ThaiPublica > คอลัมน์ > ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยกับความเสี่ยงจากภาวะ stagflation

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยกับความเสี่ยงจากภาวะ stagflation

15 พฤษภาคม 2021


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเจอความท้าทายในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองไปข้างหน้า มีปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนเต็มไปหมด จนน่าคิดว่าการวางแผนธุรกิจและชีวิต อาจจะเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

แต่พอมองออกไปนอกประเทศ ดูเหมือนว่าเรากำลังดูหนังคนละม้วน เศรษฐกิจหลายที่กำลังกลับไปขาขึ้น เศรษฐกิจบางแห่งเริ่มฟื้นตัวเร็ว จนเริ่มมีสัญญาณเงินเฟ้ออย่างน่ากังวล

เศรษฐกิจที่อยู่กันคนละวงจรแบบนี้จะมีผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจไทย? เรากำลังเจอความเสี่ยงที่จะเกิด stagflation หรือไม่

ลองมาไล่กันดูครับว่าเกิดอะไรกันขึ้น

มองภาพบ้านเรา

เศรษฐกิจไทยปีที่แล้วหดตัวไป 6% จากเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ปีนี้กำลังคาดการณ์กันว่าจะฟื้นตัวได้ประมาณสัก 2% (และอาจจะน้อยกว่านี้ถ้าเราคุมการระบาดและไม่สามารถเปิดเมืองกลับมาได้ หรือมีการแพร่ระบาดรอบใหม่) และมีความท้าทายอยู่อย่างน้อยสามประเด็น จนมีคำถามว่าเราจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่

หนึ่ง การระบาดภายในประเทศยังไม่สามารถควบคุมได้และกำลังทดสอบขีดจำกัดของระบบสาธารณสุข จนเศรษฐกิจต้องล็อกดาวน์ตัวเอง อุปสงค์ภายในประเทศหดหาย และธุรกิจและการจ้างงานกำลังถูกกดดันจากกระแสเงินสดที่แห้งหายไป และสร้างภาวะให้กับธุรกิจที่ถูกบังคับให้เปิดๆ ปิดๆ โดยไม่รู้ว่าจะกลับมาเปิดได้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อไร

สอง การจัดหาและกระจายวัคซีนเป็นไปด้วยความล่าช้า จนมีความเสี่ยงว่าภาวะความไม่แน่นอนจากการระบาดอาจจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะจนกว่าเราจะสามารถฉีดวัคซีนจนคนส่วนใหญ่เริ่มมีภูมิคุ้มกัน และลดความกังวลจากการแพร่ระบาดไปได้ (ไม่นับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการพึ่งพาวัคซีนยี่ห้อเดียวและแหล่งผลิตเดียวเป็นสำคัญ ที่อาจสร้างความเสี่ยงจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ และความไม่แน่นอนที่เกิดจากการผลิตได้) และเราทราบว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เราใช้กันเป็นส่วนใหญ่ ยังมีประสิทธิผลที่ค่อนข้างต่ำกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ถ้าสายพันธุ์นี้เข้ามาระบาดในประเทศไทย

สาม การเปิดประเทศเพื่อรับรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งจากปัญหาภายใน (การระบาดที่ยังมีอยู่และการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า จนคนที่เดินทางได้อาจจะเลือกเดินทางไปประเทศอื่นๆ ก่อน) และปัญหาภายนอก (ความไม่แน่นอนจากประสิทธิผลของวัคซีนชนิดต่างๆ ต่อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ อาจจะทำให้การเดินทางระหว่างประเทศไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ในระยะเวลาอันสั้น หลายประเทศมีข้อจำกัดในการเดินทางจากคนที่มาจากบางประเทศ และอาจจะหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในบางพื้นที่)

ยิ่งตอนนี้หลายประเทศเริ่มกลัวเชื้อสายพันธุ์อินเดียเวอร์ชันสอง (B.1.617.2) ที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าเป็นความเสี่ยงระดับโลก และเรายังไม่รู้มากพอว่าวัคซีนที่ฉีดๆ กันไป มีผลป้องกันเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายและกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลาได้หรือไม่

ถ้ายังมีความไม่รู้ในเรื่องเหล่านี้เพียงพอ การเดินทางระหว่างประเทศคงไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมในเร็ววันแน่

แม้เราจะฉีดวัคซีนกันเสร็จแล้ว เราอาจจะไม่กล้าเปิดประเทศแบบเต็มที่ เพราะกลัวว่าสายพันธุ์ใหม่ๆ อาจจะมาระบาดอีก และแม้ว่าเราจะกล้าเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวก็อาจจะไม่กล้ากลับมาเหมือนเดิมในระยะเวลาอันใกล้ ยิ่งจะทำให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสัดส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยโดยรวมถูกทำให้ล่าช้าออกไปอีก

ระหว่างนี้เราก็ยังไม่มีเครื่องจักรเครื่องอื่นมาทดแทนเครื่องจักรเครื่องเดิมที่ดับไปทีละเครื่องได้ การส่งออกอาจจะพอได้ประโยชน์จากเศรษฐกินที่ค่อยๆฟื้น แต่ก็ไม่พอทำให้เศรษฐกิจกลับไประดับก่อนเกิดโควิดได้ในเวลาอันใกล้ และตอนนี้มีความไม่แน่นอนอีกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง (GDP หดตัวสองไตรมาสติด) ได้เพราะเรายังไม่สามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศ

ท่ามกลางความไม่แน่นอนเช่นนี้ ทุกคนคงต้องวางแผนบริหารความเสี่ยงกันดีๆ มีฉากทัศน์ที่สมเหตุสมผล และเตรียมความพร้อมในการรับมือทั้งกรณีที่ดีที่สุด (เช่น เราเปิดเมืองได้จริงๆ) หรือกรณีที่เลวร้ายที่สุด

มองออกไปข้างนอก

แต่พอเรามองออกไปข้างนอก เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ชัดขึ้น (แต่ไม่ใช่ปลายอุโมงค์ที่เราติดอยู่) แม้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่เราก็เห็นว่าวัคซีนเป็นทางออกที่สำคัญ และหลายประเทศประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ประเทศอย่างอังกฤษ อิสราเอล น่าจะเข้าสู่ภูมิคุ้มกันหมู่และเริ่มถอดหน้ากากและเปิดเมืองกันอย่างเต็มที่ สหรัฐอเมริกาแม้จะยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ก็กำลังเริ่มเปิดเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ จนเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเดินได้

และสิ่งที่เราเห็นคือ ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ตัวเลขในตลาดแรงงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น และด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหาศาลคาดกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้จะโตถึง 6.5-7% จากที่ปีที่แล้วหดตัวไปประมาณ 3.5% (แปลว่าเขาจะโตเกินที่หดตัวไปปีที่แล้วกว่าสองเท่า) ในขณะที่ปีปกติโตได้สัก 2% ก็ดีแล้ว และเศรษฐกิจจีนน่าจะโตเกิน 8% และเศรษฐกิจโลกน่าจะโตได้เกินกว่าที่หดตัวไปปีที่แล้วถึงสองเท่าเช่นกัน

และที่สำคัญคือเริ่มมีสัญญาณว่าเงินเฟ้อกำลังจะกลับมา ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อสูงเกิน 4% แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากฐานที่ต่ำจากปีก่อนและน่าจะเริ่มลดลง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด บางส่วนมาจากต้นทุนที่สูงขึ้นจากการผลิตที่โตกลับมาไม่ทันอุปสงค์ที่เด้งกลับมา เช่น เราเห็นตลาดแรงงานที่ตึงตัว สินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่เริ่มเห็นการขาดแคลนและราคาปรับตัวสูงขึ้น การขาดแคลนชิปที่กระทบการผลิตสินค้าหลายชนิด และราคาค่าขนส่งที่แพงขึ้นจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

ยังมีการถกเถียงกันว่าเงินเฟ้อที่เราเริ่มเห็นกันนี้เป็นปัจจัย “ชั่วคราว” หรือกำลังจะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องในอนาคต ถ้าเราไปดูการคาดการณ์เงินเฟ้อจากตลาดพันธบัตร พบว่า “breakeven inflation” หรือระดับเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ตลาดคาดในอีกห้าปีข้างหน้าสูงขึ้น 2.7% ไปแล้ว และ 2.5% ในอีกสิบปีข้างหน้า (เทียบกับเป้าเงินเฟ้อที่ 2%)

และกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่เมื่อธนาคารกลางทั่วโลกยังทำการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการพิมพ์เงิน จนมีคนถามว่าถ้าเงินเฟ้อจะมาแบบนี้ ธนาคารกลางจะยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องแบบนี้ได้หรือ และดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นหรือไม่

ความเสี่ยง Stagflation?

ย้อนกลับมาที่เมืองไทย สังเกตว่าเศรษฐกิจไทยอยู่คนละวงจรเศรษฐกิจโลกเลย ในขณะที่เขากำลังเป็นขาขึ้น เรากลับกำลังดิ่งลง โดยที่ยังไม่รู้ว่าก้นเหวอยู่ตรงไหน แล้วยังกำลังจะเจอต้นทุนสินค้าและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นอีก

ในอดีตเราจะสังเกตว่าระดับเงินเฟ้อเมืองไทย แม้จะมีบางช่วงที่สูงหรือต่ำกว่าเงินเฟ้อโลกบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็มักจะขยับไปพร้อมๆ กับระดับเงินเฟ้อของโลก เพราะเราเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและเปิด ระดับราคาของสินค้าในตลาดโลก มีผลต่อราคาสินค้าในประเทศเราค่อนข้างเยอะ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ถ้าเศรษฐกิจของโลกกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ส่งผลให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาสินค้าภายในประเทศ

แม้เศรษฐกิจเรากำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่ แต่เราอาจจะกำลังจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่แพงขึ้นจากราคาสินค้าในตลาดโลก และสภาพคล่องที่อาจจะกำลังตึงตัว

สภาพแบบนี้อาจจะเรียกได้ว่า เรากำลังเผชิญความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะ stagflation (stagnation + inflation) (แม้เชื่อว่าเงินเฟ้อโลกอาจจะไม่ได้สูงมากนัก) บวกกับต้นทุนทางการเงินที่อาจจะกำลังปรับสูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อาจจะพอรับภาระจากต้นทุนที่สูงขึ้นจากระดับรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้น แต่เรากำลังเจอทั้งเศรษฐกิจแย่ บวกเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นภาระต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ผู้บริโภคอาจจะต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่รายได้ยังไม่กลับไปที่เดิม ผู้ผลิตก็อาจจะเจอต้นทุนที่แพงขึ้น แต่ส่งผ่านไปหาผู้บริโภคไม่ได้หมด เพราะผู้บริโภคจ่ายไม่ไหว

ภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องท้าทายต่อผู้กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะภาวะที่เศรษฐกิจเราย่ำแย่ เพราะการควบคุมการระบาดที่ยังทำได้ไม่เต็มที่ และการจัดหาและกระจายวัคซีนที่ทำได้อย่างล่าช้า และการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็นแต่อาจจะไม่เพียงพอ

ก็คงต้องช่วยกันคิดนะครับ ว่าเราจะช่วยกันเร่งควบคุมการแพร่ระบาด เร่งการจัดหาวัคซีน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กระตุ้นเศรษฐกิจ และวางแผนนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังภาวะโควิดอย่างไร

เพื่อให้เราออกจากวิกฤตินี้เข้มแข็งขึ้น มีการวางแผนความเสี่ยง และเรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงนี้ เหมือนที่หลายคนบอกว่า Never waste a good crisis