ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. เคาะ 35 คกก.แก้รัฐธรรมนูญ ประชุมนัดแรก 10 ต.ค.นี้

ครม. เคาะ 35 คกก.แก้รัฐธรรมนูญ ประชุมนัดแรก 10 ต.ค.นี้

3 ตุลาคม 2023


คณะรัฐมนตรีเคาะ 35 รายชื่อ คณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญประชุดนัดแรก 10 ต.ค.นี้ “ภูมิธรรม” ยอมรับ 35 รายชื่อยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด  ส่วน “ไอลอว์” ปฏิเสธเข้าร่วมขออยู่วงนอก เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลยืนยันจุดยืน สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
www.thaigov.go.th

หลังประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 13 ก.ย. 2566 ได้ลงนามจัดตั้ง คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ แก้ไขปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นการสรรหาที่ได้คุยกันในหลักการก่อน โดยจะร่าง รธน. ผ่านการทำประชามติก่อน หลักการคือไม่แตะต้องหมวด 1-2 และไม่แตะต้องพระราชอำนาจ แต่มีกระบวนการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องเสร็จสิ้นภายใน 4 ปี ของการทำงานรัฐบาล โดยเสร็จสิ้นถึงกฎหมายลูกด้วย

วิธีการในการทำประชามติ 1. ประชาชน 50,000 คนเข้าชื่อ ซึ่งวิธีนี้ต้องใช้เวลาตรวจสอบตัวตนค่อนข้างมาก 2. ยื่นเสนอผ่านรัฐสภาใช้เวลามากเช่นกันและอาจตกได้ 3. ให้คณะรัฐมนตรีมีมติทำประชามติ ครม. ซึ่งถือเป็นการลัดขั้นตอน จึงตั้ง คกก. เพื่อจัดทำ โดยมีหลักการเดียวกัน แต่อาจแตกต่างในรายละเอียด

ทั้งนี้ คณะกรรมการทั้งสิ้น 35 คน ประกอบด้วย กลุ่มวิชาชีพต่างๆ เช่น สภานักศึกษา กลุ่มนักธุรกิจ สมาคมต่างๆ สมาคมธนาคาร ประมง นักท่องเที่ยว กลุ่มเกษตรกร นายกสมาคมนักข่าว เพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน  โดยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 256/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นแตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ทั้งนี้ได้นัดประชุมคณะกรรมการนัดแรกในวันที่ 10 ต.ค. เวลา 15.00 น. เพื่อวางกรอบทำงาน และพบพูดคุยกับทุกภาคส่วน และภายใน 3-4 เดือน น่าจะได้ข้อสรุปกระบวนการทำงาน ทั้งวิธีการ และแนวทางทำประชามติต่อไป คาดว่าจะเริ่มทำประชามติได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567

นายภูมิธรรม ยังกล่าวด้วยว่ารายชื่อ 35 คน ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่หลังจากนี้จะมอบคณะกรรมการแต่ละคน ไปประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากที่สุด โดยจะเชิญตัวแทนองค์การมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มเกษตรกร สมาคมวิชาชีพสื่อและจะเชิญตัวแทนพรรคขนาดเล็ก มาพูดคุยภายหลัง

อย่างไรก็ตามยืนยันว่า เปิดรับฟังทุกอย่าง ยกเว้นแก้ไขหมวด 1-2 และอยากให้แต่ละฝ่ายเสนอความเห็นมากที่สุด ต้องทำให้เสร็จภายใน 3-4 ปี จะทำให้เสร็จเร็วที่สุด โดยการทำประชามติจะยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญต้องผ่านความเห็นชอบด้วย

เมื่อถามว่ามีตัวแทนพรรคก้าวไกล มาร่วมหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราได้เชิญแล้ว และจะมีเวทีไปรับฟังความเห็นใน 3 ประเด็นคำถาม คือ 1.กระบวนการแก้ไขและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรทำแบบใด เช่น ตั้งส.ส.ร.หรือไม่

2.จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง เพื่อลดงบประมาณดำเนินการ ยกตัวอย่าง ถ้าดูเร็วๆอาจทำ 4-5 ครั้ง แต่หากปรับให้เหลือทำ 2 ครั้ง จะใช้งบ 5,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งลดค่าใช้จ่ายดำเนินการ และ 3.คำถามในการทำประชามติครั้งแรก ควรเป็นอย่างไร จะให้ครอบคลุมแค่ไหน

เมื่อถามว่าการทำประชามติครั้งแรก จะได้ข้อสรุปเมื่อใด นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องดูที่สถานการณ์ ขณะที่เราพยายามสลายความขัดแย้ง ให้สังคมยอมรับไม่เกิดความขัดแย้งใหม่

ส่วนการการศึกษาของไอลอว์ ที่เคยยื่นกับพรรคเพื่อไทย จะนำมาปรับใช้ด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราตั้งใจเชิญไอลอว์ เข้าร่วม แต่เมื่อเขาไม่อยากมาเป็นตัวแทนรับรองให้ โดยจะขอดูอยู่ภายนอก เราก็ยอมรับ และไม่ขัดข้อง ส่วนเอกสารที่ยื่นมานั้นจะนำไปพิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่าจะเขียนป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับที่จะแก้ไขถูกฉีกได้อย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับพยายามป้องกันไม่ให้ถูกฉีก แต่การถูกฉีกหรือไม่นั้น เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ให้ประชาชนตื่นตัวรับรู้ เพราะการเกิดรัฐประหาร คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเห็น ซึ่งรัฐประหารครั้งล่าสุดนำประเทศไปสู่ความล้มเหลว จึงต้องสร้างระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีสำนึกมากขึ้น เพราะจะทำให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก

สำหรับ 35 รายชื่อคณะกรรมการ ศึกษาแนวทางการทำประชามติประกอบด้วย

  • นายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ
  • นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง
  • นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง
  • นายนิกร จำนง เป็นกรรมการและโฆษกคณะ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  • นายพิชิต ชื่นบาน เป็นตัวแทนที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
  • พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษม
  • พล.ต.อ. สุเทพ เดชรักษา
  • พล.ต.อ.วินัย ทองสอง
  • นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์
  • นายศุภชัย ใจสมุทร
  • นายวิรัตน์ วรศสิริน
  • นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท
  • นายวิเชียร ชุบไธสง
  • นายวัฒนา เตียงกูล
  • นายยุทธพร อิสรชัย
  • นายไพบูลย์ นิติตะวัน
  • นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
  • นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา
  • นายประวิช รัตนเพียร
  • นายนพดล ปัทมะ
  • นายธนกร วังบุญคงชนะ
  • นายธงชัย ไวยบุญญา
  • นายเทวัญ ลิปตพัลลภ
  • นายเดชอิศม์ ขาวทอง
  • นายฐากร ตัณฑสิทธิ์
  • นายชาติพงษ์ จีระพันธุ
  • นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์
  • นางสิริพรรณ นกสวนสวัสดี
  • น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์
  • นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ
  • ผู้แทนพรรคก้าวไกล
  • ปลัดสำนักนายกฯ เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ
  • นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการกฤษฎีกา
  • นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  • ก้าวไกลยังไม่ร่วมนั่ง กก.ศึกษาประชามติ

    ขณะที่มติที่ประชุม สส. พรรคก้าวไกล มีมติไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการในคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลว่า ดังต่อไปนี้

    1. พรรคก้าวไกลมีจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอด ในการสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ เพื่อให้ประเทศมีกติกาสูงสุดของประเทศที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
    2. พรรคก้าวไกลเสนอว่ากระบวนการดังกล่าวควรเริ่มต้นจากการจัดประชามติ เพื่อสอบถามประชาชนด้วยคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่ รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ”
    3. พรรคก้าวไกลขอบคุณทางรัฐบาลที่ให้เกียรติตัวแทนพรรคไปร่วมเป็นกรรมการ ทางพรรคพร้อมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลที่สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าวโดยพรรคยินดีให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอของพรรรค ต่อคณะกรรมการหากคณะกรรมการมีความประสงค์ แต่ ณ เวลานี้ พรรคก้าวไกลขอสงวนสิทธิในการไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการ
    4. เหตุผลที่พรรคมีมติดังกล่าว เพราะพรรคยังไม่ได้รับความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับเป้าหมายหรือกรอบในภาพใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการชุดนี้จะยึดถือ โดยเฉพาะจุดยืนในการสนับสนุน:การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ การจัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด
    5. สองจุดยืนดังกล่าวเป็นหลักการพื้นฐานที่พรรคก้าวไกลมองว่ามีความสำคัญต่อการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้งที่มา-กระบวนการ-เนื้อหา เป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกฝ่าย และสะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคมที่โอบรับทุกความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
    6. หากในอนาคต ทางรัฐบาลยืนยัน หรือทางคณะกรรมการศึกษาฯ ได้ข้อสรุปร่วมกัน ว่าจะเดินหน้าภายใต้ 2 จุดยืนดังกล่าว พรรคก้าวไกลจะยินดีให้ตัวแทนพรรคเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการ เพื่อทำงานร่วมกันในการหาข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องแนวทางการทำประชามติ (เช่น จำนวนครั้ง กรอบเวลา คำถาม) และแนวทางด้านอื่นๆ (เช่น จำนวน สสร. กรอบเวลาทำงานของ สสร.)
    7. พรรคก้าวไกลยืนยันว่าเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่เพียงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยพรรคก้าวไกลหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่ารัฐบาลและคณะกรรมการจะได้ข้อสรุปโดยเร็วในการเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด