ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup คลัง-แบงก์ชาติอาเซียนจับมือส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่น เชื่อมโยงระบบการชำระเงินภูมิภาค

ASEAN Roundup คลัง-แบงก์ชาติอาเซียนจับมือส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่น เชื่อมโยงระบบการชำระเงินภูมิภาค

2 เมษายน 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 26 มีนาคม-1 เมษายน 2566

  • คลัง-แบงก์ชาติอาเซียนจับมือส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่น เชื่อมโยงระบบการชำระเงินระดับภูมิภาค
  • มาเลเซีย-สิงคโปร์เปิดตัวการเชื่อมโยงบริการชำระเงินด้วย QR Code
  • มาเลเซีย-อินเดียตกลงใช้รูปีชำระเงินในการค้า
  • เมียนมาอนุญาตให้ต่างชาติขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง
  • เวียดนามเตรียมให้วีซ่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 เดือน
  • คลัง-แบงก์ชาติอาเซียนจับมือส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่น เชื่อมโยงระบบการชำระเงินระดับภูมิภาค

    ที่มาภาพ: https://www.aseanbriefing.com/news/asean-finance-ministers-and-central-banks-consider-dropping-us-dollar-euro-and-yen-indonesia-calls-for-phasing-out-visa-and-mastercard/

    วันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่เมืองนูซาดูอา บาหลี กระทรวงการคลังและธนาคารอินโดนีเซียร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนและผู้ว่าการธนาคารกลาง (AFMGM) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจาก 9 ประเทศในอาเซียน (บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม) รวมถึงตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office-AMRO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คณะกรรมการกำกับดูแลทางการเงิน ( Financial Supervisory Board:FSB) ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) และธนาคารโลก

    ประเด็นสำคัญที่ได้จากการประชุมได้แก่ รัฐมนตรีคลังอาเซียนและผู้ว่าการธนาคารกลางย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงิน เพื่อรับมือกับแนวโน้มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน

    ในการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย ศรี มุลยานี อินทราวาตี ได้กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญและยุทธศาสตร์ของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางของการเติบโตของโลก

    “เราเชื่อว่าอาเซียนต้องมุ่งสู่การเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ครอบคลุม และยั่งยืน การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องราวของอาเซียนตลอดไป เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เราต้องเสริมสร้างขีดความสามารถของอาเซียนในการตอบสนองต่อความท้าทายก่อนหน้านี้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือความท้าทายในปัจจุบันและความท้าทายใหม่ที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และความท้าทายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า” มุลยานี อินทรวาตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซียกล่าว

    ทั้งหมดนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวคิดของการทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ คือ ‘ASEAN Matters: Epicentrum of Growth’ อินโดนีเซียต้องการแสดงให้เห็นว่าอาเซียนยังคงมีความหมาย มียุทธศาสตร์ และมีความสำคัญ ‘Epicentrum of Growth’ หมายถึง การที่อินโดนีเซียต้องการทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและโลก ยิ่งไปกว่านั้น ศรี มุลยานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย้ำว่า “อาเซียนยังคงเป็นจุดเด่นในเศรษฐกิจโลก ซึ่งภูมิภาคนี้มีโอกาสที่สดใสกว่าเมื่อเทียบกับภาพรวมทั่วโลกที่มืดมน ทั้งหมดนี้ตอกย้ำถึงความสำคัญของความทำงานร่วมกันและร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจคุกคามต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค”

    เพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารอินโดนีเซียกล่าวว่า เพื่อจัดการกับความท้าทายของอาเซียน สมาชิกจะต้องทำงานร่วมกันในลักษณะร่วมแรงร่วมใจและประสานงานกัน “ในฐานะผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีคลัง เราต้องใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมา เพื่อพัฒนานโยบายและมาตรการที่ส่งเสริมความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืน และครอบคลุม การดำเนินการดังกล่าวอาจรวมถึง 3 ประเด็นต่อไปนี้

    ประการแรก เราต้องมีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาคและเสถียรภาพทางการเงินในระดับโลกและระดับภูมิภาค และสามารถผสมผสานนโยบายที่เหมาะสมที่สุดได้
    ประการที่สอง การใช้ประโยชน์จากวาระระดับโลกในด้านการชำระเงินข้ามพรมแดน
    ประการที่สาม จากการที่ตลาดการเงินโลกในปัจจุบันได้รับอิทธิพลอย่างมาก จากวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารประเทศหลัก ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นต่อตลาดเกิดใหม่ในการปกป้องภาคต่างประเทศจากผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจ”

