ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียเปิดแล้ว Golden Visa ดึงนักลงทุนอยู่ยาว 5-10 ปี

ASEAN Roundup อินโดนีเซียเปิดแล้ว Golden Visa ดึงนักลงทุนอยู่ยาว 5-10 ปี

10 กันยายน 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 4-9 กันยายน 2566

  • อินโดนีเซียเปิดแล้ว Golden Visa ดึงนักลงทุนอยู่ยาว 5-10 ปี
  • กัมพูชาจุดหมายปลายทางลงทุนอันดับ 6 ของนักลงทุนจีนที่ขยายตลาด
  • กัมพูชาเล็งทำข้อตกลงเว้นเก็บภาษีซ้อนกับหลายประเทศ
  • รถไฟลาว-เวียดนาม เตรียมเปิดให้บริการในปี 2571
  • ลาวเปิดตัวบริษัทบริหารสินทรัพย์
  • เวียดนามเตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจหนุนอุตสาหกรรมไฮเทค
  • อาเซียนยึดฉันทามติ 5 ข้อแก้วิกฤติในเมียนมาบายพาสเก้าอี้ประธานปี 2569 ให้ฟิลิปปินส์
  • อินโดนีเซียเปิดแล้ว Golden Visa ดึงนักลงทุนอยู่ยาว 5-10 ปี

    ภาพต้นแบบ: https://th.hotels.com/go/indonesia
    ด่านตรวจคนเข้าเมืองพิเศษของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประเภท 1 ที่สนามบินนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา ได้เริ่มต้อนรับผู้ถือวีซ่าประเภท Golden Visa ที่วางแผนจะอยู่ในอินโดนีเซียแล้ว

    มูฮัมหมัด ติโต อันเดรียนโต หัวหน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองซูการ์โน-ฮัตตา กล่าวเมื่อวันศุกร์(8 ก.ย.)ว่า จากการใช้นโยบายดังกล่าว สำนักงานได้เตรียมที่จะอำนวยความสะดวกพิเศษหลายด้านให้กับชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าประเภท Golden Visa ที่เดินทางเข้าอินโดนีเซียผ่านทางสนามบินซูการ์โน-ฮัตตา

    “คาดว่าผู้ถือวีซ่า Golden Visa จำนวนมากจะเข้าอินโดนีเซียผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองซูการ์โน-ฮัตตา และโดยที่จาการ์ตาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียในปัจจุบัน เราจึงได้เตรียมคิวพิเศษเพื่อรองรับการเดินทางเข้ามา” มูฮัมหมัดกล่าว

    บริการยื่นขอ Golden Visa ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว วีซ่าประเภทนี้มีไว้สำหรับชาวต่างชาติที่ลงทุนในอินโดนีเซียในจำนวนที่กำหนด มูฮัมหมัดกล่าว

    มูฮัมหมัดกล่าวว่า บุคคลธรรมดาชาวต่างชาติที่ต้องการขอ Golden Visa ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ข้อกำหนดการลงทุนจำนวน 38 พันล้านรูปียะฮ์ หรือ 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการพำนัก 5 ปี

    “สำหรับการพำนัก 10 ปี มูลค่าการลงทุนตามเกณฑ์คือ 76 พันล้านรูปียะฮ์หรือ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

    ในขณะเดียวกัน นักลงทุนประเภทองค์กรที่จัดตั้งบริษัทในอินโดนีเซียด้วยมูลค่าการลงทุน 380 พันล้านรูปียะฮ์หรือ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐณฯ จะได้Golden Visa ซึ่งพำนักได้ 5 ปีสำหรับกรรมการและ ผู้ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่ และ 760 พันล้านรูปียะฮ์หรือ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ Golden Visa อายุ 10 ปี มูฮัมหมัดกล่าว

    “เมื่อเดินทางมาถึงอินโดนีเซีย ผู้ถือ Golden Visa ไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตการเข้าพักแบบจำกัดที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอีกต่อไป”

    ก่อนหน้านี้ กฎระเบียบตรวจคนเข้าเมืองของอินโดนีเซียไม่ครอบคลุมวีซ่าที่มีใบอนุญาตพำนักระยะเวลา 10 ปี

    มูฮัมหมัดกล่าวว่า ผู้ถือ Golden Visa จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษมากมาย รวมถึงการพำนักระยะยาว ความสะดวกในการเข้าและออกจากอินโดนีเซีย และประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องยื่นขออนุญาตการเข้าพักแบบจำกัด ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอีกต่อไป

    โครงการ Golden Visa ของอินโดนีเซียมีเป้าหมาย เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่มีคุณภาพ มีความมั่งคั่งสุทธิสูง และนักลงทุนประเภทองค์กร ซึ่งสามารถรับใบอนุญาตพำนักได้นาน 5 ถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับมูลค่าการลงทุน

    อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเป้าหมายดึงดูดบุคคลที่มีความมั่งคั่งเช่นกัน และร่ คู่แข่งในภูมิภาคเหล่านี้หลายรายได้เริ่มต้นไปก่อนหน้าแล้วในบางด้าน

  • ประเทศไทย
  • ประเทศไทยประกาศสิทธิประโยชน์จูงใจหลายข้อในปี 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดผู้เกษียณอายุ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ

    ผู้ยื่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถรับวีซ่าผู้พำนักระยะยาว 10 ปีเพื่ออาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งคู่สมรสและบุตรด้วย ผู้ยื่นขอที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์จะได้รับใบอนุญาตทำงานอัตโนมัติด้วย ซึ่งเป็นวีซ่ารูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน

    นอกจากนี้ ผู้ยื่นขอที่มีคุณสมบัติจะเสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีเงินได้เดียวกับพลเมืองไทย รวมถึงการยกเว้นภาษีสำหรับรายได้ที่ได้รับในต่างประเทศ ผู้ยื่นขอที่ผ่านการพิจารณา ยังได้รับการผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับการถือครองและการเช่าที่ดินและทรัพย์สินของชาวต่างชาติ

    สิทธิประโยชน์จูงใจนี้เปิดให้กับ ชาวต่างประเทศที่มั่งคั่งซึ่งมีรายได้อย่างน้อย 80,000 เหรียญสหรัฐฯ และมีทรัพย์สินอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผู้รับบำนาญที่มีเงินบำนาญคงที่อย่างน้อย 40,000 เหรียญสหรัฐฯต่อปี และมีอายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงซึ่งมีรายได้อย่างน้อย 80,000 เหรียญสหรัฐฯในช่วงสองปีหรือ 40,000 เหรียญสหรัฐฯต่อปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น โครงสร้างพื้นฐานหรือระบบดิจิทัล

    นับตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนกันยายน 2565 ถึงมิถุนายน 2566 โครงการนี้มีผู้ยื่นขอ 4,200 ราย โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะมีชาวต่างชาติ 1 ล้านคนในโครงการในอีก 5 ปีข้างหน้า

  • มาเลเซีย
  • โครงการวีซ่าพรีเมียม (Premium Visa Program:PVIP) ของมาเลเซียเปิดตัวในปี 2565 เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มั่งคั่งให้ลงทุนและพำนักอยู่ในประเทศนานถึง 20 ปี นอกจากนี้ ผู้ถือวีซ่านี้สามารถศึกษาและซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยหรือเชิงพาณิชย์ได้

    มีข้อกำหนดสำคัญหลายประการที่ผู้ยื่นขอต้องปฏิบัติตามจึงจะมีสิทธิ์ได้รับ PVIP ประกอบด้วย

    เปิดบัญชีเงินฝากประจำ 1 ล้านริงกิต (227,180 เหรียญสหรัฐฯ) กับธนาคารมาเลเซียที่ได้รับใบอนุญาต ไม่อนุญาตให้ถอนเงินในปีแรก อย่างไรก็ตาม สามารถถอนได้สูงสุด 50% หลังจากปีแรกสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ค่ารักษาพยาบาล หรือการศึกษา

    ผู้ยื่นขอจะต้องมีรายได้นอกประเทศ 40,000 ริงกิต (9,086 เหรียญสหรัฐฯ) ต่อเดือน หรือ 480,000 ริงกิต (109,000 เหรียญสหรัฐฯ) ต่อปี
    ชำระค่าธรรมเนียมการแรกเข้า 200,000 ริงกิต (45,434 เหรียญสหรัฐฯ) สำหรับผู้ยื่นขอหลัก และ 100,000 ริงกิต (22,713 เหรียญสหรัฐฯ) สำหรับผู้อยู่ในอุปการะแต่ละคน

    การยื่นขอทั้งหมดจะต้องดำเนินการผ่านหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตซึ่งแต่งตั้งโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซีย

    อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการวีซ่าอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยรัฐบาล โดยมีการยื่นเพียง 28 ใบเท่านั้น เนื่องจากโครงการนี้มีเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับโครงการวีซ่าอื่นๆ คือ Malaysia My Second Home ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการยื่นขอที่ต่ำกว่ามาก (5,000 ริงกิต (1,074 เหรียญสหรัฐฯ) และ 2,500 ริงกิต (537 เหรียญสหรัฐฯ) สำหรับผู้อยู่ในอุปการะแต่ละคน

    มาเลเซียยังเปิดตัววีซ่า Digital Nomad Visa เป็นรายแรกของภูมิภาคในปี 2565 โดยมีชื่อว่า De Rantau โครงการนี้เปิดรับนักการตลาดดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที และผู้สร้างเนื้อหาที่พำนักอยู่ได้นานถึง 12 เดือน รัฐบาลหวังว่าโครงการนี้สามารถเปลี่ยนมาเลเซียให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค สำหรับกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกพร้อมกับทำงานไปด้วยหรือ Digital Nomads ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการนำระบบดิจิทัลไปใช้ทั่วประเทศ

    ผู้มีอาชีพอิสระทางดิจิทัล หรือผู้ทำงานแบบสัญญาจ้างอิสระต้องแสดงสัญญาโครงการที่ยังไม่หมดอายุ โดยมีระยะเวลามากกว่า 3 เดือน ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของสัญญาหลายฉบับ และลูกค้าอาจเป็นบริษัทต่างประเทศหรือบริษัทในมาเลเซียก็ได้

    ส่วนผู้ที่ทำงานทางไกลต้องแสดงสัญญาจ้างงานที่มีระยะเวลาสัญญานานกว่า 3 เดือน นายจ้างอาจเป็นชาวต่างชาติหรือชาวมาเลเซียก็ได้ รายได้ต่อปีของ Digitals Nomadจากต่างประเทศจะต้องมากกว่า 24,000 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่รายได้ต่อปีของ Digitals Nomad ในประเทศควรมากกว่า 36,000 ริงกิต (7,863 เหรียญสหรัฐฯ)

    รัฐบาลตั้งเป้าหมายผ่าน De Rantau ไว้ว่าจะมี Digital Nomads จำนวน 80,000 คนภายในปี 2568

  • สิงคโปร์
  • Global Investor Program ของสิงคโปร์เปิดตัวในปี 2547 และมีการปรับเปลี่ยนหลายประการ โครงการนี้เป็นหนึ่งในช่องทางที่นักลงทุนต่างชาติและครอบครัวต้องการได้รับสถานะผู้พำนักถาวรในสิงคโปร์

    คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Board:EDB) ซึ่งดำเนินโครงการนี้ ได้ประกาศข้อกำหนดใหม่สำหรับผู้ยื่นขอ

    ณ เดือนมีนาคม 2566 รัฐบาลได้เพิ่มเกณฑ์คุณสมบัติการลงทุนสำหรับโครงการ GIP ซึ่งได้แก่
    1)ลงทุนอย่างน้อย 10 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (7.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในธุรกิจใหม่หรือธุรกิจที่มีอยู่ในสิงคโปร์
    2)ลงทุน 25 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (18.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในกองทุน GIP ที่จดทะเบียนกับ EDB ซึ่งลงทุนในธุรกิจในสิงคโปร์ หรือจัดตั้งสำนักงานครอบครัวในสิงคโปร์พร้อมสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอย่างน้อย 200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (148 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ต้องมีการลงทุนอย่างน้อย 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (37.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในการลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งจากสี่ประเภทต่อไปนี้

      ตราสารหนี้ที่เข้าเงื่อนไขของสิงคโปร์
      การลงทุนของ ไพรเวท อิควิตี้ เข้าสู่ธุรกิจที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์
      บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางสิงคโปร์ และ
      กองทุนที่จัดจำหน่ายโดยผู้จัดการกองทุนที่ได้รับใบอนุญาตจากสิงคโปร์

    ระหว่างปี 2563 ถึง 2565 มีนักลงทุนทั้งหมด 200 รายที่ได้รับสถานะผู้พำนักถาวรผ่านโครงการนี้ รัฐบาลยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ยื่นขอที่ผ่านการพิจารณา นับตั้งแต่มีการเพิ่มเกณฑ์การลงทุน แต่มีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักลงทุนและบุคคลที่มีคุณภาพสูงขึ้น

    กัมพูชาจุดหมายปลายทางลงทุนอันดับ 6 ของนักลงทุนจีนที่ขยายตลาด

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501302664/cambodia-to-become-higher-middle-income-country-by-2030/
    EIU จัดกัมพูชาให้เป็นอันดับหนึ่งในจุดหมายปลายทางการลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับการขยายตลาดของจีน การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน

    Economist Intelligence Unit (EIU) จัดอันดับให้กัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจที่สุดอันดับที่ 6 ของโลกสำหรับการขยายตลาดโดยบริษัทจีน

    ในรายงาน โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (China’s Belt and Road Initiative)ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี(7ก.ย.) EIU ยังจัดให้กัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดอันดับที่ 10 สำหรับการลงทุนของจีนในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน

    การขยายตัวคาดว่าจะมุ่งเน้นไปที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม พลังงานทดแทน และผลิตภัณฑ์ยานยนต์ “ซึ่งจีนมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันแล้ว”

    “ความสัมพันธ์ที่ถดถอยกับตลาดส่งออกทั่วไปและการเติบโตภายในประเทศที่ชะลอตัว ได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการมองหาตลาดทางเลือก” EIU กล่าว

    สำหรับการขยายตลาด อินโดนีเซียอยู่ในอันดับต้นๆ รองลงมาคือบังคลาเทศ เวียดนาม มาเลเซีย และปากีสถาน

    จุดหมายปลายทางที่น่าสนใจที่สุดสำหรับการขยายตลาดจีน 20 อันดับแรกตามหลังกัมพูชา ได้แก่ อียิปต์อยู่ในอันดับที่ 7 ตามมาด้วยอินเดีย แทนซาเนีย โคลอมเบีย รัสเซีย เอธิโอเปีย สหรัฐอเมริกา แองโกลา ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย อิสราเอล บราซิล สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และ เคนยา

    แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ใน 20 อันดับแรก แต่รายงานระบุว่าประเทศไทย “ดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์จีนให้วางตำแหน่งประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า” ในอาเซียน

    ประเทศที่นำหน้ากัมพูชาในการจัดอันดับการลงทุนด้านซัพพลายเชน สิงคโปร์อยู่ในอันดับต้นๆ ตามด้วยมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม เม็กซิโก อียิปต์ บังคลาเทศ และโมร็อกโก

    รองจากกัมพูชา ได้แก่ แอฟริกาใต้ ชิลี ฟิลิปปินส์ อินเดีย ฮังการี บราซิล โปแลนด์ บัลแกเรีย โรมาเนีย และตุรกี

    “เราขอแนะนำให้นักลงทุนพิจารณาความเสี่ยงในการดำเนินงานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับจุดหมายปลายทางการลงทุน เช่น ข้อจำกัดของตลาดแรงงาน และข้อพิพาทกับคู่ค้ารายใหญ่” รายงานกล่าว

    “ความเสี่ยงทางการเงิน เช่น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการแปลงสภาพบัญชีเงินทุน ก็เป็นเครื่องมือในการพิจารณาเช่นกัน”

    EIU จัดอันดับกัมพูชาให้เป็นหนึ่งใน 21 จุดหมายปลายทางที่ มีโอกาสมากขึ้นและมีความเสี่ยงน้อย ควบคู่ไปกับประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

    ข้อมูลที่หลากหลาย ของจีนในการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตอกย้ำความสำคัญของการคาดการณ์ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเข้าไปในต่างประเทศ” รายงานคำระบุ

    รายงานระบุว่า รัฐบาลจีนเน้นย้ำถึง การใช้เหตุผลในการตัดสิน การลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนี้ คือ การให้ความสำคัญกับโครงการ ขนาดเล็กและดี ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

    นิวซีแลนด์เป็นสมาชิก RCEP เพียงประเทศเดียวที่มี ความเสี่ยงน้อยแต่มีโอกาสไม่มาก ในขณะที่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้มี โอกาสมากกว่าแต่มีความเสี่ยงสูง ประเทศสมาชิก RCEP เพียงรายเดียวที่ มีโอกาสน้อยและมีความเสี่ยงสูง คือเมียนมา

    โดยรวมแล้ว กัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 80 จุดหมายปลายทางเมื่อพิจารณาจากความสนใจของนักลงทุนชาวจีน

    ประเทศที่อยู่ใน 20 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง ไทย เวียดนาม สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย ชิลี อินเดีย บังคลาเทศ แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย กาตาร์ อียิปต์ โคลัมเบีย คาซัคสถาน และเกาหลีใต้

    ประเทศที่ตามหลังกัมพูชาใน 30 อันดับแรก ได้แก่ เม็กซิโก อิสราเอล เอกวาดอร์ เปรู เยอรมนี บราซิล สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย และฝรั่งเศส

    กัมพูชาเล็งทำข้อตกลงเว้นเก็บภาษีซ้อนกับหลายประเทศ

    นายกง วิบูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กัมพูชา ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501356758/cambodia-mulling-dta-deals-with-many-countries/

    กัมพูชาเตรียมที่จะทำ ข้อตกลงความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน(Double Taxation Avoidance :DTA) กับหลายประเทศ และให้ความสำคัญกับการเจรจาในเรื่องนี้อย่างมาก นายกง วิบูล (Kong Vibol) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยในวันพุธ(6 ก.ย.)

    ในการให้สัมภาษณ์กับ Khmer Times นอกรอบการเสวนา Tax Forum 2023 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมโซฟิเทล พนมเปญ โภคีธรา นายวิบูลกล่าวว่า “เรากำลังเจรจากับประเทศอื่นๆ มากขึ้น ยังมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องกับญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่เรายังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงด้วย”

    นายวิบูลย้ำว่า “แต่เรามีหลักการของเรา อย่าขอลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมหรือภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต่ำกว่าอัตราที่มีอยู่”

    ปัจจุบันกัมพูชามีข้อตกลง DTA กับ 9 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ไทย บรูไน เวียดนาม อินโดนีเซีย เขตบริหารพิเศษฮ่องกง มาเลเซีย และเกาหลีใต้

    ข้อตกลง DTA มีกรอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและกลไกระหว่างหน่วยงานด้านภาษีของกัมพูชาและประเทศที่ลงนาม เพื่อยกระดับการบังคับใช้ภาษีเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีโดยกัดกร่อนฐานภาษี และเพื่อเคลื่อนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีภาระภาษีต่ำกว่า

    DTA เป็นสนธิสัญญาด้านภาษีที่ลงนามระหว่างสองประเทศขึ้นไปเพื่อช่วยให้ผู้เสียภาษีหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีซ้ำซ้อนจากรายได้เดียวกัน DTA จะมีผลบังคับใช้ในกรณีที่บุคคลหนึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศหนึ่ง แต่มีรายได้ในอีกประเทศหนึ่ง

    ผู้เสียภาษีในกัมพูชาจะต้องยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ผู้เสียภาษีและจัดเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบที่กำหนด โดยกรมสรรพากรของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ พิมพ์เขียวของประเทศอาเซียนก็กำหนดให้มีข้อตกลง DTA ระหว่างประเทศสมาชิกทั้งหมด

    “เราคาดว่าจะทำข้อตกลง DTA กับฟิลิปปินส์ในปีนี้ และพร้อมที่จะลงนามข้อตกลงกับเมียนมาและลาว” ดร.เส่ง เจียเสธ ผู้อำนวยการของกรมสรรพากรกล่าวในการเสวนา

    นายกง วิบูล กล่าวว่า การเสริมสร้างกลไกรายได้ภายในเป็นสิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาล รายได้ที่ได้รับจากการเก็บภาษีจะถูกนำกลับคืนสู่สังคมผ่านกิจกรรมสวัสดิการต่างๆ ที่ครอบคลุมการพัฒนามนุษย์ การดูแลสุขภาพ และการศึกษา

    นอกจากนี้กฎหมายภาษีฉบับใหม่สอดคล้องกับนโยบายการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลของประเทศและยุทธศาสตร์ 5 เหลี่ยมเป็นอย่างมาก กฎหมายภาษีใหม่นี้ไม่มีอะไรมาก เป็นเพียงปรับปรุงกฎหมาย 533 กฎหมาย อนุกฤษฎีกา ประกาศ และแนวปฏิบัติอื่น ๆ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1997

    นายวิบูลชี้ว่า กฎหมายภาษีใหม่สอดคล้องกับกฎหมายการลงทุนใหม่และกฎหมายอาญา รัฐบาลต้องการให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติที่เป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีทุกคน

    ดร.เส่ง เจียเสธ กล่าวว่า จากทั้งหมด 255 มาตราในกฎหมายภาษีฉบับใหม่ มีการแก้ไข 246 มาตรา และอีก 9 มาตรายังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ 53 มาตราได้รับการแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญ

    รถไฟลาว-เวียดนาม เตรียมเปิดให้บริการในปี 2571

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2023/09/04/laos-vietnam-railway-set-to-open-for-service-in-2028/

    เส้นทางรถไฟลาว-เวียดนามที่วางแผนไว้ ซึ่งวิ่งจากอำเภอท่าแขก แขวงคำม่วน ไปยังชายแดนลาว-เวียดนาม คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2571

    บริษัท ปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว จำกัด(มหาชน) (Petroleum Trading Lao Public :PTL) ร่วมกับบริษัท ยูชิน เอ็นจิเนียริ่ง(Yooshin Engineering Corporation) และการรถไฟแห่งชาติเกาหลี(Korea National Railway) จะดำเนินการศึกษาการออกแบบทางรถไฟโดยละเอียดก่อนเริ่มการก่อสร้าง

    ข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการนี้ลงนามในเวียงจันทน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยประธานบริษัท ปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว นายจันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัทยูชิน เอ็นจิเนียริ่ง นายชอน คยัง-ซุน และกรรมการบริหารของการรถไฟแห่งชาติเกาหลี นายปาร์ค จิน-ฮยอน

    พิธีลงนามมีประธานคณะกรรมการบริหารฝ่ายกลยุทธ์และการวางแผน บริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง จำกัด นายอลุนแก้ว กิตติคุน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโยธาธิการและขนส่ง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและตัวแทนบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

    รถไฟลาว-เวียดนามจะสร้างขึ้นในระยะทาง 250 กิโลเมตร และจะใช้เงินลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในการก่อสร้าง นายจันทอนกล่าว

    “บริษัทของเราได้รับสิทธิ์เป็นผู้พัฒนา เราได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีของเราภายใต้โครงการนี้ และได้บรรลุเป้าหมายสำคัญแล้ว เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและทางเทคนิคและการได้รับอนุมัติ รวมทั้งการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

    “การลงนามในสัญญาสัมปทานและการศึกษาการออกแบบโดยละเอียดจะช่วยปูทางไปสู่ขั้นตอนการก่อสร้างในอนาคต”

    “ยูชิน เอ็นจิเนียริ่ง และการรถไฟแห่งชาติเกาหลีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถระดับสูงและประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมในระดับสากลในด้านความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นในด้านวิศวกรรม การออกแบบ การก่อสร้าง เทคโนโลยี และการจัดการโครงการรถไฟทั่วโลก และมีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมมานานกว่า 60 ปี”

    “ผมมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าภายใต้คำแนะนำและการสนับสนุนของพรรคและรัฐบาลลาว รถไฟลาว-เวียดนามจะสร้างขึ้นตามแผนที่วางไว้และจะบรรลุเป้าหมาย” นายจันทอนกล่าว

    เมื่อสร้างเสร็จและให้บริการแล้ว รถไฟลาว-เวียดนามจะมีส่วนต่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน

    นอกจากนี้ยังจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาวและจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญต่องบประมาณของรัฐบาลในระยะยาว

    เส้นทางรถไฟจะเสริมสร้างความเชื่อมโยงของลาวให้แข็งแกร่งขึ้นในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมและการค้าภายในอาเซียนและที่อื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่มาสู่ประชาชนลาว และประเทศจะเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างยั่งยืน

    เป้าหมายโดยรวมของโครงการ คือ เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลลาว และกลยุทธ์การพัฒนาของประเทศในการเปลี่ยนลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นประเทศที่เชื่อมโยงทางบก

    รถไฟลาว-เวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ของลาว ซึ่งรวมถึงโครงการย่อยหลายโครงการ เช่น ท่าเรือบกท่านาแล้งและเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค รถไฟลาว-เวียดนาม ท่าเรือหวุงอ่าง และโรงไฟฟ้าถ่านหินบัวละพา

    ลาวเปิดตัวบริษัทบริหารสินทรัพย์

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2023/09/04/lao-govt-launches-state-owned-company-to-boost-liquidity-of-financial-institutions/
    รัฐบาลลาวสนับสนุนเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน โดยการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ คือ บริษัทบริหารหนี้และสินทรัพย์ จำกัด(Debt and Asset Administration Company Limited) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อรับซื้อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสินทรัพย์รอการขายจากองค์กรเหล่านี้

    ในสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารแห่ง สปป. ลาว (BOL) ได้จัดพิธีเปิดตัวบริษัทบริหารหนี้และสินทรัพย์ของรัฐ จำกัด อย่างเป็นทางการ โดยมีนายบุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารและรองผู้ว่าการท่านนางนางวัฒนา ดาลลอย และท่านนางขันแก้ว ลามะนีเงา เข้าร่วม

    ท่านนางคำลา เฮือนมะนีวง ผู้อำนวยการฝ่ายสถาบันการเงิน เน้นย้ำว่า บริษัทของรัฐแห่งใหม่แห่งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าในการบริหารจัดการ การซื้อหนี้ โดยชี้ว่าบริษัทได้รับข้อมูลเชิงลึกจากการศึกษาความเป็นไปได้และบทเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย และเวียดนาม วัตถุประสงค์หลักของบริษัทคือการจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพและสินทรัพย์รอการขายจากสถาบันการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

    การจัดตั้งบริษัทนี้จะให้การสนับสนุนที่สำคัญแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในการจัดการกับสินเชื่อและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยการโอนกรรมสิทธิ์ในหนี้ให้กับบริษัทผ่านการขายสินทรัพย์และสินเชื่อด้อยคุณภาพ สถาบันเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ลูกหนี้จะสามารถเข้าถึงแผนต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงิน

    แผนชำระหนี้เหล่านี้ครอบคลุมถึงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ และการลดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ และแม้แต่จำนวนหนี้โดยรวม มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับลูกหนี้ ช่วยให้สามารถฟื้นฟูธุรกิจ ส่งเสริมการสร้างงาน และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    การจัดตั้งบริษัทบริหารหนี้และสินทรัพย์ของรัฐ จำกัด ถือเป็นการดำเนินการสำคัญของรัฐบาลลาวในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน และลูกหนี้

    โครงการริเริ่มนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภูมิทัศน์ทางการเงิน โดยให้ทางเลือกแก่ผู้ที่เป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคการเงินของประเทศ

    เวียดนามเตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจหนุนอุตสาหกรรมไฮเทค

    ที่มาภาพ: https://baodanang.vn/english/business/202108/da-nang-hi-tech-parks-total-area-proposed-to-be-increased-to-1844ha-3888632/
    กระทรวงการวางแผนและการลงทุนในเวียดนาม เตรียมที่จะมอบสิทธิประโยชน์จูงใจในการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคเทคโนโลยีขั้นสูงโดยขณะนี้กระทรวงฯกำลังรอความคิดเห็นจากกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับร่างกฎหมายเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนสำหรับภาคเทคโนโลยีขั้นสูง

    การดำเนินการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความน่าสนใจของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในเวียดนาม ในขณะที่ข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำของโลก(Global Minimum Tax)ในอัตรา 15% สำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ จะมีผลในปีหน้า

    กระทรวงการวางแผนและการลงทุนได้เสนอนโยบายสนับสนุนการลงทุนนำร่องสำหรับธุรกิจไฮเทค 4 ประเภท ประกอบด้วย

    บริษัทที่มีเงินลงทุนเกิน 12,000 พันล้านด่องม หรือมีรายได้ต่อปีมากกว่า 20,000 พันล้านด่องจากการผลิตผลิตภัณฑ์ไฮเทค และธุรกิจไฮเทคที่ดำเนินโครงการมูลค่ากว่า 12,000 พันล้านด่อง หรือมีรายได้ต่อปีมากกว่า 20,000 พันล้านดอง

    รวมถึงธุรกิจที่มีโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งมีเงินทุนเกิน 12,000 พันล้านด่อง หรือมีรายได้ต่อปีมากกว่า 20,000 พันล้านด่อง และบริษัทที่ลงทุนในศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ด้วยเงินทุนมากกว่า 30,000 พันล้านด่อง

    ร่างกฎหมายยังสนับสนุนการลงทุน 4 ประเภท ได้แก่ การสนับสนุนการฝึกอบรม การพัฒนาทรัพยากร ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และการสนับสนุนต้นทุนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ไฮเทคและกิจกรรมวิจัยและพัฒนา(R&D)

    ข้อเสนอเหล่านี้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในการกำหนดนโยบายสิ่งจูงใจในการลงทุน ท่ามกลางการบังคับใช้ภาษีขั้นต่ำทั่วโลก

    แม้ว่าหลายประเทศในภูมิภาคได้นำเสนอนโยบายสนับสนุนการลงทุนสำหรับธุรกิจแล้ว แต่นโยบายเหล่านี้ยังไม่มีรายละเอียดในเอกสารทางกฎหมายในเวียดนาม ตามการระบุของกระทรวง

    ร่างกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายสนับสนุนการลงทุนนำร่องสำหรับอุตสาหกรรมไฮเทคจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในเดือนหน้า

    อาเซียนยึดฉันทามติ 5 ข้อแก้วิกฤติในเมียนมาบายพาสเก้าอี้ประธานปี 2569 ให้ฟิลิปปินส์

    ที่มาภาพ: https://www.asean2023.id/en
    สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 43 หรือ 43rd ASEAN Summit ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงวันที่ 4 – 7 กันยายน 2566 และได้ออกแถลงการณ์เรื่องการทบทวนและการตัดสินใจของผู้นำอาเซียนว่าด้วยการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อASEAN LEADERS’ REVIEW AND DECISION
    ON THE IMPLEMENTATION OF THE FIVE-POINT CONSENSUS
    เมื่อวันที่ 5 กันยายน

    แถลงการณ์ระบุว่า ผู้นำได้ทบทวนการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ และรับทราบข้อเสนอแนะของการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council:ACC) ครั้งที่ 34 และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566

    แถลงการณ์ระบุว่า ขอประณามการกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและทนทุกข์ยาวนาน เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรม และการทำลายสถานที่สาธารณะ และส่งผลเสียต่อเสถียรภาพของภูมิภาค โดยเฉพาะตามแนวชายแดน

    “เรายืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนในการช่วยเหลือเมียนมาในการหาทางแก้ไขอย่างสันติและยั่งยืนต่อวิกฤติที่กำลังดำเนินอยู่ เนื่องจากเมียนมายังคงเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน”

    ผู้นำชื่นชมความพยายามของประธานอาเซียนในการดูแลให้มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว คือ การฟื้นฟูสันติภาพ เสถียรภาพ ประชาธิปไตย และมติทางการเมืองที่ครอบคลุมซึ่งเมียนมาเป็นเจ้าของและเป็นผู้นำ

    รวมทั้งขอชมเชยการทำงานของประธานอาเซียน ผ่านทางสำนักงานผู้แทนพิเศษ ในการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเมียนมา เพื่อสร้างการเจรจาที่ครอบคลุมระดับชาติ

    นอกจากนี้ยังตระหนักอีกว่าแนวทางของอาเซียนที่ยั่งยืนเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความไว้วางใจและเชื่อมความแตกต่างระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ อำนวยความสะดวกในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างปลอดภัยแก่ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือในเมียนมา และส่งเสริมการยุติความรุนแรงและสร้างการเจรจาระดับชาติที่ครอบคลุม

    แถลงการณ์ ได้ขอบคุณการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในเมียนมาที่ได้เปิดศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) เพื่อดำเนินการประเมินความต้องการร่วม (JNA) ให้เสร็จสิ้นในลักษณะที่ครอบคลุม และดำเนินการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างปลอดภัยแก่ผู้พลัดถิ่นในประเทศในหลายๆพื้นที่ในประเทศเมียนมา

    ผู้นำรับทราบถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากประชาคมระหว่างประเทศ สหประชาชาติ รวมไปถึงอาเซียนสำหรับการดำเนินการตามฉันทามตื 5 ข้อ เพราะยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือประชาชนเมียนมาให้บรรลุวิธีแก้ปัญหาอย่างสันติและยั่งยืนที่เมียนมาเป็นเจ้าของและเป็นผู้นำผ่านการเจรจาระดับชาติที่ครอบคลุม

    “รวมทั้งรับทราบรายงานที่ครอบคลุมของประธานเกี่ยวกับการดำเนินการฉันทามติ 5 ข้อ และสอดคล้องกับการประเมินรายงาน ผู้นำมีความกังวลอย่างมากกับการที่หน่วยงานในเมียนมาขาดความคืบหน้าอย่างมาก แม้ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อฉันทามติ 5 ข้อ ในเดือนเมษายน 2564ก็ตาม ดังนั้นเราจึงตกลงกันดังต่อไปนี้”

  • คงไว้ซึ่งฉันทามติ 5 ข้อ เป็นหลักอ้างอิงเพื่อแก้ไขวิกฤติการเมืองในเมียนมาที่ควรดำเนินการอย่างครบถ้วน
  • กระตุ้นให้กองทัพเมียนมาโดยเฉพาะ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา ลดความรุนแรง และหยุดการโจมตีที่มีเป้าหมายต่อพลเรือน บ้าน และสถานที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด โบสถ์ และอาราม
  • สานต่อการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเมียนมาโดยสำนักงานผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียน/ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียน เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อการประชุมการแก้ปัญหาอย่างสันติที่ครอบคลุมและยั่งยืนต่อวิกฤตการณ์ที่เมียนมาเป็นเจ้าของและเป็นผู้นำ
  • ดูแลให้มีการดำเนินการของอาเซียนและแนวทางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งนำโดยประธานอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกการปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการซึ่งอาจประกอบด้วยประธานอาเซียนในปัจจุบัน อดีต และที่กำลังจะรับหน้าที่ และการดำเนินการใด ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียนในการประสานงานกับ ประธานอาเซียนเพื่อแก้ไขวิกฤติในเมียนมาตามฉันทามติ 5 ข้อ
  • ยังคงยึดมั่นการตัดสินใจของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40 และ 41 ต่อการเป็นตัวแทนที่ไม่ใช่ทางการเมืองของเมียนมาในการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน โดยมอบหมายให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนทบทวนการตัดสินใจนี้เมื่อมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ
  • ตัดสินใจให้ฟิลิปปินส์เข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2569 และจากนั้นการหมุนเวียนตำแหน่งประธานอาเซียนจะดำเนินต่อไปตามลำดับตัวอักษร จนกว่าจะมีการตัดสินใจที่แตกต่างออกไป
  • ดำเนินการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตาม JNA โดยศูนย์ AHA ด้วยการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในเมียนมา เพื่อให้มั่นใจว่าจะไปถึงผู้พลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในเมียนมาโดยตรง
  • ระดมการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาคีภายนอกและประชาคมระหว่างประเทศ ไปสู่ความพยายามของอาเซียนในด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตาม ฉันทามติ 5 ข้อ
  • เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา เพื่อแก้ไขวิกฤติในเมียนมาและผลกระทบ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ยาเสพติดและการค้ามนุษย์
  • จะมีการทบทวนการตัดสินใจข้างต้นในการประชุมครั้งต่อๆ ไป และมอบหมายให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนติดตามความคืบหน้าและรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน