ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup นายกรัฐมนตรีมาเลเซียหนุนใช้เงินริงกิตในการค้า ลดพึ่งพาดอลลาร์

ASEAN Roundup นายกรัฐมนตรีมาเลเซียหนุนใช้เงินริงกิตในการค้า ลดพึ่งพาดอลลาร์

24 ธันวาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-23 ธันวาคม 2566

  • นายกรัฐมนตรีมาเลเซียหนุนใช้เงินริงกิตในการค้า ลดพึ่งพาดอลลาร์
  • อันวาร์ดึงการลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาเลเซีย 6.6 พันล้านริงกิต
  • เวียดนาม-ไทย-ฟิลิปปินส์ตกลงร่วมมือส่งออกข้าว
  • อินโดนีเซียซื้อข้าวอินเดีย-ไทย
  • อินโดนีเซียเล็งใช้ CPTPP รุกตลาดละตินอเมริกา
  • ธนาคารกลางกัมพูชาร่วม UnionPay เปิดตัวการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามแดน
  • เกาะกงเตรียมเปิดเขตเศรษฐกิจสีเขียวปี 2567

    นายกรัฐมนตรีมาเลเซียหนุนใช้เงินริงกิตในการค้า ลดพึ่งพาดอลลาร์

    ที่มาภาพ: https://payspacemagazine.com/news/malaysias-prime-minister-pushes-for-local-currency-transactions-in-trade/
    นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย วางแผนที่จะค่อยๆ เพิ่ม การใช้เงินริงกิตมาเลเซียในการทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศภายหลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียต่างๆ

    สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ในปีนี้ค่าเงินริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าลงประมาณ 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และแตะระดับสูงสุดในรอบ 25 ปีในช่วงปลายเดือนตุลาคม เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง

    เนื่องจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกค้าขายโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก การอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าในประเทศนั้นเพิ่มขึ้น และเพิ่มภาระให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่มีหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย

    ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Nikkei Asia ในโตเกียวเมื่อวันอาทิตย์ (17 ธ.ค.) นายกรัฐมนตรีอันวาร์กล่าวว่า เงินริงกิตมาเลเซียยังคงอ่อนค่าลง แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศมาเลเซียจะดีขึ้นก็ตาม

    “เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตดี การว่างงานต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ การลงทุนเริ่มเข้ามา แล้วริงกิตอ่อนค่าลงอย่างไร? สิ่งนี้ขัดแย้งกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ แต่ไม่มีใครสามารถอธิบายได้” นายกรัฐมนตรีอันวาร์กล่าว และว่า “ใช่ สาเหตุมาจากเฟด”

    นายกรัฐมนตรีอันวาร์ยอมรับว่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีความสำคัญ และมาเลเซียไม่ได้ตั้งใจที่จะเลิกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐโดยสิ้นเชิง “ผมไม่ได้ตั้งใจให้มาเลเซียหยุดใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินดอลลาร์สหรัฐยังคงมีความสำคัญในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ แต่เราต้องการค่อยๆ ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ”

    รายงานระบุว่ามาเลเซียได้ส่งเสริมการใช้ริงกิตกับคู่ค้าในภูมิภาคบางส่วน ธนาคารกลางของมาเลเซียกล่าวว่า 19.7% ของการค้ากับไทยเป็นสกุลเงินท้องถิ่น ณ เดือนกันยายน ความร่วมมือทางการค้ากับอินโดนีเซียใช้เงินสกุลท้องถิ่น 17% และกับจีน 23.3%

  • ASEAN Roundup คลัง-แบงก์ชาติอาเซียนจับมือส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่น เชื่อมโยงระบบการชำระเงินภูมิภาค
  • อันวาร์ดึงการลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาเลเซีย 6.6 พันล้านริงกิต

    ที่มาภาพ: https://www.businesstoday.com.my/2023/06/16/dosm-malaysias-fdi-recorded-rm74-6-billion-while-dia-registered-rm58-6billion-the-highest-since-2021/
    มาเลเซียประกาศว่า ได้ดึงดูดการลงทุนที่มีศักยภาพ 6.6 พันล้านริงกิต (1.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) จากญี่ปุ่น จากภารกิจทางการค้าที่นำโดยนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม

    มาเลเซียยังคาดว่า จะมีความเป็นไปได้ในการส่งออกไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 700 ล้านริงกิต ตามที่กระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซียระบุ เมื่อรวมข้อผูกพันที่ได้จากการเดินทางของเจ้าหน้าที่การค้ามาเลเซียในเดือนมิถุนายน การลงทุนที่เป็นไปได้ทั้งหมดจากญี่ปุ่นในปีนี้จะสูงถึง 29.6 พันล้านริงกิต ในขณะที่การส่งออกที่คาดว่าจะมีมูลค่า 2.8 พันล้านริงกิต กระทรวงระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (19 ธ.ค.) .

    ก่อนหน้านี้ นายอันวาร์คาดว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจากญี่ปุ่นจะเกิน 30,000 ล้านริงกิตในปีนี้

    การลงทุนครั้งใหม่จะมุ่งเน้นไปที่ “ภาคส่วนเป้าหมาย” ของมาเลเซีย รวมถึงพลังงานทดแทน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจเคมีและดิจิทัล ดาโต๊ะซาฟรุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของมาเลเซีย กล่าวในแถลงการณ์

    นายอันวาร์ ได้พบกับผู้บริหารจาก ROHM Wako, NEC และ Mitsui ระหว่างการเดินทางเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 วัน ตามรายงานของกระทรวง ซึ่งเป็นภารกิจล่าสุดพร้อมกับการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นในวาระครบรอบ 50 ปี

    เวียดนาม-ไทย-ฟิลิปปินส์ตกลงร่วมมือส่งออกข้าว

    ที่มาภาพ: https://vietnamnet.vn/en/ministry-building-long-term-strategy-on-rice-exports-market-stabilisation-2178636.html

    เวียดนามได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับไทยและฟิลิปปินส์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการส่งออกข้าว เป็นหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารในระดับภูมิภาคและระดับโลก

    การบรรลุฉันทามติดังกล่าวมีขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์จิ่ง ของเวียดนามหารือกับนายกรัฐมนตรีไทย นายเศรษฐา ทวีสิน และประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ นอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นเมื่อวันอาทิตย์(17 ธ.ค.) ที่กรุงโตเกียว

    นายกรัฐมนตรีเวียดนามและไทยตกลงที่จะยกระดับการค้าสองทางระหว่างทั้งสองประเทศเป็น 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้ โดยการสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้า รวมถึงข้าว

    ปัจจุบันประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในอาเซียน โดยมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสูงถึง 21.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปีที่แล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับที่ 9 ในเวียดนาม

    เวียดนามและไทยจะดำเนินโครงการริเริ่ม “สามการเชื่อมต่อ” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่พื้นที่ใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน

    นายกรัฐมนตรีเวียดนามและประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ตกลงที่จะยกระดับความร่วมมือในการส่งออกข้าว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพราะทั้งสองประเทศส่งออกข้าวไปยังหลายประเทศ และฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวเวียดนาม

    ในบรรดาผู้นำเข้าข้าวของเวียดนาม ปัจจุบันฟิลิปปินส์นำเข้ามากที่สุด ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าว 2.4 ล้านตัน มูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯจากเวียดนาม

    ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทแสดงให้เห็นว่าในช่วง 11 เดือนแรก เวียดนามมีรายได้ 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกข้าว 7.75 ล้านตันไปยังหลายประเทศทั่วโลก

    ราคาเฉลี่ยของข้าวเวียดนามอยู่ที่ 568 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และอาจสูงถึงเกือบ 650 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

    อินโดนีเซียซื้อข้าวอินเดีย-ไทย

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2023/12/22/indonesia-secures-rice-import-commitments-from-india-thailand
    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันศุกร์ (22 ธ.ค.)ว่า รัฐบาลได้ทำข้อตกลงนำเข้าข้าวจากอินเดียและไทยเพื่อรองรับอุปทานในปี 2567 โดยหน่วยงานจัดซื้ออาหารของประเทศ Bulog ได้ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับข้าวปริมาณ 1 ล้านตันจากอินเดีย ในขณะที่อินโดนีเซียได้ลงนามในข้อตกลงนำเข้าข้าวเบื้องต้นจากไทย 2 ล้านตัน

    ประธานาธิบดีโจโกวี กล่าวว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอินโดนีเซียจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ยังคงกังวลเกี่ยวกับราคาอาหารและการนำเข้าจะช่วยรักษาอุปทานในประเทศ