    การประชุม AFMGM ปีนี้ สมาชิกตอบรับกับการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซียในปี 2566 ที่มาในแนวคิด ‘ASEAN Matters: Epicentrum of Growth โดยมีแรงผลักดันเชิงกลยุทธ์ 3 ประการ คือ (i) การฟื้นตัวและการสร้างใหม่ (ii) เศรษฐกิจดิจิทัล และ (iii) ความยั่งยืน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2566 มีการประชุมระดับสูงทั้งหมด 13 ครั้ง โดยมีผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง และรองผู้ว่าการเข้าร่วม

    อาเซียนโดยรวมมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและเศรษฐกิจมหภาคมีเสถียรภาพซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Epicentrum of Growth ดังเห็นได้จาก เศรษฐกิจอาเซียน 5(ASEAN-5) ขยายตัว 5,3% ในปีที่แล้ว และคาดการณ์รวมกันว่าจะขยายตัวเป็น 4,6% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 5,6% ในปี 2567 การเติบโตนี้จะยังคงต่อเนื่อง ด้วยการบริโภคที่แข็งแกร่ง การค้าและการลงทุน รวมทั้งการเปิดการค้าและการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม อาเซียนและทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งผลกระทบจากภายนอกที่ลุกลามไปทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยสูง เงินเฟ้อสูง ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเงินทั่วโลก

    อาเซียนต้องเน้นย้ำถึงความสำคัญของความทำงานร่วมกันและความร่วมมือที่เข้มแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นใน Indonesia Priority Economic Deliverables (PED) เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจคุกคามต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค สิ่งที่เน้นเป็นพิเศษภายใต้การประสานงานของกระทรวงการคลังอินโดนีเซียภายใต้ PED ได้แก่ การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ โครงสร้างการเงินพื้นฐาน ภาษีระหว่างประเทศ ความร่วมมือด้านศุลกากร การเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลสำหรับไมโครเอสเอ็มอี( MSMEs) และการเงินที่ยั่งยืน

    ทั้ง 6 วาระนี้จะเสริมสร้างความร่วมมือและการบูรณาการภาคการเงินของอาเซียนภายใต้แผนแม่บท( 2025 Blueprint) ที่มีอยู่ และช่วยให้ภูมิภาคสามารถตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกที่อาเซียนกำลังเผชิญเพื่อประกันว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

    ในการจัดการกับความท้าทายของอาเซียน มี 3 เรื่องสำคัญในอันดับต้นๆที่เกี่ยวข้องกับวาระของธนาคารกลาง
    ประการแรก เสริมสร้างความแข็งแกร่งของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบผสมผสานในการรับมือกับการผลกระทบจากภายนอกในระดับโลกก เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและการเงิน ตลอดจนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการรวมตัวในภูมิภาคอาเซียน เมื่อพิจารณาถึงความท้าทายหลายมิติและซับซ้อนที่ภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมความแข็งแกร่งของการผสมผสานนโยบายที่ครอบคลุมการคลัง การเงิน นโยบาย macroprudential(นโยบายที่ใช้เพื่อดูแลและป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ) และการปฏิรูปโครงสร้าง

    ประการที่สอง ขยายการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระดับภูมิภาค (Regional Payment Connectivity-RPC) ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างรวดเร็ว ปีที่แล้ว ภายใต้การเป็นประธาน G20 ของอินโดนีเซีย ธนาคารกลางอาเซียน 5 แห่ง (อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนและการทำงานร่วมกัน การใช้ QR บริการ Fast Payment และ การทำธุรกรรมโดยใช้เงินสกุลท้องถิ่น(Local Currency Transaction-LCT)โดยในด้าน RPC สมาชิกอาเซียนพยายามที่จะจัดให้มีระบบการชำระเงินที่ราบรื่น รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสำหรับภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด ตลอดจนให้ความสำคัญในการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนระบบการชำระเงินให้เป็นดิจิทัล โดยการเสริมสร้างกฎระเบียบ การกำกับดูแล การนำมาตรฐานสากลมาใช้ ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภค

    ประการที่สาม เสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการเงิน โดยการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรัฐมนตรีและผู้ว่าการ เห็นชอบร่วมกันต่อแถลงการณ์รัฐมนตรีร่วม (Joint Ministerial Statement-JMS) ซึ่งแสดงถึงความคืบหน้า ความสำเร็จ และข้อตกลงในวาระการประชุมเหล่านั้น

    ผลลัพธ์ของการหารือ AFMGM ครั้งที่ 1 จะรายงานต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่เมืองลาบวน บาโจ จังหวัดนูซาเต็งการาตะวันออก จากนั้นการประชุม AFMGM ครั้งที่สอง จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 ที่กรุงจาการ์ตา วาระการหารือต่างๆ ในด้านการเงินของเสาหลักเศรษฐกิจคาดว่าจะสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่เป็นประโยชน์และผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน

    มาเลเซีย-สิงคโปร์เปิดตัวการเชื่อมโยงบริการชำระเงินด้วย QR Code

    ที่มาภาพ: https://vulcanpost.com/821867/singapore-malaysia-cross-border-qr-code-payments/
    ธนาคารกลางมาเลเซีย(Bank Negara Malaysia-BNM) และธนาคารกลางสิงคโปร์(Monetary Authority of Singapore-MAS) เปิดตัวการเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามพรมแดนระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ การเชื่อมโยงการชำระเงินนี้จะช่วยให้ลูกค้าของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมสามารถชำระเงินรายย่อยด้วยการสแกน QR Code ของ DuitNow และ NETS การเชื่อมโยงนี้รองรับการชำระเงินด้วยตนเองผ่านการสแกน QR Code จริงที่แสดงโดยร้านค้า และการทำธุรกรรมออนไลน์ข้ามพรมแดน

    การเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Code ของ DuitNow-NETS เป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อยกระดับการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดน ด้วยปริมาณการใช้ข้อมูลประจำปีก่อนเกิดโรคระบาดระหว่างสองประเทศซึ่งมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 12 ล้านคน การเชื่อมโยงการชำระเงินจะช่วยให้ผู้ค้าและผู้บริโภคมีวิธีการชำระเงินที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความคิดริเริ่มนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศ ในการปรับปรุงต้นทุน ความเร็ว การเข้าถึง และความโปร่งใสของการชำระเงินข้ามพรมแดน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการริเริ่มการเชื่อมโยงการชำระเงินของอาเซียนและแผนงาน G20 เพื่อยกระดับการชำระเงินข้ามพรมแดน

    การเชื่อมโยงการชำระเงิน QR Code ข้ามพรมแดนนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือที่แข็งแกร่งของผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างๆ จากทั้งสองประเทศ รวมถึง Payments Network Malaysia Sdn. Bhd. (PayNet), Network for Electronic Transfers (Singapore) Pte. Ltd. Ltd (NETS), สมาคมธนาคารในสิงคโปร์ และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมจากทั้งสองประเทศ

    ในระยะต่อไป BNM และ MAS วางแผนที่จะขยายการเชื่อมโยงการชำระเงินเพื่อให้สามารถโอนกลับประเทศ และโอนเงินข้ามพรมแดนแบบบัญชีต่อบัญชีได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถโอนเงินได้แบบเรียลไทม์ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์อย่างสะดวกสบาย โดยใช้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับผ่าน DuitNow และ PayNow บริการนี้คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ภายในสิ้นปี 2566

    นูร์ ชัมชิอะห์ โมฮัมหมัด ยูนุส ผู้ว่าการธนาคารมาเลเซียกล่าวว่า “นี่เป็นก้าวสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ของเครือข่ายระบบการชำระเงินรายย่อยที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงระหว่างกันของอาเซียน การเชื่อมโยง QR ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เดินทางไปมาหลายล้านคน รวมทั้งนักธุรกิจและผู้เดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และยังเป็นการส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกของทั้งสองประเทศอีกด้วย เราจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรของเราต่อไปเพื่อเร่งวาระการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลไปสู่การบูรณาการทางเศรษฐกิจและการเงินในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น

