ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อเกาหลีอัดฉีดเงินกว่า 2,570 ล้านบาทสนับสนุนซีรีส์ในนาม KOCCA

เมื่อเกาหลีอัดฉีดเงินกว่า 2,570 ล้านบาทสนับสนุนซีรีส์ในนาม KOCCA

22 ตุลาคม 2023


1721955

ตอนนี้เรากำลังติด Twinkling Watermelon (2023) งอมแงมมาก ด้วยความครบรสทั้งดราม่าโศกซึ้ง ทั้งสนุก แฟนตาซีย้อนเวลา มีดนตรีด้วย สดใสประสาวัยรุ่น มีเรื่องให้สืบสวนเบา ๆ แต่ที่น่าสนใจมากคือ ซีรีส์เปิดหัวว่า ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬา KOCCA

ก่อนที่เราจะเข้าประเด็นที่จั่วหัวไว้ คงต้องเล่าก่อนว่า Twinkling Watermelon เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ซีรีส์เรื่องนี้เล่าถึงครอบครัวหนึ่งที่ทั้งพ่อและแม่มีความบกพร่องทางการได้ยิน พวกเขามีลูกชาย 2 คนเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ฮา อึน-โฮ (บง แจ-ฮยอน สมาชิกวงบอยแบนด์ Golden Child) คนพี่หูหนวกเช่นเดียวกับพ่อแม่ ทำให้ ฮา อึน-กยอล (รยอ-อุน จาก 18 Again, Through the Darkness) คนน้องผู้เป็นคนเดียวในบ้านที่หูปกติรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบในการแบกรับภาระต่าง ๆ ของครอบครัว ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขาคือการได้เล่นกีตาร์ที่เขาได้รับการสอนจากชายชราคนหนึ่ง

ซีรีส์ตัดสลับกับชีวิตของนักเรียนม.ปลายอีกคน ฮา อี-ชาน (ชเว ฮยอน-อุค จาก Weak Hero Class 1, D.P. 2) ที่ริจะจีบชเว เซ-กยอง (ซอล อิน-อา จาก Mr.Queen, Oasis) สาวไฮโซลูกคุณหนูเรียนดนตรี จึงวางแผนจะลงแข่งดนตรีแต่ติดปัญหาตรงเขาเล่นดนตรีไม่เป็นสักอย่าง ก่อนที่เรื่องจะมาเฉลยว่าพวกเขาอยู่กันคนละไทม์ไลน์ แล้วเหตุการณ์แฟนตาซีบางอย่างก็เกิดขึ้นเมื่อ อึน-กยอล ย้อนเวลากลับไปในปี 1995 ช่วงเวลาที่ อี-ชาน อยู่ในวัยมัธยม และตอนนั้น อึน-กยอล ยังไม่เกิดเพราะพ่อกับแม่ของเขายังไม่รู้จักกันเลย

Twinkling Watermelon วางเหตุการณ์ช่วงหนึ่งซึ่งทำท่าจะเป็นช่วงใหญ่ ๆ ของซีรีส์ คือในปี 1995 อันเป็นกลางสมัยประธานาธิบดีคิม ยอง-ซัม หรือคือ 2 ปีก่อนกระแสโคเรียนเวฟระลอกแรก หรือคือปีที่ SM เอนเตอร์เทนเม้นท์ก่อตั้งในปี 1995 YG ก่อตั้งในปี 1996 และJYP ก่อตั้งในปี 1997 สามบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเกาหลี และเป็นผู้ร่วมกันปั้นกระแสเคป๊อปจนโลกจำและโด่งดังมาจนทุกวันนี้

SM มีศิลปินดัง อาทิ Shinhwa, TVXQ!, Super Junior, Girl’s Generation, SHINee, EXO, Red Velvet

YG มีศิลปินดัง อาทิ Se7en, Big Bang, G-Dragon, BLACKPINK, BABYMONSTER และดาราดังในสังกัด อาทิ คัง ดง-วอน, ควอน ฮยอน-บิน และพัก โบ-ก็อม

JYP มีศิลปินดัง อาทิ เรน, 2PM, Wonder Girls, TWICE, Stray Kids, Got7

ก่อนที่เกาหลีจะเข้าสู่ยุคเสรีประชาธิปไตยในสมัยประธานาธิบดี คิม แด-จุง ในช่วงต้นปี 1998 เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโลกที่เกาหลียกย่องให้เป็นเนลสัน แมนดาล่าแห่งเกาหลี ช่วงเวลาที่เกาหลีเป็นประเทศเดียวที่พ้นวิกฤติต้มยำกุ้งและคืนหนี้ไอเอ็มเอฟสำเร็จ/ทั้งหมดนี้ซีรีส์ไม่ได้เล่า แต่ซีรีส์อวลด้วยบรรยากาศในช่วงเวลานั้นที่เรื่องพาไปสู่ความฝันของวัยรุ่นหนุ่มสาวที่พยายามเข้าสู่กระแสเคป๊อปที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่มองว่าไร้อนาคต ไม่มีทางสู้อาชีพหมออันเป็นความภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูลได้ ซึ่งปัจจุบันมันถูกพิสูจน์แล้วว่าความคิดเหล่านั้น…ไม่จริงเสมอไป

และนี่คือพล็อตซีรีส์แบบที่ KOCCA สนับสนุน คำถามคือ KOCCA คือใคร?

Korea Creative Content Agency (KOCCA) เป็นหน่วยงานรัฐบาลเกาหลีใต้ภายในเครือกระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และกีฬา ปัจจุบัน KOCCA มีออฟฟิศศูนย์กลางในต่างประเทศด้วย คือ กรุงเทพ, ปักกิ่ง, เสิ่นเจิ้น, โตเกียว, ฮานอย, จาการ์ต้า, นิว เดลฮี, แฟรงก์เฟิร์ต, ลอนดอน, ปารีส, ดูไบ, เม็กซิโก ซิตี้, นิวยอร์ก และแอลเอ

KOCCA สนับสนุนการผลิต การวางแผน การสร้าง การจัดจำหน่าย การขยายธุรกิจในต่างประเทศ การเติบโตของธุรกิจ การฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนา การจัดหาเงินทุนด้านนโยบาย และการศึกษานโยบายในประเภทต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการออกอากาศ วิดีโอเกม ดนตรี แฟชั่น แอนิเมชั่น ตัวละคร การ์ตูน ทรัพย์สินทางปัญญา เนื้อหาคอนเทนต์เทคโนโลยีใหม่ KOCCA มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสวัสดิการของประชาชนโดยเปลี่ยนประเทศเกาหลีให้เป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมเนื้อหาทั่วโลก KOCCA วางแผนที่จะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและเชิงกลยุทธ์โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย องค์กรที่เกี่ยวข้อง และศูนย์ส่งเสริมท้องถิ่น

และข่าวฮือฮาเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ปีนี้ KOCCA ประกาศว่าจะอัดฉีดเม็ดเงินมากกว่า 95.7 พันล้านวอน (ราว 2,750 ล้านบาท) ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ปีนี้ อันเป็นงบประมาณที่พุ่งขึ้นสูงกว่า 269.5 % เมื่อเทียบกับตัวเลขในปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากเนื้อหาที่ KOCCA เคยสนับสนุนไปแล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อาทิ Squid Game, Reborn Rich และ Extaordinary Attorney Woo โดยตั้งเป้าจะสนับสนุน 7 ส่วนในอุตสาหกรรม ได้แก่

    1.แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
    2.การออกอากาศทางโทรทัศน์
    3.รูปแบบการออกอากาศ
    4.สื่อใหม่
    5.ขั้นตอนหลังการผลิต
    6.การร่วมผลิต
    7.การจัดจำหน่ายทั่วโลก

โดยจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งของงบทั้งหมด คือ 43.9 พันล้านวอน (ราว 1,179ล้านวอน) จะนำไปสนับสนุนต้นทุนการผลิตเนื้อหาที่ปรับแต่งสำหรับสตรีมมิ่ง ในขณะที่อีก 4.45 พันล้านวอน (ราว 119 ล้านบาท) จะลงทุนกับการผลิตผลงานที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ และมีการจัดสรรเงินอีก 5.33 พันล้านวอน (ราว 143 ล้านบาท) ให้กับสื่อใหม่ รวมถึงการผลิตซีรีส์ในแบบเว็บดราม่า รายการวาไรตี้ และสารคดี

โดยในปีนี้ยังมีอีกส่วนที่ถูกเพิ่มเข้ามาคือเงินสนับสนุนในส่วนของโพสต์-โปรดัคชั่น อาทิ การตัดต่อ การทำวิช่วลเอ็ฟเฟ็กต์ อีก 29.5 พันล้านวอน (ราว 792 ล้านบาท) และในส่วนของการทำคำบรรยายภาษาต่างชาติ อีก 9.4 พันล้านวอน (ราว 252 ล้านบาท) หนำซ้ำยังมีเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้ผลิตรรายเล็กและขนาดกลาง ในการจัดจำหน่ายทั่วโลก เพื่อช่วยให้บริษัทเหล่านี้เชื่อมโยงกับบริษัทอื่น ๆ ในต่างประเทศ เพื่อปรับตัวและขยายธุรกิจอันเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา

อี โด-ฮยอง ผู้อำนวยการทั่วไปของ KOCCA ให้ความเห็นว่า “ความนิยมของซีรีส์เกาหลียังคงดำเนินต่อไปทั่วโลก และเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นระหว่างบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ในประเทศและต่างประเทศ เช่น Netflix, Disney+, Wavve และ TVing ความต้องการละครเกาหลีจึงเพิ่มขึ้นและมีการลงทุนในการผลิตมากขึ้น เทรนด์นี้ได้กระตุ้นความหลากหลายของละครเกาหลี”

เกาหลีใต้ยังคงผลิตแนวโรแมนติกและรอมคอมแบบโรแมนติกอยู่อย่างแน่นอน เหมือนกับที่กระแสโคเรียนเวฟกำหนดไว้ในตอนแรก อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ยังมีการสร้างละครที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงซีรีส์อาชญากรรมแนวใหม่ ไซ-ไฟ สยองขวัญ ตลก และประเภทอื่น ๆ
แล้วด้วยการเข้าถึงผู้ชมออนไลน์ รูปแบบของละครเกาหลีเรื่องใหม่ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

นายอี กล่าวว่า “ความต้องการซีรีส์ที่มีตอนระหว่าง 10 ถึง 30 นาที (เรียกว่าแบบสั้นหรือแบบกลาง) เพิ่มขึ้น” ตัวอย่าง ได้แก่ No Thank You และ Lovestruck in the City ของสตรีมเมอร์ Kakao TV ในปี 2020 และ Mad for Each Other, How to Be Thirty and Start Up the Engine ในปี 2021 “แต่ละตอนมีผู้ชมมากกว่า 3 ล้านครั้ง ซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้ชมที่ดีมาก”

นอกจากนี้ มินิซีรีส์ที่มีจำนวนตอนน้อยกว่าปกติกำลังเพิ่มความหลากหลายขึ้น ทำให้รูปแบบของซีรีส์ทั้งในด้านความยาวและจำนวนตอนเหมาะสมกับเรื่องราวที่ผู้สร้างต้องการบอกเล่ามากขึ้น นายอีเสริมว่า “ละครสั้นตอนเดียวจบซึ่งครั้งหนึ่งเคยจางหายไป เพิ่งกลับมาอีกครั้งในช่วงนี้” นายอีอธิบาย “เมื่อปีที่แล้ว Drama Stage ละครตอนเดียวจบของ tvN กำลังดึงดูดความสนใจจากผู้ชมอย่างยิ่ง ทั้งแนวทางที่หลากหลายจึ้น ตั้งแต่หนังระทึกขวัญไปจนถึงตลกด้านมืดไปจนถึงโรแมนติก มีแรงดึงดูดพอที่จะดึงดูดสายตาของผู้ชม โดยเฉพาะนักเขียนหน้าใหม่ที่เข้ามาเสริมทัพเพิ่มความสดใหม่ให้กับเรื่องเหล่านี้”

ตัวอย่างอื่น ๆ ของการเล่าเรื่องแบบใหม่นี้ ที่มีการเล่าเรื่องให้ต่อยอดแตกออกไปเป็น 2 หรือ 3 ซีซั่น ได้แก่ Penthouse และ Dr.Romantic [SBS], Hospital Playlist [tvN], Love (ft. Marriage & Divorce) [TV Chosun] “การผลิตละครในรูปแบบที่เหมาะสมกับเนื้อหาและแนวคิด เช่น แบ่งเป็นซีซั่น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้” ผู้อำนวยการ KOCCA กล่าว ล่าสุด Dr.Romantic ที่จบทำท่าว่าจะมีซีซั่นต่อไป ส่วน Hospital Playlist ก็มีภาคแยกสปินออฟเป็นหมออีกกลุ่มหนึ่งที่จะออนแอร์ในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า เรื่อง Someday Wise Resident Life ส่วนทีมผู้สร้างและนักแสดง Penthouse ตอนนี้มีเรื่องใหม่กำลังออนแอร์อยู่คือ The Escape of the Seven ที่ประกาศแล้วว่าจะมีซีซั่น 2 อย่างแน่นอน

อีกปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนความนิยมของละครเกาหลีก็คือความนิยมของเว็บตูนในฐานะแหล่งที่มาของทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับซีรีส์คนแสดง “เว็บตูนและนิยายบนเว็บกลายเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมเนื้อหาในตอนนี้ มีคอนเท็นต์มากมายที่ดัดแปลงจากเว็บตูน เช่น Love Alarm [Netflix}, Taxi Driver [SBS], All of Us are Dead [Netlix], MY ID is Gangnam Beauty [JTBC], Duty After School [TVING], Moving [Disney] มีการสร้างซีรีส์ขึ้นมาจากเว็บตูนที่มีเรื่องราวเยี่ยมยอดอยู่แล้ว แถมยังมีฐานแฟนมากมายย่อมง่ายกว่ามาก เนื่องจากสามารถใช้เป็นสตอรี่บอร์ดได้เลย และโปรดิวเซอร์สามารถคาดเดาได้ดีขึ้นว่ารายการจะได้รับความนิยมหรือไม่โดยพิจารณาจากประสิทธิภาพของเว็บตูน”

เนื้อหาของเกาหลีไม่ได้มีแค่เคดราม่าเท่านั้น ยังมีรายการบันเทิงอื่น ๆ อีกโดยเฉพาะที่บ้านเราคุ้นเคยเป็นอย่างดีเนื่องจากมีการดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นไทยนั่น คือ The Masked Singer ของ MBC และ I Can See Your ของ CJ ENM รวมถึงละครไทยที่เพิ่งลาจอไปและเรียกเสียงฮือฮาด้วยกระแสตอบรับใหม่ ๆ อย่างเกมรักทรยศ ที่ช่องสามมักจะอ้างว่า ดัดแปลงมาจาก Doctor Foster ของ BBC อังกฤษ แต่อันที่จริงเพราะความโด่งดังอย่างหนักของ The World of the Married [JTBC]ฉบับเกาหลีที่เกาหลีดัดแปลงมาจากต้นฉบับอังกฤษอีกที และของไทยก็มีความใกล้เคียงฉบับเกาหลีมากกว่าฉบับอังกฤษ แถมหากไปดูโผไลน์อัพของช่องแกรมมี่ไทย ตอนนี้มีอีกอย่างน้อย 2 เรื่องที่ดัดแปลงมาจากซีรีส์สุดฮิตของเกาหลี คือ BEAUTY NEWBIE หัวใจไม่มีปลอมที่ดัดแปลงมาจากMy ID is Gangnam Beaty และ High School Frenemy มิตรภาพ คราบศัตรู ที่จะดัดแปลงจาก School 2013

นายอี ยังเสริมข้อมูลที่น่าทึ่งอีกเรื่องด้วยว่า “ตั้งแต่ Covid-19 มาเยือน เชื่อหรือไม่ว่าความต้องการเนื้อหาจากเกาหลีมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก กระแสนิยมนี้ส่งผลกระทบไปถึงดารา นักร้องเคป๊อป อย่าง BTS และ Blackpink ไปจนถึงหนังเกาหลีอย่าง Parasite และซีรีส์ต่าง ๆ ที่มาในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ Kingdom, Hospital Playlist, Hometown Cha-Cha-Cha, Squid Game ต่างได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ภายใต้การล็อคดาวน์ ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน การรับชมซีรีส์เกาหลีผ่านแพล็ตฟอร์ม OTT ระดับโลก หลายคนหันมาติดซีรีส์เกาหลีงอมแงมในช่วงล็อคดาวน์ก็มี โควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการเนื้อหาทางออนไลน์อย่างมาก และจากครั้งนั้นทำให้ฐานแฟนเนื้อหาเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างมากมาจนตอนนี้”

วกกลับมาที่ Twinkling Watermelon อันเป็นซีรีส์ที่ KOCCA สนับสนุนอย่างเป็นทางการในปีนี้ มันกำลังพูดถึงการทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันในสังคม อย่างคนหูหนวก ไปจนถึงเสริมสร้างความเข้าใจต่อกันและกันภายในครอบครัว แต่ด้วยกลวิธีเล่าที่ละมุนและซับซ้อนชวนติดตาม

ขณะที่หันมามองบ้านเรา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่อ้างตัวว่าเป็นกองทุนโปร่งใสที่สุดในประเทศ และได้เงินสนับสนุนปีละ 500 ล้านบาท กลับใช้เงินภาษีประชาชนหมดไปกับเนื้อหาเชิดชูความภาคภูมิใจในชาติในแง่มุมของการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ (ขณะที่เกาหลีคือแทบจะขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ด้านมืดออกมาถอดบทเรียนให้ประชาชนได้เรียนรู้และจดจำเพื่อจะไม่กระทำอีก) และส่วนหนึ่งจำนวน 4.8 ล้านบาทกองทุนไทยนำไปสนับสนุนเนื้อหาจากช่อง…ท็อปนิวส์