเหล่านี้ในแง่หนึ่งก็กำลังช่วยให้วัยรุ่นพบกับตัวตนของตัวเองผ่านแบบสอบถาม แต่ในอีกแง่ก็กำลัง simplified หรือทำให้การประกอบสร้างตัวตนนั้นเป็นเรื่องที่จำกัดอยู่เพียงการทำแบบทดสอบ ซึ่งอาจจะขาดมิติอื่นๆ ในชีวิตไป

การรักษาภาวะการดำรงอยู่ทางตัวตน หรือ existential นี้ยังช่วยประคับประคองวัยรุ่นให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่พวกเขาถูกทดสอบว่าตัวเองคือใครกันแน่ โดยเค้าอาจไม่ชอบใจนัก เช่น ฉันเรียนสายศิลป์ ฉันเป็นเด็กสายศิลป์ ที่มีความชอบภาษาอย่างยิ่งยวด จริงหรือเปล่า ฉันเข้าคณะนี้เพราะฉันมีแพสชันให้มันจริงๆ หรือ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีความชัดเจนในวัยรุ่น หากเทียบกับแบบทดสอบซึ่งจำลองว่าได้กลั่นกรองผ่านคำตอบของวัยรุ่นแต่ละคนเองนั้น ผลลัพธ์ทางบุคลิกภาพไม่ได้มาจากการเลือกของเรา แต่มาจากประสบการณ์ของเรา สำหรับผู้ทำแบบทดสอบซึ่งมีความน่าเชื่อถือกว่า และเชื่อว่าเป็นจริงกว่า เนื่องจากเรากรอกมันโดยใช้ประสบการณ์ของเราเอง

“บางคนคิดว่า ตัวเองเข้าใจตนเองดีอยู่แล้ว เลยอาจจะไม่ได้ศึกษาเพิ่ม แต่จริงๆ มันอาจจะมีอะไรมากกว่านั้น” ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวเพิ่มถึง MBTI ในฐานะเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจตนเองยิ่งขึ้น

การเข้าใจตนเองนั้นสำหรับผู้เขียนเป็นเรื่องที่มีต้นทุน หลายคนได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้ทดลองเรียนวิชาน่าสนใจจำนวนมากนอกห้องเรียน รวมถึงได้ไปเที่ยว ไปทำกิจกรรม ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ล้วนช่วยให้เราเข้าใจตัวตนของเราได้มากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับวิธีที่เข้าถึงง่าย สะดวก และประหยัดกว่าอย่างแบบสอบถามบุคลิกภาพ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ผ่านตัวอักษร 4 ตัวที่จับต้องได้สุดๆ แล้ว อย่างหลังย่อมเป็นที่นิยมมากกว่า

ผู้เขียนไม่แน่ใจจริงๆ ว่า เราสามารถถอดสมการที่ซับซ้อนที่สุดในโลก เพื่อหาคำตอบที่ซับซ้อนยิ่งกว่าว่าเราคือใคร ผ่านระบบตัวอักษร 4 ตัวนี้ได้จริงๆ หรือไม่

แต่สิ่งเหล่านี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นในปัจจุบันไปแล้ว และการพยายามทำความเข้าใจระบบคิดนี้ ก็คงจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ได้อีกมากมาย