    “ผมยังคงกังวลเมื่อพูดถึงสินค้าโภคภัณฑ์อาหาร ซุปเปอร์เอลนิโญในปีนี้ทำให้การผลิตข้าวของเราลดลง และในปี 2567 เราคาดการณ์ว่าจะไม่กลับสู่ระดับปกติ” เขากล่าวในงานเสวนาแนวโน้มเศรษฐกิจในกรุงจาการ์ตา

    ประธานาธิบดีโจโกวีกล่าวว่า เขาได้พบกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ของไทยในระหว่างการประชุมผู้นำญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และขอนำเข้าข้าวจากไทย

    อินโดนีเซียเล็งใช้ CPTPP รุกตลาดละตินอเมริกา

    นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีอาวุโส อินโดนีเซีย ที่มาภาพ:https://www.cnbcindonesia.com/news/20230502094833-4-433624/airlangga-hartarto-bisa-jadi-cawapres-anies-baswedan

    นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีอาวุโส อินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันศุกร์(22 ธ.ค.)ว่า ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าของกลุ่มการค้าสำหรับหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก หรือที่รู้จักในชื่อ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership(CPTPP) อาจเป็นประตูสู่ตลาดละตินอเมริกาของอินโดนีเซีย

    นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมฝ่ายเศรษฐกิจกล่าวว่า อินโดนีเซียควรพิจารณาที่จะขยายการส่งออกเพื่อเป็นแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ CPTPP อาจเป็นกุญแจสำคัญเนื่องจากกลุ่มการค้าประกอบด้วยเศรษฐกิจละตินอเมริกาหลายแห่ง เช่น เม็กซิโก ชิลี และเปรู สมาชิก CPTPP อื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเวียดนาม

    “เราจำเป็นต้องพิจารณาเจาะตลาดละตินอเมริกานอกเหนือจากแอฟริกา CPTPP กลายเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่เราสามารถเข้าสู่ตลาดละตินอเมริกาได้อย่างรวดเร็ว” นายแอร์ลังกากล่าวในการประชุมในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันศุกร์

    “[CPTPP] สามารถเปิด [การเข้าถึงตลาด] ไปยังแคนาดา เม็กซิโก ชิลี และเปรู ได้พร้อมกัน” นายแอร์ลังกากล่าว

    เมื่อไม่นานมานี้ อินโดนีเซียค่อนข้างเปิดกว้างต่อแนวคิดในการเป็นส่วนหนึ่งของ CPTPP โดยเมื่อเดือนที่แล้ว นายแอร์ลังกาได้พบกับดาเมียน โอคอนเนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของนิวซีแลนด์ในขณะนั้น นอกรอบการประชุมกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ในซานฟรานซิสโก

    “… (อินโดนีเซีย) กำลังศึกษาโอกาสในการเข้าร่วม CPTPP” นายแอร์ลังกาบอกกับโอคอนเนอร์

    แถลงการณ์ของรัฐมนตรีอีกฉบับรายงานว่า CPTPP กลายเป็นประเด็นสำคัญเมื่อริชาร์ด เกรแฮม ทูตการค้าของนายกรัฐมนตรีอังกฤษประจำอินโดนีเซียพูดคุยกับนายแอร์ลังกาในกรุงจาการ์ตาเมื่อเดือนพฤศจิกายน อังกฤษได้ลงนามในระเบียบการเพื่อเข้าร่วม CPTPP ขณะนี้กำลังรอกระบวนการทางกฎหมายก่อนที่จะสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ในที่สุด

    ข้อตกลงการค้านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดภาษีและลดอุปสรรคสำหรับ 98% ของการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP ยังกำหนดให้สมาชิกปฏิบัติต่อซัพพลายเออร์ต่างประเทศอย่างยุติธรรมเมื่อแข่งขันเพื่อให้ได้สัญญากับรัฐบาล

    หอการค้าอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า การค้าของอินโดนีเซียกับประเทศในละตินอเมริกาและแคริบเบียนมีมูลค่ารวม 11.16 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2565 การส่งออกของอินโดนีเซียไปยังภูมิภาคเหล่านั้นก็เพิ่มขึ้น 16.5%ในปีที่แล้ว

    ธนาคารกลางกัมพูชาร่วม UnionPay เปิดตัวการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามแดน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501411835/cambodias-central-bank-unionpay-international-launch-cross-border-qr-code-payment/
    ธนาคารกลางกัมพูชา (National Bank of Cambodia -NBC) และผู้ให้บริการทางการเงินของจีน UnionPay International เมื่อวันศุกร์(21 ธ.ค.)ที่ผ่านมา ได้เปิดตัวบริการการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามแดน

    นางเจีย เสร็ย ผู้ว่าการธนาคารกลางกัมพูชากล่าวว่า การเปิดตัวการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามแดนระหว่างระบบบากอง(Bakong) ของธนาคารกลางกัมพูชา ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินผ่านมือถือและธนาคาร และ UnionPay International จะช่วยยกระดับความร่วมมือทางการเงินระหว่างทั้งสองสถาบัน ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้ในกัมพูชา จีน และ ทั่วโลก

    “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผู้ถือบัตร UnionPay ที่มาเยือนจะสามารถใช้วอลเล็ตที่เปิดใช้งาน UnionPay ได้ เช่น แอป UnionPay และแอปธนาคารพาณิชย์ที่เปิดใช้งานสำหรับการชำระเงินด้วย UnionPay QR Code เพื่อสแกนรหัส KHQR เพื่อทำธุรกรรมการชำระเงินที่ร้านค้าประมาณ 1.8 ล้านราย ในกัมพูชา” นางเจียกล่าวในงานเปิดตัวในกรุงพนมเปญ

    นอกจากนี้ ภายในต้นปี 2567 ชาวกัมพูชาจะสามารถใช้บากองวอลเล็ตชำระเงินด้วย QR code ของ UnionPay ได้ที่ร้านค้าในจีนและทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ได้รับความพอใจในการชำระเงินผ่านมือถือในระหว่างการเดินทางระหว่างประเทศ” นางเจียกล่าว

    นางเจีย กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการส่งเสริมการค้า กิจกรรมการท่องเที่ยว และการเข้าถึงบริการทางการเงินในกัมพูชา

    ปัจจุบันธนาคารกลางกัมพูชาประสบความสำเร็จในการเปิดตัวการชำระเงินด้วย QR code ข้ามแดนกับประเทศไทย ลาว และเวียดนาม

    การชำระเงินด้วย QR Code ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ส่งเสริมการทำงานร่วมกันของ QR Code ภายในภูมิภาคแห่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

    นายไช่ เจียนป๋อ ประธาน China UnionPay และประธาน UnionPay International กล่าวว่า ความพยายามร่วมกันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับนักเดินทางจากประเทศจีนและตลาดโลกที่อื่นๆ ซึ่งมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวของการเดินทางระหว่างประเทศและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในกัมพูชา

    “ภายใต้การแนะนำของธนาคารประชาชนจีน ยูเนี่ยนเพย์มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการบูรณาการการทำงานร่วมกันของ QR code ในประเทศอาเซียน” นายไช่ เจียนป๋อกล่าวในพิธีเปิดตัวผ่านลิงก์วิดีโอ

    “ปัจจุบัน UnionPay กำลังร่วมมือกับระบบสวิตชิ่งท้องถิ่นใน 15 ประเทศและภูมิภาค นอกเหนือจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมี 16 โครงการที่เปิดตัวหรืออยู่ระหว่างดำเนินการ โครงการบากองในกัมพูชาถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามนี้” นายไช่ เจียนป๋อกล่าว

    ด้วยการยอมรับใน 181 ประเทศและภูมิภาค ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงให้บริการชำระเงินข้ามแดนที่มีคุณภาพ คุ้มค่า และปลอดภัยแก่ฐานผู้ถือบัตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก และรับประกันบริการในท้องถิ่นที่สะดวกสบายแก่ผู้ถือบัตรและร้านค้า UnionPay ทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ UnionPay International ระบุในข่าวประชาสัมพันธ์

    ในอาเซียน ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เปิดใช้งานเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ระบบรับ ณ จุดขาย (POS) การออกบัตร และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ใน 10 ประเทศ

    เกาะกงเตรียมเปิดเขตเศรษฐกิจสีเขียวปี 2567

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/koh-kong-eyes-green-sez-for-24

    โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสีเขียว(SEZ) ซึ่งมีเงินลงทุนตั้งแต่ 400-800 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเปิดตัวในจังหวัดเกาะกงในปี 2567

    ขณะนี้หน่วยงานระดับชาติและระดับจังหวัดกำลังระบุพื้นที่ที่อาจเป็นไปได้สำหรับการลงทุนขนาด 300 เฮกตาร์ขึ้นไป ตามรายงานของสำนักงานสารนิเทศจังหวัดเกาะกง

    มิถุนา พูทอง ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (Council for the Development of Cambodia-CDC)) สถานทูตอังกฤษในกรุงพนมเปญ และกระทรวงและสถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ใน้กาะกง ที่เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเล

    ในการประชุม CDC เน้นย้ำว่าโครงการ SEZ สีเขียวมีเป้าหมายเพื่อสร้างศูนย์กลางการผลิตสินค้าส่งออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับตลาดต่างประเทศ

    โครงการริเริ่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนของตลาดโลก ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญ และช่วยในการกระจายเศรษฐกิจของประเทศ

    โครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่พลังงานทดแทน การจัดการขยะอย่างยั่งยืน และการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมในภาคส่วนที่สำคัญ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ

    จังหวัดนี้ได้รับเลือกให้ร่วมลงทุนเนื่องจากมีที่ดินเปล่าที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาระยะยาวมากกว่า 300 เฮกตาร์ และมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์บริเวณชายแดนของประเทศและอ่าวไทย จึงถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่อการใช้ประโยชน์จากการค้าในภูมิภาค และสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนโดยตรง

    นอกจากนี้ CDC ยังได้เรียกร้องหลายด้านต่อฝ่ายบริหารของจังหวัด รวมถึงการเสนอทางเลือกสำหรับทำเลที่มีศักยภาพ เช่น การเลือกสถานที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ และการหลีกเลี่ยงเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ และเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารดำเนินการประสานงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จทั้งในระดับจังหวัดและในประเทศโดยรวม

    มอม มัลลิกา ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลจังหวัด กล่าวว่า จังหวัดนี้มีศักยภาพในการลงทุนในพื้นที่สำคัญ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่าเรือ ศูนย์กลางธุรกิจ และรีสอร์ทท่องเที่ยว

    สัม โสนัน ซีอีโอของ Sam SN Realty Co Ltd ซึ่งวางแผนจะลงทุนในเขตเศรษฐกิจภายใน 2-3 ปีข้างหน้า กล่าวว่า SEZ มีความสำคัญมากขึ้นในการดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะขั้นตอนที่ง่ายขึ้นสำหรับเอกสารการส่งออก-นำเข้าและภาษีในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอธิบายเพิ่มเติมว่า SEZไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในการสร้างงานและรายได้ให้กับครอบครัวและประเทศชาติอีกด้วย

    สัมระบุว่า เกาะกงเป็นสถานที่ที่น่าลงทุนใน SEZ โดยเฉพาะสำหรับการเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ง่าย

    “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นกลยุทธ์ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อันที่จริง ในระหว่างการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต เมื่อไม่กี่วันก่อน ก็ได้สนับสนุนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมหรือลงทุนในเขตเศรษฐกิจที่มีอยู่”

    สัมกล่าวว่า การลงทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการส่งออกและลดการนำเข้า

    เจีย วุธี รองเลขาธิการ CDC กล่าวก่อนหน้านี้ว่า นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มร่างกฎระเบียบและกฎหมายในปี 2548 และภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ประเทศมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เปิดดำเนินการทั้งหมด 24 แห่ง และเน้นย้ำว่า SEZ มีบทบาทสำคัญในการกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และแหล่งการลงทุนของกัมพูชาจากประเทศต่างๆ

    วุธีให้ข้อมูลว่ากว่า 90% ของการลงทุนในภาคเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทางในประเทศตั้งอยู่ภายในโซนเหล่านี้

    CDC รายงานว่าภายในครึ่งแรกของปี 2566 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดำเนินงานอยู่ของกัมพูชามุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ผลิตภัณฑ์การเดินทาง ชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ รวมถึงการประกอบรถยนต์และจักรยาน ในบรรดาโซนดังกล่าว มีโรงงานและบริษัทจดทะเบียนมากถึง 655 แห่ง คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