ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ข้าวหอมมะลิพันธุ์ผกาลำดวน กัมพูชาติด World’s Best Rice ปีที่ 5

ASEAN Roundup ข้าวหอมมะลิพันธุ์ผกาลำดวน กัมพูชาติด World’s Best Rice ปีที่ 5

20 พฤศจิกายน 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2565

  • ข้าวหอมมะลิพันธุ์ผกาลำดวน กัมพูชาติด World’s Best Rice ปีที่ 5
  • เวียดนามจะคัดเลือกการลงทุนเข้าประเทศมากขึ้น
  • ไทยเวียดนามร่วมจัดพิธีเปิดตัวการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินอย่างเป็นทางการ
  • อินโดนีเซีย-จีนลงนาม ข้อตกลงทวิภาคีเศรษฐกิจการค้า 5 ฉบับ
  • เศรษฐกิจมาเลเซียจะแตะ 370 พันล้านเหรียญปีนี้
  • เมียนมาอนุญาตนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 มกราคม 2566
  • มูลค่า IPO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงจากเศรษฐกิจชะลอ
  • ข้าวหอมมะลิพันธุ์ผกาลำดวน กัมพูชาติด World’s Best Rice ปีที่ 5

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/kingdoms-rice-crowned-worlds-no1

    พันธุ์ข้าวหอมมะลิ ผกาลำดวน Phka Rumduol ของกัมพูชาได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก(World’s Best Rice)เป็นครั้งที่ 5 ในการประชุมข้าวโลก TRT (The Rice Trader) ที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน จากการเปิดเผยของผู้นำกลุ่มธุรกิจข้าวของกัมพูชา

    ผกาลำดวน เป็นข้าวหอมมะลิเมล็ดยาวพันธุ์หนึ่งที่กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของผู้ซื้อจากต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในพันธุ์ที่ส่งออกภายใต้เครื่องหมายรับรอง “อังกอร์ มะลิ” Angkor Malys

    สถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรของกัมพูชา(Cambodian Agricultural Research and Development Institute )กล่าวว่า ได้แจกจ่ายพันธุ์นี้ให้เกษตรกรใช้ปลูกในปี 2542 หลังจากพัฒนาและทดลองมา 10 ปี

    นายSong Saran ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา และประธานบริษัท Amru Rice Cambodia จำกัด กล่าวว่า ในปี 256 ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่ารางวัลนี้เป็น “เกียรติอย่างยิ่ง” สำหรับอุตสาหกรรมข้าวในประเทศ

    “เราขอขอบคุณทีมงาน CRF ชาวนา สมาชิกโรงสีข้าว ชุมชนเกษตรกรรม และกระทรวงเกษตรและการค้าที่สนับสนุนการผลิต ‘ข้าวที่ดีที่สุด’ ทำให้เรามีส่วนร่วมในการแข่งขันและนำรางวัลกลับบ้านให้กับกัมพูชา”

    ก่อนหน้านี้ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน ได้รับรางวัลมาแล้ว 4 ครั้ง เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2555-2557 และอีกครั้งในปี 2561 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน ครองอันดับสอง 3 ปีซ้อนตั้งแต่ปี 2558-2560

    นาย Lay Chhun Hour รองประธาน CRF และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท City Rice Import Export Co Ltd ซึ่งตั้งอยู่ในพระตะบอง และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา เป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการมีส่วนร่วมของข้าวหอมมะลิผกาลำดวน ในการแข่งขันปีนี้

    นาย Chhun Hour มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งต่อบทบาทของธุรกิจข้าวกัมพูชาที่ได้รับรางวัลในปีนี้ โดยกล่าวว่ารางวัลนี้จะส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้นและเกิดประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายสำหรับชุมชน

    “การมีชื่อเสียงนี้จะช่วยส่งเสริมคุณภาพของข้าวกัมพูชาต่อไปและเป็นที่ยอมรับ” นาย Chhun Hour กล่าว พร้อมระบุว่า ข้าวที่ปลูกในประเทศจะต้องผ่านการตรวจสอบด้านกลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่ม ความชื้น และ รูปร่างลักษณะของข้าว จึงจะได้รับรางวัล

    เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนนาย Dith Tina รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ได้โพสต์ข้อความผ่าน Facebook เพื่อ “แสดงความยินดีอย่างสดซึ้ง” ที่ข้าวหอมมะลิผกา ลำดวน ได้รับรางวัลครั้งที่ 5 ในฐานะข้าวที่ดีที่สุดในโลก โดยกล่าวว่ารางวัลเกียรติยศนี้จะ “นำความภาคภูมิใจมาสู่กัมพูชา”

    นายมาก จำเริญ ประธานบริษัทจัดการห่วงโซ่มูลค่าทางการเกษตร AgriBee (Cambodia) Plc แสดงความชื่นชมยินดีกับผลการประชุมข้าวโลกในปีนี้ โดยกล่าวว่า การได้รับรางวัลนี้จะช่วยให้ภาคการส่งออกข้าวของกัมพูชาสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ดีขึ้น

    การส่งออกข้าวสารขยายตัวได้ดีในปีนี้ โดยมีปริมาณ 509,249 ตันในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 10.67% จาก 460,169 ตันในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของกระทรวงเกษตรเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน

    นายจำเริญกล่าวว่า การคว้าชัยครั้งที่ 5 นี้เป็น “ความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่” สำหรับ CRF และรัฐบาล และเป็นการเสริมชื่อเสียงของข้าวสารกัมพูชาให้เป็นตัวเลือกที่ดี

    “ผมขอแสดงความยินดีกับ CRF พันธมิตรและสมาชิก ชุมชนเกษตรกรรม ตลอดจนเกษตรกรที่ทำงานหนักเพื่อการเพาะปลูกและแปรรูปข้าวเพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน”

    เวียดนามจะคัดเลือกการลงทุนเข้าประเทศมากขึ้น

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/economy/attracting-the-right-investments-vietnam-s-priority-president-4537380.html

    เวียดนามกำลังพิจารณาที่จะคัดเลือกการลงทุนที่ต้องการดึงดูดมากขึ้น โดยใช้คุณภาพของปัจจัยการผลิตทางเทคโนโลยีและการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นเกณฑ์ในการประเมิน ประธานาธิบดี เหวียน ซวน ฟุก กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี(17 พ.ย.) ในการประชุม APEC CEO Summit ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดเอเปคปี 2565 ที่ประเทศไทย

    นายเหวียน ซวน ฟุกกล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจโลกประสบปัญหาหลายประการ เวียดนามสามารถรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และรักษาสมดุลของอาหารและพลังงานไว้ได้

    เวียดนามคาดว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มี GDP เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอัตรา 7.2% ในปี 2565 และ 6.7% ในปี 2566 จากการคาดการณ์ขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง

    ในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุนสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ เวียดนามได้ลงนามและดำเนินการตามข้อตกลงประมาณ 60 ฉบับเพื่อส่งเสริมการลงทุน รวมไปถึงข้อตกลงการค้าเสรี 15 ฉบับ

    “ความสำเร็จล่าสุดของเวียดนามในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในภูมิภาคและทั่วโลกสามารถยังผลประโยชน์ให้กับประเทศที่เข้าร่วม”

    นายเหวียน ซวน ฟุกกล่าวว่า เวียดนามให้ความสำคัญในการการดึงดูดการลงทุนที่เหมาะสม โดยมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ เทคโนโลยี และการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นเกณฑ์ในการประเมิน

    เวียดนามต้องการดึงดูดโครงการ FDI ไฮเทคที่จะสนับสนุนนวัตกรรมและการวิจัย ช่วยให้ธุรกิจเวียดนามสามารถเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และยังอำนวยความสะดวกในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย

    เวียดนามตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ “เคียงข้างกับธุรกิจ” นายเหวียน ซวนฟุกกล่าว พร้อมเสริมว่า รัฐบาลจะร่วมมือกับธุรกิจต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น

    นายเหวียน ซวนฟุกคาดหวังว่า ประชาคมธุรกิจเอเปกจะใช้จิตวิญญาณของความร่วมมือเพื่อก้าวข้ามความท้าทายและสนับสนุนการลงทุนในภูมิภาค

    ระบบการค้าระหว่างประเทศที่ยุติธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การแข่งขันระดับโลกมีความเท่าเทียมกัน และชี้ว่า
    การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

    ประธานาธิบดีเหวียน ซวนฟุกได้เยือนประเทศไทยเป็นเวลา 4 วัน (16-19 พฤศจิกายน) เพื่อเยือนไทยอย่างเป็นทางการและการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปคปี 2565 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย

    ไทยเวียดนามร่วมจัดพิธีเปิดตัวการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินอย่างเป็นทางการ

    เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เวียดนามและไทยได้ร่วมจัดพิธีเปิดตัวการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของสองประเทศอย่างเป็นทางการ โดยมีนาย เหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีนายเหวียน กิม อัน รองผู้ว่าการ ธนาคารกลางเวียดนาม และนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมสาธิตการชำระเงินระหว่างไทยและเวียดนามด้วย QR Code ในการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือของธนาคารพาณิชย์ผู้ให้บริการของทั้งสองประเทศ

    ธนาคารกลางเวียดนาม และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศใช้นวัตกรรมด้านการชำระเงินด้วย QR Code ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2564 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศในการชำระเงินระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางด้านนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ ในอนาคต

    ผลสำเร็จของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างไทยและเวียดนามครั้งนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและร้านค้าของทั้งสองประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปมาระหว่างสองประเทศ เพื่อให้การชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างกันมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย

    อินโดนีเซีย-จีนลงนาม ข้อตกลงทวิภาคีเศรษฐกิจการค้า 5 ฉบับ

    ที่มาภาพ: https://en.tempo.co/read/1657845/indonesia-china-sign-5-bilateral-agreements-on-economy-to-trade
    รัฐบาลอินโดนีเซียและจีนได้ลงนามใน ข้อตกลงทวิภาคีหลายฉบับในด้านเศรษฐกิจ การเดินเรือ และการค้าหลังจากการประชุมสุดยอด G20 ที่บาหลีเมื่อวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2565 โดยมีประธานาธิบดีโจโก วิโดโด อินโดนีเซียและประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม

    ข้อตกลงทั้ง 5 ฉบับ ได้แก่
    1) แผนการส่งเสริมร่วมกันภายในกรอบของแกนกลางทางทะเลของโลก( Global Maritime Axis) และ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(Belt and Road Initiative)
    2)บันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการร่วมพัฒนาศูนย์อนุรักษ์ วิจัย และนวัตกรรมพืชสมุนไพรอินโดนีเซีย-จีน
    3)บันทึกความเข้าใจด้านอาชีวศึกษา สำหรับภาคอุตสาหกรรม
    4)บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
    5)ข้อตกลงเพื่อขยายและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระดับทวิภาคี

    ในระหว่างการประชุม ประธานาธิบดีสีระบุถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทวิภาคีกับอินโดนีเซีย “ผมยินดีที่จะสื่อสารเชิงกลยุทธ์เชิงลึกกับประธานาธิบดี (โจโกวี)” ประธานาธิบดีสีกล่าว

    หนึ่งในโครงการความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างทั้งสองประเทศคือรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ซึ่งมีเป้าหมายเปิดใช้งานในเดือนมิถุนายน 2566 โครงการความร่วมมืออื่นๆ ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมเวดะเบย์ เขตอุตสาหกรรมโมโรวาลี และเขตอุตสาหกรรมสีเขียวกาลิมันตันเหนือ

    นอกจากนี้ยังมีศูนย์ Tsinghua Southeast Asia Center, Two Countries Twin Park และโครงการความร่วมมืออื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดผลที่สำคัญต่อการพัฒนาในอินโดนีเซีย

    ในการประชุมประธานาธิบดีโจโกวี ทักทายประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในฐานะพี่ใหญ่ “ผมขอต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สู่บาหลีอีกครั้ง และยินดีที่ได้ต้อนรับพี่ใหญ่ในบาหลีหลังจากการประชุมของเราที่ปักกิ่ง” ประธานาธิบดีโจโกวี กล่าวจากคลิป Youtube ของสำนักเลขาธิการประธานาธิบดี เมื่อวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน

    ประธานาธิบดีโจโกวียังแสดงความยินดีกับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเร็วๆนี้

    นอกรอบการประชุมทวิภาคี ประธานาธิบดีโจโกวี และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ชมการทดลองวิ่งของรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงจากบาหลี รถไฟขับเคลื่อนโดยวิศวกรชาวจีนและชาวอินโดนีเซีย

    เศรษฐกิจมาเลเซียจะทะลุ 370 พันล้านเหรียญปีนี้

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/asia/malaysia-covid-19-kuala-lumpur-conditional-mco-first-day-12700132
    นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การค้าที่เติบโตแข็งแกร่งของมาเลเซียจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตมากกว่า 9% และมีมูลค่ากว่า 370,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้

    มาเลเซียยังคงรักษาการเติบโตด้วยการค้า การส่งออก และการนำเข้าที่มีมูลค่ารายเดือนสูงสุดในเดือนตุลาคม โดยการค้าระหว่างประเทศขยายตัว 21.1% มีมูลค่า 245.18 พันล้านริงกิตตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และเป็นเดือนที่ 21 ติดต่อกันที่เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมเปิดเผย

    การส่งออกเพิ่มขึ้น 15% มีมูลค่า 131.63 พันล้านริงกิต ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 เมื่อเทียบรายปี ส่วนการนำเข้าสูงขึ้น 29.2% มีมูลค่า 113.54 พันนล้านริงกิต ขณะที่การเกินดุลการค้าลดลง 32% มีมูลค่า 18.09 พันล้านริงกิต

    การขยายตัวของการส่งออกได้รับแรงหนุนหลักจากการจัดส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น

    การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะอาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 การค้า การส่งออก และการนำเข้า สูงขึ้นทำลายสถิติเดิมที่บันทึกไว้ในปี 2564

    การค้าขยายตัว 31.6% มีมูลค่า 2.375 ล้านล้านริงกิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และการส่งออกเพิ่มขึ้น 28.5% มีมูลค่า 1.29 ล้านล้านริงกิต

    การนำเข้ามีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านริงกิตเป็นครั้งแรก โดยเพิ่มขึ้น 35.4% เป็น 1.085 ล้านล้านริงกิต ขณะที่เกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น 1.3% เป็น 205.61 พันล้านริงกิต

    Shan Saeed หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Juwai IQI กล่าวว่า การค้าของประเทศจะเพิ่มขึ้น 10-20% ในปี 2565 เนื่องจากกระทรวงและหน่วยงานของหน่วยงาน Malaysian Investment Development Authority ทำงานได้ดีในการเจาะตลาดและรักษาเสถียรภาพในภูมิทัศน์การค้า

    “มาเลเซียจัดการเรื่องนี้ได้ดี ณ เดือนกันยายน 2565 การค้าเพิ่มขึ้น 31% การส่งออกเพิ่มขึ้น 30% และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 21%”

    Shan กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยเฉลี่ยของมาเลเซียเติบโตแตะ 9.36% หลังจากผ่านไป 3 ไตรมาส โดยไตรมาสที่แล้วขยายตัวเกินความคาดหมายที่ 14.2%

    “มาเลเซียจะยังคงมีความสำคัญในภูมิทัศน์การค้าและการพาณิชย์ทั่วโลก เนื่องจากเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค กำลังแรงงานที่มีการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ​​และมีที่ตั้งเชิงกลยุทธ์

    “ขนาด GDP ของมาเลเซียคาดว่าจะสูงถึง 372,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ มาเลเซียยังคงอยู่ในเรดาร์ของนักลงทุนทั่วโลก โดย GDP จะสูงกว่า 9.0% ภายในสิ้นปีนี้”

    Firdaos Rosli หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Bank Islam Malaysia Bhd กล่าวว่า การค้าของมาเลเซียเติบโตดีเกินคาดท่ามกลางสภาวะตลาดโลกที่ซบเซาและความต้องการของลูกค้าที่ซบเซา

    “การเติบโตของการนำเข้ายังคงแซงหน้าการส่งออก แต่คาดว่าจะเป็นเพราะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้มาเลเซียนำเข้าสินค้าทุนมากขึ้น หลังจากการเปิดเศรษฐกิจเต็มรูปแบบอีกครั้งในไตรมาสที่สองของปี 2565”

    Firdaos กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านลบต่อการเติบโตของการค้าจะยังคงมีอยู่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายนอกเลวร้ายลง อย่างไรก็ตาม มีตัวเลขการค้ามีความล่าช้า ดังนั้นไม่คิดว่าจะเห็นผลกระทบต่อการค้าเร็วนัก ด้วยเหตุนี้ การค้าของมาเลเซียจนถึงสิ้นปี 2565 จะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

    “นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและริงกิตที่เอื้ออำนวยยังช่วยการส่งออกให้เพิ่มขึ้นในระยะสั้น”

    รองศาสตราจารย์ ดร.Ahmed Razman Abdul Latiff นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจาก Putra Economic Business School กล่าวว่าตัวเลขการค้าในเดือนตุลาคมได้ตอกย้ำถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นจากการเติบโต 14.2% ของ GDP ในไตรมาสที่ 3

    ความต้องการที่สูงขึ้นสำหรับสินค้าส่งออกหลักของมาเลเซียเช่น E&E ได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทน้ำมันและก๊าซที่สูงขึ้น

    นอกจากนี้ เงินริงกิตที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐทำให้การส่งออกของมาเลเซียแข่งขันได้มากขึ้น การเติบโตเป็นเลขสองหลักอย่างต่อเนื่องทุกเดือน “อย่างไรก็ตาม ยังส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น และทำให้เกินดุลการค้าของเราลดลงไปอีก” Ahmed Razman กล่าว

    เมียนมาอนุญาตนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 มกราคม 2566

    ที่มาภาพ: https://npnewsmm.com/news/63760b9b21b7123fb616aae8

    กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา ประกาศว่า นักลงทุนที่จะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า จะ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566พร้อมกับเผยแพร่กฎและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

    ในประกาศคำสั่งที่ออกเมื่อไม่กี่วันมานี้ กำหนดกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนโครงการนำร่องสำหรับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
    รวมถึงรถบรรทุกโดยสารที่ใช้แบตเตอรี่ด้วย

    ผู้นำเข้าต้องเป็นบริษัทของชาวเมียนมาหรือนักลงทุนต่างชาติที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการกับ Directorate of Investment and Company (DICA)

    บริษัทจะต้องยื่นสัญญาทางธุรกิจกับแบรนด์พันธมิตรต่อ DICA และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคยานยนต์ไฟฟ้า บริษัทจะต้องนำเข้ารถยนต์ตามจำนวนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเท่านั้น

    กระทรวงฯ ระบุว่า คำสั่งที่ออกจะมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2566

    มูลค่า IPO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงจากเศรษฐกิจชะลอ

    ที่มาภาพ: https://www.gotocompany.com/en/news/press/goto-completes-landmark-listing-on-idx
    เงินทุนที่ระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นครั้งแรกแก่ประชาชนทั่วไปหรือ IPO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง 52% ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากข้อมูลของดีลอยท์

    โดยเงินเสนอขายหุ้นต่ IPO ระดมได้สูงถึง 6.3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงมกราคมถึง 11 พฤศจิกายน ซึ่งต่ำกว่า 13.3 พันล้านดอลลาร์ที่ระดมทุนได้ในปี 2564 อย่างมีนัยสำคัญ

    จำนวนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในปี 2565 ก็ลดลงเช่นกัน จาก 152 รายรในปี 2564 เหลือ 136 ราย

    รายงานของดีลอยท์ ศึกษาจาก 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

    ผลการวิจัยยังเผยให้เห็นว่ามีบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางเพียง 8 แห่งที่จดทะเบียนในปี 2565 ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลาง 19 แห่งที่จดทะเบียนในปี 2564

    บริษัทขนาดใหญ่หมายถึงบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่บริษัทขนาดกลางคือบริษัทที่มีมูลค่าตลาดระหว่าง 500 ล้านถึง 1 พันล้านดอลลาร์

    การเสนอขายหุ้น IPO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงในปีนี้ โดยมีเพียง 2 บริษัทที่เสนอขายหุ้นขนาดใหญ่ระดับบล็อคบัสเตอร์ ได้แก่ GoTo ของอินโดนีเซียที่ระดมทุนได้ 1.1 พันล้านดอลลาร์ และไทยประกันชีวิตที่ระดมทุนได้ 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจหมายความว่าบริษัทขนาดใหญ่กำลังระงับและเลื่อนการจดทะเบียนออกไปเพื่อรอให้ภาวะตลาดดีขึ้นก่อน

    ปีที่แล้ว มีการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติอินโดนีเซีย Bukalapak มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม รวมทั้งการเสนอขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่ 3 รายในประเทศไทย

    กลุ่มธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของรัฐในประเทศไทย ได้แก่ บริษัทปตท.ค้าปลีกและน้ำมัน (PTTOR) ระดมทุนได้ 1.6 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ บริษัทไมโครไฟแนนซ์เงินติดล้อ ระดมทุนได้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสื่อบันเทิง บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)ระดมทุนได้ 118 ล้านดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน

    ความท้าทายด้านเศรษฐกิจมหภาค เช่น อัตราเงินเฟ้อโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยได้ชะลอการขายหุ้น IPO ต่างจากที่เห็นในปี 2564

    “ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเสนอขายหุ้นจะดำเนินไปพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจและจีดีพี อย่างไรก็ตาม มันกลับตรงกันข้ามในช่วงสองปีที่ผ่านมา” Tay Hwee Ling จาก บริษัท ดีลอยท์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสิงคโปร์ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน แม้ว่าประเทศต่างๆ จะเปิดประเทศอีกครั้ง

    อยางไรก็ตามอินโดนีเซียและไทยติดอันดับต้นๆ

    เมื่อประเมินจากจำนวน อินโดนีเซียเป็นผู้นำในภูมิภาคโดยมีบริษัท 54 แห่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน มาเลเซียรั้งอันดับสองด้วยการเสนอขายหุ้น IPO ถึง 31 รายการ ตามมาด้วยประเทศไทยที่การเสนอขายหุ้น IPO ถึง 28 รายการ

    GoTo ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นกิจการที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง Gojek และ Tokopedia ระดมทุนได้ 1.1 พันล้านดอลลาร์ในการเสนอขายหุ้น IPO ในเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นการเสนอขายหุ้น IPO ที่ใหญ่เป็นอันดับสามในเอเชียและใหญ่เป็นอันดับห้าของโลกในปีนี้ การเสนอขายหุ้น IPO ของ GoTo เพียงอย่างเดียวคิดเป็น 47% ของเงินทุนทั้งหมดที่ระดมทุนในตลาดหุ้นชาวอินโดนีเซีย จากการคำนวณของ CNBC โดยใช้ตัวเลขของ ดีลอยท์

    เมื่อประเมินจากจำนวนเงินที่ระดมทุนได้ ประเทศไทยอยู่อันดับต้น ๆ โดยคิดเป็น 39% ของจำนวนเงินที่ระดมทุนจาก IPO ทั้ง 28 รายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ โดยได้รับแรงหนุนจากการเข้าจดทะเบียนของไทยประกันชีวิตที่ระดมทุนได้ 1 พันล้านดอลลาร์ และผู้ผลิตเนื้อสัตว์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดมทุนได้ 555 ล้านดอลลาร์ อินโดนีเซียเป็นอันดับสองด้วยเงินระดมทุน 2.3 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยมาเลเซีย 681 ล้านดอลลาร์

    แต่แนวโน้มปี 2566 ยังไม่สดใส

    ในปี 2565 มูลค่ากลุ่มเทคโนโลยีและปริมาณการซื้อขายลดลง เนื่องจากสภาวะตลาดคาดเดาไม่ได้ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น จากรายงานของแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ CB Insights นักลงทุนที่ระมัดระวังมากขึ้น ลงทุนน้อยลงทั้งจำนวนบริษัทและจำนวนเงิน

    ในขณะที่ความท้าทายรออยู่ข้างหน้า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนของคนหนุ่มสาวสูง และในแทบทุกประเทศมีนักลงทุนรายย่อยที่แข็งขัน ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจและธุรกิจจะเติบโต” Tay กล่าว และอ้างข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ว่าประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี คนหนุ่มสาวสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าได้

    สำหรับแนวโน้มในปีที่เหลือจนถึงปี 2566 Tay กล่าวว่าดีลอยท์ นั้น “มองโลกในแง่ดีแต่รอบคอบ”

    “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเติบโตได้สูงอีก เนื่องจากภูมิภาคนี้ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 เราคาดว่ากิจกรรมการเสนอขายหุ้นจะผ่านช่วงขึ้นและลงเป็นวัฏจักร เนื่องจากตลาดปรับความคิดเกี่ยวกับโรคระบาดเป็น เรื่องปกติใหม่

    แม้มูลค่าหุ้นบริษัทเทคโนโลยีในปัจจุบันลดลง แต่บริษัทที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่มั่นคงและความสามารถในการทำกำไรจะยังคงสามารถมีมูลค่าตลาดที่เหมาะสมและได้รับประโยชน์จากตลาดทุน