    นายราวี เมนอน กรรมการผู้จัดการของ MAS กล่าวว่า “การเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Code ของ DuitNow-NETS เป็นส่วนเพิ่มเติมล่าสุดสำหรับการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนที่กำลังเติบโตของสิงคโปร์ ความเชื่อมโยงเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการค้าข้ามพรมแดนและช่วยให้ผู้ค้าของเรา โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กสามารถใช้ประโยชน์จากกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขึ้นได้ การเชื่อมโยง QR Code ระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นก้าวสำคัญในเส้นทางของอาเซียนไปสู่การเชื่อมต่อการชำระเงินในภูมิภาคที่ไร้รอยต่อ

    มาเลเซีย-อินเดียตกลงใช้รูปีชำระเงินในการค้า

    ที่มาภาพ:https://www.devdiscourse.com/article/education/2401768-india-malaysia-can-now-trade-in-indian-rupee
    มาเลเซียและอินเดียก้าวข้ามเงินดอลลาร์ ด้วยการใช้สกุลเงินรูปีในการชำระเงินทางการค้า

    การประกาศดังกล่าวถูกมองว่าเป็นขั้นตอนชี้ขาดที่มุ่งสู่การลดการใช้เงินดอลลาร์ และการดำเนินการเพื่อปกป้องการค้าของอินเดียจากผลกระทบของสงครามของรัสเซียในยูเครน รวมทั้งผลกระทบและการคว่ำบาตรที่ตามมา

    อินเดียและมาเลเซียตกลงที่จะใช้เงินรูปี อินเดีย ชำระเงินในการค้า กระทรวงการต่างประเทศอินเดียประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566

    การประกาศนี้มีขึ้นหลังการดำเนินการอย่างเป็นทางการในการปกป้องการค้าของอินเดียจากผลกระทบของวิกฤตยูเครน การเปลี่ยนจากเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสกุลเงินทุนสำรองที่สำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ได้บ่งชี้ว่าอินเดียยินดีที่จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การลดการใช้เงินดอลลาร์ในการค้าระหว่างประเทศ

    ธนาคาร Union Bank of India ระบุในแถลงการณ์ว่า ธนาคารเป็นธนาคารแห่งแรกในอินเดียที่เลือกการชำระเงินวิธีนี้ โดยการเปิดบัญชี Special Rupee Vostro ผ่าน “ธนาคารตัวแทน” ในมาเลเซีย คือ India International Bank of Malaysia

    “ตอนนี้การค้าระหว่างอินเดียและมาเลเซียสามารถชำระด้วยสกุลเงินรูปีอินเดีย เพิ่มเติมจากรูปแบบการชำระเงินปัจจุบันในสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจของธนาคารกลางอินเดียในเดือนกรกฎาคม 2565 เพื่ออนุญาตให้มีการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศในสกุลเงินรูปีอินเดีย ความริเริ่มจากธนาคารกลางอินเดียมีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อให้การค้าโลกเติบโตและเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของประชาคมการค้าโลกในเงินรูปีอินเดีย” กระทรวงการต่างประเทศประกาศ

    การค้าด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เศรษฐกิจรัสเซียถูกคว่ำบาตรโดยมหาอำนาจตะวันตก หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เริ่ม“ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” กับยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 และผลจากการคว่ำบาตรและ สงคราม การชำระเงินให้รัสเซียในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐทำได้ยากมากขึ้น จึงนำไปสู่การหาวิธีแก้ปัญหาในสกุลเงินของประเทศและการลดการใช้เงินดอลลาร์ทั่วโลก

    เมื่อวันที่ 14 มีนาคม รัฐบาลได้รายงานต่อราชยสภา หรือสภาสูงของอินเดีย ว่า ธนาคารจาก 18 ประเทศได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางอินเดียให้เปิดบัญชี Special Rupee Vostro (SRVA) เพื่อชำระเงินด้วยเงินรูปีอินเดีย โดยที่มาเลเซียเป็น 1 ใน 18 ประเทศที่มีชื่อตามแถลงการณ์ที่ออกโดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

    “India International Bank of Malaysia (IIBM) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ใช้กลไกนี้โดยการเปิดบัญชี Special Rupee Vostro ผ่านธนาคารตัวแทนในอินเดีย เช่น Union Bank of India” ประกาศอย่างเป็นทางการระบุ

    “กลไกนี้จะช่วยให้ผู้ค้าชาวอินเดียและชาวมาเลเซียออกใบแจ้งหนี้การค้าในสกุลเงินรูปีของอินเดีย และดังนั้นสามารถกำหนดราคาสินค้าและบริการที่ซื้อขายกันได้ดีขึ้น กลไกนี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าทั้งสองฝ่าย เนื่องจากสามารถซื้อขายด้วยเงินรูปีอินเดียได้โดยตรง ดังนั้นจึงช่วยประหยัดส่วนต่างในการแปลงสกุลเงิน” เอกสารข่าวจาก Union Bank of India ระบุ

    การค้าทวิภาคีอินเดีย-มาเลเซียแตะ 19.4 พันล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2564-2565 และการประกาศเมื่อวันเสาร์คาดว่าจะช่วยให้การค้าทวิภาคีสามารถเอาชนะอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินได้ มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของอินเดียในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ซึ่งมีมูลค่าการค้าทวิภาคีกับอินเดียมูลค่า 30,100 ล้านดอลลาร์และ 26,100 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ

    เมียนมาอนุญาตให้ต่างชาติขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง

    อู หม่อง หม่อง วิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการคลัง และประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมียนมาเปิดเผยว่า ต่างชาติได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมและขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง (YSX)ได้

    “YSX มีความก้าวหน้ามาตลอด 7 ปีเริ่มต้นจากบริษัทจดทะเบียนหนึ่งแห่ง และตอนนี้มีบริษัทจดทะเบียน 7 แห่งและบริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบรับรอง 6 แห่ง ตอนนี้ หุ้นสามารถซื้อขายทางออนไลน์ได้เช่นเดียวกันกับผู้ซื้อและผู้ขาย นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นในนามของพวกเขาได้ ชาวต่างชาติ สามารถร่วมขายและซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการได้ เราจัดตั้ง Pre-Listing Board สำหรับบริษัทมหาชน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และ MSME ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ากระดานหลักเพื่อลงทะเบียนเป็นบริษัทจดทะเบียน ธุรกิจ MSME สามารถขายได้ รัฐลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้บริษัทจดทะเบียน ในอนาคต เราจะเปิดตลาดตราสารหนี้ด้วย” อู หม่อง หม่อง วิน กล่าว

    ปัจจุบันบริษัทที่จดทะเบียนใน YSX ได้แก่ First Myanmar Investment (FMI), Myanmar Thilawa SEZ, Myanmar Citizens Bank (MCB), First Private Bank, TMH Telecom Co., Ltd., Ever Flow River Co., Ltd. และ Amata Holding Co., Ltd.

    เวียดนามเตรียมให้วีซ่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 เดือน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/travel/vietnam-to-grant-3-month-e-visas-for-foreign-tourists-to-boost-tourism-4585858.html
    รัฐบาลประกาศว่าจะเสนอให้สมัชชาแห่งชาติขยายระยะเวลาของวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามจาก 30 วันเป็นสูงสุด 3 เดือนเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

    การประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม

    เวียดนามเตรียมให้วีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ 3 เดือนแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์นี้จะใช้ได้ทั้งการเข้าออกครั้งเดียวหรือหลายครั้ง สำนักงานรัฐบาลระบุในแถลงการณ์

    รัฐบาลยังพิจารณาขยายการออกวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับพลเมืองของทุกประเทศและเขตปกครอง ปัจจุบัน เวียดนามให้บริการวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์แบบเข้าออกครั้งเดียว 1 เดือนแก่นักท่องเที่ยวจาก 80 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย

    ข้อเสนอใหม่ของรัฐบาลยังรวมถึงการขยายระยะเวลาพำนักสำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า 15 วันเป็น 30 วัน

    ขณะนี้ นักท่องเที่ยวจากบางประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวชั้นนำของเวียดนาม ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศเป็นเวลา 15 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่าท่องเที่ยว

    นับตั้งแต่เวียดนามเปิดพรมแดนอีกครั้งในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้คนวงในในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนวีซ่าเพื่อกอบกู้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

    แม้จะเป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศแรก ๆ ที่เปิดรับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอีกครั้งหลังโควิด แต่เวียดนามกลับมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 3.6 ล้านคนในปีที่แล้ว หรือประมาณ 20% ของตัวเลขก่อนเกิดโรคระบาด

    ปีนี้เวียดนามตั้งเป้ารับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน