ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่”ไม่เห็นโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ ชี้ไร้สาระ – มติ ครม.ลดรายได้-เลื่อนนับอายุสัมปทานอู่ตะเภา-เมืองการบิน

“บิ๊กตู่”ไม่เห็นโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ ชี้ไร้สาระ – มติ ครม.ลดรายได้-เลื่อนนับอายุสัมปทานอู่ตะเภา-เมืองการบิน

6 มิถุนายน 2023


เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ครม. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • “บิ๊กตู่” ไม่เห็นโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ ชี้ไร้สาระ
  • ไม่ยุ่งปมเมียนมาขอไทยงดจ่ายไฟทุนจีน “บ้านส่วยโก๊กโก่”
  • ไม่ตอบ “ฮุนเซน” ติงนโยบายค่าแรง “ก้าวไกล”
  • มติ ครม.ไฟเขียว EEC ลดรายได้ – เลื่อนนับอายุสัมปทานอู่ตะเภา-เมืองการบิน
  • ผ่าน พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสภา ฯ หลัง กกต.รับรอง ส.ส.ครบ 475 คน
  • รับทราบปี’65 กสศ.ช่วยเด็กด้อยโอกาสเรียนต่อ 1.4 ล้านคน
  • ตั้ง “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เข้ารับราชการผู้ตรวจสำนักนายกฯ
  • เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    เน้นสร้างสมดุล – ไม่สร้างความขัดแย้ง

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุม ครม. ตามปกติ โดยมีวาระทั้งเพื่อทราบและพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาลรักษาการ

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศและภูมิภาคว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สถานะการเงินการคลังแข็งแกร่งหลายประเทศก็ให้ความสนใจในประเทศไทยเรื่องการลงทุนในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ส่วนเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ รัฐบาลก็เดินหน้านโยบายมาโดยตลอด โดยเน้นไปที่การสร้างความสมดุล ไม่ต้องการความขัดแย้ง สร้างการค้า – การลงทุนในเชิงสร้างสรรค์ และให้ได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมบนความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐบาลรักษามาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา

    ปลื้มคนแห่ขึ้นรถไฟฟ้าสีเหลืองหลายหมื่นคน/วัน

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองว่า หลังจากเปิดทดลองวิ่งแล้ว ตนได้ไปร่วมพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และเห็นคนขึ้นวันละหลายหมื่นคน นี่คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ทุกอย่างคืบหน้าทุกเรื่อง

    พา “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับบ้าน 1 ก.ค.นี้

    พลเอกประยุทธ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการนำช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยในศรีลังกา กลับมารักษาในประเทศไทยว่า ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ จะกลับมาถึงไทยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เอามารักษาตัว

    ไม่ยุ่งปมเมียนมาขอไทยงดจ่ายไฟทุนจีน “บ้านส่วยโก๊กโก่”

    พลเอกประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการยกเลิกส่งกระแสไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเมยไปยังพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่ของชาวจีน บ้านส่วยโก๊กโก่ เขตอิทธิพลทหารกะเหรี่ยงพิทักษ์ชายแดน (บีจีเอฟ) หลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลเมียนมาได้แจ้งไม่ต่อสัมปทานในพื้นที่ดังกล่าว และขอให้ทางการไทยงดจ่ายกระแสไฟฟ้าทันที ว่า เป็นเรื่องกิจการภายในของประเทศเมียนมา และสัมปทาน อย่าไปยุ่งอะไรกับเขาเลย เราก็ดูแลชายแดนเราให้ดีก็แล้วกัน

    ไม่ตอบ “ฮุนเซน” ติงนโยบายค่าแรง “ก้าวไกล”

    ถามต่อถึงกรณี สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา วิพากษ์วิจารณ์ถึงค่าแรงของพรรคก้าวไกล โดย พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “เป็นเรื่องของท่าน ท่านมีสิทธิพูดอะไรก็ได้ เพราะคนละประเทศกับเรา เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอะไรก็แล้วแต่ แต่วันนี้รัฐบาลเรายังดูแลเรื่องแรงงานต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายของเรา ไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างประเทศ ไม่อยากเรียกว่าต่างด้าว เรียกว่า แรงงานประเทศเพื่อนบ้านให้เกียรติเขาแล้วกันเพราะวันนี้โรงงานเราก็ใช้แรงงานจำนวนมากที่ไม่ต้องใช้ฝีมือมากนัก”

    “ส่วนของเราก็มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ก็พัฒนาไปจำนวนมากพอสมควร ก็จะส่งออกไปทำงานที่มีรายได้สูงขึ้นในต่างประเทศ และในประเทศ ก็มีการขึ้นค่าแรงตามฝีมือแรงงานมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    แจงปมหมอขาดแคลน – ไม่มีงบฯบรรจุ ขรก.

    ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาแพทย์ขาดแคลน พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า “เรื่องแพทย์ผมทราบแล้ว ผมก็ติดต่อสอบถามไปทางกระทรวงสาธรณสุข มันมีปัญหางบประมาณบรรจุข้าราชการ ซึ่งรัฐบาลนี้ให้งบประมาณบรรจุไปแล้วประมาณ 40,000 คนได้ ก็ยังไม่พอ มันเป็นข้าราชการหลายระดับ ไม่ใช่เฉพาะแพทย์ ก็ต้องติดตามดู วันนี้กระทรวงสาธารณสุขก็รับเรื่องไปแล้ว”

    โดนภาพตัดต่อในโซเชียล – เห็นแล้วทุเรศ

    เมื่อถามถึงกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เดินทางไปต่างประเทศ พบกับนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย โดย พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่มีอะไร ก็ไปดูฟุตบอลเฉยๆ เขา (นายอนุทิน) พอดีมีเวลาว่างจากการประชุม WHO มั้ง ไม่มีหรอก…มันจะไปมีดีลลับอะไร ถ้าคนในสนามฟุตบอลขนาดนั้นมันไม่ลับหรอก คนเป็นหมื่น มันจะไปดีลตรงไหนยังไง นั่งตรงไหนยังไม่รู้เลย”

    พลเอกประยุทธ์ ย้ำว่า “วันนี้ต้องระมัดระวังหน่อยนะ การตัดต่อภาพอะไรต่างๆ อย่าเอามาสร้างประเด็นขึ้นมา ของผมเองก็เอาไปดัดแปลงอะไรก็ไม่รู้ ดูแล้วมันทุเรศเกินไป วันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลมันมากมายเหลือเกิน ก็อย่าเชื่อทุกเรื่องก็แล้วกัน”

    ไม่ยุ่ง ดีลจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

    เมื่อถามตอนนี้มีการพูดถึงการดีลรัฐบาลข้ามขั้ว พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่ทราบ ผมไม่ทราบ ผมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ใครจะเป็นรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องของผม นั่นเป็นเรื่องของกลไกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐธรรมนูญตามกฎหมายที่มีอยู่ ผมไม่เกี่ยว ผมเป็นรัฐบาลรักษาการดูแลประชาชนและขับเคลื่อนแผนงานโครงการต่างๆ ที่ทำได้ เพราะประชาชนมีความเดือดร้อนหลายมิติ ดูแลประชาชนดีกว่า การตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องของกระบวนการ ก็ต้องตามกระบวนการ”

    ไม่เห็นโอกาสกลับมาเป็นนายกฯอีก ชี้ไร้สาระ

    เมื่อถามว่าในใจยังหวังจะกลับมาเป็นนายกฯอีกหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบทันทีว่า “ไม่มี ในใจ นอกใจ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ทำไมจะต้องหาคำตอบให้ได้เลยนะเธอ”

    ผู้สื่อข่าวพูดต่อว่า จะได้รู้ว่านายกฯ ตัดสินใจไปต่อหรือไม่ ทำให้พลเอกประยุทธ์ บอกว่า “แล้วผมไปได้หรือไม่ ไปได้ไหมเล่า ผมยังไม่เห็นโอกาสเลยท่านเห็นยังไงล่ะ จะไปได้ยังไง”

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามกระบวนการถ้าพรรคอันดับที่ 1 อันดับที่ 2 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคที่เหลืออยู่รวมกับพรรคเล็กๆก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ บอกว่า “ไร้สาระ”

    “ไม่ได้คิดไปถึงขนาดนั้นเลยนะ เธอคิดไปเธอมาเป็นรัฐบาล ก็แล้วกัน มาคิดแทนฉันหน่อย” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    มอบ ตปท.- พณ. – ท่องเที่ยว ตามโครงการลงทุนไทย-ซาอุฯ

    ด้านนายอนุชา รายงานว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯ พูดถึงแผนการขับเคลื่อนส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี ที่ได้เปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-ซาอุดิอาระเบีย โดยนายกฯ พูดถึงการติดตามความคืบหน้าหลังจากฟื้นฟูความสัมพันธ์ระยะหนึ่ง โดยมูลค่าหลังการฟื้นฟูมีมูลค่าการลงทุนระหว่างไทย-ซาอุฯ อยู่ที่ประมาณ 3.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.64 ด้านการท่องเที่ยวปี 2565 นักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย 96,389 คน สร้างรายได้กว่า 8,000 ล้านบาท และสิ้นปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คน สร้างรายได้กว่า 12,000 ล้านบาท เที่ยวบินเพิ่มขึ้นจาก 9 เที่ยวต่อสัปดาห์เป็น 42 เที่ยวต่อสัปดาห์

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ผลการลงทุนและการท่องเที่ยวเกิดจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบกรอบความร่วมมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการทูตและการต่างประเทศมีการจัดทำร่างแผนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี ด้านแรงงานมีการส่งเสริมการจัดการแรงงานไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างถูกกฎหมาย ด้านการค้าและการลงทุนมีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติการลงทุนโดยตรง ด้านพลังงานมีการสนับสนุนความร่วมมือด้านการใช้ปิโตรเลียมพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ด้านการท่องเที่ยวมีการสนับสนุนการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

    นายอนุชา รายงานว่า นายกฯ มีข้อสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์และทำให้การดำเนินงานคืบหน้าอย่างเหมาะสม

    สั่งคมนาคมศึกษา “Land Bridge” เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมและขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Land Bridge) เนื่องจากประเทศไทยตั้งในคาบสมุทรอินโดจีน ส่งผลให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมศึกษาความเหมาะสมความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งเป็นการพัฒนาด้านการคมนาคมและการขนส่งเชื่อมโยงการขนส่งของประเทศระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงช่วยลดระยะเวลาขนส่งเดิมที่อ้อมผ่านช่องแคบมะละกา โดยจะมีโครงสร้างพื้นฐานหลักคือท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง มีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือระยะทางประมมาณ 90 กิโลเมมตร เป็นทางหลวงพิเศษ 6 ช่องจราจร นอกจากนี้ยีงมีทางรถไฟขนาดมาตรฐานอีก 2 ทาง และจากการศึกษาความเป็นไปได้คาดว่าโครงการจะมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น

    “Land Bridge ไม่ใช่แค่การขนถ่ายสินค้าจากอ่าวไทยไปอันดามัน ไม่อย่างนั้นจะมีเรื่องการ double handling คือตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นที่ท่าเรือจังหวัดชุมพร และเป็นขนส่งทางรถหรือรางก็ดี เพื่อมาต่อจังหวัดระนองแล้วขนถ่ายออกไปก็คงไม่มีประสิทธิภาพ แต่ที่สำคัญคือการมีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ฝั่งอันดามันอาจน้ำมันดิบขึ้นมาที่จังหวัดระนอง และมีอุตสาหกรรมหลังท่า ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่น โรงปิโตรเคมี หรือวัตถุดิบ เราสามารถดำเนินการอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการผลิตวัตถุดิบ และส่งออกไปอีกฝั่งเป็นผลผลิตในรูปแบบที่พร้อมส่งมอบให้นำผลิตภัณฑ์ไปใช้” นายอนุชา กล่าว

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า “ถ้าดำเนินการได้จะทำให้ภาคใต้เป็นอีกหนึ่งระเบียงเศรษฐกิจคล้ายอีอีซี ที่ภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ให้ดีขึ้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดปัจจุบัน”

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ไฟเขียว EEC ลดรายได้ – เลื่อนนับอายุสัมปทานอู่ตะเภา-เมืองการบิน

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก (กพอ.) โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 30 ตุลาคม 2561 มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษภาคตะวันอก (สกพอ.) ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ในรูปแบบ PPP Net Cost และในช่วงปี 2564-2565 เอกชนคู่สัญญา ขอใช้สิทธิผ่อนผันตามข้อ 13 ของสัญญาร่วมลงทุน จากความผันผวนทางเศรษฐกิจ รวมถึงกรณีเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาเหตุผ่อนผันรวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาและสามารถหาข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

    1. การร่วมกันผลักดันการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City)

    เห็นควรผลักดันให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์โดดเด่น และมีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการเดินทางให้สูงขึ้นได้โดยเร็วและอย่างยั่งยืน โดยเห็นควรให้เอกชนเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) จากเดิมประมาณ 4,500 ล้านบาทเป็น ประมาณ 40,000 ล้านบาท และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ กรรมสิทธิ์ในงานพัฒนาเมืองการบินฯ ทั้งหมดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ

    ทั้งนี้ สกพอ. จัดให้มีมาตรการสนับสนุนทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ในการประกอบกิจการ การทำงาน และการอุปโภคบริโภค และในด้านการบินและโลจิสติกส์ ให้มีผลใช้บังคับและสามารถเริ่มใช้ประโยชน์ในมาตรการสนับสนุนทั้งหมดดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่เริ่มนับระยะเวลาโครงการฯ และจะมีการทบทวนพัฒนามาตรการ สนับสนุนดังกล่าวทุก ๆ 10 ปี

    2. สกพอ. จะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดในการสนับสนุนเอกชนคู่สัญญาแก้ไขปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

    สกพอ. จะพยายามอย่างดีที่สุด (Best Efforts) โดยสุจริตภายใต้กฎหมายและ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ในการสนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินกู้ของเอกชน ในการดำเนินโครงการฯ ให้ได้เงื่อนไขที่ดีกว่าตลาดของสถาบันทางการเงินเอกชนทั่วไป และใกล้เคียงกันกับโครงการของรัฐที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันจนกว่า ผลกระทบจะสิ้นสุดลง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของโครงการฯ

    3. การปรับหลักเกณฑ์การพัฒนางานหลักของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

    คู่สัญญาตกลงปรับระยะการพัฒนางานหลักของสนามบินอู่ตะเภา เช่น อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ศูนย์การขนส่งภาคพื้น การให้บริการภาคพื้นดิน เป็นต้น จากเดิมกำหนดไว้ 4 ระยะ เปลี่ยนเป็น 6 ระยะ (ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ระยะที่ 1 จำนวน 12 ล้านคน/ปี ระยะที่ 2 จำนวน 15.9 ล้านคน/ปี ระยะที่ 3 จำนวน 22.4 ล้านคน/ปี ระยะที่ 4 จำนวน 30 ล้านคน/ปี ระยะที่ 5 จำนวน 45 ล้านคน/ปี และระยะที่ 6 จำนวน 60 ล้านคน/ปี) ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารของแต่ละระยะสอดคล้อง กับประมาณการผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในระยะแรกจะพัฒนาให้งานหลักฯมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน/ปี และจะลงทุนในระยะถัดไป (ระยะที่ 2 – 6) เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารถึงร้อยละ 80 ของขีดความสามารถ ในการรองรับของระยะปัจจุบัน โดยโครงการฯ ยังกำหนดเป้าหมายให้สนามบินอู่ตะเภารองรับ ผู้โดยสารในปีสุดท้ายได้ 60 ล้านคน/ปีเท่าเดิม

    4. ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญา

    คู่สัญญาตกลง ให้ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญาในช่วงเวลาตามเงื่อนไข โดยจัดลำดับรายการที่เอกชนคู่สัญญาต้องชำระ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ค่าเช่าที่ดินให้รัฐ การชำระคืนดอกเบี้ย และเงินต้นของเงินกู้และส่วนแบ่งรายได้รัฐ เพื่อให้โครงการฯ สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยเอกชนคู่สัญญาสามารถชำระรายได้ของรัฐได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม และสอดคล้องกับหลักความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐ และเอกชน โดยการจัดสรรรายได้ใหม่ ตามแนวทางแก้ปัญหาฯ ดังนี้

      ลำดับที่ 1 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ
      ลำดับที่ 2 ค่าเช่าที่ดิน และสิ่งก่อสร้างของรัฐ
      ลำดับที่ 3 ชำระดอกเบี้ย และเงินต้น
      ลำดับที่ 4 เงินสดสำรองตามมาตรฐาน การชำระ คืนเงินกู้
      ลำดับที่ 5 ส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ (ร้อยละ 5 ของรายได้) และ
      ลำดับที่ 6 ผลตอบแทน ให้รัฐเพิ่มเติม ตามซองข้อเสนอ และรายได้รัฐที่ค้างชำระ

    การบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ข้างต้นจะสิ้นสุดเมื่อ (1) จำนวนผู้โดยสารรายปีสะสมที่เกิดขึ้นจริง มีจำนวนเท่ากับการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารตามข้อเสนอ ทางด้านเทคนิคของเอกชนคู่สัญญา และ (2) เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงินให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกลำดับการชำระครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ข้างต้นแล้ว รวมทั้งสถานะทางการเงินของเอกชนคู่สัญญาไม่อยู่ในสถานะผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ (No Default) และไม่อยู่ในสถานะที่ผู้ให้กู้เงินเริ่มใช้สิทธิเร่งรัดชำระหนี้เงินกู้

    5. การเลื่อนวันเริ่มนับระยะเวลาให้บริการและบำรุงรักษาโครงการฯ

    หากมีการก่อสร้างโครงการฯแล้วเสร็จ แต่ปริมาณผู้โดยสารมีไม่ถึง 5.6 ล้านคน/ปี ให้เลื่อนการเริ่มนับระยะเวลาปีที่ 1 ในปีที่มีปริมาณผู้โดยสารต่อปี จำนวน 5.6 ล้านคน โดยช่วงเวลาที่ยังไม่มีการเริ่มนับปีที่ 1 นั้น ให้เอกชนคู่สัญญา ชำระค่าตอบแทนรัฐ ดังนี้

      (1) ชำระค่าเช่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างแก่รัฐจำนวน 100 ล้านบาท/ปี จากเดิม 820 ล้านบาท/ปีในช่วง 3 ปีแรกของการให้บริการและการบำรุงรักษาโครงการฯ และเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 ปี จนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ
      (2) ชำระรายได้ของรัฐ 100 ล้านบาท/ปี จากเดิม 1,300 ล้านบาท ในปีที่ 1 และเพิ่มขึ้นในปีถัดไปทุกปีจนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ และ
      (3) ชำระรายได้ของรัฐแก่ สกพอ. เป็นจำนวนเท่ากับกระแสเงินสดคงเหลือ จากการดำเนินโครงการฯ ภายหลังการชำระดอกเบี้ย พร้อมเงินต้นที่จำเป็นต้องชำระตามสัญญาเงินกู้แล้ว ทั้งนี้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้น ๆ ของเอกชนคู่สัญญา

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเยียวยาผลกระทบตามหลักการแก้ไขปัญหาข้างต้นว่า นอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาในระยะที่ปริมาณผู้โดยสารยังได้รับผลกระทบ ยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้เอกชนคู่สัญญาสามารถดำเนินโครงการฯ ได้โดยที่รัฐยังได้รับชำระ ส่วนที่เป็นรายได้ของรัฐ ตามจำนวนเดิมพร้อมค่าเสียโอกาส ขณะเดียวกัน ยังเดินหน้าผลักดันโครงการฯ ให้เป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ในการเดินทางของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ใกล้เคียงในระยะยาว และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ ฯ

    ผ่าน พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสภา ฯ หลัง กกต.รับรอง ส.ส.ครบ 475 คน

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2566 โดยยังไม่ได้ระบุวันที่เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พร้อมมอบให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานองคมนตรี เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 หรือ 475 คน แล้วให้นําร่าง พ.ร.ฎ. ฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

    ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และที่แก้ไขเพิ่มเติม ม. 83 บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน ม.84 บัญญัติให้ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อมี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดแล้ว (จำนวน 475 คน) หากมีความจําเป็นจะต้องเรียก ประชุมรัฐสภาก็ให้ดำเนินการเรียกประชุมรัฐสภาได้ และ ม.85 วรรคสี่ บัญญัติให้ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่ง กกต. ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศ ผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 13 ก.ค. 2566) ประกอบกับ ม. 121 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ภายใน 15 วัน นับแต่ วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (ภายในวันที่ 27 ก.ค. 2566) ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก และ ม.122 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธี เปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้

    รับทราบปี’65 กสศ.ช่วยเด็กด้อยโอกาสเรียนต่อ 1.4 ล้านคน

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานประจำปี 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในภาพรวมสามารถช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือ ด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษา รวม 1,396,208 คน โดยมีการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้

    1. มาตรการเร่งด่วน : ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยระดมเงินบริจาคจากภาคเอกชน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ นักเรียนทุนเสมอภาคระดับชั้น ป.6 และ ม. 3 จำนวน 103,987 คน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ช่วยเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา จำนวน 302 คน ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง คือ พิษณุโลก ขอนแก่น ยะลา และกรุงเทพมหานคร

    2. การดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริม พัฒนา และช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่

      2.1 กลุ่มเด็กปฐมวัย (ระดับการศึกษาภาคบังคับชั้น ป.1-ม. 3)

      • โครงการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (ทุนเสมอภาค) เพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนในวัยเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง ม. 3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษา ด้วยการอุดหนุนงบประมาณโดยตรงให้กับผู้เรียน ในสถานศึกษา 5 สังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 1,307,152 คน

      2.2 กลุ่มเยาวชน ในระดับการศึกษา สูงกว่าภาคบังคับ

      • โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เพื่อช่วยเหลือ กลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และสำเร็จการศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับ ปวช. หรือเทียบเท่า ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและส่งเสริมให้ได้งานทำ เมื่อสำเร็จการศึกษา จำนวน 4 รุ่น รวม 6,599 คน
      • โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ (ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ) เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ กลุ่มเยาวชนในระดับชั้น ปวช. หรือ ปวส. ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ผลการเรียนดีในระดับประเทศได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา (ป.ตรี-โท-เอก) จำนวน 4 รุ่น รวม 123 คน

      2.3 กลุ่มเยาวชน นอกระบบการศึกษา และประชากร วัยแรงงาน

      • โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชน และแรงงานนอกระบบ ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาส โดยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และพัฒนา รูปแบบการจัดการศึกษาโดยชุมชน ให้สอดคล้องกับความต้องการ ของกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีความจำเป็น ผ่านหน่วยจัดการเรียนรู้ระดับตำบล จำนวน 110 แห่ง ในพื้นที่ 56 จังหวัด

      2.4 กลุ่มครู โรงเรียน และหน่วยจัดการเรียนรู้

      • โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน (ครูรัก(ษ์)ถิ่น) เพื่อสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจน หรือด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่มีผลการเรียนดีและมีจิตวิญญาณความเป็นครูได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์และได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนท้องถิ่นของตนเอง จำนวน 3 รุ่น รวม 863 คน
      • โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง) เพื่อพัฒนาโรงเรียน ครู และบุคลากร ทางการศึกษาทั้งระบบอย่างต่อเนื่องและเกิดเป็นต้นแบบในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการและการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ จำนวน 13,281 คน และนักเรียนจำนวน 174,364 คน ได้รับการพัฒนาแล้ว
      • ดำเนินโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อมุ่งพัฒนาสมรรถนะครู จำนวน 685 คน (ครอบคลุมโรงเรียนที่มีอยู่ 68 แห่ง ใน 22 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ) ให้สามารถจัดการเรียนรู้ เสริมทักษะทางวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตรวมทั้งส่งเสริมอาชีพของนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ
      • โครงการต้นแบบการพัฒนาสมรรถนะครูนอกระบบการศึกษา จำนวน 210 คน ส่งผลให้เกิดต้นแบบกลุ่มครูประจำการ ต้นแบบกลุ่มครูนักพัฒนา และต้นแบบกลุ่มครูจิตอาสา
      • โครงการขยายผลการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้โดยเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จำนวน 315 คน ซึ่งเป็นการสร้าง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญร่วมกัน และการร่วมคิดค้นเครื่องมือหรือกลไกที่สามารถนำไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

    3. การดำเนินงานเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการทำงานระดับพื้นที่และการประเมิน เพื่อการพัฒนา โดยคาดหวัง ให้เกิด “แผนบูรณาการระดับจังหวัด” ครอบคลุม 12 จังหวัด ทั่วประเทศ เช่น จ. แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา พิษณุโลก และสุโขทัย

    4. การวิจัยและนวัตกรรมด้านการศึกษา : พัฒนาองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวม 24 ชิ้นงาน ครอบคลุม งานวิจัยด้านนวัตกรรมระบบเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และงานวิจัยด้านการประเมินผล

    สำหรับรายงานการเงินของกองทุนฯ ณ สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 รวมสินทรัพย์สูงกว่ารวมหนี้สินรวม 2,854.31 ล้านบาท

    เสนอพระนาม ร.9 ให้ยูเนสโกยกย่อง-ร่วมฉลอง 100 ปี วันพระบรมราชสมภพในปี’70

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง ในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570 โดยให้ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างเอกสารเสนอพระนามต่อองค์การ UNESCO ต่อไป

    กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงาน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น มีมติเห็นชอบการเสนอ พระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การ UNESCO ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง ในวาระ 100 ปี วันพระราชสมภพ ในปี 2570 เนื่องจากทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ อย่างล้นพ้นต่อประเทศไทย ทรงอุทิศพระองค์เพื่อปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ นานัปการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกร นอกจากนี้ พระราชกรณียกิจ ของพระองค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และการดำเนินงานขององค์การ UNESCO ทั้ง 5 ด้าน คือ การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมสันติภาพ ความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้การยอมรับในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

      (1) ยกร่างข้อมูลเพื่อเสนอพระนามฯ ให้องค์การ UNESCO โดย จะต้องจัดส่งเอกสารการเสนอพระนามฯ ภายในปี 2567 เพื่อนำเข้าที่ประชุม คณะกรรมการบริหารขององค์การ UNESCO เพื่อพิจารณาภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ก่อนที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การ UNESCO พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในเดือน พฤศจิกายน 2568
      (2) เตรียมการด้านต่าง ๆ โดยได้จัดทำร่างแผนการดำเนินงานการเสนอพระนามฯ เพื่อให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้อง ตามหลักเกณฑ์และกำหนดการขององค์การ UNESCO

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยมีบุคคลสำคัญที่ได้รับการประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง โดยองค์การ UNESCO เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ โดยรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันประสูติ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 นี้

    ถวายพระราชสมัญญา “พระอัครราชูปถัมภิกา การจดหมายเหตุไทย” แด่กรมสมเด็จพระเทพฯ

    นายอนุชา กล่าว ที่ประชุม ครม.รับทราบการถวายพระราชสมัญญา “พระอัครราชูปถัมภิกาการจดหมายเหตุไทย” แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัย และอุปถัมภ์งานจดหมายเหตุไทย

    ในการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา “พระอัครราชูปถัมภิกาการจดหมายเหตุไทย” แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี การสถาปนาหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัย และอุปถัมภ์งานจดหมายเหตุไทย ทั้งพระราชทานพระราชดํารัสแนะนําเกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านจดหมายเหตุอันเป็นคุณานุปการต่อการพัฒนางานอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ ตลอดจนทรงให้ความสำคัญต่อการจัดหลักสูตรวิชาจดหมายเหตุในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการและการวิจัยด้านจดหมายเหตุ เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าของอนุชนรุ่นหลัง โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการดําเนินงานถวายพระราชสมัญญาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี หอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดยมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานอนุกรรมการ และอธิบดีกรมศิลปากร เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ซึ่งคณะอนุกรรมการ ฯ มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองข้อมูล เพื่อให้การดําเนินงานถวายพระราชสมัญญา ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ

    ทั้งนี้ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้นําความกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองพระบาท และราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

    ตั้ง “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เข้ารับราชการผู้ตรวจสำนักนายกฯ

    นายอนุชา กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง นางดารุณีย์ เผ่าสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.พ.ร. (นักบริหารต้น) ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนมตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ดังนี้

      1. นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการ
      2. นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      3. นางการดี เลียวไพโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      4. นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      5. นายวรรณชัย บุญบำรุง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. นายเอกก์ ภทรธนกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

    3. การบรรจุผู้เคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูงกลับเข้ารับราชกา

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติบรรจุ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ผู้เคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม กลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือน 76,800 บาท เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2566 เพิ่มเติม