นายกฯสั่งทุกกระทรวงลดเวลา-ขั้นตอน ขออนุญาตให้เสร็จภายใน 1 เดือน-ปี’65 ตั้งเป้าลดเวลาขอใบอนุญาตลง 50% -ส่งเสริม Soft Power ผ่านการถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย-ปรับแผน PR เน้นออนไลน์กลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ต่ำกว่า 50%-มติ ครม.สร้างบ้านพักคนชรา “รามา-ธนารักษ์” 1,345 ล้าน-อนุมัติ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 4.74 หมื่นล้าน-ตั้ง “หมอประกิต-ปนัดดา” นั่งบอร์ดคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี
เล็งออก กม.กำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์ม
พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ในการประชุมครม.วันนี้ มีการพิจารณา 2 เรื่องที่สำคัญ คือ การพิจารณากฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ โดยกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลฟอร์ม เสนอมาจากคณะอนุกรรมการด้านการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งภาคราชการและเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
“โลกมันเปลี่ยน เราก็ต้องปรับ เพราะฉะนั้นเราก็ได้พิจารณากันแล้วว่าสมควรจะต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจน เพื่อให้ความคุ้มครองและเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงกำหนดหน้าที่และขั้นตอนกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม” พลเอกประยุทธ์กล่าว
สั่งทุกกระทรวงเร่งลด “เวลา-ขั้นตอน” ขออนุญาตใน 1 เดือน
ในที่ประชุมครม.วันนี้ยังมีการพิจารณา พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ เสนอโดย ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) ได้เสนอให้ปรับปรุงกฎหมาย จากเดิมที่ทุกหน่วยงานจะมีการกำหนดระยะเวลาที่แตกต่างกัน ดังนั้น การปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการเดียวกัน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐให้บริการประชาชนได้สะดวกยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบเบื้องต้น การลงนามอนุญาตภายใต้เวลากี่กำหนด ตลอดจนการลดขั้นตอนต่างๆ และเร่งรัดให้ดำเนินการภายในหนึ่งเดือน
“ผมได้สั่งการทุกกระทรวงไปแล้ว เป้าหมายคือคุณภาพการให้บริการกับประชาชน และสร้างความสะดวกในการลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ” พลเอกประยุทธ์กล่าว
พลเอกประยุทธ์กล่าวต่อว่า ไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เหมาะสมในการเริ่มต้นธุรกิจและลงทุนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ติดต่อกันมาหลายปี สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการพื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะเครื่องจักรเครื่องยนต์ที่สำคัญคือการท่องเที่ยว รัฐบาลจะทำให้เครื่องจักรนี้เดินหน้าไปได้โดยเร็ว ตามนโยบายของรัฐบาลคือ “ล้มแล้ว ลุกให้ไว”
ย้ำผลงานเศรษฐกิจ-ส่งเสริมการลงทุน
พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงความก้าวหน้าเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนว่า รัฐบาลได้พัฒนาเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล การบริหารจัดการสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต ตลอดจนการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ผังเมือง เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า “เรื่องผังเมือง ใช่ว่าเราจะสั่งการทำผังเมืองออกไป หรือ มีคำสั่งฃอนุมัติออกไป ทำไม่ได้ มันต้องผ่านความเห็นชอบ นี่เราประชาธิปไตย ทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบ จะทำงานปรับพื้นที่ตรงไหนยังไง”
นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ยังกล่าวถึง การขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยจัดให้มีการขยายสิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นและลดภาษี อาทิ การยกเว้นภาษีให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายาได้ทางชีวภาพ การขับเคลื่อนการลงทุนผ่านโครงการต่างๆ ในพื้นที่นำร่อง เช่น นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คที่จังหวัดระยอง (Smart Park) โครงการไบโอฮับ เอเชีย จังหวัดฉะเชิงเทรา (Bio Hub) โครงการลพบุรี ไบโอคอมเพค (Bio Complex) โครงการ Bio Economy จังหวัดขอนแก่น โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพค เป็นต้น
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในด้านการพัฒนาศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพของประเทศไทย รวมทั้งศูนย์ข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมชีวภาพ รัฐบาลจะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างอุตสาหกรรมหลัก 3 ด้าน คือพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพและชีวเภสัชภัณฑ์
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการเร่งช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม โดยที่ผ่านมาได้ออกมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง และวันนี้ได้ดูแลเรื่องสิทธิด้านต่างๆ อาทิ ประโยชน์วีซ่าระยะยาว สิทธิประโยชน์ภาษี สิทธิด้านการถือครองอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมดมีคณะกรรมการที่กำหนดขึ้นมาโดยเฉพาะ มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ สร้างระเบียบการ ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน
ส่งเสริม Soft Power ผ่านการถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้มาตรการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ โดยการสนับสนุนให้ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ปรับรูปแบบใหม่ในการลงทุนด้านรายได้ และชื่อเสียง มีการสร้างสถานอำนวยความสะดวก จัดตั้งศูนย์ One Stop Service และติดตามคัดกรองภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในประชาคมโลก
“ผมรับทราบจากที่ประชุมที่มาชี้แจงว่าในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ก็มีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง ที่มีมูลค่าและเขาซื้อไปฉาย น่าจะ 800 กว่าล้าน…Soft power มีหลายอย่าง ทั้งอาหาร ท่องเที่ยว กีฬา ทั้งหมดอยู่ในกลุ่มของมัน ประเทศไทยมีศักยภาพมาก วัฒนธรรมต่างๆ ก็สำคัญ” พลเอกประยุทธ์กล่าว
ฟื้นฟูท่องเที่ยว “ภูเก็ต-พังงา-กระบี่” รับ Expo ปี’71
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ดำเนินการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวเชิงภูมิภาคระดับโลก เพื่อเตรียมพร้อมในการจัดงาน Expo วาระพิเศษปี 2571 ที่จังหวัดภูเก็ต และการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
เห็นชอบสร้างบ้านพักคนชรา “รามา-ธนารักษ์”
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ได้เห็นชอบให้ดำเนินงานโครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามา-ธนารักษ์ (Senior Complex) ดำเนินงานร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ธนาคารอาหารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างที่พักอาศัยให้ผู้สูงอายุอย่างครบวงจร
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากในจังหวัดสมุทรปราการแล้ว โครงการ Senior Complex ยังดำเนินการในจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ฯลฯ และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาล
“เราดูทั้งคนรายได้น้อย รายได้ปานกลางที่พอจะจ่ายได้ ต่างประเทศก็ทำแบบนี้ ต่างคนต่างต้องช่วยกันและกัน” พลเอกประยุทธ์กล่าว
ย้ำรัฐบาลทำงานอย่างระมัดระวัง
พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “เรื่องอื่นๆ ก็มีความก้าวหน้าตามลำดับ อะไรที่มันช้านายกรัฐมนตรี ก็เร่งรัดไป มันก็ติดด้วยระเบียบ กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ทุกอย่างต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ และ EIA ต้องเข้าใจระบบระเบียบข้อกฎหมาย ถ้าทำแล้วไม่ได้ ก็เท่ากับทำไม่ได้ ต้องเอากฎหมายมาดูก่อนว่าทำได้หรือเปล่า รัฐบาลก็ระวังอย่างเป็นที่สุด หลายอย่างมันก็เร็ว หลายอย่างก็ช้า ก็ต้องหาวิธีการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่มันถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่มีอยู่”
“ทั้งหมดมันต้องทำทั้งหมดเลย ถ้าจะทำพูดว่าทำนี่ ทำโน่น แต่ท่านตอบคำถามไม่ได้ว่าทำแล้วจะยังไง กระบวนการคิดเป็นยังไง งบประมาณจากที่ไหน โครงการจัดทำยังไง ทั้งหมดไม่ได้ง่ายอย่างที่พูด ผมก็พยายามทำให้ได้มากที่สุด ตราบใดที่ยังมีเวลาดูแล ตรงนี้อยู่ก็จะทำให้ดีที่สุด” พลเอกประยุทธ์กล่าว
ขอบคุณ จนท.ทุกหน่วยที่จัดเลือกตั้งผู้ว่า “กทม.-พัทยา”
ด้านดร. ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในเรื่อง การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.และเมืองพัทยาที่ผ่านมาว่านายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และเสร็จสิ้นเป็นไปอย่างเรียบร้อยตามแนวทางประชาธิปไตย
เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม
ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมทั้งคนและอุปกรณ์ รองรับภัยน้ำท่วมและน้ำหลากที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ
สั่ง “วัฒนธรรม-ท่องเที่ยว” จัดมวยไทย โปรโมทท่องเที่ยว
ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมกีฬามวยไทย เพื่อส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมไทย และโปรโมทด้านการท่องเที่ยว
ปรับแผน PR เน้นออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 50%
ดร.ธนกร กล่าวถึงงานเสวนาถามมา-ตอบไป ที่จัดโดยรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกหน่วยเร่งสร้างการรับรู้การดำเนินงานของรัฐบาลที่ก้าวหน้า ซึ่งได้มีการนำเสนอในเวทีถามมาตอบไป รวมทั้งให้ปรับวิธีการประชาสัมพันธ์ โดยให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์อย่างน้อยร้อยละ 50 เพื่อสร้างการรับรู้และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่
ปรับปรุงศูนย์ประชุมสิริกิติ์ฯ รับเอเปคปลายปี
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังพอใจความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์สวนเบญจกิติ และบริเวณโดยรอบ เพื่อรองรับการประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพปลายปีนี้
แสดงวิสัยทัศน์ประเทศไทยในเวที “Nikkei Forum” 26-27 พ.ค.นี้
ดร.ธนกร รายงานว่า ในวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 มีกำหนดการประชุม Nikkei Forum ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีพลเอกประยุทธ์เป็นผู้แสดงวิสัยทัศน์ประเทศไทย พร้อมด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ
“นายกรัฐมนตรี จะใช้โอกาสนี้แสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการรับมือกับความท้าทายและความชะงักงันของภูมิภาคเอเชีย และการก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ โดยทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันเพื่อภูมิภาคเอเชียที่เข้มแข็งต่อไป”
เลื่อนประชุม ครม.มาวันจันทร์ 30 พ.ค.นี้
ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า การประชุมครม.ในสัปดาห์ถัดไปจะเลื่อนมาเป็นวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 จากเดิมวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ตั้งแต่วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2565
มติ ครม.มีดังนี้
สร้างบ้านพักคนชรา “รามา-ธนารักษ์” 1,345 ล้านบาท
ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กรมธนารักษ์ และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ดำเนินโครงการ “ที่พักผู้สูงอายุ รามา-ธนารักษ์” บนที่ดินราชพัสดุ จังหวัดสมุทรปราการ กรอบวงเงิน ประมาณ 1,345.934 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เมื่อมีผู้เช่า (Leasehold) ห้องพักแล้วทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุสนใจจองสิทธิเช่าห้องพักอาศัยแล้ว 1,310 ราย โดยผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น สิทธิการพักอาศัย 30 ปี สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ
สาระสำคัญของโครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุรามา-ธนารักษ์ มีดังนี้
- วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีที่พักอาศัย พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิต รวมทั้งยังเป็นการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากที่ดินราชพัสดุที่ว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเปิดโอกาสทางธุรกิจและช่องทางการหารายได้ให้กับธพส. และรัฐ
- ผังโครงการ ฯ ประกอบด้วย (1) อาคารพักอาศัยรวม 8 ชั้น จำนวน 7 อาคาร มีห้องพักรวมทั้งสิ้น 921 ห้อง (2) อาคารให้บริการ ส่วนกลาง (3) อาคารสำนักงาน และพื้นที่พาณิชย์ –คุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้เข้าร่วมโครงการ : มีสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่า 58 ปีนวันจองสิทธิ์ หรือ มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ณ วันที่เข้าพักอาศัยจริง ต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ดี มีรายได้หลังเกษียณอย่างน้อย 30,000 บาทต่อเดือนโดยอาจจะเป็นรายได้โดยตรงของผู้สูงอายุ เช่น เงินบำนาญ หรือ เงินสนับสนุนจากบุตรหลานก็ได้
- สิทธิประโยชน์ในการเข้าพักที่พักอาศัย : สิทธิที่พักอาศัย 30 ปี ไม่สามารถซื้อขายหรือโอนสิทธิ์ให้บุคคลอื่น เว้นแต่ขายคืนให้ผู้บริหารโครงการ ฯ และไม่ตกทอดทายาท
- สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ (1) กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในระดับปฐมภูมิที่ไม่รุนแรง สามารถใช้ห้องพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง (2) กรณีเข้าสู่ภาวะต้องพึ่งพิงแต่ยังสามารถอาศัยอยู่ในห้องพักได้ โดยมีญาติหรือผู้ดูแล (3) กรณีไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และต้องการดูแลในระยะยาว จะได้รับสิทธิการอยู่ในสถานบริบาลผู้สูงอายุรามาธิบดี เมื่อห้องว่าง (4) กรณีเข้าสู่ภาวะผู้ป่วยระยะท้ายที่คาดว่าจะเสียชีวิตภายในระยะเวลา 3 เดือน สามารถใช้บริการสถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายใน Hospice Zone สิทธิประโยชน์ด้านสินเชื่อและเงื่อนไขผ่อนเป็นพิเศษ ตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
- กรอบงบ ฯ การลงทุนโครงการ จำนวน 1,345.934 ล้านบาท โดยใช้งบลงทุนของ ธพส.
- ประมาณการค่าใช้จ่าย : ผู้สูงอายุต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย (1) ค่าเช่าสิทธิ์ที่ห้องพักเริ่มต้นที่ 1.82 – 3 ล้านบาท (2) ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เดือนละ 2,000 บาท (3)และค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ เดือนละ 2,000 บาท (4) เงินทุนสำรองในการดำรงชีพขณะอยู่ในโครงการ จำนวน 300,000 บาท (5) ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ชำระตามจริง
- การเปิดรับจองสิทธิ์ตามประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการของคณะกรรมการบริหารโครงการฉบับที่ 1 / 63 :โดยผู้สูงอายุสนใจจองสิทธิ์เช่าห้องพักอาศัยจำนวน 1,310 คน
- การเข้าพักอาศัยและการออกจากโครงการ ฯ ธพส. จะส่งมอบห้องพักให้ผู้สูงอายุตามที่ได้รับจองสิทธิ์ไว้เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ กรณีประสงค์จะออกจากโครงการ ฯ ก่อนกำหนด สิทธิการพักอาศัยจะถูกระงับและไม่ตกทอดแก่ทายาท และหากเสียชีวิต โดยคู่สมรสสามารถพักอาศัยในโครงการ ฯ ต่อไปได้ จนครบตามสัญญา
ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (8 พฤศจิกายน 2559) เห็นชอบมาตรการการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) บนที่ราชพัสดุ 4 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี นครนายก เชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งการสร้างที่พักอาศัยทั้ง 4 แห่งบนที่ราชพัสดุดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการ ต่อมาได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) ร่วมกัน 6 ฝ่ายระหว่างกรมธนารักษ์ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จังหวัดสมุทรปราการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สป.623 (บางส่วน) และ สป.646 (บางส่วน) ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ 72 – 1 – 97 ไร่ ประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice Zone) (มหาวิทยาลัยมหิดลเช่าที่ราชพัสดุ) พื้นที่สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการพักฟื้นหรือฟื้นฟูสุขภาพ (Nursing Home Zone) (อยู่ระหว่างดำเนินการ) และที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Housing Zone) ภายใต้ชื่อโครงการ “ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามา – ธนารักษ์” (โดยบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างและบริหารโครงการฯ) บนเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่อง เพื่อพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จัดสร้างสถานที่เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้มีที่พักอาศัยพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิต มีระบบการดูแลสุขภาพและสวัสดิการอื่น ๆ แบบครบวงจร
ปี’65 ตั้งเป้าลดระยะเวลาขอใบอนุญาตลง 50%
ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการแนวทางการปรับปรุง ระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต และการทบทวนกฎหมายตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ เพื่อตอบสนองความต้องการประชาชน และผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการติดต่อขอรับบริการภาครัฐ โดยกำหนดแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงระยะเวลา การพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมายให้เอื้อต่อกระบวนการพิจารณาอนุญาต เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการบริการจากภาครัฐที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ถูกลง และเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยแบ่งกลุ่มกระบวนงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
-
(1) กลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง จำนวน 31 กระบวนงาน เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขออนุญาตให้เป็นผู้นำของเข้า ผู้ส่งออกของ การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม การขอใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ และการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานของรัฐทบทวนกระบวนงาน และปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2565
(2) กลุ่มกระบวนงานทั่วไป เช่น การอนุญาต การจดทะเบียน หรือ การแจ้งที่มีกฎหมาย หรือ กำหนดให้ต้องขออนุญาตฯ มีเป้าหมายให้หน่วยงานของรัฐ เสนอกระบวนงานที่สามารถปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงร้อยละ 30 – 50 มาดำเนินการภายในปี 2565
โดยแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต เช่น พิจารณายุบเลิก ยุบรวมขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ทบทวน และปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบริการของหน่วยงาน นำมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการตามผลการศึกษาของ สนง.ก.พ.ร. เป็นเป้าหมายในการพิจารณาปรับลดระยะเวลาการดำเนินการ ปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินการ ปรับลดระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตต้องไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการ กรณีไม่สามารถลดระยะเวลาการให้บริการลงได้อีกหรือมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการให้รายงานไปยัง สนง.ก.พ.ร.
สำหรับแนวทางการทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาต เช่น การพิจารณาใช้ระบบอนุญาตในกฎหมาย โดยนำคำแนะนำของ คกก. พัฒนากฎหมาย เรื่อง การใช้ระบบอนุญาตในกฎหมายมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ การทบทวนกฎหมาย เพื่อยกเลิกการอนุญาต เช่น กฎหมายที่มีความซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน การทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงการอนุญาต เช่น การปรับปรุงขั้นตอน การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการ
ทั้งนี้ สนง.ก.พ.ร.ได้ศึกษาขั้นตอนและระยะเวลาในการอนุญาตของหน่วยงานของรัฐ จำนวน 3,827 กระบวนงาน จาก 132 หน่วยงาน ได้แก่ ขั้นตอนการยื่นเอกสาร การพิจารณาอนุญาต และการลงนาม พบว่า หน่วยงานแต่ละแห่งมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่แตกต่างกัน จึงได้นำค่ากลางของระยะเวลาการดำเนินการ มากำหนดเป็นมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ นำไปใช้เป็นแนวทางในการทบทวนระยะเวลาการดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาทิ ขั้นตอนการยื่นเอกสาร กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ ไม่เกิน 1 วันทำการ ขั้นตอนการพิจารณา กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการจำแนกตามลักษณะงาน และความซับซ้อนของเอกสาร เช่น การตรวจพิจารณาเอกสารจำนวน 1-10 รายการ หรือเอกสารยืนยันตัวตน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง กับหน่วยงานผู้อนุญาต ไม่เกิน 2 วันทำการ – การตรวจสอบสถานที่ ไม่เกิน 15 วันทำการ – การตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์/เครื่องจักร ไม่เกิน 2 วันทำการ -การพิจารณาโดยคณะกรรมการ ไม่เกิน 29 วันทำการ การลงนาม หรือ คกก. มีมติ ไม่เกิน 1 วันทำการ
นายกรัฐมนตรี ยังกำชับส่วนราชการที่อาจมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามกรอบระยะเวลาดังกล่าว ให้เร่งพิจารณากำหนดกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมในแต่ละกระบวนงาน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพราะ การปรับปรุงระยะเวลาพิจารณาอนุญาตในกระบวนงานที่มีความสำคัญต่อการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศด้วย
รับทราบผลงาน กสศ.ช่วยเด็กยากจนเรียนต่อ 2.9 แสนคน
ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปี 2565 โดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่นักเรียนในครอบครัวยากจนพิเศษ กลุ่มช่วงชั้นรอยต่อของการศึกษา (อ.3, ป.6 และ ม.3) ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา จำนวน 2.9 แสนคน สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับเยาวชนยากจนหรือด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษาพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เป็นโรงเรียนปลายทางของนักศึกษา ทุนครูรัก(ษ์) ถิ่น และการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลตามเป้าหมาย จำนวน 600 แห่ง รวมทั้งโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้จังหวัดหรือท้องถิ่นมีระบบการช่วยเหลือและแก้ปัญหา เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาระดับพื้นที่ ผ่านต้นแบบและระบบการทำงานใหม่ ๆ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ เช่น เด็กปฐมวัยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบ การศึกษา โดยช่วยเหลือและพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้ได้รับโอกาส ในการเรียนรู้อย่างเหมาะสมตามบริบทและสภาพปัญหา รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ และทักษะของครูนอกระบบเพื่อให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ โครงการ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มีการสนับสนุนและช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับ ปวช. และ ปวส. ในสาขาที่สอดคล้องกับ ความต้องการแรงงานฝีมือ เช่น การแปรรูปอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน เป็นต้น
จัดทำเหรียญเฉลิมพระเกียรติ “พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 พ.ศ. …. เพื่อ จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ใน 4 ลักษณะ ได้แก่
-
1) เหรียญกษาปณ์ทองคำ ชนิดราคา 20,000 บาท
2) เหรียญกษาปณ์เงิน ชนิดราคา 1,000 บาท
3) เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท ประเภทขัดเงา และ
4) เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท ประเภทธรรมดา
ซึ่ง กระทรวงการคลัง ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทาเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตามแบบ ที่ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว เพื่อเป็นที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันที่ 12 ส.ค. 65
รับทราบ ป.ย.ป.เสนอ 10 หลักการ กำกับธุรกิจแพลตฟอร์ม
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.รับทราบข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอ เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม รวมถึงการกำหนดหน้าที่และขั้นตอนในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 10 หลักการ ดังนี้
-
หลักการที่ 1 วัตถุประสงค์และขอบเขตของกฎหมาย ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการแพลตฟอร์ม โดยกำหนดผู้ประกอบธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) ผู้ให้บริการตัวกลาง 2) ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูล 3) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม 4) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ และ 5) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีอ้านาจควบคุม ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น ผู้ให้บริการที่มีขนาดเล็กที่มีจำนวนธุรกรรมน้อยกว่า 10,000 รายการต่อวัน เป็นต้น
หลักการที่ 2 หน้าที่พื้นฐานของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่ม กำหนดหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามหลักการของกฎหมาย
หลักการที่ 3 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่ม ยกเว้นผู้ให้บริการตัวกลาง กำหนดให้มีวิธีการหรือระบบที่สามารถรับแจ้งการกระทำความผิดหรือการใช้ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย
หลักการที่ 4 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มที่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดหน้าที่และมาตรการป้องกันการเกิดการกระทำผิดและความเสียหายขึ้นบนแพลตฟอร์อม
หลักการที่ 5 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญภายนอกประเมินความเสี่ยงของระบบและความเสี่ยงอื่น ที่อาจเกิดขึ้นในการใช้บริการแพลตฟอร์ม
หลักการที่ 6 การรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด (Accreditation of Trusted Flagger) ให้หน่วยงานกำกับดูแล มีการรับสมัคร ตรวจสอบ และรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด
หลักการที่ 7 การกำกับดูแลสัญญาระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ใช้บริการ กำกับดูแลเนื้อหาสาระของสัญญา หรือข้อตกลง ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักการที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศกำหนด
หลักการที่ 8 หน้าที่และอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแล กำหนดให้ สพธอ. เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามหลักการของกฎหมายนี้
หลักการที่ 9 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามร่างกฎหมายนี้ มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานแก่หน่วยงานกำกับดูแลอื่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย
หลักการที่ 10 การรักษาความเป็นธรรมในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ใช้แนวทางการกำกับเชิงการป้องกัน (Ex-ante Approach) โดยการกำหนดพฤติกรรมที่ควรทำและพฤติกรรมที่ห้ามทำ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันเป็นเจ้าภาพของร่างกฎหมายและดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายนี้แล้วนำเสนอ ครม.พิจารณา ก่อนส่งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายจัดทำร่างกฎหมายต่อไป
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า หากกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีผลบังคับใช้ จะเป็นกฎหมายกลางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม อันจะทำให้ระบบการให้บริการและการใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความชัดเจนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สอดรับกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับการแข่งขันในด้านสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
อนุมัติ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 4.74 หมื่นล้าน
ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ซึ่งจะถูกปลดออกจากระบบไฟฟ้าในปี 2565 และปี 2568 โดยมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ พร้อมระบบส่งไฟฟ้า วงเงินโครงการรวม 47,470 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งนี้ วงเงินโครงการให้ใช้งบประมาณจากแหล่งรายได้ของ กฟผ. เป็นอันดับแรก หากจำเป็นต้องใช้เงินกู้ กระทรวงการคลังจะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม โดยกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกัน
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 145 ไร่ ซึ่งอยู่ในขอบเขตพื้นที่ของ กฟผ. ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2593 มีระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 48 เดือน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2569 และมีประสิทธิภาพเฉลี่ยตลอดอายุการเดินเครื่อง 25 ปี
ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า โครงการจะไม่กระทบต่อเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2070 ของรัฐบาล เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่น เครื่องผลิตไอน้ำแรงดันเหนือวิกฤต (Ultra – Supercritical) สามารถผลิตไอน้ำได้ดีขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้มากขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินลดลงและมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตั้งระบบควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าให้อยู่ในค่ามาตรฐาน ได้แก่ ระบบดักจับฝุ่นและขี้เถ้าลอย (TSP) ระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) ทั้งนี้ โครงการมีความคุ้มค่าในการลงทุนและให้ผลตอบแทนการลงทุน ในอัตราที่เหมาะสมในราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยที่ไม่สูงกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน ดังนี้ อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (IRR) ร้อยละ 5.876 มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิ ( NPV) 119 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) ร้อยละ 6.99 มูลค่าปัจจุบัน 5,928 ล้านบาท มีระยะเวลาคืนทุน 16 ปี
ตั้ง “หมอประกิต-ปนัดดา” นั่งบอร์ดคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
ดร.รัชดา กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
3. แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ จำนวน 3 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ดังนี้
-
1. นายถวัลย์ วรรณกิจมงคล
2. นางพอตา ยิ้มไตรพร
3. นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
4. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอืแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ จำนวน 10 รูป/คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ดังนี้
-
1. พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
2. นายสมัย เจริญช่าง
3. นายสยาม ม่วงศักดิ์
4. นางกัมเลซ มันจันดา
5. นายสัตนามซิงห์ มัตตา
6. นายปรารพ เหล่าวานิช
7. นายสด แดงเอียด
8. นายประเสริฐ เล็กสรรเสริญ
9. นายธาดา เศวตศิลา
10. นางพิมพ์กาญจน์ ชัยจิตร์สกุล
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
5. แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ จำนวน 9 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
-
1. นายประกิต วาทีสาธกกิจ ด้านการแพทย์
2. นางนันทวรรณ วิจิตรวาทการ ด้านการสาธารณสุข
3. นายปกป้อง ศรีสนิท ด้านกฎหมาย
4. นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ด้านการคุ้มครองสิทธิสตรีหรือสิทธิเด็ก
5. นางสาวปนัดดา วงศ์ผู้ดี ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
6. นางสมศรี เผ่าสวัสดิ์ จากองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหากำไรและดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน
7. นายสมพงษ์ จิตระดับ จากองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหากำไรและดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน
8. นายอิศรา ศาสติศาสน์ จากองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหากำไรและดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน
9. นางฐาณิษา สุขเกษม จากองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์มิใช่เป็นการแสวงหากำไรและดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
6. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 ดังนี้
-
1. นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ประธานกรรมการ
2. นางสาวบุษราภรณ์ กอบกิจพานิชผล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
3. นายปกรณ์ คุณสาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
4. พลเอก โกศล ประทุมชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
5. นายนฤทัต เจริญเศรษฐศิลป์ กรรมการภาคเอกชน
6. พลตำรวจโท ประหยัชว์ บุญศรี กรรมการภาคเอกชน
7. นางศรีมาลา พรรณเชษฐ์ กรรมการภาคเอกชน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เพิ่มเติม