ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (22) : moblie ของ Calder

เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (22) : moblie ของ Calder

30 พฤศจิกายน 2023


ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

ลุงหมีขอแนะนำศิลปินด้านทัศนศิลป์ (visual art) ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของอเมริกาในศตวรรษที่20 คือ Alexander Calder (1889-1976) ผลงานสำคัญของเขาคือการบุกเบิกสร้างงานศิลปะแนวประติมากรรมที่เคลื่อนไหวได้ หรือ kinetic art

Calder มีพื้นฐานเป็นวิศวกรแต่หลงใหลในความงดงามของศิลปะ จึงได้เริ่มสร้างงานศิลปะแนว abstract จากเส้นลวดและแผ่นโลหะ ต่อมาเดินทางไปศึกษาผลงานรูปวาดยุคใหม่ของศิลปินมีชื่อในยุโรป จนในปี 1932 ได้เปิดตัวงานศิลปะแบบใหม่ของเขาซึ่งเพื่อนศิลปิน Dechamps ตั้งชื่อให้ว่าเป็น mobile

หลักการของ mobile คือชิ้นงานแขวนบนอากาศ ใช้เส้นลวดต่อร้อยเป็นชั้นๆ แล้วถ่วงน้ำหนักด้วยแผ่นโลหะเล็กๆ รูปทรงและสีสันต่างๆ mobile นี้ต้องออกแบบให้มีการถ่วงนำหนักอย่างสมดุล และเส้นลวดทุกเส้นหมุนรอบตัวได้อย่างอิสระ เมื่อถูกลมพัดหรือผลักด้วยมือ (หรือใช้เครื่องกลหมุน) การเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนต่างๆ จะแผ่ออกไปทุกทิศทาง ก่อให้เกิดรูปทรงแปลกใหม่แก่ผู้ชมตลอดเวลา กลายเป็นงานศิลปะ 4 มิติ ได้แก่ กว้าง ยาว ลึก และเวลา คือ ผู้ชมใช้เวลาดูการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างอารมณ์ตอบสนองต่างๆ

ชิ้น mobile ของ Calder สร้างไว้ทั้งขนาดเล็กติดตั้งได้ในบริเวณเล็ก หรือขนาดยักษ์ติดตั้งเต็มห้องแสดง ในงานซึ่งซับซ้อนและใหญ่มาก Calder ต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิศวกรรมโครงสร้าง มาคำนวณให้ชิ้นงานมีความสมดุลและรองรับน้ำหนักได้

ลุงหมีขอนำเสนอตัวอย่าง mobile มีชื่อของ Calder 2 ชิ้น คือ ผลงานคลาสสิกเมื่อปี 1961 ชื่อ Black Eye กับ งานขนาดใหญ่ตั้งแขวนที่ Kennedy Center กรุงวอชิงตัน

ชิ้นงานแนวที่สองเป็นงานตรงกันข้ามกับงาน mobile คือ เน้นน้ำหนักและความนิ่ง (immobility) โดยใช้โครงสร้างแผ่นเหล็กออกแบบรูปทรงแนว abstract ซึ่งตั้งวางบนพื้น เพื่อนศิลปิน Jean Arp ตั้งชื่อผลงานแนวนี้ว่า stabile

งานแนวนี้ Calder ได้ออกแบบชิ้นงานขนาดยักษ์ตั้งแสดงในที่สาธารณะให้ผู้คนชมดูได้สะดวกโดยไม่ต้องไปดูในพิพิธภัณฑ์ ทำให้ผลงานของเขามีตั้งแสดงในหลายประเทศ ตัวอย่างผลงานในรูปชื่อ Flamingo สร้างเมื่อปี 1973 สูง 16 เมตร ตั้งแสดงบนลานหน้าตึกใหญ่ของเมืองชิคาโก

รูปนี้แสดงผลงาน mobile กับ stabile ของ Calder อยู่คู่กันในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งต้องสร้างห้องพิเศษเพดานสูงมากเพื่อรองรับงานชิ้นใหญ่สองชิ้น (เทียบดูกับขนาดของคนดูที่มุมล่างขวาของรูปได้)

Calder ได้สร้างผลงานยุคที่สามขึ้นมา คือ ผสมผสานงาน mobile กับ stabile เข้าด้วยกัน โดยสร้าง stabile เป็นฐานให้ mobile หมุนอยู่บนยอด ในการนำหลักการความนิ่งกับการเคลื่อนไหวซึ่งตรงกันข้ามกันมาอยู่ด้วยกัน Calder ต้องสร้างความสมดุลและความลงตัวให้ได้ (equilibrium and harmony)

รูปตัวอย่างข้างล่าง เป็นรูป stabile-mobile ขนาดเล็กตั้งชื่อว่า Two Moons กับผลงานขนาดยักษ์ตั้งแสดงกลางแจ้ง ทั้งสองผลงานสร้างเมื่อปี 1969

รูปสุดท้ายแสดงภาพ Calder ทำงานอยู่ในสตูดิโอของเขาเมื่อปี 1967 มีผลงาน stabile ใหญ่ และผลงานลูกผสม stabile-mobile วางอยู่เต็มห้อง

ลุงหมีขอนำเสนอบทความนี้ในลักษณะ multi- media เพื่อให้ผู้อ่านได้ชมการเคลื่อนไหวของ mobile โดย Calder

คลิปแรกเป็นการแนะนำหลักการและคุณค่าของผลงานให้เห็น

คลิปที่สองนำเสนอผลงานชื่อ Hypermobility Exhibition จัดแสดงที่ Whitney Museum เมื่อปี 2017 เป็นคลิปที่มีเพลงชื่อ Turn, Turn, Turn ประกอบเข้ากับการหมุนเคลื่อนไหวของ mobile (เพลงนี้ติดชาร์ตอันดับหนึ่งของ Billboard เมื่อปี 1965 จากการแสดงของวง folk rock ชื่อ tHe Byrds)

ลุงหมีขอปิดท้ายบทความด้วยประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้วตอนที่ลุงหมีมีลูกคนแรก ด้วยอยากให้ลูกเล็กที่นอนในเปลมีสิ่งของให้มองเห็นได้เพลินๆ จึงจัดทำ mobile ในสไตล์ Calder ด้วยตัวเอง โดยถ่วงน้ำหนักคานลวดด้วยนกกะเรียนทำด้วยกระดาษพับสไตล์ญี่ปุ่น (origami) มีสีสันตัวนกแตกต่างกันไป ถือว่าเป็นของเล่นเด็กที่ทันสมัยกว่าตอนลุงหมีเป็นเด็กเล็กแยะเลย ตอนโน้นคุณแม่แขวนฝูงปลาตะเพียนถักทอจากใบลานตามภูมิปัญญาไทยให้ดู (ใครเกิดทันบ้างไหมเอ่ย)

เอกสารอ้างอิง
1. Calder (Great Modern Masters) โดย Cameo/Abrams 1997
2. The A-Z of Art
3. คลิปจาก YouTube